วิถีตลาดรถยนต์
จบแล้วครับ
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนธันวาคม 2021/2020
ตลาดโดยรวม -12.6 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +13.9 %
กระบะ 1 ตัน -16.9 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +10.8 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ธันวาคม 2021/2020
ตลาดโดยรวม -4.2 %
รถยนต์นั่ง -8.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +3.3 %
กระบะ 1 ตัน -3.9 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +9.5 %
ไม่ใช่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเจ้าโรคร้าย COVID-19 ที่พัฒนาตัวเองกลายเป็นสายพันธ์ุใหม่โอมิครอนไปแล้วจะจบสิ้นลงนะครับ เจ้าวายร้ายตัวนี้ยังวนเวียนอาละวาดใส่มนุษยชาติต่อไปอีกนานเชียวละ แต่ที่จบแล้วจริงๆ คือ การซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงประจำฤดูกาลค้าขาย 2564 ที่ได้รูดม่านปิดฉากลงไปอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวา คม 2564 ที่ผ่านมา แต่ก่อนที่จะไปดูในรายละเอียดว่ารถยนต์ยี่ห้อใด บแรนด์ใดเป็นแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดประจำปี 2564 เราไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2564 กันก่อนครับ
แน่นอนว่าต้นเดือนธันวาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลากระตุ้นยอดจำหน่ายแบบทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้ายของปี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาการจัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือ MOTOR EXPO สำหรับปี 2564 เป็นการจัดงานครั้งที่ 38 โดย MOTOR EXPO ครั้งนี้มีบริษัทรถยนต์ต่างๆ นำรถยนต์รุ่นใหม่แกะกล่อง และรุ่นใหม่พิเศษที่ปรับเสริมเติมแต่งจากโมเดลรุ่นที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่งเหมือนเช่นเคย รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มี อาทิ ALL NEW HONDA HR-V (ฮอนดา เอชอาร์-วี) ใหม่, HAVAL JOLION HYBRID (ฮาวัล โจไลออน ไฮบริด), PEUGEOT 2008 (เปอโฌต์ 2008) เป็นต้น ส่วนรุ่นใหม่พิเศษ อาทิ MITSUBISHI PAJERO SPORT SPECIAL EDITION (มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท สเปเชียล เอดิชัน), NEW MAZDA CX-3 (มาซดา ซีเอกซ์-3) ใหม่ เป็นต้น สำหรับยอดจองรถยนต์มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 31,583 คัน ยอดจองสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย TOYOTA (โตโยตา), HONDA (ฮอนดา), ISUZU (อีซูซุ), MAZDA (มาซดา), MG (เอมจี), SUZUKI (ซูซูกิ), MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์), MITSUBISHI (มิตซูบิชิ), BMW (บีเอมดับเบิลยู) และ NISSAN (นิสสัน) เงินหมุนเวียนประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท และผู้เข้าชมงานประมาณ 1.1 ล้านคน ส่วนกระแสความนิยมที่กำลังได้รับความสนใจสูงสุด เป็นรถยนต์ที่มีระบบไฟฟ้าเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน ทั้งรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และระบบขับเคลื่อนลูกผสม เครื่อง ยนต์สันดาปภายในร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ตามดูกันต่อไปครับว่า อีกไม่นานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะครองความเป็นเจ้าถนนในบ้านเราได้หรือไม่ ?
กลับมาที่การปิดฤดูกาลค้าขายรถยนต์ใหม่ปี 2564 ว่ากันเฉพาะยอดจำหน่ายของเดือนธันวาคม 2564 ก่อน เดือนธันวาคมนี้มีการซื้อขายรถยนต์ใหม่ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ รวมกันทั้งสิ้น 91,010 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคมปีก่อน 12.6 % ยอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA 27,150 คัน เทียบกับเดือนธันวาคมปีก่อนลดลง 18.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 29.8 % อันดับ 2 ISUZU 18,801 คัน ลดลง 18.0 % ส่วนแบ่งการตลาดที่ 20.7 % อันดับ 3 HONDA 11,556 คัน เพิ่มขึ้น 14.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.7 % อันดับ 4 MITSUBISHI 5,763 คัน ลดลง 4.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.3 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) 4,123 คัน ลดลง 10.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.5 %
สำหรับปี 2564 นี้มีการซื้อการขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงรวมกันทั้งสิ้น 759,119 คัน เทียบกับปี 2563 แล้วตลาดหดตัวลง 4.2 % รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 5 ยี่ห้อแรก ประกอบด้วย TOYOTA จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 239,723 คัน เทียบกับปี 2563 แล้ว TOYOTA จำหน่ายได้น้อยลง 1.9 % ปี 2564 ถือครองส่วนแบ่งการตลาด 31.6 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 184,160 คัน เพิ่มขึ้น 1.6 % เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายปี 2563 ได้ส่วนแบ่งการตลาด 24.3 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 88,692 คัน ลดลง 4.7 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 11.7 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 47,188 คัน ลดลง 17.8 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 6.2 % และอันดับ 5 MAZDA จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 35,384 คัน ลดลง 9.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
สำหรับตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน เดือนธันวาคม 2564 ยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 42,785 คัน ลดลง 16.9 % เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2563 โดยที่ยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นพิคอัพ ISUZU ที่ผูกขาดยอดจำ หน่ายรายเดือนสูงสุดมาก่อนหน้านี้อย่างค่อนข้างจะต่อเนื่อง พิคอัพ ISUZU มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 16,908 คัน เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 แล้วลดน้อยลง 21.6 % มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 39.5 % ตามด้วย TOYOTA จำหน่ายได้รวม 16,733 คัน เทียบกับธันวาคม 2563 แล้วลดลง 16.8 % ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 39.1 % ต่อด้วย FORD จำหน่ายได้รวม 4,117 คัน ลดลง 10.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.6 % MITSUBISHI อยู่ในอันดับที่ 4 เสมอต้นเสมอปลาย จำหน่ายได้ 3,257 คัน ลดลง 7.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.6 % และอันดับ 5 NISSAN จำหน่ายได้ 1,167 คัน เพิ่มขึ้น 18.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.7 %
ระยะเวลา 12 เดือนของปี 2564 รถพิคอัพน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 1 ตัน มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 393,476 คัน ลดลง 3.9 % เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายรวมของปี 2563 แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดประจำปี 2564 เป็นพิคอัพ ISUZU ตลอดทั้งปีจำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 167,180 คัน เทียบกับปี 2563 แล้วลดลงนิดหน่อย 0.8 % ถือครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 42.5 % รองอันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้รวม 151,501 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 1.2 % จากปี 2563 ส่วนแบ่งการตลาดที่ 38.5 % รองอันดับ 2 FORD ยอดจำหน่ายรวม 32,329 คัน เพิ่มขึ้น 8.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.2 % รองอันดับ 3 MITSUBISHI ยอดจำหน่ายรวม 28,290 คัน ลดลง 19.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 % และรองอันดับ 4 NISSAN ยอดจำหน่ายรวม 8,189 คัน ลดลง 44.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.1 %
รถเอสยูวี เดือนธันวาคมนี้ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่เป็นผลโดยตรงจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่าย HONDA นั่นคือ ALL NEW HONDA HR-V ทั้งยังส่งผลให้ตัวเลขยอดจำหน่ายของ HONDA กระโดดกลับขึ้นมาอยู่หัวแถวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากห่างหายจากตำแหน่งนี้ไปนาน ตลาดรถเอสยูวี เดือนธันวาคม 2564 มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 11,291 คัน เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 แล้วเติบโตมากขึ้น 13.9 % อันดับ 1 เป็นยอดจำหน่ายของ HONDA จำหน่ายได้ 2,793 คัน เพิ่มขึ้นถึง 64.6 % คว้าส่วนแบ่งการตลาดไป 24.7 % อันดับ 2 TOYOTA จำหน่ายได้ 2,489 คัน ลดลง 21.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 22.0 % อันดับ 3 MAZDA จำหน่ายได้ 2,342 คัน เพิ่มขึ้น 31.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 20.7 % อันดับ 4 MG จำหน่ายได้ 1,758 คัน ลดลง 30.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.6 % และอันดับ 5 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายได้ 1,170 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 10.4 %
ปี 2564 รถเอสยูวีมีการซื้อขายรวมกันทั้งสิ้น 70,934 คัน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 3.3 % เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายปี 2563 แชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดของรถยนต์กลุ่มนี้ ได้แก่ รถเอสยูวีของ TOYOTA จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 20,393 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.5 % รับส่วนแบ่งการตลาดไป 28.7 % อันดับ 2 MG 16,014 คัน ลดลง 10.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 22.6 % อันดับ 3 MAZDA จำหน่ายได้รวม 14,221 คัน เพิ่มขึ้น 21.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 20.0 % อันดับ 4 HONDA จำหน่ายได้รวม 11,806 คัน ลดลง 24.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.6 % และอันดับ 5 GWM ที่เข้าตลาดไม่ถึงครึ่งปีดีก็เข้ามาอยู่ใน 5 อันดับเอสยูวีที่มียอดจำหน่ายสูงสุดแล้ว ค่าย GWM ทำยอดจำหน่ายได้รวม 3,240 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ไม่รวมรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เดือนธันวาคม 2564 ยอดจำหน่ายรวม 5,017 คัน เพิ่มขึ้น 10.8 % ปี 2564 ยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 42,909 คัน เพิ่มขึ้น 9.5 % ทั้งนี้เดือนธันวาคม 2564 มีการจดทะเบียนใช้งานรถพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี รวมทั้งสิ้น 29,149 คัน ลดลง 6.5 % เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563
สุข...สวัสดี..แข็งแรง...ปลอดภัยครับ
ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์