รายงาน(formula)
ย้อนรอยครึ่งศตวรรษ วิกฤตน้ำมันแพงในไทย จาก 2 บาท ถึง 40บาท/ลิตร !
วิกฤตน้ำมันแพงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนดูอดีต วิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเราได้รวบรวมเหตุการณ์วิกฤตน้ำมันแพง ที่คนไทยต้องเผชิญ มาเตือนความจำกันอีกครั้ง
ปี 2516
เริ่มต้นครั้งแรก ปี 2516 ในยุครัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร" ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีมาก ประกอบกับสถานการณ์การเมืองโลกขณะนั้น เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศอาหรับกับอิสราเอล ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงตามไปด้วย ไทยจึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไข และป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2516 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไข และป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงปี 2516-2517 น้ำมันเบนซิน ขยับจาก 2.30 บาท/ลิตร ขึ้นเป็น 3.62 บาท/ลิตร เท่ากับปรับขึ้นราว 57 % ส่วนน้ำมันดีเซลจาก 1.05 บาท เป็น 2.33 บาท/ลิตร หรือบวก 122 %
ปี 2522
ในยุคของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เกิดวิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกพุ่งสูงเป็นครั้งที่ 2 โดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม (OPEC) ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 ครั้ง ผลกระทบในยุคนั้นลุกลามไปสู่ ราคาค่าไฟ และสินค้า บางช่วงเกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน จนเกิดเพลงฮิทติดหู อย่างเพลง “น้ำมันแพง” ที่มีเนื้อร้องว่า "น้ำมัน ขาดแคลน คุยกับแฟน ก็ต้องดับไฟ" ปัญหาน้ำมันแพงในยุคนั้น สั่นคลอนรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนต้องลาออกในช่วงปี 2523
ปี 2533
เดือนสิงหาคม ปี 2533 เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้นจนเป็นวิกฤตการณ์อีกครั้ง จากระดับราคา 18.9 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในเดือนมกราคม ปี 2533 เพิ่มเป็น 31 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2533 และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศก็ขยับขึ้น โดยเบนซินจาก 8.45 บาท เป็น 11.05 บาท เท่ากับ 31 % ส่วนดีเซลจาก 6.10 บาท เป็น 8.40 บาท/ลิตร เท่ากับ 38 %
ปี 2551
ในประเทศไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเพิ่มสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2546 จนมาแตะราคาสูงสุดในยุค พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ น้ำมันดีเซลมีราคาสูงถึง 44.24 บาท/ลิตร และน้ำมันเบนซิน 42.89 บาท/ลิตร ก่อนที่ในช่วงปลายปีราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว
ปี 2557
ช่วงปลายยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไทยเจอวิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้ง ราคาน้ำมันดีเซล 29.99 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันเบนซินแตะราคาสูงสุดที่ 49.15 บาท/ลิตร นับเป็นราคาที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งในยุคนั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และยังมีปัจจัยภายใน เช่น การยกเลิกเบนซิน 91 การเก็บภาษี และกองทุนที่สูง และเงินบาทอ่อนค่า
ไตรมาสแรกปี 2565 ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปแล้วเท่าไร ?
จากสถิติราคาขายปลีกน้ำมันใน กทม. และปริมณฑล ถึงช่วงต้นเดือน มีนาคม 2565 พบว่า นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งแรกของปีนี้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ราคาแกสโซฮอล 95 ซึ่งคนไทยนิยมใช้มากที่สุด มีการปรับขึ้นมากถึง 18 รอบ ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ตรงกันข้าม นับตั้งแต่เข้าปี 2565 มีการปรับลดราคากลุ่มเบนซิน และแกสโซฮอลเพียง 1 รอบเท่านั้น คือ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ปรับลด 0.40 บาท/ลิตร
ขณะที่ราคากลุ่มน้ำมันดีเซล รวมถึง B7 ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด และ B20 ซึ่งราคาเท่ากัน มีการประกาศปรับขึ้นล่าสุดในวันที่ 4 มีนาคม อีก 0.20 บาท/ลิตร ทำให้มีการปรับขึ้นราคาแล้ว 8 ครั้งในปีนี้ แม้จะมีการประกาศปรับลดราคาลง 2 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565)
ราคาน้ำมันในไทย บวกค่าอะไร ก่อนถึงหัวจ่าย ?
โครงสร้างราคาขายน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย ที่มีผลต่อการปรับราคาน้ำมันภายในประเทศ (ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน) ประกอบด้วย
1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ( 40-60 %) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย (ทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล)
2. ภาษีต่างๆ ( 30-40 %) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น โดยภาษีที่จัดเก็บ มีดังนี้
- ภาษีสรรพสามิต: จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พรบ. ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
- ภาษีเทศบาล: จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10 % ของภาษีสรรพสามิต ตาม พรบ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม: จัดเก็บ 7 % ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7 % ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
3. กองทุนต่างๆ (5-20 %) ดังนี้
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงาน
4. ค่าการตลาด (10-18 %) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงมายังสถานีบริการ และการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้แก่ประชาชน
คนไทยชอบเติมน้ำมันประเภทใด ?
กรมธุรกิจพลังงาน รายงานภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันในเดือน มกราคม 2565 พบว่า
ปริมาณการใช้กลุ่มแกสโซฮอลเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 29.91 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็น
- แกสโซฮอล 95 ปริมาณการใช้เฉลี่ย 15.79 ล้านลิตร/วัน (ใช้มากที่สุดในกลุ่มแกสโซฮอล)
- แกสโซฮอล 91 ปริมาณการใช้เฉลี่ย 7.04 ล้านลิตร/วัน
- แกสโซฮอล E20 ปริมาณการใช้เฉลี่ย 6.13 ล้านลิตร/วัน
- แกสโซฮอล E85 ปริมาณการใช้เฉลี่ย 0.95 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันเบนซินในประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ อยู่ที่ 0.63 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาเบนซินที่อยู่ในระดับสูง โดยทะลุ 40 บาท/ลิตร ในช่วงปลายเดือน มกราคม จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลเดือน มกราคม 2565)
ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 75.87 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็น
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 62.63 ล้านลิตร/วัน (ใช้มากที่สุดในกลุ่มดีเซล)
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.83 ล้านลิตร/วัน
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.23 ล้านลิตร/วัน
ทำไมราคาน้ำมันแพง ?
เกิดจาก 3 สาเหตุ โดยมาจากปัจจัยภายนอก นั่นคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันได้รับผลกระทบ ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราคาแพงไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยาน มีดังนี้
1. ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก
2. การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปค ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ได้ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงถึง 10 ล้านบาร์เรล/วัน (ในปี 2020) ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน แต่ปัจจุบันกลุ่มโอเปคทยอยผลิตเพิ่มครั้งละ 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลก
3. สถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ทำให้เศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลกสะดุด แต่ก็เริ่มฟื้นตัวในช่วงนี้ ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเกินกว่ากำลังการผลิต จึงทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในรอบ 7 ปี
เมื่อไร...ราคาน้ำมันจะลง ?
รายงานของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ TTB ANALYTICS วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2565 ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว รวมถึงช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวมากกว่าปกติ ส่งผลให้ทั่วโลกมีปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงสร้างแรงกดดันเพิ่มต่อราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงต้นปีนี้ แม้ไทยจะได้รับผลดีจากการที่รัฐบาลเข้าตรึงราคาเชื้อเพลิงบางประเภท แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้น
TTB ANALYTICS ประเมินว่า หลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 แรงกดดันด้านราคาพลังงานจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปจนกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถบริหารจัดการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3
ประเทศไทย มีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีการใช้กองทุนน้ำมันเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยพยุงราคาไว้ โดยทำให้ราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการในประเทศไม่สูงมากกว่านี้ และก็ไม่ได้ถือว่ามีราคาแพงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
วันสำคัญในประวัติศาสตร์น้ำมันไทย
7 มกราคม 2546
เป็นวันที่กำหนดราคาจำหน่าย แกสโซฮอล 95 และแกสธรรมชาติ CNG ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ โดยโครงการ น้ำมันแกสโซฮอล เริ่มจากแนวคิดพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการหาสิ่งมาทดแทนพลังงานที่กำลังจะหมดไปของน้ำมัน บวกกับแนวทางการแก้ปัญหาของพืชผักที่มีราคาตกต่ำ
17 มีนาคม 2550
ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ส่งเสริมการใช้เอธานอลเพื่อผลิตแกสโซฮอล 95 อย่างต่อเนื่อง จึงเพิ่มไลน์ของ “แกสโซฮอล 91” มาเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ในราคาที่ถูกกว่าแกสโซฮอล 95 เล็กน้อย และถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 91 ไม่น้อยกว่า 1.50 บาท/ลิตร
1 มกราคม 2551
การพัฒนาพลังงานทดแทน “แกสโซฮอล E20” ในเมืองไทยเป็นผลสำเร็จ ด้วยส่วนผสมของเอธานอล 20 % และน้ำมันเบนซิน 80% เป็นผลให้ราคาประหยัดลงกว่า 6 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ประเทศลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และยังลดมลพิษในอากาศอีกด้วย
16 พฤษภาคม 2557
วันที่ได้รับการบันทึกว่าราคาน้ำมันที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากในปี 2557 ไทยเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันครั้งใหญ่ ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งถึง 29.99 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันเบนซินแตะสูงสุดที่ 49.15 บาท/ลิตร
26 มีนาคม 2563
วันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัย COVID-19 ประเทศไทยยังคงอยู่ในขั้นวิกฤตทั้งการระบาดของโรค และภาคเศรษฐกิจ แต่คนไทยก็ยังพอมีรอยยิ้มกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ แกสโซฮอล 95 อยู่ที่ประมาณ (18-19 บาท/ลิตร), แกสโซฮอล 91 (16-17 บาท/ลิตร), แกสโซฮอล E20 (15-16 บาท/ลิตร), แกสโซฮอล E85 (14-15 บาท/ลิตร), ดีเซล B7 (19-20 บาท/ลิตร), ดีเซล B10 (16-17 บาท/ลิตร) และดีเซล B20 (16-17 บาท/ลิตร)
10 อันดับประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงสุดในอาเซียน
เวบไซท์ GLOBALPRICE.COM รายงานราคาน้ำมันเบนซิน สูตรพิเศษ/ลิตร ในประเทศสมาชิกอาเซียน ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2565 ดังนี้
1. สิงคโปร์ 4 ดอลลาร์สิงคโปร์ (97 บาท)
2. ลาว 17,180 กีบ (49 บาท)
3. เมียนมาร์ 2,299.020 จาด (43 บาท)
4. ฟิลิปปินส์ 65.950 เปโซ (42 บาท)
5. ไทย ประมาณ 40 บาท/ลิตร
6. เวียดนาม 27,347.500 ด่อง ( 40 บาท)
7. กัมพูชา 4,700 เรียล (38 บาท)
8. อินโดนีเซีย 12,892.000 รูเปี๊ยะห์ (30 บาท)
9. บรูไน 1.03 ดอลลาร์ (25 บาท)
10. มาเลเซีย 2.050 ริงกิต (17 บาท)
ABOUT THE AUTHOR
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ, อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)