วิถีตลาดรถยนต์
ยังดีได้อยู่
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2022/2021
ตลาดโดยรวม +26.3 %
รถยนต์นั่ง +19.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +17.7 %
กระบะ 1 ตัน +33.0 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +20.0 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2022/2021
ตลาดโดยรวม +26.1 %
รถยนต์นั่ง +31.0 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +22.7 %
กระบะ 1 ตัน +24.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +18.0 %
เดือนกุมภาพันธ์นี้ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวของเจ้าตัวร้ายไวรัสมหาภัย COVID-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน สายพันธุ์นี้ว่ากันว่าติดง่ายติดเร็ว แต่อาการไม่หนักหนาสาหัสเหมือนสายพันธุ์เดลทาก่อนหน้านี้ แต่ดีที่สุด คือ ไม่ติดจะดีที่สุด เพราะถึงแม้ว่าติด COVID-19 แล้วไม่หนักหนาสาหัสต้องเข้าโรงพยาบาล แต่สิ่งที่สูญเสียไปแน่ๆ คือ เวลาของการทำมาหากิน สำหรับคนที่ไม่มีงานประจำ มีเงินดาวน์เงินเดือนรองรับ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ที่ยังพอมีเงินทองซัพพอร์ทตัวเอง ในช่วงเวลาที่ต้องเข้ารักษาเยียวยา แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ขายเงินต่อเงินมันไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีใครอยากให้มาถึงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังถือว่าคนค้าขายรถยนต์ยังหายใจโล่งคอกว่าช่วงเวลาเดียวกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวไทย รวมไปถึงชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ปรับเนื้อปรับตัวรับกับการแพร่ระบาดของเจ้าวายร้าย COVID-19 ได้ดีขึ้น อีกทั้งภาครัฐยังผ่อนคลายความเข้มงวดรัดกุมเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้มากขึ้น รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางมาตรการเยียวยาต่างๆ อีกทั้งระลอกคลื่นการกระตุ้นยอดขายรถยนต์จากการจัดงาน Motor Expo เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ยังมีผลทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงรวมทั้งหมดอยู่ที่ 74,489 คัน ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้งตลาดจำหน่ายไปได้เพียง 58,960 คัน เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 26.3 % โดยที่ภาพรวมแล้ว TOYOTA (โตโยตา) ยังคงเป็นบแรนด์รถยนต์ที่ผู้บริโภคให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นตัวเลือกอันดับ 1 อย่างไม่เสื่อมคลาย เดือนกุมภาพันธ์นี้ทำยอดจำหน่ายไปได้รวมทั้งสิ้น 24,998 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ถึง 57.2 % ถือครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 33.6 % ขณะที่รถยนต์ ISUZU (อีซูซุ) ทำยอดจำหน่ายเข้ามาเป็นอันดับที่ 2 จำหน่ายได้ 20,193 คัน เพิ่มมากขึ้น 22.6 % รับส่วนแบ่งการตลาดไป 27.1 % ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับที่ 3 เป็นของ HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายไปได้ 7,090 คัน น่าเสียดายที่เป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 21.3 % เมื่อเทียบกับเดือนนี้ของปีที่แล้ว ขณะที่ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับที่ 4 เป็นของ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายไปได้ 4,604 คัน เพิ่มขึ้น 26.4 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 6.2 % และยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับที่ 5 เป็น MAZDA (มาซดา) จำหน่ายได้ 3,336 คัน เพิ่มขึ้น 8.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.5 %
โดยที่เริ่มปี 2565 มาได้ 2 เดือน รถยนต์ใหม่ป้ายแดงรุ่นต่างๆ ยี่ห้อต่างๆ มีเจ้าของใหม่รวมแล้วทั้งสิ้น 143,944 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 26.1 % ยอดจำหน่ายสะสมสูงสุดอันดับ 1 หนีไม่พ้น TOYOTA จำหน่ายไปแล้วรวม 47,147 คัน ถือครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 63.3 % เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 40.1 % ตามด้วย ISUZU จำหน่ายแล้ว 35,619 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาด 12.3 % จำหน่ายได้มากขึ้น 47.8 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายได้แล้วรวม 15,615 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.0 % เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น 6.5 % อันดับที่ 4 MITSUBISHI 9,438 คัน เพิ่มมากขึ้น 35.6% ส่วนแบ่งการตลาด 12.7 % และอันดับที่ 5 MAZDA 6,566 คัน เพิ่มขึ้น 5.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.8 %
เมื่อย่อยลงมาเป็นรถยนต์เพื่อการใช้งานอย่างรถพิคอัพ 1 ตัน เดือนกุมภาพันธ์นี้ ISUZU ยังครองความเป็นพิคอัพมหาชนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน มาตรฐานโรงงาน มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 41,447 คัน เพิ่มขี้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ถึง 33.0 % โดยที่พิคอัพ ISUZU ทุกรุ่น มียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 18,689 คัน เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 21.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.1 % อันดับ 2 พี่ใหญ่ TOYOTA จำหน่ายได้ 16,736 คัน เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้านี้เพิ่มมากขึ้นถึง 71.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.4 % เบอร์ 3 ของตลาดนี้เป็น MITSUBISHI จำหน่ายได้ 2,830 คัน เพิ่มขึ้น 30.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.8 % อันดับ 4 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,066 คัน ลดลง 20.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายพิคอัพสายพันธุ์ NAVARA (นาวารา) ได้ 721 คัน เพิ่มขึ้น 17.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.7 %
ทั้งนี้ผ่านไป 2 เดือน รถพิคอัพ 1 ตัน มียอดจำหน่ายรวมกันแล้วทั้งสิ้น 76,409 คัน เพิ่มขึ้นจากห้วงเดียวกันของปีก่อน 24.7 % ยอดจำหน่ายมากสุดอันดับ 1 ISUZU 32,832 คัน เพิ่มขึ้น 10.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 79.2 % อันดับ 2 TOYOTA 31,100 คัน เพิ่มขึ้นถึง 53.4 % ส่วนแบ่งเค้ก 75.0 % อันดับ 3 MITSUBISHI จำหน่ายแล้ว 5,680 คัน เพิ่มขึ้น 37.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.7 % และอันดับ 4 FORD จำหน่ายแล้ว 4,571 คัน ลดลง 6.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.0 % และอันดับ 5 NISSAN จำหน่ายแล้ว 1,539 คัน เพิ่มขึ้น 35.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.7 %
ในส่วนของรถยนต์ที่ผู้บริโภคหันมาคบค้าสมาคมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตอบโจทย์การใข้งานทั้งในเมือง และการเดินทางไกล รวมไปถึงบนสภาพเส้นทางที่คุ้นเคย และไม่คุ้นเคย อย่างที่เค้าเรียกกันว่า รถยนต์นั่งยกสูง หรือรถเอสยูวี เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งหมดอยู่ที่ 6,882 คัน เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น 17.7 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 และเป็น TOYOTA ที่ยืนหัวแถวอีกครั้งในตลาดนี้ เดือนกุมภาพันธ์นี้ฟันยอดจำหน่ายไปอีก 1,729 คัน เพิ่มขึ้นจากที่เคยทำได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา 2.8 % ได้ส่วนแบ่งการตลาด 25.1 % ตามมาเป็นอันดับ 2 กับ HONDA จำหน่ายได้ 1,673 คัน จำหน่ายได้มากขึ้นถึง 46.9 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 24.3 % ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นของ MAZDA จำหน่ายได้ 1,220 คัน เพิ่มขึ้น 7.3 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 17.7 % อันดับ 4 MG (เอมจี) 1,171 คัน ที่น่าจะมีปัญหาทางด้านการส่งมอบรถ จากหัวแถวลงมาอยู่อันดับ 4 เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 19.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 17.0 % และอันดับ 5 น้องใหม่ GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) ยังคงเกาะกลุ่มหัวแถวอย่างเหนียวแน่นถือได้ว่าอนาคตสดใสเลยทีเดียวสำหรับการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย เดือนนี้จำหน่ายไปได้อีก 655 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.5 %
ภาพรวม 2 เดือนของปี 2565 ที่ผ่านมา รถยนต์ลูกครึ่งประเภทนี้จำหน่ายไปแล้วรวม 14,578 คัน เพิ่มขึ้น 22.7 % เมื่อเทียบกับห้วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่ HONDA ได้รถยนต์ใหม่ เจเนอเรชันใหม่มาเรียกลูกค้าเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังยืนอยู่หัวแถว ด้วยยอดจำหน่าย 4,045 คัน ดีดตัวสูงขึ้น 78.2 % ส่วนแบ่งการตลาดที่ 58.8 % ขณะที่ TOYOTA ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดจำหน่ายรวม 3,579 คัน เพิ่มขึ้น 6.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 52.0 % อันดับ 3 ของตลาดนี้เป็น MAZDA จำหน่ายแล้ว 2,325 คัน เพิ่มขึ้น 1.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.8 % อันดับ 4 อดีตแชมพ์ MG จำหน่ายแล้ว 2,227 คัน ลดลง 23.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 32.4 % และอันดับ 5 GWM รับไปด้วยยอดจำหน่ายรวม 1,524 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 22.1 %
รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ไม่รวมรถยนต์นั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำหน่ายได้รวม 3,570 คัน เพิ่มขึ้น 20.0 % 2 เดือนผ่านไปจำหน่ายรวมกันแล้วทั้งสิ้น 7,002 คัน เพิ่มขึ้น 18.0 %
ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์