รู้ลึกเรื่องรถ
พักลงน้ำสักหน่อย
สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในข่าวโศกนาฏกรรมของคุณแตงโม นิดา นอกจาก “พระมารดา” แล้ว ก็คือ เรือยี่ห้อ “COBALT (โคบอลท์)” อันเป็นเรือยนต์หรู ของเล่นใหม่สุดฮิทของเหล่าเศรษฐีไทย
เราได้เห็น และได้ยินเรื่องราว ศัพท์แสงของพาหนะประเภทนี้ จนผู้เขียนรู้สึกว่า คงต้องขอแตกไลน์มานำเสนอเรื่องราวของเล่นคนรวยอีกรูปแบบหนึ่ง
เรือยนต์ มีรูปแบบหลากหลาย ไม่ต่างไปจากรถยนต์ที่เรารู้จักกัน เริ่มต้นที่ขนาด และรูปทรงของลำเรือ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้งานว่า สอดคล้องกับการใช้งานในน้ำจืด หรือน้ำทะเล ตามมาด้วยรูปแบบการวางเครื่องยนต์ ซึ่งวางได้ทั้งในลำตัวเรือ และนอกเรือ นอกจากนั้น ระบบขับเคลื่อนก็ยังมีให้เลือกทั้งที่ใบพัดอยู่ใน และนอกตัวเรืออีกด้วย
รูปแบบของลำตัวเรือ หรือที่เรียกว่า HULL (ฮัลล์) ซึ่งแบบมาตรฐานทั่วไปนั้น มีลำตัว หรือท้องเรือเดี่ยว และมีรูปทรงท้องเรือเป็นทรง V แต่เรือบางประเภทอาจมีมากกว่า 1 ลำตัว (MULTIHULL) อาทิ เรือ 2 ท้อง หรือ ที่เรียกกันว่า CATAMARAN (คาทามารัน) หรือเรือ 3 ท้อง จะเรียกว่า TRIMARAN (ทไรมารัน) 2 ประเภทนี้จะมีขนาดของดาดฟ้าเรือที่กว้างขวาง โอ่อ่า มีเสถียรภาพสูง แต่ไม่คล่องแคล่วในการควบคุมบังคับเลี้ยวเหมือนกับเรือท้องเดี่ยว เหมาะเป็นเรือท่องเที่ยวที่เน้นความหรูหรา
เรือบางประเภทจะมีท้องแบน (FLAT BOTTOM BOAT) ทำให้มีคุณสมบัติในการบรรทุกที่ดี อาทิ เรือข้ามฟาก (FERRY) โดยเรือประเภทนี้กินน้ำน้อย หมายถึง ท้องเรือจะจมลงไปในน้ำน้อยเมื่อเทียบกับน้ำหนัก ดังนั้น จึงเข้าพื้นที่น้ำตื้นได้ และหากจอดกลางน้ำจะไม่ค่อยโคลงเคลง แต่มีข้อเสีย คือ ทำความเร็วได้ไม่ดีนัก เพราะท้องเรือที่แบนจะตัดคลื่นไม่ได้ จะเกิดการสะท้าน หรือ “ตบน้ำ” เมื่อเจอยอดคลื่นจะลอยแล้วตกลงมา กระแทกน้ำตามจังหวะลูกคลื่น นอกจากนี้ ยังบังคับทิศทางลำบาก ไถลง่าย จึงเหมาะกับการใช้งานบนผืนน้ำเรียบ แต่เรือบางประเภท เช่น HYDROPLANE (ไฮดโรพเลน) ที่เป็นเรือแข่งนั้นมักจะมีท้องแบน โดยไม่เน้นการวิ่งตัดคลื่น แต่เป็นการวิ่งแตะผิวน้ำ
เรือทั่วไปที่ใช้ความเร็วได้ดี รูปตัดท้องเรือจะเป็นทรง V ทิ่มลงด้านล่าง (VEE BOTTOM BOAT) การออกแบบลักษณะนี้ เพื่อให้เรือสามารถตัดผ่านคลื่นน้ำได้ดี ไม่ค่อยตบน้ำ แต่ปัญหา คือ เรือจะโคลงเคลงไป/มาเวลาจอดกลางน้ำ เช่น เวลาตกปลา ท้องเรือแบบนี้มักจะใช้กันทั่วไปกับเรือที่ต้องการทำความเร็วสูงอย่าง SPEED BOAT ซึ่งถ้าต้องการสมรรถนะสูง ท้องก็จะเป็น V ลึก (DEEP VEE) แต่ถ้าจะใช้งานในน้ำตื้นก็ยังมีแบบ V ตื้น ซึ่งสู้คลื่นได้ไม่ดีเท่าแบบแรก
ต่อไป คือ เรือท้องมน (ROUND BOTTOM BOAT) ท้องเรือประเภทนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนมุมไปทีละนิด เรือแจวแบบดั้งเดิม เรือแคนู มักจะใช้ท้องเรือแบบนี้ อาจจะไม่สามารถวิ่งได้เร็วมากนัก เพราะมีแรงต้านจากน้ำเยอะ แต่มันมีความเสถียรมากกว่าท้องแบบ V มันเป็นท้องเรือแบบที่ดีสำหรับการเคลื่อนที่ไปในน้ำช้าๆ แบบเรือครูซ เรือใบ และเพื่อแก้ปัญหาด้านความโคลงเคลง ในเรือยนต์จึงมักออกแบบให้กระดูกงูเรือ ยื่นเป็นสันลงไปในน้ำ เพื่อช่วยแก้อาการโคลง
ถ้าต้องการเรือที่ไม่ค่อยโคลงเคลง จะต้องใช้ท้องแบบ “3 ลอน” หรือท้องเรือแบบ “ปีกกา” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ทรงมหาวิหาร (CATHEDRAL HULL) ซึ่งมองดูคล้ายกับมหาวิหารคริสต์กลับหัว ตรงกลางเรือจะเป็นท้องทรง V และบริเวณกราบเรือซ้าย/ขวา จะมีสันทิ่มลงไปในน้ำอีกรอบหนึ่ง ข้อดี คือ ไม่โคลงซ้าย/ขวา และวิ่งได้เร็วพอสมควร เหมาะกับการใช้งานเป็นเรือตกปลาในน้ำจืด เพราะวิ่งในทะลไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากตัดคลื่นได้ไม่ดี เวลาเจอคลื่นมักจะตบคลื่น เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เสื่อมความนิยมลงไป เนื่องจากมีความซับซ้อนในการผลิต และต้นทุนสูง
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่า แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
ต่อมาเป็นเรื่องเครื่องยนต์ จุดกำเนิดของเรือยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในนั้น มีจุดร่วมกับจุดกำเนิดของรถยนต์อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเรือยนต์ลำแรก ถือกำเนิดในปี 1886 เป็นผลงานของวิศวกรชาวเยอรมัน 2 คน คือ GOTTLIEB DAIMLER (กอทท์เลียบ ไดมเลร์) และ WILHELM MAYBACH (วิลเฮล์ม มายบัค) ซึ่งเป็นกลุ่มคนผู้ให้กำเนิดรถยนต์ MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง โดยเครื่องยนต์ของเรือเป็นแบบ 1 สูบ ให้กำลัง 1 แรงม้าเท่านั้น
วิวัฒนาการเรื่องพละกำลังของเครื่องยนต์เรือนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากรถยนต์ จากวันที่มีแค่ 1 แรงม้า มาจนสู่ยุคที่ 300 แรงม้าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้เรือแตกต่าง คือ การถ่ายทอดกำลังลงสู่พื้นน้ำ ที่มีหลายรูปแบบ โดยขอเริ่มที่เรือในที่เกิดเหตุกันก่อน เพราะเป็นรูปแบบที่คนคุ้นตาที่สุดในวันนี้
เรือในข่าวดังใช้เครื่องยนต์ห้อยท้ายที่เรียกว่า OUTBOARD MOTOR (เอาท์บอร์ด มอเตอร์) ซึ่งเป็นเครื่องยนต์รวมเข้ากับใบพัดเป็นหน่วยเดียวกัน เป็นรูปแบบที่อาจจะดูเทอะทะ แต่เป็นแบบที่ง่ายที่สุดในการติดตั้งเครื่องยนต์เข้ากับลำเรือ เพราะสามารถขยับขยายให้มีจำนวนเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการเดินทางในทะเล นอกจากจะเพิ่มพละกำลังได้ ยังปลอดภัยในการเดินทาง เนื่องจากหากเครื่องยนต์ใดเครื่องยนต์หนึ่งเสียหายไป ก็ยังมีเครื่องยนต์สำรองพากลับฝั่งได้ และความง่ายในการเพิ่มกำลังด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์เพิ่มเข้าไป ทำให้รูปแบบนี้เป็นที่นิยมของพวกลักลอบขนของเถื่อนในแถบทวีปอเมริกา ซึ่งใช้เรือแบบนี้ที่มี 4 เครื่องยนต์ เป็นปกติ
การที่เครื่องยนต์ และใบจักร ยื่นออกไปด้านท้ายเรือ ทำให้การใช้งานด้านท้ายไม่สะดวก และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงไม่เหมาะกับกิจกรรมสันทนาการทางน้ำอย่างการลากสกี หรือการเล่นกระโดดน้ำท้ายเรือ แต่เหมาะสำหรับผู้ต้องการความเร็ว หรือทำกิจกรรมที่ไม่ต้องลงเล่นน้ำ อย่างการตกปลา อีกทั้งยังเป็นรูปแบบบำรุงรักษาง่าย ส่วนการบังคับเลี้ยวใช้การหันเครื่องยนต์ และใบพัดไปในทิศทางที่ต้องการ
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบอื่นที่เป็นที่นิยมอีก อาทิ ระบบ STERN DRIVE (สเติร์น ดไรฟ) ซึ่งเป็นการรวมระบบใบพัดด้านท้ายเรือกับระบบที่เครื่อง ยนต์ที่อยู่ภายในลำตัวเรือ รูปแบบนี้เรือจะมีความเรียบร้อย ไม่มีเครื่องยนต์เกะกะ ทำให้สามารถใช้งานบริเวณท้ายเรือได้สะดวกสบายมากขึ้น มีข้อดีตรงที่สามารถเก็บเสียงได้ดีจากการที่เครื่องถูกซ่อนไว้ ตัวเครื่องยนต์ก็ไม่โดนน้ำ ทำให้สะอาดกว่า และตัวเรือเองก็ดูภูมิฐานกว่าแบบ OUTBOARD เหมาะกับเรือเดินทาง ขับสันทนาการทั่วไป แต่ก็ยังมีอันตรายจากใบจักรเรือที่ทำงานอยู่ และการจะเพิ่มเติมขยับขยายเครื่องยนต์ ทำได้ยากกว่าแบบ OUTBOARD ส่วนการบังคับเลี้ยวใช้การหันใบพัดไปในทิศทางที่ต้องการ
ต่อด้วย INBOARD MOTOR (อินบอร์ด มอเตอร์) รูปแบบนี้เครื่องยนต์จะอยู่ในลำตัวเรือเหมือนแบบก่อนหน้า แต่ใบพัดจะต่อตรงกับตัวเครื่องยนต์ และอยู่ “ใต้ลำเรือ” ซึ่งเหมาะมากกับการลากสกี เพราะมีความปลอดภัย เนื่องจากใบจักรจะอยู่ใต้ท้องเรือลงไปอีก ยากจะโดนตัวคน และมีการติดตั้ง 2 รูปแบบ คือ แบบปกติที่ใบพัดต่อออกมาจากเครื่องยนต์โดยตรง แบบนี้เครื่องยนต์จะเข้าไปอยู่เกือบกึ่งกลางเรือ ส่วนอีกแบบเรียกว่า V DRIVE (วี ดไรฟ) แบบนี้จะวางเครื่องค่อนไปด้านท้าย และหันท้ายเครื่องไปยังหัวเรือ ซึ่งด้านท้ายจะต่อกับห้องเกียร์เปลี่ยนทิศทาง เพื่อให้ใบจักรย้อนกลับไปด้านท้าย ข้อดีก็เช่นเดียวกับแบบ STERN DRIVE คือ สามารถเก็บเสียงได้ดี ตัวเครื่องก็ไม่โดนน้ำ ทำให้สะอาดกว่า และตัวเรือเองก็ดูภูมิฐาน และมีความปลอดภัยมากกว่า 2 แบบแรก ส่วนข้อด้อยก็คือ ความซับซ้อนในการติดตั้ง และขยับขยาย ส่วนการบังคับเลี้ยวนั้นใช้การหัน “หางเสือ” (RUDDER) ไปในทิศทางที่ต้องการ เนื่องจากใบพัดไม่สามารถหันได้
แบบสุดท้าย คือ แบบเจท ติดตั้งเครื่องยนต์ไว้ในลำตัวเรือทางด้านท้าย การขับเคลื่อนไม่ได้ใช้ใบจักร แต่ใช้ปั๊มน้ำดูดน้ำบริเวณใต้ท้องเรือ เพิ่มความเร่งแล้วผลักดันน้ำที่ดูดมาออกไปยังด้านท้ายด้วยแรงดันสูง เพื่อดันเรือให้พุ่งไปด้านหน้า การบังคับเลี้ยวใช้การเปลี่ยนทิศทางของหัวเจท (NOZZLE) ได้เลย ระบบเจทเป็นระบบที่ปลอดภัยสูง แต่ไม่เหมาะกับ การใช้งานในน้ำตื้นที่มีโคลนตม หรือมีวัชพืชน้ำเยอะ เพราะสามารถอุดตันระบบขับเคลื่อนได้ง่าย
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่ทำให้เข้าใจเรื่องเรือเพิ่มขึ้น เเละผู้สนใจจะหาเรือมาเล่นสักลำ ได้ไอเดียว่า ควรจะเลือกเรือแบบไหน
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ