วิถีตลาดรถยนต์
ดีต่อเนื่อง
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนเมษายน 2022/2021
ตลาดโดยรวม +9.1 %
รถยนต์นั่ง +20.6 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +5.3 %
กระบะ 1 ตัน +3.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +15.8 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2022/2021
ตลาดโดยรวม +16.8 %
รถยนต์นั่ง +17.0 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +10.5 %
กระบะ 1 ตัน +18.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +10.3 %
สงกรานต์ปีนี้แตกต่างไปจาก 2 ปีที่ผ่านมา เพราะรัฐผ่อนคลายมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทำให้ผู้ที่เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำมาหากินต่างบ้านต่างเมือง ได้มีโอกาสใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมได้อย่างเสรีมากขึ้น แต่ต้องไม่ละเลยต่อข้อควรปฏิบัติที่รัฐกำหนดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสตัวร้าย อันเป็นผลพวงจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ซึ่งหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันด้วยดี อีกไม่นานสิ่งที่คาดหวังกันไว้ นั่นคือ การประกาศให้โรค COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างใกล้เคียงกับสภาพการดำเนินชีวิตก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้มากที่สุดได้
สำหรับในเรื่องของการค้าการขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดง เดือนเมษายน 2565 ยังคงเป็นไปด้วยดี ตัวเลขยอดจำหน่ายยังคงปรับระดับขยับตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ เป็นผลต่อเนื่องจากการจัดงานมอเตอร์โชว์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายนนี้ โดยในงานดังกล่าวมียอดจองรถยนต์เกิดขึ้นถึง 31,896 คัน รถยนต์ที่ได้รับความสนใจมีการจับจองเป็นเจ้าของมากที่สุด 10 ยี่ห้อ ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา), อันดับ 2 HONDA (ฮอนดา), อันดับ 3 MAZDA (มาซดา), อันดับ 4 ISUZU (อีซูซุ), อันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ), อันดับ 6 MG (เอมจี), อันดับ 7 SUZUKI (ซูซูกิ), อันดับ 8 MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์), อันดับ 9 FORD (ฟอร์ด) และอันดับ 10 NISSAN (นิสสัน) ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทั้งเปิดตัวพร้อมจำหน่าย และเปิดโชว์ตัวก่อนที่จะจำหน่ายจริงในภายหลัง ที่น่าสนใจนอกจากบรรดารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว เห็นจะเป็นขบวนทัพรถยนต์รุ่นใหม่ของ FORD ที่ประกอบด้วย FORD RANGER (เรนเจอร์) ใหม่, FORD RANGER RAPTOR (เรนเจอร์ แรพเตอร์) ใหม่ และ
FORD EVEREST (เอเวอเรสต์) ใหม่ นั่นเอง ทั้งนี้ผลจากยอดจองรถในช่วงระยะเวลาการจัดงานมอเตอร์โชว์ บวกการจำหน่ายของตัวแทนผู้จำหน่ายรถยนต์ของบริษัทรถยนต์ต่างๆ รวมกัน ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของเดือนเมษายน 2565 จบลงที่ 63,427 คัน เพิ่มขึ้น 9.1 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของเดือนเมษายน 2564 โดยรถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุด 5 อันดับแรก ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 21,681 คัน เพิ่มขึ้น 13.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 34.2 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 16,595 คัน เพิ่มขึ้น 11.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.2 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายได้ 5,107 คัน ลดลง 5.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.1 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 3,870 คัน ลดลง 5.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.1 % และอันดับ 5 MAZDA จำหน่ายได้ 2,753 คัน เพิ่มขึ้น 24.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 %
การค้าการขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงปี 2565 ผ่านไปแล้ว 4 เดือน ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมีทั้งสิ้น 294,616 คัน เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วปรับตัวเพิ่มมากขึ้น 16.8 % รถยนต์ที่ยอดจำหน่ายสะสมมากสุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายแล้วรวม 98,825 คัน เพิ่มขึ้น 31.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.5 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายแล้วรวม 74,015 คัน เพิ่มขึ้น 15.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.1 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายแล้วรวม 30,731 คัน เพิ่มขึ้น 1.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.4 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายแล้วรวม 17,945 คัน เพิ่มขึ้น 10.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.1 % และอันดับ 5 MAZDA จำหน่ายแล้วรวม 13,913 คัน เพิ่มขึ้น 6.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
ทางด้านของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ประเภทรถพิคอัพ 1 ตัน เดือนนี้มีรถใหม่ที่น่าสนใจเปิดตัวเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการอีก 2 โมเดล คือ RANGER และ RANGER RAPTOR ใหม่ของค่าย FORD เห็นว่าถูกอกถูกใจแฟนๆ FORD ยิ่งนักสำหรับโมเดลใหม่ทั้ง 2 โมเดลนี้ ในส่วนของตัวเลขยอดจำหน่ายของรถยนต์กลุ่มนี้ เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 33,629 คัน เทียบกับเดือนเมษายนปี 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น 3.1 % หัวแถว 5 อันดับแรกที่ทำยอดจำหน่ายได้มากสุด ประกอบด้วย ISUZU 15,451 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปีก่อน 13.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.9 % อันดับ 2 TOYOTA 12,605 คัน เพิ่มขึ้น 1.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.5 % อันดับ 3 FORD 2,529 คัน ลดลง 8.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.5 % อันดับ 4 MITSUBISHI 2,319 คัน ลดลง 8.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.9 % และอันดับ 5 NISSAN 475 คัน ลดลง 31.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
4 เดือนแรกของปี 2565 ผ่านไป รถพิคอัพ 1 ตัน ทุกยี่ห้อมีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมกันอยู่ที่ 156,401 คัน เทียบกับ 4 เดือนแรกของปี 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.5 % โดยพิคอัพของ ISUZU ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของนักเลงรถพิคอัพ มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมอยู่ที่ 68,607 คัน เพิ่มขึ้น 16.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ได้ส่วนแบ่งการตลาดที่ 43.9 % TOYOTA ตามมาในอันดับที่ 2 ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสม 4 เดือนแรกอยู่ที่ 62,694 คัน เพิ่มขึ้น 33.0 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 40.1 % อันดับที่ 3 MITSUBISHI จำหน่ายไปแล้วรวม 10,843 คัน เพิ่มขึ้น 12.3 % ส่วนแบ่งการตลาดได้ไป 6.9 % FORD อยู่ในอันดับที่ 4 จำหน่ายไปแล้วรวม 9,879 คัน ลดลง 9.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.3 % และอันดับที่ 5 NISSAN จำหน่ายแล้วรวม 2,965 คัน เพิ่มขึ้น 5.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.9 %
สำหรับรถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือรถเอสยูวี โมเดลใหม่ที่เปิดตัวเข้าตลาดอย่างเป็นทางการอีก 1 โมเดล เป็นรุ่น CRETA (กเรตา) ของค่าย HYUNDAI (ฮันเด) เป็นครอสส์โอเวอร์ เอสยูวีขนาดคอมแพคท์ที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย น่าสนใจทีเดียวกับรถยนต์โมเดลใหม่ของ HYUNDAI โมเดลนี้ ส่วนตัวเลขยอดจำหน่ายของรถเอสยูวีทุกไซซ์ ทุกระดับความหรูหรา เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 5,836 คัน เพิ่มขึ้น 5.3 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2564 ที่จำหน่ายได้มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย TOYOTA 1,770 คัน เทียบกับเดือนเมษายน 2564 แล้วเป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น 25.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.3 % ตามด้วย HONDA จำหน่ายได้ 1,138 คัน เพิ่มขึ้น 15.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.5 % MAZDA จำหน่ายได้ 1,030 คัน เพิ่มขึ้น 3.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 17.6 % MG จำหน่ายได้ 814 คัน ลดลง 48.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.9 % และ HAVAL (ฮาวัล) ของ GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายได้ 636 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 10.9 %
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน ปี 2565 รถเอสยูวีทั้งหมดมีการซื้อขายส่งมอบไปแล้วรวมทั้งสิ้น 27,473 คัน เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วปี 2565 มียอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 10.5 % โดยที่ TOYOTA ยังคงอยู่ในกระแสความนิยมสูงสุด ทำยอดจำหน่ายไปแล้วรวม 6,975 คัน เพิ่มขึ้นจากห้วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ 4.6 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25.4 % ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ HONDA จำหน่ายไปแล้วรวม 6,866 คัน เพิ่มขึ้นถึง 49.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.0 % อันดับที่ 3 MAZDA จำหน่ายไปแล้วรวม 5,195 คัน เพิ่มขึ้น 2.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 18.9 % อันดับที่ 4 MG จำหน่ายไปแล้วรวม 3,703 คัน ลดลง 41.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.5 % และอันดับที่ 5 GMW จำหน่ายไปแล้วรวม 2,665 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.7 %
ตัวเลขยอดจำหน่ายของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ประเภทอื่นๆ ของเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 3,470 คัน เพิ่มขึ้น 15.8 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2564 เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2565 รถยนต์กลุ่มนี้มียอดจำหน่ายสะสมอยู่ที่ 14,524 คัน เพิ่มขึ้น 10.3 % เมื่อเทียบกับช่วงระยะเดียวกันของปี 2564
ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2565 มีผู้นำรถยนต์ประเภทพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี ไปแจ้งจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกรวมทั้งสิ้น 43,990 คัน เทียบกับเดือนเมษายน 2564 แล้วเพิ่มสูงขึ้น 4.0 %
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์