วิถีตลาดรถยนต์
ครึ่งปีแรก...ผ่าน
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมิถุนายน 2022/2021
ตลาดโดยรวม +4.6 %
รถยนต์นั่ง -13.0 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +23.5 %
กระบะ 1 ตัน +13.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +4.3 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน 2022/2021
ตลาดโดยรวม +14.5 %
รถยนต์นั่ง +12.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +15.6 %
กระบะ 1 ตัน +15.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +10.3 %
เอ…มันยังไงกันแน่นะกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากพิษสงของเจ้าวายร้าย COVID-19 ที่ว่ามันเข้าประเทศไหน เศรษฐกิจประเทศนั้นต้องมีอันเงียบเหงาซึมเซาเป็นไก่ป่วย ประเทศไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่เจ้าวายร้าย COVID-19 เข้ามาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งในด้านของชีวิตความเป็นอยู่, ความสูญเสียของบุคคลที่เป็นที่รัก และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงปีแรกของการระบาด แต่พอเราเริ่มตั้งหลักรับมือกับโรคร้ายนี้ได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และประขาชน ทำให้สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจเริ่มขยับฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ จนครึ่งแรกของปี 2565 ผ่านพ้นไป เราเริ่มมีอิสระในการดำเนินชีวิตอย่างใกล้เคียงกับก่อนที่ COVID-19 จะแพร่ระบาดมากขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ทำให้การค้าการขายกับต่างบ้านต่างเมืองเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศครึ่งปีแรกเติบโตสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ถึงแม้จะมีปัจจัยฉุดรั้งอยู่บ้าง นอกเหนือจากเรื่อง COVID-19 แล้ว เช่นในเรื่องของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาการสู้รบกันระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ตาม
หนึ่งในดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นเรื่องของการซื้อการขายยวดยานพาหนะ ที่ในช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ จนเป็นห่วงกันว่าหากโรค COVID-19 ยังไม่หมดสิ้นไป อุตสาหกรรมยานยนต์ของบ้านเราคงหัวทิ่มปักลงเหวเป็นแน่แท้ ที่ไหนได้ พอเราปรับตัวรับกับเจ้าโรคร้ายนี้ได้ สถานการณ์พลิกกลับ ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงเริ่มกลับมากระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อครึ่งแรกของปี 2565 ผ่านพ้นไป ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงเติบโตขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2564 ถึง 15.6 % แสดงว่าเจ้า COVID-19 กดเราไม่อยู่จริงๆ
สำหรับเดือนมิถุนายน เดือนปิดท้ายครึ่งแรกของปี ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมทุกตลาดอยู่ที่ 67,952 คัน เพิ่มขึ้น 4.6 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2564 โดยรถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุดอันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็น TOYOTA (โตโยตา) และ ISUZU (อีซูซุ) ตามลำดับ ขณะที่ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 แทนที่ HONDA (ฮอนดา) ส่วน MAZDA (มาซดา) จำหน่ายขายดีอยู่ในอันดับที่ 5 เช่นเดิม ทั้งนี้อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 21,026 คัน ลดลง 5.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.9 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 20,146 คัน เพิ่มขึ้น 42.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 29.6 % อันดับ 3 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 4,815 คัน เพิ่มขึ้น 22.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.1 % อันดับ 4 HONDA จำหน่ายได้ 4,395 คัน ลดลง 40.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.5 % และอันดับ 5 MAZDA จำหน่ายได้ 3,199 คัน เพิ่มขึ้น 6.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
ครึ่งแรกของปี 2565 รถยนต์ใหม่ป้ายแดงทุกยี่ห้อมียอดจำหน่ายสะสมรวมกันแล้วทั้งสิ้น 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2564 รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย TOYOTA 142,032 คัน เพิ่มขึ้น 21.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.2 % ISUZU 109,889 คัน เพิ่มขึ้น 18.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.7 % HONDA 40,161 คัน ลดลง 6.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.4 % MITSUBISHI 27,474 คัน เพิ่มขึ้น 16.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.4 % และ MAZDA 20,117 คัน เพิ่มขึ้น 6.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
เมื่อแยกย่อยออกมาเป็นหมวดหมู่ของรถพิคอัพ 1 ตัน เดือนมิถุนายน 2565 ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ประเภทนี้มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันที่ 37,619 คัน เพิ่มขึ้น 13.4 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 พิคอัพจำหน่ายขายดีที่สุดไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนที่ผ่านๆ มา ประกอบด้วย อันดับ 1 ISUZU อันดับ 2 TOYOTA อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) อันดับ 4 MITSUBISHI และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) โดย ISUZU จำหน่ายได้ 18,640 คัน เพิ่มขึ้น 48.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 49.5 % TOYOTA จำหน่ายได้ 12,629 คัน ลดลง 12.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.6 % FORD จำหน่ายได้ 2,756 คัน เพิ่มขึ้น 1.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.3 % MITSUBISHI จำหน่ายได้ 2,721 คัน เพิ่มขึ้น 14.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 % และ NISSAN จำหน่ายได้ 489 คัน ลดลง 16.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %
ครึ่งแรกปี 2565 ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมกันของรถยนต์ประเภทนี้อยู่ที่ 227,842 คัน เพิ่มขึ้น 15.7 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2564 ยอดจำหน่ายสะสมสูงสุดเป็นของ ISUZU จำหน่ายไปแล้วรวม 101,439 คัน เพิ่มขึ้น 19.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 44.5 % ตามด้วย TOYOTA 89,232 คัน เพิ่มขึ้น 20.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 39.2 % MITSUBISHI 16,168 คัน เพิ่มขึ้น 13.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.1 % FORD 14,901 คัน ลดลง 8.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.5 % และ NISSAN 3,971 คัน เพิ่มขึ้น 1.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.7 %
ในหมวดหมู่ของรถเอสยูวี ตัวเลขยอดจำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 6,870 คัน เพิ่มขึ้นถึง 23.5 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 TOYOTA ยังคงความเป็นเอสยูวีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยตัวเลขยอดจำหน่าย 2,080 คัน เพิ่มขึ้น 4.2 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 30.3 % HONDA ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยตัวเลขยอดจำหน่าย 1,877 คัน เพิ่มขึ้นถึง 104.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 27.3 % MAZDA จำหน่ายได้มากสุดเป็นอันดับที่ 3 ด้วยยอด 1,158 คัน เพิ่มขึ้น 3.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.9 % ตามมาในอันดับที่ 4 สำหรับ MG (เอมจี) ด้วยยอดจำหน่าย 976 คัน ลดลง 25.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.2 % และ GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยยอดจำหน่าย 528 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.7 %
ครึ่งปีแรกของปี 2565 รถเอสยูวีมีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมกันที่ 41,268 คัน เพิ่มขึ้น 15.6 % เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2564 TOYOTA อยู่ในตำแหน่งหัวแถวของตลาดรถยนต์ประเภทนี้ ด้วยยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งหมด 11,156 คัน เพิ่มขึ้น 5.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 27.0 % ตามมาไม่ห่างนัก เป็นรถเอสยูวีของ HONDA 10,587 คัน เพิ่มขึ้นถึง 72.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.7 % MAZDA มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมากสุดเป็นอันดับที่ 3 จำหน่ายแล้วรวม 7,496 คัน เพิ่มขึ้น 2.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 18.2 % MG อยู่ในอันดับที่ 4 จำหน่ายแล้วรวม 5,606 คัน ลดลง 36.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.6 % และ GWM อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยยอด 3,817 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.2 %
สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนมิถุนายน 2565 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 3,865 คัน เพิ่มขึ้น 4.3 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ครึ่งแรกของปี 2565 มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 22,293 คัน เพิ่มขึ้น 10.3 % เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2564
เดือนมิถุนายน 2565 มีการแจ้งจดทะเบียนรถพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี รวมทั้งสิ้น 49,488 คัน เพิ่มขึ้น 17.9 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 รถพิคอัพที่มีการแจ้งจดทะเบียนมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ D-MAX (ดี-แมกซ์) ของ ISUZU ส่วนรถเอสยูวี เป็นตระกูล FORTUNER (ฟอร์ทูเนอร์) ของ TOYOTA
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์