รายงาน(formula)
6 เรื่องลึกแต่ไม่ลับ ของน้ำมันเชื้อเพลิง
เคยสงสัยไหมว่า น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร แล้ววิ่งได้ไกลกว่ากันหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปไขข้อข้องใจพร้อมกัน...
1. น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ มีกี่ประเภท
น้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในสถานีบริการบ้านเรา มีอยู่ 2 ประเภท คือ “น้ำมันเบนซิน” และ “น้ำมันดีเซล”
น้ำมันเบนซิน
เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเบาที่สุด โดยได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ แล้วนำมาปรับปรุงคุณภาพ ที่สำคัญ คือ การเพิ่มค่าออคเทน ซึ่งค่าความเข้มข้นของออคเทนนั้น จะขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท เช่น
- เบนซิน ออคเทน 95 เป็นน้ำมันที่มีค่าออคเทนสูงที่สุดในประเทศไทย ใช้กับรถยนต์ได้ทุกประเภท และยังไม่มีส่วนผสมของแกสโซฮอล หรือเอธิลแอลกอฮอล ช่วยให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ ทำให้น้ำมันเบนซิน ออคเทน 95 เป็นน้ำมันที่ตอบสนองการขับได้ดีที่สุด
- เบนซิน ออคเทน 91 มีความคล้ายกับเบนซิน ออคเทน 95 ที่ไม่มีเอธิลแอลกอฮอลเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ค่าออคเทนที่ลดลงเป็น 91 เหมาะกับรถยนต์รุ่นเก่า หรือรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตในประเทศไทย ให้การตอบสนองการขับขี่ได้ดี ไม่ต่างกับ ออคเทน 95 (ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้ว)
แกสโซฮอล
เกิดจากการนำแอลกอฮอลที่สกัดจากพืชผล เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว และอ้อย ที่เรียกว่า เอธานอล หรือเอธิลแอลกอฮอล มาผสมผสานกับน้ำมันเบนซิน จนกลายมาเป็นพลังงานทดแทน แกสโซฮอล (GASOHOL) โดยแบ่งประเภทตามจำนวนเปอร์เซนต์ของเอธานอลที่ผสมเข้าไป
- แกสโซฮอล 91 (E10) เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน ออคเทน 91: 9 ส่วน ผสมกับเอธานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 %: 1 ส่วน มีข้อดี คือ ราคาถูก และเป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะเครื่องยนต์
- แกสโซฮอล 95 (E10) เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มของแกสโซลีน ที่ถูกผลิตมาใช้แทนน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95 โดยมีส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95: 9 ส่วน และเอธานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 %: 1 ส่วน ทำให้แกสโซฮอลที่ออกมา มีออคเทนเทียบเท่ากับ เบนซิน 95
- แกสโซฮอล 95 พรีเมียม (E10) เป็นน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมัน ผลิตขึ้นเพื่อเหตุผลทางการตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มของแกสโซลีน ที่ถูกผลิตมาใช้แทนน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95 มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95: 9 ส่วน และเอธานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 %: 1 ส่วน เช่นเดียวกับแกสโซฮอล 95 (E10) แต่แกสโซฮอล 95 พรีเมียม (E10) มีการเพิ่มสารเติมแต่งเครื่องยนต์เข้าไป (ตามสูตรของแต่ละบแรนด์) ทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าน้ำมันแกสโซฮอล 95 (E10) แบบปกติ
- แกสโซฮอล E20 มีส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ผสมกับเอธานอล หรือเอธิลแอลกอฮอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอลบริสุทธิ์ 99.5 % ในอัตราส่วน เบนซิน 80 % ต่อเอธานอล 20 % พลังงานรวมจะด้อยกว่าแกสโซฮอล 95 และ 91 เน้นการใช้งานในเมืองเป็นหลัก
- แกสโซฮอล E85 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95: 15 % ผสมกับเอธานอล 85 % เป็นน้ำมันที่มีราคาถูกที่สุด เพราะมีปริมาณส่วนผสมของน้ำมันเบนซินค่อนข้างน้อย ทำให้มีการระเหยสูง เพราะมีส่วนผสมของแอลกอฮอลมาก
น้ำมันดีเซล
เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ จัดเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง ให้การเผาไหม้ที่ดี เหมาะกับรถยนต์ที่ต้องการทำรอบเครื่องสูง รวดเร็ว และมีแรงอัดสูง สามารถจุดระเบิดด้วยตัวเองได้ โดยแบ่งประเภท ดังนี้
- ดีเซล B7 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลประมาณ 7 % ส่วนที่เหลือเป็นน้ำมันดีเซล เหมาะสำหรับรถเก่า และรถยุโรป
- ดีเซล B10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 % ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นน้ำมันดีเซล ซึ่งตอนนี้ถือเป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของไทย
- ดีเซล B20 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลถึง 20 % เหมาะสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถกระบะ ที่รองรับน้ำมันประเภทนี้ได้
- ดีเซล เกรดพรีเมียม เป็นน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงเพื่อการตลาด ซึ่งแต่ละบแรนด์ จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมันตัวพิเศษ ที่มีราคาสูงกว่าแบบปกติ ข้อดี คือ มีการเผาไหม้ที่หมดจด ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มที่ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกภายในเครื่องยนต์ได้
2. น้ำมันเกรดพรีเมียม กับเกรดปกติ ต่างกันอย่างไร ?
น้ำมันในกลุ่มเบนซิน-แกสโซฮอล ที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดมาตรฐานคุณภาพทั่วไปแล้ว ยังกําหนดให้มีการเติมแต่งสารประเภททำความสะอาดเครื่องยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น ขณะที่น้ำมันดีเซล ไม่ได้มีการกําหนดให้ต้องเติมแต่งสาร แต่ผู้ค้าน้ำมันบางรายเติมสารเติมแต่งลงในน้ำมันดีเซล เนื่องจากต้องการเป็นหนึ่งในการแข่งขันทางการตลาด โดยการเติมสารเติมแต่งในน้ำมันดีเซล จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงาน เช่นเดียวกับการเติมสารเติมแต่งในน้ำมันเบนซิน-แกสโซฮอล
ความแตกต่างระหว่างน้ำมันเกรดพรีเมียม กับเกรดปกติ สามารถสรุปได้ คือ คุณภาพเนื้อน้ำมันของเกรดพรีเมียมจะมีการเติมสารเติมแต่งในปริมาณที่สูงกว่า กล่าวคือ ขณะที่เนื้อน้ำมันของเกรดปกติเป็นน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 น้ำมันเกรดพรีเมียมจะมีมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งหมายความว่าน้ำมันเกรดพรีเมียมจะมีปริมาณกํามะถันต่ำกว่า จึงปล่อยมลพิษไอเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่า (ข้อมูลโดย กรมธุรกิจพลังงาน)
3. เกรดปกติเหมือนกัน แต่ต่างกัน
น้ำมันแต่ละยี่ห้อนั้น มีพื้นฐานจากการกลั่นน้ำมันดิบเหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียดของส่วนผสมจากสารเติมแต่งที่ถูกเพิ่มเข้าไปตามแต่ละสูตรเฉพาะ ซึ่งแต่ละยี่ห้อ จะชูจุดขายของตัวเอง เช่น เพิ่มแรง, ประหยัดน้ำมัน, เผาไหม้หมดจด, ลดการสึกหรอ, ลดมลพิษ เป็นต้น โดยผู้บริโภคจะเห็นได้จากในส่วนของ “ราคา”
ส่วนในเรื่องการเติมน้ำมันแต่ละยี่ห้อ จะสามารถทำให้รถวิ่งได้ไกลต่างกันหรือไม่นั้น คงไม่สามารถให้เป็นคะแนน หรือตัดสินลงไปได้ว่า ยี่ห้อไหนดีกว่ากัน เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการใช้รถ สภาพเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์ หรือสภาพเส้นทางที่ใช้เป็นประจำ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อการใช้รถของแต่ละบุคคล มากกว่าการเลือกใช้ยี่ห้อน้ำมัน
4. ราคาน้ำมันต่อลิตร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
- ต้นทุนเนื้อน้ำมัน : ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย (ทั้งน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล)
- ภาษีสรรพสามิต : จะถูกเรียกเก็บเป็นอัตราต่อลิตร ขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการว่าจะมีการเรียกเก็บจำนวนต่อลิตรเป็นอัตราเท่าไร ซึ่งปัจจุบันมีการเรียกเก็บในอัตรา 0.64-6.5 บาท/ลิตร
- ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10 % ของภาษีสรรพสามิต ตาม พรบ. ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บ 7 % ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7 % ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน ซึ่งปัจจุบันมีการเรียกเก็บสูงสุดที่ 7.18 บาท/ลิตร
- กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือ หรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน โดยจัดเก็บเท่ากันในอัตรา 0.10 บาท/ลิตร
- ค่าการตลาด : คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ และการให้บริการของสถานีบริการ
5. ค่าออคเทน คืออะไร
ค่าออคเทน คือ ค่าการต้านทานการนอคของเครื่องยนต์ หรือค่ามาตรฐานในการกำหนดความสามารถของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้กับเครื่องยนต์ชนิดต่างๆ ซึ่งตัวเลขของค่าออคเทนนั้นบ่งบอกถึงความสามารถของน้ำมันในการต้านทานการนอคของเครื่องยนต์ จากการชิงจุดระเบิด (SELF-IGNITION) ซึ่งหลายๆ คนเข้าใจผิดมาตลอดว่า ยิ่งค่าสูง รถยนต์จะยิ่งเร็ว และแรง
ค่าออคเทนสำคัญอย่างไร คำตอบ คือ ในระหว่างการทำงานของเครื่องยนต์ อากาศในลูกสูบจะถูกอัด เพื่อให้เกิดแรงส่งไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยง ให้ได้กำลังส่งต่อไปยังเกียร์ และล้อ เพื่อให้รถยนต์เคลื่อนที่ ซึ่งเมื่ออากาศในลูกสูบถูกอัดด้วยแรงสูงมากเท่าใด ภายในห้องเผาไหม้ก็จะมีอุณหภูมิสูงมากขึ้น ซึ่งหากน้ำมันชนิดนั้นมีค่าออคเทนต่ำ เมื่อหัวฉีดจ่ายน้ำมันลงไปในห้องเผาไหม้ที่ร้อนจัด มันจะชิงจุดระเบิดตัวเองก่อนทันที ก่อนที่หัวเทียนจะเกิดการจุดระเบิด ผลลัพธ์ คือ จะทำให้เครื่องยนต์ทำงานผิดจังหวะ และเกิดอาการนอค ส่งผลให้เครื่องยนต์ชำรุดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การใช้น้ำมันที่ทนต่อแรงดันสูงได้โดยไม่เกิดการชิงจุดระเบิดก่อน จะช่วยให้การทำงานของเครื่องยนต์เป็นปกติ และยืดอายุของเครื่องยนต์ได้
6. ค่าซีเทน คืออะไร
ค่าซีเทน เป็นตัวบ่งบอกคุณภาพการจุดระเบิดเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล และค่าซีเทนนั้นจะเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานของประสิทธิภาพการจุดระเบิดของเชื้อเพลิง และการบีบอัด ทั้งแบบดีเซล และไบโอดีเซล
ค่าซีเทนในดีเซล และค่าออคเทนในเบนซิน นั้นมีความคล้ายกัน คือ การกำหนดคุณภาพการเผาไหม้ของน้ำมัน หมายถึง ความสามารถในการต้านทานการจุดระเบิดแบบอัตโนมัติ (เรียกว่าจุดระเบิดก่อนเครื่องเขก) ค่าซีเทนจะเป็นตัวชี้วัดความล่าช้าของการเผาไหม้ที่รวดเร็ว และสมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : ิอินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา