มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ ปารีส 2022 งานแสดงรถยนต์ยุคไม่หวาด COVID-19 คึกคัก คับคั่ง แต่ยังไม่โดนใจ
ครั้งล่าสุดที่ทีมงานของ “สื่อสากล” เดินทางไปเยือนงานมหกรรมยานยนต์ปารีส คือ เดือนตุลาคม 2018 พิษ COVID-19 ที่ระบาดทั่วโลก ทำให้งานนี้ และงานแสดงรถยนต์ระดับ “อินเตอร์” อีกหลายงานต้องยกเลิกการจัดไปชั่วคราว ต้องรอถึง 4 ปีเต็ม มหกรรมยานยนต์ในนครหลวงของเมืองน้ำหอมจึงอุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง งานนี้ยังคงมีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า MONDIAL DE L’AUTO (มงดีอัล เดอ ลาโอโต) จัดระหว่างวันจันทร์ที่ 17 จนถึงวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2023 สถานที่จัดงานเป็นที่เดิม คือ ศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางแถบใต้ของกรุงปารีส ซึ่งมีชื่อว่า PORTE DE VERSAILLES (ปอร์เตอ เดอ แวร์ซายล์ล์ส์)
ข่าวคราวในช่วง 2-3 เดือนก่อนถึงวันงาน ทำให้เราคาดหมายว่า งานครั้งนี้คงไม่ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนมหกรรมยานยนต์ปารีส ที่เราเคยสัมผัสในอดีต อาคารที่ใช้จัดงานก็ลดจำนวนลงเกือบครึ่ง คือ จาก 5 อาคาร ลดเหลือเพียง 3 อาคาร เมื่อโดยสารด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 12 และไปถึงงานตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม เราก็พบว่า มหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งนี้ ยังคงคึกคักเช่นเดิม รถที่แสดงในงานก็ยังดูคับคั่ง และชวนให้สัมผัสด้วยสายตา แม้ว่าจำนวนรถโดยรวมในงานลดลงเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตรถยนต์ระดับ “อินเตอร์” ที่นำผลงานมาอวดตัวในงานนับจำนวนได้ด้วยนิ้วมือ และเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทรถยนต์ของฝรั่งเศสเอง ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์ของเกาหลี ที่ทำให้งานมีสีสัน และเรียกความสนใจจากผู้คนได้มากก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับงานนี้ จึงมีรถสายเลือดมังกรอวดตัวในงานนี้หลายยี่ห้อ เช่น BYD (บีวายดี) ORA (โอรา) WEY (เว่ย) SERES (เซเรส) รวมทั้งมีรถเวียดนาม 1 ยี่ห้อ คือ VINFAST (วินฟาสต์)
ปกติงานใหญ่อย่างมหกรรมยานยนต์เจนีวา มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท และมหกรรมยานยนต์ปารีส เราต้องใช้เวลาจัดการ 2 วันเต็ม ตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น แต่งานนี้เราใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมง งานก็เสร็จเรียบร้อย ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เรื่องคอขาดบาดตายมาเกิดขึ้น 2 วันหลังจากนั้น ด้วยความประมาทเหมือนไม่เคยรู้พิษสงของกรุงปารีส ผู้เขียนต้องสูญเสียเงินยูโรจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งพาสสปอร์ท และ SANDISK บันทึกภาพไปทั้งหมด ขณะเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน เรื่องพาสสปอร์ทนั้นแก้ปัญหาได้ เพราะบริการอันฉับไวของเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในกรุงปารีส โดยเฉพาะคุณสุกัญญา (ไม่ทราบนามสกุล) ที่ต้องขอบคุณเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องเงินยูโรนั้น ก็อยู่ในยุโรปต่อไป
เนื่องจากภาพที่ถ่ายไว้สูญหายไปหมด จึงต้องใช้ภาพที่คุณชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ ถ่ายไว้เล่นๆ ไม่ได้ตั้งใจจะใช้งานจริง รวมทั้งภาพเผยแพร่ของผู้ผลิตรถยนต์หลายราย คือ PEUGEOT-DACIA-RENAULT-JEEP และ BYD ส่วนรูปแบบการนำเสนอ ก็กระทำลักษณะเดียวกันกับการรายงานข่าว IAA MOBILITY หรือมหกรรมยานยนต์มิวนิค เมื่อเดือนกันยายน 2011 มีอะไรน่าสนใจบ้าง พลิกไปพบได้เลยครับใน 14 หน้าถัดจากนี้
PEUGEOT 408
ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองน้ำหอมซึ่งเพิ่งเปลี่ยนโลโกจาก “สิงห์เผ่น” เป็น “หัวสิงห์” ดึงดูดสายตาของผู้คน โดยนำรถตัวจริงขนาดใหญ่ยึดติดอยู่กับโครงสร้างโลหะ ที่ออกแบบให้หมุนได้รวมตัว แล้วห่อหุ้มทั้งโครงสร้าง และตัวรถยนต์ไว้ในลูกโป่งใสขนาดยักษ์ ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่า 6 ม. ดังที่เห็นในภาพ
รถที่อวดตัวอยู่ในลูกโป่งใสขนาดยักษ์ที่ว่านี้ คือ PEUGEOT 408 (เปอโฌต์ 408) รุ่นใหม่ ซึ่งใช้เวลาในการออกแบบ/พัฒนายาวนานถึง 7 ปี และมีกำหนดออกตลาดในเมืองน้ำหอมตอนต้นปี 2023 เป็นรถเก๋งฟาสต์แบค 4 ประตู 5 ที่นั่ง ที่ผู้ผลิตบอกว่า ผสมผสานคุณลักษณะของรถ 3 ประเภทเข้าไว้ด้วยกัน คือ เอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้ง รถเก๋งแฮทช์แบค และรถเก๋งซีดาน ตัวถังซึ่งยาว 4.687 ม. กว้าง 1.848 ม. สูง 1.478 ม. และช่วงฐานล้อยาว 2.787 ม. มีหน้าตาโดยเฉพาะแผงกระจังหน้าที่ออกแบบสไตล์เดียวกันกับรถใหม่รุ่นอื่นๆ ของค่ายนี้ รวมทั้งรถ PEUGEOT 308 (เปอโฌต์ 308) ที่เพิ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2021 แต่ดูทันสมัยกว่า ส่วนภายในห้องโดยสารก็ออกแบบด้วยสไตล์ที่ค่ายนี้เพิ่งทำขึ้นใหม่ และตั้งชื่อว่า I-COCKPIT LAYOUT มีจอสื่อสารบันเทิงขนาดโตถึง 10.0 นิ้ว
ในระยะแรกจะมีระบบขับให้เลือก 3 แบบ คือ ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง 4 สูบเรียง 1,199 ซีซี 130 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ขับด้วยระบบ PLUG-IN HYBRID (พลัก-อิน ไฮบริด) หรือไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง 1,598 ซีซี 150 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า แบทเตอรี LITHIUM-ION ขนาดความจุ 12.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ได้กำลังรวมสูงสุด 180 แรงม้า กับขับด้วยระบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง 1,598 ซีซี 180 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า แบทเตอรี LITHIUM-ION 12.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ได้กำลังรวมสูงสุด 225 แรงม้า
DACIA MANIFESTO CONCEPT
จุดสะดุดตา และสะดุดใจในบูธของ DACIA (ดาเซีย) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติโรมาเนีย ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของกลุ่มบริษัทรถยนต์ RENAULT GROUPE (เรอโนลต์ กรุพ) ของฝรั่งเศส คือ รถตัวถังเปล่าเปลือยติดป้ายชื่อ DACIA MINIFESTO CONCEPT (ดาเซีย แมนิเฟสโต คอนเซพท์)
เป็นรถแนวคิดที่ผู้ผลิตบอกว่า เหมือนเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ติดล้อ เพื่อการศึกษาแนวทาง และการค้นพบบางอย่าง ที่จะนำไปใช้ในรถตลาด หรือรถผลิตเพื่อจำหน่าย รวมทั้งเป็นรถที่ทำให้ผู้ขับกับผู้โดยสารซึ่งมีได้เพียงคนเดียว สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติที่รายล้อมโดยไม่มีอะไรกีดกั้น เพราะไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง แม้แต่กระจกบังลมหน้าก็ไม่มี และบอกด้วยว่า ไม่ใช่รถที่ตั้งทำขายอย่างจริงๆ จังๆ
ตัวถังซึ่งออกแบบให้นั่งเพียง 2 คน ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ทำจากพลาสติค เป็นพลาสติคทำจากวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้งานใหม่ และมีชื่อว่า STARKLE (สตาร์เคิล) รถจึงมีคุณสมบัติ WATERPROOF หรือไม่กลัวน้ำ สามารถใช้หัวฉีดน้ำฉีดล้างทำความสะอาดได้ทั้งภายนอก และภายในตัวถัง ไม่ต้องกลัวเสียหาย ภายในห้องโดยสารที่ปลอดโปร่งโล่งตา ก็มีลักษณะการออกแบบที่น่าสนใจอยู่หลายจุด เช่น ผ้าหุ้มเบาะเก้าอี้ที่นั่งที่ถอดออกได้ แล้วใช้เป็นถุงนอน แผงหน้าปัดอุปกรณ์ไฮเทค และมีประสิทธิภาพ ที่ทำให้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนได้โดยสะดวก ฯลฯ รวมทั้งมีการใช้วัสดุธรรมชาติจำนวนมาก ตัวอย่าง คือ การหุ้มแผงหน้าปัดอุปกรณ์ด้วยไม้คอร์ค ที่น่าสังเกตก็คือ เป็นรถติดตั้งไฟหน้าเพียงดวงเดียว ก็ทำไมต้องมีมากกว่า 1 ดวง ? หากดวงเดียวก็ส่องสว่างเพียงพอแล้ว
RENAULT 4EVER TROPHY
ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ และในบูธอันกว้างขวางของผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 เมืองน้ำหอม คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ RENAULT 4EVER TROPHY (เรอโนลต์ โฟร์เอเวอร์ ทโรฟี) ในตัวถังยาว 4.160 ม. กว้าง 1.950 ม. และสูง 1.900 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน
เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของ ELECTRIC SUBCOMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมตั้งใจจะนำออกสู่โชว์รูมในปี 2025 พร้อมกับป้ายชื่อ RENAULT 4 (เรอโนลต์ 4) และป้ายราคาค่าตัวระดับ 30,000 ยูโร เป็นชื่อเดียวกันกับรถที่เคยโด่งดังในอดีต และขายได้มากกว่า 8 ล้านคันในช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่อยู่ในสายการผลิต
ข้อความที่เผยแพร่แก่สื่อมวลชนไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ นอกจากบอกว่าเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ นิตยสารรถยนต์รายสัปดาห์ชั้นนำฉบับหนึ่งของยุโรป คือ AUTOCAR (ออโทคาร์) ระบุว่า รถตลาดที่ว่านี้ออกแบบ/พัฒนาเพื่อให้ใช้งานอย่างสะดวกทั้งในเมือง นอกเมือง และการขับแบบ “ออฟโรด” เป็นรถขับล้อหน้า ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า และแบทเตอรี NICKEL-COBALT-MANGANESE (นิคเคิล-โคบอลท์-แมงกานีส) ขนาดความจุ 42 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเมื่อชาร์จไฟเต็ม รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 400 กม. ที่น่าสนใจก็คือ นิตยสารดังกล่าวบอกด้วยว่า อาจจะไม่มีการจำหน่ายแบบจ่ายเงินก้อนเดียวแล้วเอารถไปได้เลย แต่จะใช้วิธีเช่าซื้อแบบ LEASING (ลีซิง) ที่คุ้นเคยกันดี
RENAULT AUSTRAL
จุดดึงดูดสายตาอีกจุดหนึ่งในบูธอันกว้างขวางของยักษ์ใหญ่หมายเลข 1 เมืองน้ำหอม คือ รถติดป้ายชื่อ RENAULT AUSTRAL (เรอโนลต์ ออสตโรล) ซึ่งออกงานเป็นครั้งแรกที่งานนี้
เป็น COMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งมีกำหนดออกตลาดในเมืองน้ำหอมในไตรมาสสุดท้ายของปีเสือดุ แทนที่รถอนุกรมเดิม คือ RENAULT KADJAR (เรอโนลต์ กัดจาร์) ซึ่งอยู่ในสายการผลิตมายาวนานตั้งแต่ปี 2015 โดยใช้โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในเมือง PALENCIA (ปาเลนซีอา) ของสเปน เป็นที่ประกอบชิ้นส่วนเป็นตัวรถ ส่วนชื่อ AUSTRAL มาจาก AUSTRALIS ในภาษาละติน ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษ OF THE SOUTH หรือแห่งภาคใต้ ในภาษาไทย
ตัวถังซึ่งยาว 4.510 ม. กว้าง 1.825 ม. สูง 1.618 ม. และช่วงฐานล้อยาว 2.667 ม. ออกแบบโดยใช้พแลทฟอร์มที่ค่ายนี้เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และตั้งชื่อว่า CMF-CD PLATFORM มีทั้งรถบังคับเลี้ยว 2 ล้อ รถบังคับเลี้ยว 4 ล้อ และในระยะแรกจะมีระบบขับให้เลือก 3 แบบ หนึ่ง คือ ระบบขับล้อหน้าซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง 3 สูบเรียง 12 วาล์ว 1,199 ซีซี 130 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับระบบ MILD HYBRID หรือไฮบริดแบบอ่อนซึ่งใช้แบทเตอรี LITHIUM-LITHIUM ขนาด 48 โวลท์ และส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ แบบที่ 2 คือ ระบบขับล้อหน้าซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 1,333 ซีซี 160 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับระบบ MILD HYBRID ซึ่งใช้แบทเตอรี LITHIUM-ION ขนาด 12 โวลท์ และส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมติ 7 จังหวะ แบบที่ 3 คือ ระบบขับ FULL HYBRID หรือไฮบริดแท้ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรง 3 สูบเรียง 12 วาล์ว 1,199 ซีซี ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ชุด และแบทเตอรี LITHIUM-ION 400 โวลท์ 2 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้กำลังรวมสูงสุด 200 แรงม้า และส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านเกียร์อัตโนมัติ
รถที่ติดตั้งระบบขับแบบสุดท้ายนี้ สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 8.4 วินาที มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 20.8-21.7 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 104-109 กม./ลิตร เมื่อวัดตามมาตรฐาน WLTP
JEEP AVENGER
ในช่วงเวลาเกือบ 8 ทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่ปี 1943 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งกิจการ ผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งผลิตแต่รถกิจกรรมกลางแจ้งกับรถพิคอัพไม่ผลิตรถเก๋ง ซึ่งรู้จักกันดีทั่วโลกในชื่อ JEEP (จีพ) ไม่เคยทำรถขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ มาก่อนเลย จนกระทั่งที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งนี้นี่เอง ผู้คนจำนวนหนึ่งจึงได้พบความจริงด้วยตนเองว่า รถ JEEP ซึ่งวิ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องยนต์มีแล้วนะจ๊ะ !!!
รถพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบแรกในประวัติศาสตร์ของค่าย JEEP แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นหนึ่งในบรรดารถนับ 10 ยี่ห้อที่เป็นสินค้าของกลุ่มบริษัทรถยนต์ STELLANTIS BV (สเตลลันทิส บีวี) ซึ่งเพิ่งก่อกำเนิดเมื่อเดือนมกราคม 2021 จากการรวมตัวกันของอดีตยักษ์ใหญ่ 2 ราย คือ กลุ่มบริษัท FIAT CHRYSLER AUTOMOBILE ของอิตาลี และสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มบริษัท GROUPE PSA ของฝรั่งเศส เป็น SUBCOMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ติดป้ายชื่อ JEEP AVENGER (จีพ อเวนเจอร์) เป็นรถที่ออกแบบ/พัฒนาในทวีปยุโรป โดยมีผู้ใช้รถในยุโรปโดยเฉพาะคนวัยหนุ่มวัยสาวเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีกำหนดออกโชว์รูมในฤดูใบไม้ผลิ 2023 และจะใช้โรงงานที่ใหญ่มากของค่าย FIAT ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง TYCHY (ทีฟี) ของโปแลนด์เป็นที่ผลิต
คาดหมายกันว่า รถพลังไฟฟ้าแบบแรกของค่าย JEEP ที่ว่านี้ จะมีทั้งรถขับเคลื่อน 2 ล้อ และรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 70 กิโลวัตต์/95 แรงม้า จำนวน 1 ชุด หรือมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี และใช้แบทเตอรีขนาดความจุ 54 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเมื่อชาร์จไฟเต็มรถจะวิ่งได้ไกลถึง 400 กม. รูปทรงองค์เอวของตัวถังซึ่งยาวแค่ 4.046 ม. และใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกันกับรถพลังไฟฟ้าร่วมเครือหลายแบบ เช่น PEUGEOT E-208 (เปอโฌต์ อี-208) และ OPEL MOKKA ELECTRIC (โอเพล มคคา อีเลคทริค) ไม่มีจุดเด่นอะไร แต่หน้าตาบ่งบอกชัดเจนว่านี่คือรถ JEEP
HOPIUM MACHINA VISION
ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มาก คือ รถหรูติดป้ายชื่อ HOPIUM MACHINA VISION (โฮเปียม มาชินา วิชัน) ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีคนหนุ่มของฝรั่งเศส ซึ่งให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมรถยนต์ และเดินทางไปเยือนงานนี้ในช่วงบ่ายของวันเปิดงาน (วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2022) ก็ยังยืนพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง และพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายอึดใจ
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าซึ่งใช้แกสไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง และเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ HOPIUM บริษัทรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2019 โดย OLIVIER LOMBARD (โอลิวิเอร์ โลมบาร์ด) อดีตนักขับรถแข่ง และเป็นนักขับรถอายุน้อยที่สุดที่ชนะเลิศการแข่งรถ 24 HOURS OF LE MANS หรือ “เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง” ประเภท LMR2 CATEGORY รวมทั้งมีประสบการณ์การขับรถแข่งพลังไฮโดรเจนยาวนานถึง 7 ปี
เป็นรถที่ผู้ผลิตตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2025 หรือ 2026 พร้อมกับป้ายค่าตัวระดับ 120,000 ยูโร หรือประมาณ 4.5 ล้านบาทไทย เป็นรถเก๋งซีดาน 4 ที่นั่ง หลังคากระจก ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 368 กิโลวัตต์/500 แรงม้า ซึ่งได้พลังไฟฟ้าจาก FUEL CELL หรือเซลล์ไฟฟ้า ซึ่งได้พลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแกสไฮโดรเจนกับออกซิเจน มีถังบรรจุแกสไฮโดรเจนหนัก 10 กก. ที่ความดัน 700 BARS หรือ 700 เท่าของความดันบรรยากาศ เพียงพอให้รถวิ่งได้ไกล 1,000 กม. และทำความเร็วสูงสุด 230 กม./ชม.
NAMX HUD
รถพลังไฮโดรเจนอีกแบบหนึ่งที่อวดตัวในงานนี้ ก็ไม่ใช่ CONCEPT CAR หรือรถแนวคิดที่ทำให้ดูเล่นๆ แต่ตั้งใจจะทำเป็น PRODUCTION CAR หรือรถผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง และเปิดรับการสั่งจองแล้วโดยวางเงินจองเพียง 1,000 ยูโร เป็นรถติดป้ายชื่อ NAMX HUD (นามเอกซ์ เอชยูดี) ซึ่งต้องบอกกันเสียแต่ต้นว่า HUD ย่อมาจาก HYBROGEN COUPE SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งตัวถังส่วนท้ายมีรูปลักษณ์เหมือนรถคูเป และเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังของแกสไฮโดรเจนนั่นเอง
เป็นผลงานชิ้นแรกของ NAMX (ย่อจาก NEW AUTOMOTIVE AND MOBILITY EXPLORATION) บริษัทรถยนต์ของวิศวกร และนักออกแบบรถยนต์ผู้มีเชื้อสายฝรั่งเศส-โมรอคโค และเป็นผลงานจากความร่วมมือกับสำนักออกแบบ PINIFARINA (ปินินฟารีนา) อันโด่งดัง ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 หลังจากเริ่มงานมาแล้ว 4 ปี และฉายซ้ำที่งานนี้
มีกำหนดออกตลาดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2025 แต่ยังหาข้อมูลไม่ได้ว่ากำหนดค่าตัวไว้เท่าไร ? เป็นรถพลังไฮโดรเจน ที่จะมีให้เลือกทั้งรถขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งให้กำลังสูงสุด 221 กิโลวัตต์/300 แรงม้า และรถขับเคลื่อนทุกล้อ ที่ให้กำลังสูงสุด 404 กิโลวัตต์/550 แรงม้า ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.5 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. และจำกัดจำนวนผลิต 2022 คัน ตามปีคริสต์ศักราช ทั้ง 2 แบบมีระบบบรรจุแกสไฮโดรเจนที่ไม่เหมือนกับรถพลังไฮโดรเจนแบบใดๆ ที่เคยปรากฏในนิตยสาร “สาระสะใจคนรักรถ” ฉบับนี้ คือ ทำถังบรรจุไฮโดรเจนเป็นถังแคพซูลขนาดยาวประมาณ 1 ม. (กะประมาณด้วยสายตา) จำนวน 6 ถัง แล้วเสียบแคพซูลเหล่านี้เข้าไปในถังใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถ เป็นเชื้อเพลิงเพียงพอให้รถวิ่งได้ไกลประมาณ 800 กม. การเติมแกสแต่ละครั้งก็ทำได้ง่าย และไม่เสียเวลามาก คือ แค่ดึงแคพซูลเปล่าออก แล้วเสียบแคพซูลใหม่เข้าแทนที่
BYD HAN/TANG/ATTO 3
ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ BYD หรือ BUILD YOUR DREAM และเป็นผู้ผลิตรถพลังไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ ร่วมงานในนครหลวงของเมืองน้ำหอมอย่างแข็งขัน จับจองพื้นที่ไว้กว้างขวาง และนำสินค้าใหม่ออกอวดตัวในงานหลายรุ่น หลายแบบ บางแบบผู้ใช้รถในเมืองน้ำหอมไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลย เลือกมาคุยกัน 3 รุ่น 3 แบบ คือ รถพลังไฟฟ้า BYD HAN (บีวายดี ฮั่น) BYD TANG (บีวายดี ถัง) และ BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3)
รถซึ่งใช้ชื่อราชวงศ์โบราณของจีนยุครุ่งเรืองสุดๆ เป็นชื่อรุ่น คือ BYD TANG เป็น MID-SIZE CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดกลาง ที่อยู่ในสายการผลิตมายาวนานตั้งแต่ปี 2014 และรถรุ่นปัจจุบันเป็นรถรุ่นที่ 2 เปิดตัวที่งาน AUTO CHINA หรือมหกรรมยานยนต์ปักกิ่ง เมื่อปี 2018 รูปทรงองค์เอวของตัวถังซึ่งยาว 4.870 ม. กว้าง 1.950 ม. สูง 1.725 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.820 ม. เป็นผลงานรังสรรค์ของ WOLFGANG EGGER (โวล์ฟกัง เอกเกร์) นักออกแบบรถยนต์ชาวเยอรมันวัย 60 ปี ซึ่งเคยทำงานกับค่าย AUDI (เอาดี) มาก่อน มีทั้งรถขับล้อหน้า รถขับทุกล้อ มีทั้งรถติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน รถไฮบริด และรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ รถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ปรากฏตัวในงานนี้ เป็นรถขับทุกล้อ ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 380 กิโลวัตต์/517 แรงม้า และแบทเตอรีขนาดความจุ 86.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.6 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 0.238 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กม. และวิ่งได้ไกล 400 กม. เมื่อชาร์จไฟเต็ม และวัดตามมาตรฐาน WLTP
รถซึ่งใช้ชื่อราชวงศ์โบราณของจีนสมัยสามก๊ก และก่อนสามก๊กเป็นชื่อรุ่น คือ BYD HAN เป็นรถเก๋งซีดานระดับผู้บริหาร มีตัวถังยาว 4.995 ม. กว้าง 1.910 ม. สูง 1.495 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.920 ม. เริ่มการผลิตในเมืองมังกรเมื่อปี 2020 มีทั้งรถขับเคลื่อนล้อหน้า และรถขับเคลื่อนทุกล้อ มีทั้งรถติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน รถติดตั้งระบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรี และรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ รถประเภทหลังที่เข้าไปจำหน่ายในยุโรป และอวดตัวในงานนี้ เป็นรถซึ่งตัวถังมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ ที่เยี่ยมยอดมาก คือ ต่ำเพียง 0.233 ติดตั้งระบบขับทุกล้อซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 380 กิโลวัตต์/517 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีขนาดความจุ 85.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาแค่ 3.9 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 0.185 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กม. และวิ่งได้ไกล 521 กม. เมื่อชาร์จไฟเต็ม และวัดตามมาตรฐาน WLTP
ส่วน BYD ATTO 3 ซึ่งในเมืองมังกรติดป้ายชื่อ BYD YUAN PLUS (บีวายดี หยวน พลัส) รุ่นที่จำหน่ายในเมืองน้ำหอม และปรากฏตัวในงานนี้ เป็น SUBCOMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ซึ่งมีตัวถังยาว 4.445 ม. กว้าง 1.875 ม. สูง 1.615 ม. มีช่วงฐานล้อยาว 2.720 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.29 ติดตั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้าซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 กิโลวัตต์ /204 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีขนาดความจุ 60.48 กิโลวัตต์ชั่วโมง อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 7.3 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 0.156 กิโลวัตต์ชั่วโมง/กม. และวิ่งได้ไกล 420 กม. เมื่อชาร์จไฟเต็ม และวัดตามมาตรฐาน WLTP
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ