วิถีตลาดรถยนต์
ติดลบต่อเนื่อง
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023/2022
ตลาดโดยรวม -3.9 %
รถยนต์นั่ง +10.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +43.0 %
กระบะ 1 ตัน -18.8 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -10.1 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2023/2022
ตลาดโดยรวม -4.7 %
รถยนต์นั่ง +3.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +14.8 %
กระบะ 1 ตัน -14.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +3.7 %
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เดินทางท่องเที่ยว บางคนกลับภูมิลำเนา สังสรรค์เฮฮากับญาติสนิทมิตรสหายที่ไม่ได้เจอกันมานาน แต่น่าเสียใจที่บางคนก็ไปไม่ถึงจุดหมายตามที่ตั้งใจไว้ ก็ขอนำสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง เทศกาลปีใหม่ 2566 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 2,440 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,437 ราย เสียชีวิต 317 ราย โดยจังหวัดเชียงรายมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ได้แก่ นราธิวาส, บึงกาฬ, สตูล, พังงา และสุโขทัย สาเหตุหลักก็มาจากเมาแล้วขับ, ขับรถเร็ว และไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ช่วยๆ กันเถอะ เมาแล้วก็อย่าขับ ปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาล หรือในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะได้ไม่ต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สินเงินทอง และชีวิตที่มีค่า
มาว่ากันถึงเรื่องการค้าขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงกันบ้าง เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เกิดอาการฝืดเคือง ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของแต่ละบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ โดยเฉพาะในตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ที่ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดหดหายไปพอสมควร เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยมีการวิเคราะห์กันแล้วว่าส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ที่จำเป็นในภาคการผลิต, ภาคอุตสาหกรรมการขนส่งชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ และยังไม่มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ จริงเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม คาดหมายกันว่าตัวเลขยอดจำหน่ายของตลาดรถพิคอัพนี้จะฟื้นตัวกลับมาในช่วงเดือนต่อๆ ไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน ที่มีการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ขึ้นเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2566 ทางผู้จัดงานตั้งเป้าว่าจะเติบโตขึ้นกว่าในปี 2565 ประมาณ 15-20 % ทั้งในด้านของผู้เข้าชมงาน และยอดการจองรถยนต์ และจักรยานยนต์ เดี๋ยวในฉบับต่อไปจะมีรายงานถึงเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่
สำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รวมทุกตลาดอยู่ที่ 71,551 คัน ลดลง 2,938 คัน หรือเท่ากับปรับตัวลดลง 3.9 % เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในจำนวน 71,551 คันนี้ รถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุดอันดับ 1-3 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา แต่อันดับ 4 และ 5 มีการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน ระหว่างรถยนต์ FORD (ฟอร์ด) กับ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) โดยอันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 25,612 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมา 614 คัน หรือเพิ่มขึ้น 2.5 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 35.8 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้ 15,375 คัน ลดลงถึง 4,818 คัน หรือลดลง 23.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.5 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 8,705 คัน เพิ่มขึ้น 1,615 คัน หรือเพิ่มขึ้น 22.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.2 % อันดับ 4 MITSUBISHI ขึ้นมาจากอันดับ 5 ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมาจำหน่ายได้ 3,606 คัน ลดลง 998 คัน หรือลดลง 21.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % และอันดับ 5 หล่นมาจากอันดับ 4 ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา FORD จำหน่ายได้ 3,593 คัน เพิ่มขึ้น 1,523 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 73.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 % เท่ากับ MITSUBISHI
ผ่านไป 2 เดือนของปี 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงมีทั้งสิ้น 137,130 คัน ลดลง 6,814 คัน หรือลดลง 4.7 % เมื่อเทียบกับ 2 เดือนแรกของปี 2565 ตัวเลขยอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วยอันดับ 1 TOYOTA 49,408 คัน เพิ่มขึ้น 2,261 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 36.0 % อันดับ 2 ISUZU 30,026 คัน ลดลงถึง 5,593 คัน หรือเท่ากับลดลง 15.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.9 % อันดับ 3 HONDA 15,776 คัน เพิ่มขึ้น 161 คัน หรือเท่ากับ 1.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % อันดับ 4 FORD 6,970 คัน เพิ่มขึ้นถึง 2,389 คัน หรือเพิ่มขึ้น 52.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 6,890 คัน ลดลง 2,548 คัน หรือเท่ากับลดลง 27.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.0 %
สำหรับรถพิคอัพ 1 ตัน เดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นเดือนที่ถดถอยอีกเดือนหนึ่ง จำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 33,635 คัน เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ขาดหายไปถึง 7,812 คัน หรือปรับตัวลดลง 18.8 % โดยรถพิคอัพของ ISUZU ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดเหมือนเช่นเดิม เดือนกุมภาพันธ์นี้จำหน่ายไปได้อีก 14,134 คัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายที่ทำได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลงถึง 4,555 คัน หรือลดลง 24.4 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42.0 % TOYOTA ยังอยู่ในอันดับที่ 2 จำหน่ายได้ 13,582 คัน ลดลง 3,154 คัน หรือลดลง 18.8 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 40.4 % อันดับ 3 FORD 3,590 คัน เพิ่มขึ้นถึง 1,524 คัน หรือเพิ่มขึ้น 73.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.7 % อันดับ 4 MITSUBISHI 1,729 คัน ลดลง 1,101 คัน หรือลดลง 38.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 401 คัน ลดลง 320 คัน หรือลดลง 44.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.2 %
มกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2566 รถพิคอัพ 1 ตัน มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 65,406 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงถึง 11,003 คัน หรือเท่ากับลดลง 14.4 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วย พิคอัพ ISUZU 27,677 คัน ลดลง 5,155 คัน หรือลดลง 15.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 42.3 % TOYOTA 26,184 คัน ลดลง 4,916 คัน หรือลดลง 15.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.0 % FORD 6,966 คัน เพิ่มขึ้น 2,395 คัน หรือเพิ่มขึ้น 52.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.7 % MITSUBISHI 3,446 คัน ลดลง 2,234 คัน หรือลดลง 39.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.3 % NISSAN 768 คัน ลดลง 771 คัน หรือลดลง 50.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.2 %
รถเอสยูวี เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 9,840 คัน เพิ่มขึ้น 2,958 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 43.0 % เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 HONDA ยังไปได้สวยในตลาดนี้ ด้วยยอดจำหน่าย 3,045 คัน เทียบกับกุมภาพันธ์ 2565 แล้วเพิ่มขึ้นถึง 1,372 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 82.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.9 % อันดับ 2 เป็นอีกหนึ่งค่ายใหญ่จากประเทศจีน BYD (บีวายดี) จำหน่ายได้ 2,068 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.0 % TOYOTA อยู่ในอันดับที่ 3 จำหน่ายได้ 1,937 คัน เพิ่มขึ้น 208 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.7 % อันดับ 4 MG (เอมจี) 773 คัน ลดลง 398 คัน หรือลดลง 34.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.9 % อันดับ 5 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายได้ 651 คัน ลดลง 4 คัน หรือลดลง 0.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 %
2 เดือนแรกของปี 2566 รถเอสยูวี จำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 16,731 คัน เพิ่มขึ้น 2,153 คัน หรือเพิ่มขึ้น 14.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 จำหน่ายแล้วมากสุดเป็น HONDA 5,043 คัน เพิ่มขึ้น 998 คัน หรือเพิ่มขึ้น 24.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 ส่วนแบ่งการตลาด 30.1 % อันดับ 2 TOYOTA 3,659 คัน เพิ่มขึ้น 80 คัน หรือเพิ่มขึ้น 2.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.9 % อันดับ 3 BYD 2,068 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 12.4 % อันดับ 4 MG 1,430 คัน ลดลง 797 คัน หรือลดลง 35.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.5 % อันดับ 5 MAZDA (มาซดา) จำหน่ายแล้ว 1,385 คัน ลดลง 940 คัน หรือลดลง 40.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.3 %
โดยรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายอยู่ที่ 3,209 คัน ลดลง 361 คัน หรือลดลง 10.1 % 2 เดือนแรกของปี 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันอยู่ที่ 7,262 คัน เพิ่มขึ้น 260 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3.7 % ทั้งนี้เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการจดทะเบียนรถพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวี ทั้งสิ้น 54,113 คัน เพิ่มขึ้น 13.9 % เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2566
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์