รู้ลึกเรื่องรถ
ไปโดนตัวไหนมา !?! เจาะที่มา พละกำลังของกระทิงดุ
เปิดตัวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับซูเพอร์คาร์ระดับเรือธง ของค่ายกระทิงดุ LAMBORGHINI (ลัมโบร์กินี) ที่มาแทน AVENTADOR (อเวนตาโดร์) ซึ่งอยู่ในตลาดมานานถึง 12 ปี โดยยังคงติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน แบบ วี 12 สูบ ความจุ 6.5 ลิตร วางกลางลำ แต่พ่วงระบบไฮบริด ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าถึง 3 ตัวเข้ามาในระบบขับเคลื่อนด้วย
มันมีชื่อว่า LAMBORGHINI REVUELTO (ลัมโบร์กินี เรโวลโต)
ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องราวของ LAMBORGHINI REVUELTO ว่ามีอะไรแตกต่างไปจากรถรุ่นเรือธงเจเนอเรชันก่อนหน้าบ้าง เราต้องมาดูชื่อของมันก่อน เพราะตามธรรมเนียมของค่ายกระทิงดุ จะใช้ชื่อของกระทิงสเปน (แม้จะเป็นบแรนด์อิตาเลียนก็ตาม) มาใช้เป็นชื่อรุ่นรถ ซึ่ง REVUELTO เป็นชื่อของกระทิงนักสู้ ที่มีชื่อเสียงของสเปน ในยุคปี 1880 แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “SCRAMBLED“ ซึ่งถ้าแปลเป็นชื่อวัวก็คงจะประมาณ “ล่อให้เละ” แต่ถ้าจะแปลเป็นชื่อรถแบบภาษาไทยให้ได้ความหมายก็น่าจะเป็น “ผสมผสาน” ซึ่งดูจะสอดคล้องกับการเป็นรถแบบ PHEV หรือ พลัก-อิน ไฮบริด
LAMBORGHINI REVUELTO เป็นผลงานของนักออกแบบสายเลือดเยอรมันตะวันออก MITJA BORKERT (มิทจา โบร์เคิร์ท) แต่ยังรักษาแนวนิยมของ LAMBORGHINI รุ่นเรือธงที่เริ่มตั้งแต่ยุคของ COUNTACH (คูนทาช) ซึ่งเป็นผลงานของ “ปรมาจารย์” MARCELLO GANDINI (มาร์เชลโล แกนดินี) เมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่แล้ว นั่นคือ การใช้เส้นสายต่อเนื่องที่ลากยาว “ไม่ยกปากกา” ตั้งแต่หัวจรดท้าย รวมถึงยังคงประตูแบบปีกนก (SCISSOR DOORS) ที่เริ่มไว้ในยุคดังกล่าวเช่นกัน
MITJA BORKERT ได้นำเอาองค์ประกอบทางการออกแบบต่างๆ ที่เขานำเสนอไปก่อนหน้านี้ในซูเพอร์คาร์แบบ “ลิมิเทด พโรดัคชัน” LAMBORGHINI SIAN (ลัมโบร์กินี ซีอัน) นั่นคือ องค์ประกอบไฟหน้าทรงตัวอักษร Y ที่ครั้งนี้ถูกนำมาใช้ทั้งด้านหน้า และหลัง เรียกได้ว่ามีความสดใหม่ทางการออกแบบไม่น้อย
มิติของตัวรถ ถือว่า อะร้าอร่าม เพราะมีความยาว 4,947 มม. กว้าง 2,266 มม. และความสูง 1,160 มม. เรียกว่ายาวกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ถึง 167 มม. ส่วนความกว้างใกล้เคียงกัน แต่มันสูงกว่าเก่าราว 24 มม. ส่วนน้ำหนักนั้นเหลือเชื่อว่า แม้รถรุ่นใหม่จะเป็นระบบไฮบริดแต่กลับมีน้ำหนักตัว 1.77 ตัน ซึ่งแทบไม่ต่างจาก AVENTADOR
ความสดใหม่ด้านวิศวกรรมยังคงพบเห็นได้ เพราะมันคือซูเพอร์คาร์ ที่มาพร้อมระบบพลัก-อิน ไฮบริด นั่นหมายความว่า ต้องมีแบทเตอรีขนาดใหญ่พอสมควร และพวกเขาเลือกใช้แบทเตอรีแบบลิเธียม-ไอออน ความจุ 3.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งบริเวณที่ในอดีตเคยเป็นอุโมงค์เกียร์ ซึ่งทำหน้าที่แบ่งแยกคนขับ และผู้โดยสารออกจากกัน โดยไม่วางไว้ใต้เบาะนั่งเหมือนรถไฟฟ้าทั่วไป เพื่อรักษารูปร่างรถให้คงปราดเปรียว ไม่สูงโย่งเหมือนบรรดารถไฟฟ้าทั้งหลาย
ช่องเสียบปลั๊กชาร์จไฟซ่อนอยู่ใต้ฝากระโปรงหน้ารถ โดยแบทเตอรีขนาด 3.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง นี้หากเทียบกับรถ PHEV ทั่วไป ถือว่ามีความจุน้อยมาก เพราะรถทั่วไปอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีขนาดราว 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง ถึงจะเกิดมรรคผล ดังนั้นการวิ่งแบบไร้มลภาวะจึงทำได้เพียง 10 กม. ตามมาตรฐาน WLTP (ในการใช้งานจริงน่าจะทำได้ราว 6-7 กม. เท่านั้น) ซึ่งก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่า ติดตั้งแบทเตอรีเพื่อ “เสริม” เขี้ยวเล็บด้านสมรรถนะ และลดมลภาวะบ้าง “ตามสมควร” เท่านั้น
เรามาดูขุมพลังของรถคันนี้กัน เครื่องยนต์สันดาปภายใน พัฒนาขึ้นใหม่ โดยใช้รหัส L545 เป็นเครื่องยนต์เบนซินแบบ วี 12 สูบ ความจุ 6.5 ลิตร ไม่มีระบบอัดอากาศ คล้ายกับที่รถรุ่นก่อนหน้านี้ใช้ แต่ได้รับการพัฒนาให้มีพละกำลังเพิ่มขึ้น จากเดิม LAMBORGHINI AVENTADOR ULTIMAE LP 780-4 (ลัมโบร์กินี อเวนตาโดร์ อูลติมาเอ แอลพี 780-4) ใช้เครื่องยนต์รหัส L539 ที่มีความจุเท่ากันเคยทำได้ 780 แรงม้า (PS) แต่เครื่อง L545 ขยับเพดานแรงม้าสูงสุดขึ้นไปที่ 825 แรงม้า (PS) ที่รอบเครื่องยนต์สูงถึง 9,250 รตน. ด้วยรอบที่สูงจัดขนาดนี้ แม้แต่สาวกวีเทคยังต้องผวา และเชื่อว่าเสียงของมันน่าจะแผดก้องจนใจสั่นอย่างแน่นอน
แม้ตัวเลข 825 แรงม้าจะดูทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อแล้วก็ตาม แต่มันยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีมอเตอร์ไฟฟ้าเสริมกำลัง ซึ่งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX MOTOR แบบที่รถไฮบริดสมรรถนะสูง ปัจจุบันนี้นิยมใช้กัน ทั้งค่าย McLAREN (แมคลาเรน) และ FERRARI (แฟร์รารี) เนื่องจากรูปทรง “แบน” กะทัดรัด และมีน้ำหนักเบา (มองเผินๆ จะคล้ายกับชุดคลัทช์ หรือจานเบรคเสียด้วยซ้ำ) ด้วยรูปลักษณ์แบนๆ ของมัน ทำให้หลายคนเรียกมันว่า “แพนเคก มอเตอร์” (มอเตอร์ที่นิยมใช้กันของรถไฟฟ้าทั่วไป ปัจจุบันจะเป็นแบบ RADIAL FLUX ที่มีขนาดใหญ่กว่า)
องค์ประกอบของมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX ประกอบด้วย STATOR และ ROTOR ซึ่งก็ตรงตามชื่อ เพราะส่วนแรก คือ ชิ้นส่วนที่อยู่นิ่ง กับชิ้นส่วนที่หมุน สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบนี้หากจะเปรียบเป็น HAMBURGER STATOR ซึ่งเป็นขดลวดจะเป็นเนื้อเบอร์เกอร์ ส่วน ROTOR ที่เป็นแม่เหล็กหมุนจะเป็นขนมปังที่ประกบอยู่ แต่สำหรับมอเตอร์แบบ RADIAL FLUX เปรียบเป็นหมูยอที่ห่อด้วยใบตอง โดยใบตอง คือ STATOR ซึ่งเป็นขดลวด และ ROTOR ที่เป็นแม่เหล็กหมุนเป็นหมูยอหมุนอยู่ด้านใน
คำว่า AXIAL FLUX หมายความว่า แนวเส้นแรงแม่เหล็ก (MAGNETIC FLUX) วิ่งอยู่ในแนวแกนเดียวกับแกนหมุนของมอเตอร์ (AXLE, AXIAL) ส่วนคำว่า RADIAL FLUX คือ เส้นแรงแม่เหล็กเป็นรัศมีออกจากแนวแกนหมุนของมอเตอร์
คุณลักษณะที่โดดเด่น และน่าสนใจของ AXIAL FLUX MOTOR มี 3 ประการ คือ
1. แรงบิด คุณลักษณ์นี้ได้มาจากการที่ ROTOR มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ จึงสร้างแรงบิดได้มาก
2. เส้นแรงแม่เหล็ก (MAGNETIC FLUX) เดินทางได้ง่าย และหนาแน่นกว่า
3. การพันลวด ทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูงกว่า ทำให้สร้างกำลังได้ดีกว่า
หลายท่านคงสงสัยว่า ถ้าดีขนาดนี้ ทำไมรถไฟฟ้าตัวแรงอย่าง TESLA (เทสลา) ถึงไม่ใช้มอเตอร์แบบนี้ แต่กลับพบมันแค่ในรถไฮบริด แน่นอนว่ามันมีจุดอ่อนอยู่ จากการที่ตัว ROTOR ที่หมุนมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่กว่าแบบ RADIAL FLUX ทำให้มันมีแรงเฉื่อยมาก จึงไม่เหมาะกับการใช้งานรอบสูงเหมือนอย่างรถไฟฟ้าพันธุ์แท้ต้องใช้ แต่มันเหมาะกับการใช้งานกับระบบไฮบริด ที่มอเตอร์แบบ AXIAL FLUX จะรับภาระในช่วงความเร็วต่ำ ส่วนช่วงความเร็วสูงก็ส่งต่อให้เครื่องสันดาปภายในทำงานไป เรียกว่า เลือกใช้ให้เหมาะกับงานจะดีที่สุด
สำหรับ LAMBORGHINI REVUELTO จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX ถึง 3 ตัว โดยแต่ละตัวให้กำลัง 149 แรงม้า (PS) โดย 2 ตัวจะใช้สำหรับการขับเคลื่อนล้อหน้าแยกอิสระซ้าย/ขวา ส่วนตัวที่ 3 จะประกบเข้ากับห้องเกียร์อัตโนมัติแบบคลัชท์คู่ 8 จังหวะ ทางด้านท้ายของเครื่องยนต์ โดยเมื่อผสมผสานกำลังเข้ากับเครื่องสันดาปภายใน จะมีกำลังสุทธิ 1,015 แรงม้า (PS) กับแรงบิดสูงสูดถึง 108.3 กก.-ม.
แม้มอเตอร์แต่ละตัว จะมีกำลังมากถึง 149 แรงม้า แต่ทำไมเมื่อรวมเข้ากับเครื่องยนต์ที่มีแรงม้าสูงสุด 825 แรงม้า ถึงมีกำลังสุทธิเพียง 1,015 แรงม้า เนื่องจากที่กล่าวไว้ก่อนหน้า คือ มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX ไม่เหมาะกับการทำงานในรอบสูง ดังนั้น ในจังหวะที่มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเต็มที่ เครื่องยนต์ยังไม่อยู่ในจุดที่ปล่อยแรงม้าสูงสุดนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นมันก็พอเพียงกับการส่งให้ LAMBORGHINI REVUELTO มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 2.5 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ต่ำกว่า 7 วินาที และความเร็วสูงสุดระดับ 350 กม./ชม.
ส่วนที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า แบทเตอรีที่ความจุเพียง 3.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่วิ่งได้ระยะทางเพียง 10 กม. ตามมาตรฐาน WLTP จะพอเพียงกับการใช้งานได้อย่างไร ค่ายกระทิงดุคิดแก้ไขเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AXIAL FLUX ตัวที่ติดอยู่กับห้องเกียร์ทำหน้าที่ปั่นไฟกลับไปชาร์จแบทเตอรี โดยแค่สตาร์ทเครื่องยนต์เดินเบาเพียง 6 นาที แบทเตอรีก็จะเต็มความจุแล้ว
สำหรับโครงสร้างนั้น แชสซีส์ส่วนรับแรงกระแทกด้านหน้ากับส่วนห้องโดยสาร ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์เช่นเดียวกับรถในคลาสส์เดียวกัน แต่แตกต่างตรงที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนอัด (FORGE CARBON FIBER) ที่พัฒนาร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์กอล์ฟชื่อดังอย่าง CALLAWAY (คัลลาเวย์) ส่งผลให้แชสซีส์คาร์บอนของ LAMBORGHINI REVUELTO เบากว่าของ AVENTADOR ถึง 10 % แต่รับแรงบิดได้มากกว่าเดิมถึง 25 % แต่โครงสร้างของส่วนรองรับเครื่องยนต์ด้านท้ายนั้นเป็นอลูมิเนียม
ระบบรองรับได้ตัดระบบกันสะเทือนหลังแบบ PUSHROD อันสง่างามที่เคยประจำการใน AVENTADOR ออกไป เนื่องจากต้องการพื้นที่สำหรับระบบขับเคลื่อนไฮบริด จึงทำให้ REVUELTO ต้องหันมาใช้ระบบกันสะเทือนแบบดับเบิลวิชโบน ทั้ง 4 ล้อแทน
จุดสุดท้ายที่อยากให้สังเกต คือ ท่อไอเสียขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บริเวณขอบบนของตัวรถ จุดนี้ถือเป็นลูกเล่นทางการออกแบบอากาศพลศาสตร์ที่แยบยล เพราะที่ความเร็วสูงนั้น แรงดันของไอเสียที่พุ่งออกมา จะช่วยด้านอากาศพลศาสตร์ในการไล่ไม่ให้เกิดการลมดูดท้าย แถมการที่มันเงยขึ้นนิดๆ ก็ช่วยเรื่องแรงกดท้ายเพิ่มขึ้นด้วย ในจุดนี้สามารถสังเกตได้จากการที่รถระดับซูเพอร์คาร์จำนวนไม่น้อยหันมาวางตำแหน่งท่อไอเสียอยู่ด้านบนมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่แต่เดิมมักจะวางอยู่ด้านล่างเหมือนรถทั่วไป
LAMBORGHINI REVUELTO มีรสชาติเข้มข้นในสไตล์ของค่ายกระทิงดุชัดเจน และถึงแม้จะเปิดตัวด้วยกำลังมากถึง 1,015 แรงม้า แต่เชื่อได้ว่าในช่วงอายุของมัน วิศวกรของค่ายจะต้องคิดค้นกลเม็ดเด็ดพรายมาทำให้เร็วและแรง จนเผลอๆ อาจทำความเร็วแตะ 400 กม./ชม. ได้ไม่ยาก !
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2566
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ