วิถีตลาดรถยนต์
ดีขึ้นหน่อย
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม +0.5 %
รถยนต์นั่ง +29.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +21.5 %
กระบะ 1 ตัน -19.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -13.7 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -4.9 %
รถยนต์นั่ง +6.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +32.2 %
กระบะ 1 ตัน -18.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -8.6 %
เดือนพฤษภาคม ปี 2566 มีความพิเศษแตกต่างไปกว่าเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านๆ มา ด้วยความที่ว่าเป็นเดือนที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ คณะใหม่ ที่พรรคการเมืองพรรคไหนมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ของตัวเองได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด ก็จะได้เป็นผู้แทนราษฎร หรือ สส. ของเขตพื้นที่นั้นไป เมื่อนำไปรวมกับคะแนนเสียงเลือกพรรคที่ชอบด้วย พรรคนั้นก็เขยิบเข้าใกล้การเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศต่อไป แต่เรื่องของการเมืองไม่ใช่ดูกันแค่นั้น มันมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนมากไปกว่านั้นอีก เรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์ที่ไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นอย่าไปซีเรียสให้มันมากนัก ใครได้เป็นอะไรอย่างไร กว่าที่ผลประโยชน์ หรือสิ่งที่คาดหวังจะตกมาถึงปากท้องประชาชนคนเดินดิน ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน
ไม่ผิดอะไรที่เดือนพฤษภาคม 2566 หลายๆ ภาคส่วนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง สส. ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะอยู่ในสภาวะที่ซบเซาไปจากเดือนที่ผ่านๆ มา เนื่องจากนโยบายในการบริหารประเทศอาจจะเปลี่ยนแปลงไป หากมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารประเทศ ในภาคส่วนของการซื้อ-ขายรถยนต์ใหม่ก็เช่นกัน การตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มีการชะลอตัวยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากรอดูความชัดเจนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจจากคณะผู้บริหารประเทศ ที่อาจจะเป็นชุดเก่า หรือชุดใหม่ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการชะลอการตัดสินใจซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว ในหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนพฤษภาคม 2566 นี้ ยังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรถยนต์นั่งได้รับความสนใจซื้อมากขึ้น โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมทั้งหมดของเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 65,088 คัน เพิ่มขึ้น 353 คัน หรือเพิ่มขึ้น 0.5 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งถ้าไม่ได้ยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบ 6 พันคันของรถยนต์นั่งแล้ว ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนพฤษภาคม 2566 คงทิ้งดิ่งมากไปกว่าหลายๆ เดือนที่ผ่านมาเป็นแน่แท้
สำหรับรถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2566 ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 21,296 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคมปีก่อน 885 คัน หรือลดลง 4.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 32.7 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) 13,281 คัน ลดลง 2,447 คัน หรือลดลง 15.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 20.4 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) 6,697 คัน เพิ่มขึ้น 1,662 คัน หรือเพิ่มขึ้น 33.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.3 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้ 3,005 คัน ลดลง 1,709 คัน หรือลดลง 36.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) 2,993 คัน เพิ่มขึ้น 721 คัน เท่ากับเพิ่มขึ้น 31.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
5 เดือนของปี 2566 ผ่านไป รถยนต่ใหม่ป้ายแดงจำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 341,691 คัน เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2565 แล้วยังขาดหายไป 17,660 คัน หรือปรับตัวลดน้อยลง 4.9 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายไปแล้วรวม 115,982 คัน ลดลง 5,024 คัน หรือลดลง 4.2 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 33.9 % อันดับ 2 ISUZU 73,776 คัน ลดลง 15,967 คัน หรือลดลง 17.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 21.6 % อันดับ 3 HONDA 39,067 คัน เพิ่มขึ้น 3,301 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.4 % อันดับ 4 FORD 16,911 คัน เพิ่มขึ้น 4,741 คัน หรือเพิ่มขึ้น 39.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 16,825 คัน ลดลง 5,834 คัน หรือลดลง 25.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 %
มาดูทางด้านรถพิคอัพ 1 ตัน ตัวเลขยอดจำหน่ายยังไม่กระเตื้องขึ้น ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ รวมไปถึงกระแสข่าวที่ว่าในอีกไม่ช้าจะมีพิคอัพรุ่นใหม่แกะกล่องเข้าสู่ตลาดด้วย ทำให้ยอดจำหน่ายของตลาดพิคอัพไม่หวือหวาเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา เดือนพฤษภาคม 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 27,323 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 แล้วหดหายไป 6,499 คัน หรือติดลบไป 19.2 % จำหน่ายได้มากสุดเดือนนี้ยังคงเป็นพิคอัพ ISUZU ด้วยยอด 12,131 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 แล้วหายไป 2,061 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลง 14.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 44.4 % ตามด้วย TOYOTA 10,205 คัน ลดลง 3,704 คัน หรือลดลง 26.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.3 % FORD 2,993 คัน เพิ่มขึ้น 727 คัน หรือเพิ่มขึ้น 32.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.0 % ตามด้วย MITSUBISHI 1,482 คัน ลดลง 1,122 คัน หรือลดลง 43.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.4 % และ NISSAN (นิสสัน) 315 คัน ลดลง 202 คัน หรือลดลง 39.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.2 %
มกราคมถึงพฤษภาคม 2566 พิคอัพ 1 ตัน ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 155,613 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แล้วลดลง 34,610 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลง 18.2 % อันดับ 1 ของตลาดนี้ยังคงเป็น ISUZU จำหน่ายไปแล้ว 67,533 คัน ลดลง 15,266 คัน หรือลดลง 18.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ส่วนแบ่งการตลาด 43.4 % ตามด้วย TOYOTA 59,741 คัน ลดลง 16,862 คัน หรือลดลง 22.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.4 % ต่อด้วย FORD 16,902 คัน เพิ่มขึ้น 4,757 คัน หรือเพิ่มขึ้น 39.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.9 % MITSUBISHI 8,541 คัน ลดลง 4,906 คัน หรือลดลง 36.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.5 % และปิดท้ายด้วย NISSAN 1,951 คัน ลดลง 1,531 คัน หรือลดลง 44.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %
สำหรับรถเอสยูวี เดินหน้าล่าแต้มไม่หยุดยั้ง เดือนพฤษภาคมนี้จำหน่ายไปได้อีก 8,411 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 แล้วจำหน่ายได้มากขึ้น 1,486 คัน หรือเท่ากับ 21.5 % จำหน่ายได้มากสุดเป็นเอสยูวีของ HONDA ด้วยยอด 2,282 คัน เพิ่มขึ้น 438 คัน หรือเพิ่มขึ้น 23.8 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 ส่วนแบ่งการตลาด 27.1 % อันดับ 2 BYD (บีวายดี) 2,025 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 24.1 % อันดับ 3 TOYOTA 1,938 คัน ลดลง 163 คัน หรือลดลง 7.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 23.0 % อันดับ 4 MG (เอมจี) 725 คัน ลดลง 202 คัน หรือลดลง 21.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.6 % และอันดับ 5 GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 551 คัน ลดลง 73 คัน หรือลดลง 11.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 %
5 เดือนแรกของปี 2566 รถเอสยูวีจำหน่ายไปแล้วรวม 45,487 คัน เพิ่มขึ้น 11,089 คัน หรือเพิ่มขึ้น 32.2 % จำหน่ายได้มากสุดอันดับ 1 เป็น HONDA ด้วยยอด 13,083 คัน เพิ่มขึ้นถึง 4,373 คัน หรือเพิ่มขึ้น 50.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 28.8 % อันดับ 2 BYD 9,310 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.5 % อันดับ 3 TOYOTA จำหน่ายแล้วรวม 8,859 คัน ลดลง 217 คัน หรือลดลง 2.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.5 % อันดับ 4 MAZDA (มาซดา) 3,676 คัน ลดลง 2,662 คัน หรือลดลง 42.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.1 % และอันดับ 5 MG 3,446 คัน ลดลง 1,184 คัน หรือลดลง 25.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.6 %
เดือนพฤษภาคม 2566 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้ 3,369 คัน ลดลง 535 คัน หรือลดลง 13.7 % มกราคมถึงพฤษภาคมจำหน่ายแล้วรวม 16,837 คัน ลดลง 1,591 คัน หรือลดลง 8.6 %
เดือนพฤษภาคม 2566 มียอดจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพ 1 ตัน รวมทั้งสิ้น 47,721 คัน ลดลง 3,858 คัน หรือลดลง 7.5 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565
ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2566
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์