รู้ลึกเรื่องรถ
RIMAC NEVERA ตัวแทนของยุคสมัยแห่งพละกำลัง
นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มหาชนต่างให้ความสนใจกับค่าของพละกำลังที่รีดออกมาจากเครื่องยนต์ที่มีหน่วยเป็น “แรงม้า” หรือปัจจุบัน ในยุคของรถไฟฟ้ามักจะสำแดงค่าของพละกำลังที่วัดได้ออกมาในมาตรฐาน SI หรือ INTERNATIONAL SYSTEM OF UNITS หรือหน่วยที่เป็นสากล และเป็นที่ยอมรับมากกว่าอย่าง กิโลวัตต์ (KW) (ปัจจุบันทางยุโรป การแสดงค่ากำลังของเครื่องยนต์จะใช้หน่วยเป็นกิโลวัตต์ แต่จะเสริมด้วยหน่วยแรงม้าเป็นค่ารอง) โดยทั้ง 2 หน่วยนั้นสามารถแปลงให้เข้าใจตรงกันได้ คือ 1 แรงม้า เท่ากับ 0.746 กิโลวัตต์ หรือ 1 กิโลวัตต์ เท่ากับ 1.34 แรงม้า
หน่วยแรงม้า เปรียบได้กับ ม้า 1 ตัว สามารถแบกน้ำหนัก 550 ปอนด์ สูงขึ้น 1 ฟุต ในเวลา 1 วินาที ซึ่งเราจะเห็นว่าหน่วยที่ใช้เป็นหน่วย “อิมพีเรียล” ที่นิยมในสหราชอาณาจักรเมื่อครั้งอดีต (ปัจจุบันในสหราชอาณาจักร เปลี่ยนมาใช้หน่วยเมทริคแล้ว) และยังคงนิยมกันมากในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ทั้งน้ำหนัก คือ ปอนด์ ระยะทาง คือ ฟุต เทียบเคียงออกมาเป็นหน่วย “เมทริค” (METRIC) ที่เป็นสากลมากกว่าก็จะเป็น หน่วยกำลัง วัตต์ (WATTS) ก็จะเท่ากับ 746 วัตต์
หากถามว่า หน่วยแรงม้าถูกใช้กันมาอย่างแพร่หลายเป็นเวลานานแล้ว และดูเหมือนผู้คนจะเข้าใจกันดี ทำไมต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นหน่วยกิโลวัตต์ เรื่องนี้มันมีเหตุผล เพราะ “แรงม้า” ของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ถ้าคุณเคยอ่านนิตยสารรถยนต์ต่างประเทศ น่าจะเคยผ่านตากับตัวย่อของคำว่า แรงม้า ที่ใช้แตกต่างกัน อาทิ ในสหรัฐฯ ใช้ HP ที่ย่อมาจาก HORSEPOWER หรือแรงม้า ส่วนถ้าเป็นนิตยสารจากอังกฤษก็จะเห็นหน่วย BHP หรือ BRAKE HORSEPOWER แต่ถ้าเป็นเยอรมนีใช้คำว่า PS ซึ่งย่อมาจาก PFERDSTARKE แปลว่า แรงม้า สำหรับฝรั่งเศส และอิตาลี จะใช้ว่า CV ย่อจาก CHEVAUX-VAPEUR แปลว่า แรงม้า
มาถึงจุดนี้ก็คงจะสงสัยว่า “แรงม้า” ของแต่ละประเทศมันไม่เท่ากันหรือ ?
ต้องขอบอกว่าไม่เท่ากัน เนื่องจากหลักการคิดที่แตกต่างกัน เริ่มจาก BHP ของอังกฤษ เขาพยายามที่จะสร้างมาตรฐานการวัดกำลังเครื่องยนต์ที่แม่นยำขึ้น โดยนำเอาเรื่องของ “แรงเสียดทาน” ในเครื่องยนต์มาคิดคำนวณเข้าไปด้วย จึงทำให้กำลังของเครื่องยนต์ที่ใช้หน่วย BHP จะมีผลลัพธ์ต่ำกว่า HP เสมอ โดยทั่วไปแล้ว 1 HP จะเท่ากับ 0.99 BHP หรือต่ำกว่า อาทิ เครื่องยนต์ 300 HP หากแสดงผลเป็นหน่วย BHP จะเหลือราว 296 BHP (นิตยสารรถยนต์ต่างประเทศ หรือใน WIKIPEDIA ก็มักจะแสดงผลทั้ง HP และ BHP แต่แน่นอนว่า เวลาเอาไปคุยกับเพื่อนส่วนใหญ่น่าจะใช้หน่วย HP เพราะมันเยอะกว่า)
หากคุณคิดว่าค่า BHP ต่างจาก HP แล้ว ถ้าเป็นค่า PS และ CV ต้องขอบอกว่ายิ่งต่างกันมากขึ้นอีก เพราะทั้ง 2 ค่าเป็นหน่วยแรงม้าที่คิดขึ้นบนมาตรฐานเมทริค ต่างจาก 2 ค่าแรกที่คิดขึ้นบนมาตรฐานอิมพีเรียล โดย 1 แรงม้า อิมพีเรียล มีกำลังเท่ากับ 746 วัตต์ แต่ 1 แรงม้า เมทริค มีกำลังเท่ากับ 735.5 วัตต์
ถึงตรงนี้จะเห็นว่า “แรงม้า” ของแต่ละประเทศมันไม่เท่ากัน อาทิ BMW 540I รหัสตัวถัง G30 ให้กำลัง 250 กิโลวัตต์ ซึ่งถ้าเป็นหน่วยแรงม้าที่แพร่หลายในเยอรมนี จะเท่ากับ 340 PS แต่ถ้าเป็นหน่วย HP ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา จะให้กำลัง 335 HP เท่านั้น ดังนั้นอย่าเถียงกัน ถ้าคนหนึ่งบอกว่ารถของเขามีกำลัง 340 แรงม้า อีกคนบอกว่าไม่จริง มีแค่ 335 แรงม้า เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าใช้หน่วยวัดของประเทศอะไร
จบเรื่องของหน่วยแรงม้ากันไป เรามาคุยกันต่อในเรื่องของ “ยุคสมัยแห่งพละกำลัง” กัน สาเหตุที่พูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะว่า ในเดือนกันยายน 2566 มีการเปิดตัวรถไฟฟ้า BYD SEAL (บีวายดี ซีล) ซึ่งทำให้ตลาดบ้านเราตะลึง ด้วยการนำเสนอรถรุ่นทอพ SEAL PERFORMANCE (ซีล เพอร์ฟอร์มานศ์) แบบ 2 มอเตอร์ ที่มีกำลังสูงถึง 390 กิโลวัตต์ หรือ 530 แรงม้า (PS) (แน่นอนว่าใช้หน่วย PS มันได้ค่าเยอะกว่า HP) ด้วยค่าตัว 1.59 ล้านบาท หรือ 1 แรงม้า (PS) คุณจ่ายเพียง 3,018 บาทเท่านั้น เรียกว่าย่อมเยาเหลือเชื่อ และด้วยจุดขายด้านพละกำลังกับแรงบิดมหาศาลระดับ 68.3 กก.-ม. และมีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.8 วินาที ก็ช่วยดึงให้ลูกค้าเข้าไปเต็มโชว์รูมตั้งแต่เช้ายันค่ำได้ทุกวัน
สำหรับรถอีกรุ่นที่เปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกันอย่าง LOTUS ELETRE (โลทัส เอเลทรา) “ซูเพอร์” ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวีพลังไฟฟ้าสุดไฮเทค โดยมีกำลังมากถึง 675 กิโลวัตต์ หรือ 904 HP พร้อมแรงบิดมหาศาล 100.4 กก.-ม. กับอัตราเร่งระดับคอเคล็ด 0-100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 2.95 วินาที แต่เปิดตัวด้วยราคา 6.59 ล้านบาท หรือ 1 แรงม้า (HP) คุณจ่ายเพียง 7,322 บาท
ทีนี้หากมาลองคิดกันสนุกๆ ว่าด้วยมาตรฐานรถเก๋งของ BYD SEAL นั้น หากเราจะสร้างรถระดับ 200 แรงม้า ขึ้นมาก็จะมีราคา (อย่าคิดมาก) 3,018x200 = 603,600 บาทเท่านั้น ! และหากนำมาตรฐานรถสมรรถนะสูงของ LOTUS ELETRE มาใช้ ก็จะมีราคาเพียง 7,322x200 = 1,464,400 บาทเท่านั้น ! เรียกว่าราคาของพละกำลังนั้นถูกลงมากจากการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน และแน่นอนว่าทุกค่ายรถยนต์ต่างตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ ในยุคต่อจากยุคนี้ไป เราจะได้เห็นการก้าวกระโดดในเรื่องของสมรรถนะ โดยเฉพาะเรื่องอัตราเร่ง และอัตราเร่งแซงที่คล่องแคล่ว จะต้องมีอยู่ในรถทุกระดับราคาอย่างแน่นอน
สำหรับในพิกัดของไฮเพอร์คาร์ ชัดเจนว่า สถิติด้านอัตราเร่ง ในปัจจุบันถูกเขียนขึ้นใหม่โดยรถไฟฟ้า ซึ่งสถิตินั้นเป็นของรถไฟฟ้าจากประเทศโครเอเชีย ในชื่อของ RIMAC NEVERA (รีแมค เนเวรา) ไฮเพอร์คาร์พลังไฟฟ้า ที่มีราคาสูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเขียนสถิติโลกใหม่ถึง 23 รายการ ในวันเดียว โดยการทดสอบทำขึ้นในสนาม ATP หรือ AUTOMOTIVE TESTING PAPENBERG ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสนามทดสอบที่มีช่วงทางตรงยาวถึง 4 กม.
RIMAC NEVERA ทำอัตราเร่งได้อย่างเหลือเชื่อ ทะยานขึ้นแตะความเร็วปลาย 412 กม./ชม. และเบรคจนหยุดสนิทได้อย่างปลอดภัย (0-400-0 กม./ชม.) ในเวลาเพียง 29.94 วินาที ! โดยในการเร่งความเร็วขึ้นไปนั้น พวกเขาได้ทำลายสารพัดสถิติ ที่ว่าด้วยเรื่องอัตราเร่งของพโรดัคชันคาร์ในทุกย่านความเร็ว อาทิ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 1.82 วินาที ! ซึ่งเร็วกว่ารถแข่งสูตรหนึ่งเสียด้วยซ้ำ, อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ในเวลา 4.42 วินาที, อัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. ในเวลา 9.23 วินาที และ อัตราเร่ง 0-400 กม./ชม. ในเวลาเพียง 21.32 วินาที ! ส่วนควอร์เตอร์ไมล์ (0-402 ม.) ใช้เวลาเพียง 8.26 วินาที ทั้งหมดนี้ใช้เครื่องจับเวลาของ 2 องค์กรอิสระ ได้แก่ DEWESOFT (เดเวซอฟท์) และ RACELOGIC (เรศลอจิค) ตัวรถใช้ยาง MICHELIN PILOT SPORT CUP 2 R ซึ่งเป็นยางมาตรฐานติดรถจากโรงงาน
หัวใจของการทำสถิติที่น่าตื่นตะลึงนี้ มาจากความมุ่งมั่นของ MATE RIMAC (แมทเท รีแมค) ประธานบริษัท RIMAC หนุ่มอัจฉริยะวัย 35 ปี สัญชาติโครเอเชีย ที่มีวิสัยทัศน์ “พลังไฟฟ้า คือ พลังแห่งอนาคต” แววนักประดิษฐ์ของเขาฉายขึ้นตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนมัธยม จากการเข้าแข่งขันนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้า ด้วยผลงานประดิษฐ์ถุงมืออัจฉริยะที่สามารถแทนที่การใช้คีย์บอร์ด และเมาส์ได้ รวมไปถึงการประดิษฐ์กระจกมองข้างที่ลดจุดบอดในการมอง ในชื่อ ACTIVE MIRROR ซึ่งได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากเยอรมนี จากนั้นเขาก็ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ รวมถึงได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์อีกหลายรายการ แต่ผลงานที่ทำให้เขาโด่งดังก็คือ เมื่อเขาเป็นนักศึกษาอายุ 19 ปี เขาได้ทำการดัดแปลง BMW 3 SERIES (บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3) รหัสตัวถัง E30 แบบ 2 ประตูของเขา เป็นรถไฟฟ้า และได้รับการบันทึกสถิติโลกของรถไฟฟ้าหลายรายการ ความสามารถของเขา ทำให้มีคนเห็นแวว และให้การสนับสนุน จนเขาสามารถสร้างรถต้นแบบรุ่นแรกของ RIMAC ในชื่อ CONCEPT ONE (คอนเซพท์ วัน) ในปี 2011 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 23 ปี โดย RIMAC NEVERA คันนี้คือ รถรุ่นที่ 2 ของค่าย RIMAC
ปัจจุบันบริษัทของเขาตั้งอยู่ที่เมืองหลวงของโครเอเชีย และเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีทีมงานกว่า 1,000 คน และได้รับเงินลงทุนจากบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ อาทิ PORSCHE AG (โพร์เช อาเก), HYUNDAI (ฮันเด), KIA (เกีย) และ CAMEL GROUP (คาเมล กรุพ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบทเตอรีรายใหญ่ของเอเชีย โดย RIMAC นั้นนอกจากจะสร้างไฮเพอร์คาร์พลังไฟฟ้าของตนเองแล้ว ยังทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถไฟฟ้าให้แก่บริษัทอื่นๆ มากมาย อาทิ PORSCHE, HYUNDAI, KIA, RENAULT (เรอโนลต์), JAGUAR (แจกวาร์), ASTON MARTIN (แอสตัน มาร์ทิน), SEAT (เซอัต), KOENIGSEGG (โคนิกเซกก์) และ AUTOMOBILI PININFARINA (ออโตโมบิลี ปินินฟารีนา) รวมถึงเขาได้ตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง BUGATTI (บูกัตตี) และ PORSCHE ขึ้นในชื่อ BUGATTI RIMAC ที่เขาทำหน้าที่ซีอีโอ ในปี 2021 อีกด้วย
RIMAC NEVERA แม้ชื่อจะไม่คุ้นหู และเป็นบแรนด์ที่มียอดผลิตไม่มาก แต่มันก็ถูกสร้างขึ้นในโรงงานมาตรฐานสูงระดับโลก ซึ่งบริษัทผลิตอย่าง BUGATTI ยังให้ความมั่นใจ และทุกชิ้นส่วนนั้นไม่มีคำว่ามั่ว โดยหัวใจของระบบพลังงานนั้นเป็นแบทเตอรีแบบลิเธียม/แมงกานีส/นิคเคิล หรือ LMN แบทเตอรีที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับ RIMAC โดยมีจำนวน 6,960 เซลล์ กับความจุรวม 120 กิโลวัตต์ชั่วโมง (KWH) และแทนที่จะออกแบบให้วางแผ่เต็มพื้นรถในแบบที่เรียกกันว่า “สเกทช์บอร์ด” เหมือนที่เราคุ้นเคยกันในรถไฟฟ้าทั่วไป แต่ดีไซจ์นแบทเตอรีของ RIMAC ยังคงรักษารูปลักษณ์ที่สวยงามของไฮเพอร์คาร์เครื่องวางกลางลำไว้ได้ จากการออกแบบแบทเตอรีให้อยู่ในตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นเครื่องยนต์กับระบบส่งกำลังแบบดั้งเดิม
แบทเตอรีความจุ 120 กิโลวัตต์ชั่วโมง ของ RIMAC NEVERA สามารถวิ่งได้ไกล 570 กม. มาตรฐาน WLTP และชาร์จจาก 0-80 % ในเวลาเพียง 19 นาที โดยรองรับการชาร์จได้ถึง 500 กิโลวัตต์ จากสถานีชาร์จแบบกระแสตรง
สำหรับเรื่องสมรรถนะ รถคันนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “MEGACAR” (เมกกะคาร์) เพราะมอเตอร์ไฟฟ้า 2 คู่ หน้า-หลัง รวมกันแล้วมีกำลังมากถึง 1.4 เมกกะวัตต์ ! (1,408 กิโลวัตต์) หากแปลงเป็น แรงม้า ก็จะได้ 1,888 HP หรือ 1,914 PS เรียกว่า ถ้าไม่ชัวร์ว่าจะเอาหน่วยไหน ก็เรียกว่า 1,900 แรงม้า ก็ไม่ผิดอะไร และมีแรงบิดมากถึง 240.7 กก.-ม. ด้วยเรี่ยวแรงขนาดนี้ แม้รถจะมีน้ำหนักถึง 2,150 กก. ก็ยังสามารถทำสถิติอัตราเร่งที่เร็วระดับที่กล่าวไว้ได้สบาย โดยในโหมดแรงต้านอากาศต่ำ ตัวรถจะมีสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศเพียง 0.3 แต่ถ้าต้องการชะลอความเร็วกะทันหัน หรือต้องการแรงกดอากาศในการเข้าโค้งที่ความเร็วสูง ระบบสปอยเลอร์จะกางออกเพื่อเพิ่มแรงกดได้มากขึ้นกว่าเดิม 326 % เลยทีเดียว
แน่นอนว่ารถรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความตั้งใจให้มีความสมบูรณ์แบบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงรถแบบคาร์บอนโมโนคอก ที่ว่ากันว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก โดยมีความแข็งแกร่งมากถึง 70,000 นิวตัน/องศาการบิด และนอกจากนั้น ระบบระบายความร้อนของแบทเตอรี คือ หัวใจของรถไฟฟ้าทุกคัน และสำหรับรถที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งต้องปลดปล่อยพลังงานจำนวนมาก ความร้อนจึงต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ระบบระบายความร้อนนอกจากจะใช้ของเหลว และรังผึ้งหม้อน้ำในการถ่ายเทความร้อนแล้ว พวกเขายังเพิ่มคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิให้แก่แบทเตอรี เพื่อให้แน่ใจว่าแบทเตอรีจะไม่มีความร้อนสะสมถึงระดับที่เป็นอันตราย
นอกจากสถิติเรื่องอัตราเร่ง และความเร็วสูงสุดที่ทำไว้ที่สนาม ATP แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา RIMAC NEVERA ยังเป็นเจ้าของสถิติรถไฟฟ้าแบบพโรดัคชัน ที่มีเวลาต่อรอบที่สนาม NURBURGRING (นืร์บวร์กริง) ช่วง NORDSCHLEIFE (โนร์ดชไลเฟ)ซึ่งมีความยาว 20.832 กม. เร็วที่สุด ด้วยเวลา 7.05.298 นาที ซึ่งถ้าเทียบกับรถแบบพโรดัคชันอื่นๆ อาทิ รถขับเคลื่อนล้อหน้าที่เร็วที่สุดของ HONDA CIVIC TYPE R FL5 (ฮอนดา ซีวิค ไทพ์ อาร์ เอฟแอล 5) ด้วยเวลา 7.44.8 นาที ส่วนรถไฟฟ้าแบบพโรดัคชันที่โดนโค่นสถิติไป คือ TESLA MODEL S PLAID (เทสลา โมเดล เอส พเลด) กับเวลา 7.25.23 วินาที ที่บันทึกไว้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2023
สำหรับสนาม NURBURGRING NORDSCHLEIFE นอกจากความเร็ว และอัตราเร่งที่อัศจรรย์แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ ความสามารถในการทรงตัว และการชะลอความเร็ว รถไฟฟ้าที่หนักถึง 2,150 กก. ยังคงเสียเปรียบรถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่เบากว่า เพราะหากเทียบกับ PORSCHE 992 GT3 RS (โพร์เช 992 จีที 3 อาร์เอส) ที่ออกแบบให้เป็นรถสำหรับซิ่งในสนามแข่งโดยเฉพาะ ทำเวลาไว้ที่ 6.44.84 วินาที หรือเจ้าของสถิติสนามปัจจุบันอย่าง MERCEDES-AMG ONE (เมร์เซเดส-เอเอมจี วัน) ทำเวลาไว้ที่ 6.35.183 นาที ซึ่งเวลาต่อรอบของ RIMAC NEVERA ยังคงห่างไกลรถพิเศษเหล่านั้น
RIMAC NEVERA ถือเป็นหนึ่งในรถสุดว้าวของยุคปัจจุบัน และจะเป็นหัวหอกในการทำให้รถสปอร์ท รวมถึงรถแบบอื่นๆ ในยุคต่อไปมีสมรรถนะยอดเยี่ยมอย่างก้าวกระโดดแน่นอน