วิถีตลาดรถยนต์
ฉุดไม่อยู่จริงๆ
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนสิงหาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -11.7 %
รถยนต์นั่ง + 4.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +43.5 %
กระบะ 1 ตัน -32.6 %
รถเพื่อการพาณิชย์ + 9.2 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-สิงหาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม - 6.2 %
รถยนต์นั่ง + 9.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +28.8 %
กระบะ 1 ตัน -22.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ - 3.9 %
ฉุดไม่อยู่จริงๆ ด้วยละ สำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดง ปี 2566 เพราะตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่มีการปรับตัวลดลงจากที่เคยทำได้ในปี 2565 อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีการจัดพโรโมชันพิเศษต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดงานมอเตอร์โชว์ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และระดับเล็ก เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวต้อนรับยุคแห่งพลังงานการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างดี จนทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งแบบไฟฟ้า 100 % พันธุ์ผสมแบบเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน และไม่เสียบปลั๊ก รวมไปถึงมีความหลากหลายคุณสมบัติในการใช้งานมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี ฯลฯ ทั้งสนนราคาค่าตัวที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีก็สามารถทำตัวอินทเรนด์ไปกับเขาได้ และที่สงวนสิทธ์ไว้สำหรับเป็นรถยนต์คันที่ 2, 3, 4...ของเศรษฐีมหาเศรษฐีโดยเฉพาะก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นพระเอกขี่ม้าขาว มาดึงให้รถยนต์ใหม่ กลับมามีตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นได้
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การที่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้การบริหารงานของคณะรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมาจากพรรคฝ่ายค้านเดิมในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ผสมผสานกับส่วนหนึ่งที่เคยเป็นฝ่ายรัฐบาลเดิม ที่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการที่จะนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ประการใด และประเด็นที่ 2 คือ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีความเข้มงวดจริงจังในการตรวจสอบมากกว่าที่ผ่านๆ มา เนื่องจากไม่อยากรับภาระในเรื่องของหนี้เสีย ทั้งที่มีอยู่เดิม และการคาดการณ์ว่า จะเพิ่มพูนมากขึ้น หากไม่มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น นาทีนี้ใครอยากได้รถใหม่ป้ายแดงใช้สักคัน นอกจากจะต้องเลือกพิจารณาคุณสมบัติของรถยนต์ให้ตรงกับความต้องการใช้งานมากที่สุดแล้ว ยังต้องมั่นใจด้วยว่าคุณสมบัติของตัวเจ้าของเองเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ อย่างไม่มีข้อสะดุดติดขัดใดๆ ด้วย มิฉะนั้น อาจจะผิดหวัง อดสัมผัสกับรถใหม่ป้ายแดง ต้องหันไปหารถมือสอง หรือรอเวลาปรับปรุงแก้ไขหลักฐานการเงินต่างๆ ให้เป็นที่พึงพอใจของสถาบันการเงินอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าเดือนกันยายน ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศจะปรับตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดือนสิงหาคม เนื่องจากจะมีความชัดเจนในเรื่องของเศรษฐกิจจากนโยบายการบริหารงานของรัฐบาลใหม่ และเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการจับจ่ายซื้อของต่างๆ รวมถึงการส่งมอบรถที่ถูกจองไว้ระหว่างการจัดงานกระตุ้นยอดขายของผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับเดือนสิงหาคม 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รวมทั้งหมดอยู่ที่ 60,234 คัน เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 11.7 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 7,974 คัน ในจำนวนทั้งหมดนี้ TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยตัวเลขยอดจำหน่าย 20,871 คัน มีส่วนแบ่งการตลาด 34.6 % แต่ถ้าเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง 10.6 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 2,485 คัน อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้ 11,380 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเท่ากับ 18.9 % เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 แล้วจำหน่ายได้น้อยลง 4,478 คัน หรือติดลบ 28.2 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 7,084 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.8 % จำหน่ายได้มากขึ้น 13 คัน หรือเพิ่มขึ้น 0.2 % อันดับ 4 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,956 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % จำหน่ายได้น้อยลง 1,720 คัน หรือลดลง 36.8 % และอันดับ 5 น้องใหม่มาแรง BYD (บีวายดี) จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จำหน่ายได้ 2,251 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 3.7 %
ปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม รถยนต์ใหม่ป้ายแดงจำหน่ายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 524,784 คัน เทียบกับห้วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 แล้วปี 2566 จำหน่ายรวมกันได้น้อยลง 6.2 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 34,753 คัน ยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด TOYOTA 178,151 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 33.9 % จำหน่ายได้น้อยลง 7,514 คัน หรือลดลง 4.0 % ISUZU 109,396 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.8 % จำหน่ายได้น้อยลง 23.0 % หรือขาดหายไป 32,633 คัน HONDA จำหน่ายแล้วรวม 60,769 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.6 % เพิ่มมากขึ้น 11.5 % หรือเพิ่มขึ้น 6,281 คัน FORD จำหน่ายแล้วรวม 25,838 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % เพิ่มขึ้น 11.3 % หรือเพิ่มขึ้น 2,622 คัน และ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายแล้วรวม 24,443 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 % จำหน่ายได้น้อยลง 10,995 คัน หรือลดลง 31.0 %
ตลาดรถพิคอัพ เป็นตลาดที่ตัวเลขยอดจำหน่ายโดยรวมยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีรถเจเนอเรชันใหม่ออกสู่ท้องตลาดแล้ว และยังจะมีอีกในอนาคตอันใกล้ สาเหตุหนึ่งว่ากันว่ามาจากการถึงจุดอิ่มตัวในการจัดซื้อรถใหม่ของภาคธุรกิจการขนส่ง ต้องทอดเวลาออกไปสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงจะกลับมาสรรหารถพิคอัพใหม่เข้ามาทดแทนรถที่ใช้งานอยู่เดิม สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งหมดอยู่ที่ 24,622 คัน ลดลงถึง 32.6 % หรือจำหน่ายรวมกันได้น้อยลงถึง 11,906 คัน ขวัญใจชาวพิคอัพอันดับ 1 ในเดือนนี้เป็นการกลับสู่อันดับ 1 อีกครั้ง หลังจากห่างหายอันดับนี้ไปนานพอสมควรสำหรับ TOYOTA เดือนสิงหาคมนี้จำหน่ายได้ 10,014 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 40.7 % แต่ก็ยังเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่สู้กับตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ดี โดยจำหน่ายได้น้อยลง 3,909 คัน หรือลดลง 28.1 % รองลงมาเป็น ISUZU จำหน่ายได้ 9,999 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 40.6 % เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่น้อยลง 4,634 คัน หรือจำหน่ายได้น้อยลง 31.7 % ต่อด้วย FORD จำหน่ายได้ 2,956 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 12.0 % เทียบกับเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาจำหน่ายได้น้อยลง 1,718 คัน หรือติดลบ 36.8 % ตามด้วย MITSUBISHI จำหน่ายได้ 1,168 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 % จำหน่ายได้น้อยลง 1,230 คัน หรือติดลบ 51.3 % และ NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 376 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 % จำหน่ายได้น้อยลง 96 คัน หรือติดลบไป 20.3 %
8 เดือนของปี 2566 ผ่านไป รถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 232,556 คัน น้อยกว่าห้วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 22.1 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 65,868 คัน อันดับ 1 ISUZU จำหน่ายไปแล้ว 98,860 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42.5 % เทียบกับห้วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว จำหน่ายได้น้อยลง 24.5 % หรือหายไป 32,044 คัน รองมาเป็น TOYOTA จำหน่ายแล้ว 90,646 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 39.0 % จำหน่ายได้น้อยลง 21.7 % หรือหายไป 25,168 คัน FORD 25,827 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.1 % จำหน่ายได้มากขึ้น 11.4 % หรือเพิ่มขึ้น 2,643 คัน MITSUBISHI 12,778 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.5 % จำหน่ายน้อยลง 38.3 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 7,926 คัน และ NISSAN จำหน่ายได้แล้วรวม 3,106 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 % จำหน่ายได้น้อยลง 37.5 % หรือลดลง 1,860 คัน
ในส่วนของรถเอสยูวี เดือนสิงหาคมจำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 8,264 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว 2,504 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 43.5 % อันดับ 1 ยังคงเป็น HONDA จำหน่ายได้ 2,736 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 33.1 % หรือเพิ่มขึ้นถึง 118.2 % หรือจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นถึง 1,482 คัน อันดับ 2 BYD จำหน่ายได้ 1,770 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.4 % อันดับ 3 TOYOTA จำหน่ายได้ 1,730 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.9 % จำหน่ายได้น้อยลง 57 คัน หรือลดลง 3.2 % อันดับ 4 MAZDA (มาซดา) จำหน่ายได้ 558 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.8 % จำหน่ายได้น้อยลง 42.2 % หรือลดลง 407 คัน และอันดับ 5 MG (เอมจี) จำหน่ายได้ 482 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 5.8 % จำหน่ายได้น้อยลง 180 คัน หรือลดลง 27.2 %
ยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งหมดของตลาดนี้อยู่ที่ 69,793 คัน เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 ถึง 15,622 คัน หรือเพิ่มขึ้น 28.8 % อันดับ 1 HONDA จำหน่ายแล้วรวม 21,074 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 30.2 % เพิ่มขึ้น 6,612 คัน หรือเพิ่มขึ้น 45.7 % รองลงมาเป็น BYD จำหน่ายแล้วรวม 14,313 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.5 % ตามด้วย TOYOTA 13,974 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.0 % จำหน่ายน้อยลง 1,108 คัน หรือลดลง 7.3 % ต่อด้วย MAZDA 5,371 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.7 % จำหน่ายน้อยลง 3,669 คัน หรือลดลง 40.6 % และ MG จำหน่ายแล้วรวม 5,035 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 % จำหน่ายได้น้อยลง 1,743 คัน หรือลดลง 25.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนสิงหาคม 2566 จำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 3,703 คัน เพิ่มขึ้น 313 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.2 % เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2566 จำหน่ายไปแล้วรวม 28,192 คัน ลดลง 1,133 คัน หรือลดลง 3.9 % ทั้งนี้เดือนสิงหาคม 2566 มีการจดทะเบียนใช้งานรถเอสยูวี และรถพิคอัพ 1 ตัน รวมกันทั้งสิ้น 41,944 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว 6,896 คัน หรือลดลง 14.1 %