ITIC (ไอทิค) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม จัดสัมมนา “4th ITIC FORUM 2023: POWER OF CONNECTIVITY AND SMART MOBILITY” ขับเคลื่อนการจราจรอัจฉริยะ เพื่อแก้ปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน งานนี้จัดขึ้นช่วงปลายปี 2566 จัดโดยมูลนิธิข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ ITIC ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณะสุข กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทอล สมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย
การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน CONNECTIVITY AND SMART MOBILITY ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาระบบขนส่ง การจราจร และลดอุบัติเหตุในประเทศไทยแบบเรียลไทม์ เนื่องจากประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุติดอันอับ 9 ของโลก มีผู้เสียชีวิต 17,379 คน/ปี หรือกว่า 48 คน/วัน มีฝุ่นควันพิษมากเป็นอันดับที่ 30 ของโลก และกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีปัญหารถติดเป็นอันดับ 32 ของโลก
ปัญหาหลักของเมืองใหญ่ คือ ปัญหาจราจรที่มาพร้อมปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการระดมทุกความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน มาร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่ง ITIC พร้อมที่จะขับเคลื่อน BIG DATA ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลแก้ปัญหาจราจร และลดอุบัติเหตุแบบเรียลไทม์ เช่น การปิดจราจร อุบัติภัย ไฟไหม้ ฝนตก และน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งปัญหาฝุ่น PM2.5 ตลอด 24 ชม. ที่สำคัญมีการแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุ ให้ผู้ขับขี่ที่เดินทางในรัศมี 5 กม. จากจุดเกิดเหตุได้รับทราบสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้นๆ ได้ทันที ITIC สามารถรายงานข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยใช้ข้อมูลจาก VEHICLE PROBE กว่า 1 แสนคัน ที่วิ่งอยู่ทั่วประเทศมาประมวลผลแสดงบนแผนที่ดิจิทอล และมีกล้อง CCTV กว่า 282 กล้อง อนาคตอันใกล้นี้มีแผนขยายการเชื่อมต่อกล้อง CCTV จากเทศบาลเมืองภูเก็ต อุดรธานี หนองคาย เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัด ประโยชน์ของกล้อง CCTV นอกจากจะดูการจราจรแบบเรียลไทม์แล้ว ยังนำข้อมูลมาวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย และยังมีการเสนอจุดฝืดของจราจร 20 จุดในกรุงเทพฯ รวมทั้งจุดเสี่ยงภัยต่างๆ
ภายในงานยังมีการเสวนาโอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมเชื่อมไทยเชื่อมโลก ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำด้วย โดยทางบกนั้น มีโครงการใหญ่ ในการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ด้วยทางหลวงพิเศษเครือข่ายใยแมงมุม ทั้งระดับเมืองสู่เมือง และประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนทางราง มีการปรับปรุงยกระดับการขนส่งแบบพลิกฝ่ามือ โดยเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์สู่คุนหมิง เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ 5 ประเทศ สร้าง GDP มูลค่ากว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีประชากรกว่า 1,750 ล้านคน ที่มีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสายนี้ และเป็นการส่งเสริมให้ไทย เป็นศูนย์กลางคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยระยะทางรวมของเส้นทางรถไฟจากเดิมมีระยะทาง 4,044 กม. จะขยายเป็น 4,722 กม. ครอบคลุมทั้งรางเดี่ยว รางคู่ และรางสาม
สำหรับเส้นทางบก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า โครงข่ายเส้นทางพิเศษที่เปิดให้บริการรอบกรุงเทพฯ ในปัจจุบันมี 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 224.6 กม. ในอนาคตจะมีโครงการทางพิเศษในจังหวัดภูมิภาค โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางพิเศษในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น โครงการพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 18.7 กม. โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะทางรวม 18 กม. โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนฯ รอบที่ 3 ระยะทาง 19.25 กม. โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ระยะทาง 20.09 กม. โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์(S1) ระยะทาง 2.25 กม. โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบ 3 ด้านทิศใต้ ระยะทาง 71.6 กม. และโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-ปทุมธานี ระยะทาง 20.5 กม. เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าภาคการขนส่งทางบก มีความชัดเจนเรื่องเส้นทางต่างๆ ที่เชื่อมต่อเป็นเครือข่าย พร้อมรองรับการเติบโตในทุกมิติของเมืองหลวง อนาคตอันใกล้คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นแน่นอน