สวัสดีปีใหม่ 2567 “ชีวิตอิสระ” ขอขึ้นศักราชใหม่ด้วยซีรีส์ “สะบายดี ลาวใต้” โดยเป็นการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ในแขวงจำปาสัก สปป. ลาว ให้เพื่อนๆ สามารถตามรอย โดยประเดิมตอนแรกด้วยมรดกโลกแห่งจำปาสัก “ปราสาทวัดพู”
ปราสาทวัดพู มรดกโลกแห่งที่ 2 ของ สปป. ลาว
ปราสาทวัดพู ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของประเทศ สปป. ลาว เป็นปราสาทขอมโบราณเก่าแก่ ที่สร้างถวายพระศิวะ ตัวปราสาทมีความสวยงาม ตั้งอยู่บนเนินเขาที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ หากมาในช่วงเช้าจะมีหมอกคลอเคลียอยู่บนยอด เป็นภาพที่สวยงามมาก และด้านบนยังเป็นจุดชมวิวเมืองจำปาสักที่งดงาม เรียกได้ว่า มาจุดเดียวเห็นได้ทั้งเมือง นับเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คที่ห้ามพลาด หากมาเยือนลาวใต้
เปิดประวัติ ปราสาทวัดพู
ปราสาทวัดพู หรือวัดพู ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสัก ประมาณ 6 กม. เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานแบบขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในตำแหน่งเขาศิวบรรพต หรือที่ชาวลาวเรียกว่า ภูเกล้า มีฐานะเป็นอารามหลวงของอาณาจักรยุคนั้น นับว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3 ยุค ตั้งแต่สมัยอาณาจักรเจนละ สมัยอาณาจักรขอมก่อนเมืองพระนคร และสมัยอาณาจักรล้านช้าง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) ซึ่งสร้างมาก่อนเขาพระวิหาร และเขาพนมรุ้ง
ปราสาทหินแห่งนี้นับเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ ที่แสดงถึงอารยธรรมโบราณในอดีต มีการค้นพบศิลาจารึกที่บันทึกช่วงศตวรรษที่ 6-8 ว่า ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ คือ สถานที่ประกอบพิธีบูชายันต์ ต่อมาในศตวรรษที่ 9 มีการใช้พื้นที่แห่งนี้สร้างปราสาทหินเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู และท้ายสุดเมื่อเข้าสู่สมัยอาณาจักรล้านช้าง ปราสาทหินวัดพู จึงถูกเปลี่ยนจากเทวาลัยเป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท และด้วยความเก่าแก่ทั้งเรื่องราว และสถานที่ จึงทำให้ปราสาทแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
พลับพลาขนาบข้าง กับความงามต้นตาลคู่
เมื่อเดินเข้าสู่อาณาเขตปราสาทหินวัดพู จะพบกับพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล จึงอดมโนไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ตัวปราสาทตั้งอยู่ด้านหน้าภูเขาที่ชาวลาวเรียกว่า ภูเกล้า เพราะภูเขามีลักษณะเหมือนผู้หญิงเกล้ามวย บ้างก็ว่ามีลักษณะคล้ายหน้าอกผู้หญิง จึงมีอีกชื่อเรียกว่า ภูเขานมสาว
เราเดินผ่านทางเดินที่มีเสานางเรียงขนาบข้าง ไปสู่พลับพลาหลังใหญ่ 2 หลัง โดยมีต้นตาล 2 ต้น ยืนต้นเด่นสวยสง่าอยู่ตรงกลาง มีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องสำหรับกษัตริย์ ก่อนเดินขึ้นสู่การทำพิธีโสมสูตรเบื้องบน
จุดหมายของเรา คือ ปราสาทหลังประธาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทวสถานปราสาทวัดพู โดยเราจะต้องเดินขึ้นยอดเขาเบี้องหน้า โดยต้องผ่านโคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นต่างๆ ที่พังทลายลงมา และซากวังที่ใช้เป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ในอดีต ซึ่งมีร่องรอยการสร้างปรางค์ อิฐองค์เล็กๆ เอาไว้มากมาย ซึ่งถ้าเกิดทันยุคที่สมบูรณ์ เราคงได้เห็นหน้าบัน และทับหลัง ที่สวยงาม และความยิ่งใหญ่ของปราสาทมากกว่านี้
ปราสาทหลังประธาน หัวใจปราสาทวัดพู
ไม่นานนัก ก็มาถึงชั้นสุดท้ายที่โคตรชันเป็นพิเศษ (แนะนำให้ปีนจะปลอดภัยกว่า) เราพบกับเทวาลัย หรือปราสาทหลังประธาน หัวใจสำคัญของเทวสถานปราสาทวัดพูแห่งนี้ โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ได้แก่ อาคารหินทรายส่วนหน้า เรียกว่า “มณฑป” (สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17) มีจุดเด่น คือ การสลักภาพเล่าเรื่อง และภาพบุคคลต่างๆ ตามความนิยมในศิลปะเขมร ทั้งที่ตัวผนังปราสาท หน้าบัน และทับหลัง ด้านในสุดของมณฑปเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ที่ชาวลาวสร้างขึ้นในสมัยหลัง จากเทวสถานของศาสนาฮินดูของเขมร มาเป็นวัดพุทธศาสนาแบบลาวในปัจจุบัน
ด้านหลังมณฑปเป็นอาคารก่ออิฐแบบโบราณ ซึ่งก็คือ “ปราสาทประธาน” ประดิษฐานศิวลึงค์ “ภัทเรศวร” ที่กษัตริย์กัมพูชาเคารพนับถือในอดีต แต่ปัจจุบันไม่เห็น เพราะพังทลายไปหมด
หากเดินไปด้านหลังปราสาทประธาน จะเห็นโขดหินสลักรูปนูนสูงของ “ตรีมูรติ” หรือรูปเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 3 องค์แห่งศาสนาฮินดู มีพระศิวะ 5 เศียรอยู่กลาง พระพรหมอยู่ด้านขวา และพระนารายณ์อยู่ด้านซ้าย การที่สลักรูปพระศิวะไว้ตรงกลางเป็นการบ่งบอกว่าปราสาทวัดพู เป็นเทวสถานใน “ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย” คือ ศาสนาอินดูที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่เหนือเทพเจ้าทั้งปวงนั่นเอง
ชมความยิ่งใหญ่ จากมุมสูง
สิ่งที่ห้ามพลาด เมื่อขึ้นมาถึงปราสาทหลังประธาน คือ การชมวิวจากมุมสูง เราจะเห็นถึงอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลของปราสาทวัดพู ได้เห็นเมืองเก่าจำปาสัก และแม่น้ำโขงคดโค้งสุดสายตา
ในทุกๆ ปี จะมี "งานประจำปีวัดพู" ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ปีละ 3 วัน โดยชาวลาวจะนำสิ่งของมาบวงสรวงบูชาตามจุดต่างๆ ในบริเวณองค์ประธาน สำหรับในวันสุดท้ายจะมีพระสงฆ์ออกมาบิณฑบาต พอตกค่ำจะมีพิธีเวียนเทียนไปรอบๆ ปรางค์ประธานอีกด้วย
แม้วันนี้ ปราสาทวัดพูจะมีสภาพปรักหักพังไปตามกาลเวลา แต่คุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ ในฐานะจุดกำเนิดของอารยธรรมขอมโบราณ ซึ่งเป็นต้นแบบของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากมายในเวลาต่อมา ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์รวมศรัทธาในจิตใจของชาวลาว นับเป็นสถานที่ที่ยิ่งใหญ่ สมควรแก่การมาเยี่ยมเยือนสักครั้งในชีวิต
แผนที่
บทความแนะนำ