วิถีตลาดรถยนต์
ตกแล้ว ตกอีก ตกต่อไป !
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -16.3 %
รถยนต์นั่ง +10.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +55.6 %
กระบะ 1 ตัน -43.6 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +4.6 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กันยายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -7.4 %
รถยนต์นั่ง +9.5 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +31.6 %
กระบะ 1 ตัน -24.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -2.9 %
ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ผ่านไปแล้วก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น สำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่ป้ายแดง โดยเฉพาะตลาดรถพิคอัพที่นับวันดิ่งลงๆ ถึงจะมีรถรุ่นใหม่ๆ รวมไปถึงรุ่นปรับแต่งใหม่ออกสู่ตลาด แต่เนื่องจากการที่สภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ไหลลื่นเท่าที่ควร ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ยังไม่กล้าจะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้เช่าซื้อรถยนต์ เรียกว่าเขี้ยวกันสุดๆ สำหรับการปล่อยสินเชื่อในเวลานี้ โดยเฉพาะในภาคส่วนของการเกษตร ที่หากจะหาซื้อรถพิคอัพใหม่ป้ายแดงสักคัน ถ้าหลักฐานการเงินที่จะเอาไปยื่นไม่สวยหรูสะอาดสะอ้านจริงๆ ยากที่สถาบันการเงินจะปล่อยผ่านออกมาได้ แต่หากไม่มีอะไรติดขัด ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รวมไปถึงในช่วงต้นปี สถานการณ์ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออาจจะคลี่คลายลงไปได้บ้าง เนื่องจากผลิตผลทางการการเกษตรจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งข้าวนาปี, ยาง, อ้อย และมันสำปะหลัง หักหนี้ ธกส. แล้วก็ให้เหลือพอออกรถป้ายแดงกับเขาสักคันหนึ่งเถอะ สัญญากับแม่อีหนูไว้นานแล้วว่า จะออกรถพิคอัพป้ายแดงมาแทนอีแก่คันเก่า ที่เดี๋ยวสตาร์ทติดบ้างไม่ติดบ้างสักคัน
สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี ถือเป็นช่วงไฮซีซันของปี มีงานแสดงรถยนต์ระดับบิกเบิ้มส่งท้ายปีอีกงานหนึ่ง นั่นคือ งานมหกรรมยานยนต์ หรือ MOTOR EXPO ที่จะช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรถของค่ายรถต่างๆ ให้กระเตื้องไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้พอสมควร ยิ่งถ้าหากสถาบันการเงินผ่อนคลายความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลงบ้าง ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่ป้ายแดงปี 2566 คงจะไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะตลาดรถพิคอัพที่ติดลบต่อเนื่องมาหลายต่อหลายเดือนแล้ว
เดือนกันยายน 2566 รถใหม่ป้ายแดงมีการซื้อขายอย่างเป็นทางการ รวมทั้งสิ้น 62,086 คัน ลดลงกว่าเดือนกันยายน ปี 2565 ถึง 16.3 % และยังคงเป็นตลาดรถพิคอัพที่ยังคงมีการซื้อ-ขายที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รถยนต์นั่ง และรถเอสยูวี มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งในจำนวน 62,086 คัน ที่จำหน่ายในเดือนกันยายนนี้ เป็นรถที่ติดยี่ห้อ TOYOTA (โตโยตา) 21,141 คัน เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดน้อยลง 1,813 คัน หรือติดลบ 7.9 % เมื่อเทียบกันเดือนกันยายน 2565 มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 34.1 % รองลงมาเป็น ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายไปได้ 10,898 คัน ลดลงถึง 10,700 คัน หรือ 49.5 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 17.6 % ตามด้วย HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 9,113 คัน เพิ่มขึ้น 2,320 คัน หรือเพิ่มขึ้น 34.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.7 % ต่อด้วยรถจากประเทศจีน น้องใหม่มาแรง ค่าย BYD (บีวายดี) จำหน่ายได้ 3,231 คัน ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 5.2 % และ FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,948 คัน หายไป 2,062 คัน หรือลดลง 41.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
ไตรมาส 3 ผ่านพ้นไป รถใหม่ทุกรุ่นจำหน่ายแล้วรวมทั้งสิ้น 586,870 คัน ลดลงจากไตรมาส 3 ของปี 2565 ถึง 46,817 คัน หรือติดลบไป 7.4 % รถที่มียอดจำหน่ายสะสมมากสุด ประกอบด้วยอันดับ 1 TOYOTA 199,292 คัน ลดลง 9,327 คัน หรือลดลง 4.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 34.0 % อันดับ 2 ISUZU 120,294 คัน ลดลง 43,333 คัน หรือลดลง 26.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 20.5 % อันดับ 3 HONDA 69,882 คัน เพิ่มขึ้น 8,601 คัน หรือเพิ่มขึ้น 14.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.9 % อันดับ 4 FORD 28,786 คัน เพิ่มขึ้น 560 คัน หรือเพิ่มขึ้น 2.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 26,552 คัน ลดลงถึง 12,758 คัน หรือลดลง 32.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.5 %
รถพิคอัพ 1 ตันที่ดูเหมือนจะกลายเป็นตัวถ่วงไปเสียแล้วในปีนี้ เดือนกันยายนจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 23,343 คัน หายไปเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 หรือมีตัวเลขยอดจำหน่ายลดน้อยลง 18,053 คัน หรือลดลง 43.6 % ยอดขายอันดับ 1 ในเดือนนี้ยังคงเป็น TOYOTA จำหน่ายได้ 9,547 คัน ลดลง 3,687 คัน หรือลดลง 27.9 % เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 ส่วนแบ่งการตลาด 40.9 % อันดับ 2 ISUZU 9,298 คัน ลดลง 10,928 คัน หรือลดลง 54.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 39.8 % อันดับ 3 FORD 2,946 คัน ลดลง 2,061 คัน หรือลดลง 41.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 12.6 % อันดับ 4 MITSUBISHI 1,012 คัน ลดลง 1,033 คัน หรือลดลง 50.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.3 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) 399 คัน ลดลง 38 คัน หรือลดลง 8.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.7 %
สรุปว่าไตรมาส 1-3 รถพิคอัพจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 255,899 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 83,921 คัน หรือลดลง 24.7 % รถพิคอัพที่มียอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด อันดับ 1 ISUZU 108,158 คัน ลดลง 42,972 คัน หรือลดลง 28.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 42.3 % อันดับ 2 TOYOTA 100,193 คัน ลดลง 28,855 คัน หรือลดลง 22.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 39.2 % อันดับ 3 FORD 28,773 คัน เพิ่มขึ้น 582 คัน หรือเพิ่มขึ้น 2.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.2 % อันดับ 4 MITSUBISHI 13,790 คัน ลดลง 8,959 คัน หรือลดลง 39.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.4 % และอันดับ 5 NISSAN 3,505 คัน ลดลง 1,898 คัน หรือลดลง 35.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
ตลาดรถเอสยูวี เดือนกันยายนมียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 9,580 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาถึง 3,422 คัน หรือเพิ่มขึ้น 55.6 % จำหน่ายได้มากสุดในเดือนกันยายนนี้เป็นรถเอสยูวีของ HONDA จำหน่ายได้ 4,901 คัน เพิ่มขึ้นถึง 4,069 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 489.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 51.2 % อันดับ 2 เป็นค่าย BYD จำหน่ายได้ 1,610 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 16.8 % อันดับ 3 TOYOTA 962 คัน ลดลง 1,053 คัน หรือลดลง 52.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.0 % อันดับ 4 MG (เอมจี) 488 คัน ลดลง 248 คัน หรือลดลง 33.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 % และอันดับ 5 NISSAN 488 คัน ลดลง 106 คัน หรือลดลง 17.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 %
ไตรมาส 3 ผ่านไป รถเอสยูวีมีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 79,373 คัน เพิ่มขึ้น 19,044 คัน หรือเพิ่มขึ้น 31.6 % HONDA ครองตำแหน่งว่าที่แชมพ์ มียอดจำหน่ายสูงสุด 25,975 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 10,681 คัน หรือเพิ่มขึ้น 69.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 32.7 % อันดับ 2 BYD จำหน่ายไปแล้วรวม 15,923 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 20.1 % อันดับ 3 TOYOTA จำหน่ายไปแล้ว 14,936 คัน ลดลง 2,161 คัน หรือลดลง 12.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 18.8 % อันดับ 4 MAZDA จำหน่ายไปแล้ว 5,847 คัน ลดลง 4,413 คัน หรือลดลง 43.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.4 % และอันดับ 5 MG จำหน่ายแล้ว 5,523 คัน ลดลง 1,991 คัน หรือลดลง 26.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 %
รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนกันยายน 2566 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันที่ 3,738 คัน เพิ่มขึ้น 165 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.6 % ไตรมาส 3 ผ่านไปตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด 31,930 คัน ลดลง 968 คัน หรือลดลง 2.9 % เดือนกันยายน 2566 มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพทั้งสิ้น 35,499 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา 18,082 คัน หรือลดลง 33.7 %