มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2023
บทพิสูจน์ความสำคัญ และความหมายของงานแสดงรถยนต์ ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ และเนื้อหาตามยุคตามสมัยที่ไม่หยุดนิ่ง
มหกรรมยานยนต์โตเกียวเป็นงานแสดงรถยนต์ที่จัดกันมานมนานตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1954 หรือพุทธศักราช 2497 คือ กว่า 2 ทศวรรษก่อนมี “ฟอร์มูลา” นิตยสารสาระสะใจคนรักรถ งานครั้งแรกซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า ALL-JAPAN MOTOR SHOW จัดขึ้นในเดือนเมษายน ที่สวนสาธารณะ HIBIYA PARK ในกรุงโตเกียว มีบริษัทญี่ปุ่นร่วมงาน 245 ราย มีรถแสดงในงานรวม 267 คัน และในช่วงเวลา 10 วันของการจัดงาน มีผู้เข้าชมงานมากมายถึง 547,000 คน หลังจากนั้นก็มีการจัดงานต่อเนื่องกันมาทุกๆ ปี จนกระทั่งปี 1975 จึงเปลี่ยนเป็นจัดทุกๆ 2 ปี
ครั้งแรกที่ทีมงานของ “สื่อสากล” มีโอกาสไปเยือนมหกรรมยานยนต์รายการนี้ คือ งานครั้งที่ 21 ในปี 1985 เป็นการเดินทางไปเหยียบพื้นดินของคนชอบกินปลาดิบ ตามคำเชิญของ บริษัท ฮอนดา คาร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในยุคที่มี มิตจึรุ ซาโตะ เป็นประธานกรรมการ งานครั้งนั้นจัดขึ้นบนที่ดินถมทะลซึ่งมีชื่อว่า HARUMI FAIR GROUND มีพื้นที่จัดงาน 40,734 ตรม. มีผู้ร่วมงาน 262 ราย มีรถยนต์แสดงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1,032 คัน และในช่วงการจัดงาน 12 วัน (วันที่ 31 ตุลาคม-11 พฤศจิกายน 1985) มีผู้ชมงานรวม 1,291,500 คน หลังจากนั้นทีมงานของเราก็เดินทางไปเยือนมหกรรมยานยนต์โตเกียวเกือบทุกครั้ง (ยกเว้นปี 2000/2002 และ 2004)
หลังจากจัดที่ HARUMI FAIR GROUP รวม 22 ครั้ง ระหว่างปี 1959-1987 งานนี้ก็เปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็น MAKUHARI MESSE ซึ่งเป็นศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกกรุงโตเกียว เดินทางด้วยรถไฟจากสถานีโตเกียวใช้เวลาประมาณ 1 ชม. จัดที่นี่ 14 ครั้ง ระหว่างปี 1989-2009 แล้วก็เปลี่ยนอีกครั้งในปี 2011 มาจัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม TOKYO BIG SIGHT ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน ARIAKE ซึ่งอยู่ในอ่าวโตเกียว และมีพื้นที่จัดงานกว้างขวางกว่า 80,000 ตรม. จัดที่นี่จนถึงงานครั้งที่ 46 ในปี 2019 แล้วก็ต้องหยุดไปเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ COVID-19 ก่อนเริ่มใหม่อีกครั้งในปี 2023 นี้ โดยกำหนดจัดงานในช่วงเวลา 12 วัน ระหว่างวันพุธที่ 25 ตุลาคม-วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2023 ที่สำคัญ และบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย คือ การเปลี่ยนแปลงชื่องานในภาษาอังกฤษจาก TOKYO MOTOR SHOW เป็น JAPAN MOBILITY SHOW ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า อย่างไรก็ตาม เรายังพอใจเรียกงานนี้ในภาษาไทยสไตล์ “สื่อสากล” ว่า มหกรรมยานยนต์โตเกียว เช่นเดิม
รูปลักษณ์การจัดงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก นอกจากแสดงรถยนต์ และจักรยานยนต์แบบใหม่ๆ ซึ่งมีทั้ง CONCEPT CAR หรือรถแนวคิด และ PRODUC TION CAR หรือรถผลิตเพื่อจำหน่าย เหมือนงานครั้งก่อนๆ แล้ว ยังมีสินค้า และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งตามชื่องานอีกมากมาย หลังวันปิดงาน ผู้จัดงานประกาศในเวบไซท์ว่า มีผู้ชมงานนี้มากถึง 1,112,000 คน เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันแม้ว่ามีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่มหกรรมยานยนต์ หรืองานแสดงรถยนต์ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้ารถยนต์ มหกรรมยานยนต์ หรืองานแสดงยานยนต์ ยังเป็นที่ต้องการของผู้ใช้รถยนต์
พื้นที่ 15 หน้าถัดไป จะบอกกล่าวเล่าสิบให้ฟังอย่างย่อๆ ว่า มีรถอะไรบ้างที่น่าสนใจ ? ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งล่าสุดนี้
หลังวันปิดงาน ผู้จัดงานประกาศว่า มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2023 มีผู้ชมงานมากถึง 1,112,000 คน (ภาพของผู้จัดงาน)
TOYOTA FT-3E
ยักษ์ใหญ่ TOYOTA (โตโยตา) มีผลงานด้านรถแนวคิดมากกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ทุกราย TOYOTA FT-3E (โตโยตา เอฟที-3 อี) ที่กำลังอวดตัวอยู่นี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นแม่แบบของ ELECTRIC CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ แบบที่ 2 ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดถัดจากรถพลังไฟฟ้า TOYOTA BZ4X (โตโยตา บีเซด 4 เอกซ์) ที่เริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อกลางปี 2022 ตัวถังขนาด 4.860x1.955x1.595 ม. ซึ่งเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม และเส้นสายต่างๆ ออกแบบโดยได้รับการสนับสนุนจาก AI (ARTIFICIAL INTELLIGENCE) หรือ “สมองเทียม” ที่กำลังทวีบทบาทในวงการรถยนต์ ติดตั้งวิทยาการ VEHICLE-TP-GRID TECHNOLOGY ซึ่งทำให้การชาร์จไฟทำได้อย่างทรงประสิทธิภาพ และติดตั้งระบบ INFOTAINMENT หรือ “สื่อสารบันเทิง” ซึ่งมีพแลทฟอร์มอันทันสมัย และทันเวลา ผู้ผลิตจึงประกาศว่า การขับรถคันนี้ทำได้ง่าย ปราศจากความยุ่งยาก และไร้การกดดันใดๆ
TOYOTA FT-SE
รถแนวคิดอีกคันในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองปลาดิบที่เรียกความสนใจจากผู้คนได้มาก คือ รถติดป้ายชื่อ TOYOTA FT-SE (โตโยตา เอฟที-เอสอี) ในภาพใหญ่ และภาพเล็กซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ระบบขับ และระบบแบทเตอรีใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับรถแนวคิดอีก 3 แบบที่ปรากฏตัวในงานนี้ คือ TOYOTA FT-3E LEXUS LF-ZC (เลกซัส แอลเอฟ-เซดซี) และ LEXUS LF-ZL (เลกซัส แอลเอฟ-เซดแอล) แต่มีจุดสนใจแตกต่างไปจากรถคันอื่นๆ ก็คือ บรรดาสื่อมวลชนในญี่ปุ่นเชื่อกันว่า รถแนวคิดซึ่งมีตัวถังขนาด 4.380x1.895x1.220 ม. คันนี้ เป็นแม่แบบของรถรุ่นใหม่ ที่อีกไม่นานยักษ์ใหญ่เมืองปลาดิบจะนำออกสู่ตลาด ในฐานะตัวตายตัวแทนของรถ 2 ที่นั่ง วางเครื่องกลางลำ/ขับเคลื่อนล้อหลัง TOTOTA MR2 (โตโยตา เอมอาร์ 2) ที่เคยอยู่ในสายการผลิตระหว่างปี 1988 -2207 และโด่งดังจนกลายเป็นรถในตำนานแล้ว
TOYOTA CENTURY SUV
คันนี้ไม่ใช่รถแนวคิด แต่เป็นรถผลิตเพื่อจำหน่ายที่เปิดตัวในเมืองปลาดิบเมื่อต้นเดือนกันยายน 2023 และทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแบบใหม่ในชื่อเก่า เพราะตั้งชื่อรุ่นตามชื่อของรถเก๋งซีดานระดับสุดหรูผลิตด้วยมือ คือ รถ TOYOTA CENTURY SUV (โตโยตา เซนทูรี เอสยูวี) ที่อยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 1967 และออกจำหน่ายไปแล้วรวม 3 รุ่น ตัวถัง 5 ประตู 4 ที่นั่ง ขนาด 5.205x1.990x1.805 ม. ติดตั้งระบบขับทุกล้อ PLUG-IN HYBRID หรือไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่อง ยนต์เบนซินฉีดตรง วี 6 สูบ 3,456 ซีซี 193 กิโลวัตต์/262 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 134 กิโลวัตต์/182 แรงม้า มอเตอร์ไฟฟ้า 80 กิโลวัตต์/108 แรงม้า แบทเตอรี LITHIUM-ION และระบบเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง ECVT ได้กำลังรวมสูงสุด 303 กิโลวัตต์/412 แรงม้า และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลประมาณ 70 กม.
TOYOTA KAYOIBAKO
จุดดึงดูดสายตาอีกจุดหนึ่งในบูธของค่ายยักษ์ใหญ่ คือ รถติดป้ายชื่อ TOYOTA KAYOIBAKO (โตโยตา คาโยอิบาโค) ซึ่งแปลว่า DELIVERY BOX หรือกล่องสำหรับการจัดส่งสิ่งของ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถตู้ทรงกล่องเดียว ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ในตัวถังขนาด 3.990x1.790x1.855 ม. ซึ่งมีเนื้อที่ภายในขนาด 3.127x1.485x1.437 ม. ที่ผู้ผลิตบอกว่า DO WHAT YOU WANT, WHEN YOU WANT, WHERE YOU WANT หรือ “ทำทุกสิ่งที่คุณต้องการ ในเวลาที่คุณต้องการ ในทุกที่ที่คุณปรารถนา” ตัวถังทั้งภายนอก และภายในสามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดสารพัดสารพัน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีทั้งในงานธุรกิจ และการใช้งานประจำวัน ที่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และแสดงในงานนี้มีอยู่ 2 คัน โดยคันหนึ่งดัดแปลงเป็น WHEELCHAIR DRIVER MPV หรือรถตู้อเนกประสงค์สำหรับผู้ขับรถที่ต้องนั่งบนรถล้อเข็น อีกคันเป็น 3-ROW CAMPER MPV ซึ่งเป็นรถตู้อเนกประสงค์สำหรับการตั้งแคมพ์
TOYOTA EPU
ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นอย่างมากเช่นกัน คือ รถมีกระบะติดป้ายชื่อ TOYOTA EPU (โตโยตา อีพียู) ซึ่งเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ A NEXT GENERATION MID-SIZE PICKUP TRUCK หรือรถพิคอัพขนาดกลางที่ออกแบบสำหรับอนาคต ตัวถังขนาด 5.070x1.910x1.710 ม. ซึ่งมีห้องโดยสาร 2 ตอน นั่งได้รวม 5 คน อย่างที่นิยมเรียกกันว่า DOUBLE CAB (ดับเบิลแคบ) มีลักษณะแตกต่างเป็นอย่างมากจากรถพิคอัพทั่วๆไป เพราะมีโครงสร้างแบบ MONO COQUE (โนโนคอก) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่รับแรงได้แบบรถเก๋ง ส่วนระบบขับที่ติดตั้งเป็นระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ บอกแต่เพียงว่าเป็น BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) หรือรถพลังไฟฟ้าติดตั้งแบทเตอรี กล่าวโดยรวม เป็นรถที่ผู้ผลิตอวดสรรพคุณว่า วิ่งเงียบ (แน่นอน ! เพราะไม่มีเครื่องยนต์) มีศูนย์กลางความถ่วงอยู่ต่ำ มีสมรรถนะการขับขี่ที่เยี่ยมยอด กับมีสมรรถนะการเลี้ยวที่ยอดเยี่ยม
TOYOTA LAND CRUISER SE
จุดดึงดูดสายตาอีกจุดในพื้นที่ของค่ายยักษ์ใหญ่ คือ รถติดป้ายชื่อ TOYOTA LAND CRUISER SE (โตโยตา แลนด์ ครูเซอร์ เอสอี) ที่เห็นใน 2 ภาพล่าง เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ 3-ROW FULL-SIZE CROSSOVER SUV หรือรถกิจ กรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดโตเต็มพิกัด ซึ่งห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว ตัวถังขนาด 5.150x1.990x1.705 ม. ที่นั่งได้รวม 7 คน มีรูปทรงที่ดูดี มีสไตล์ ให้ความรู้สึกในคุณภาพ และทรงพลัง เป็นตัวถังแบบ MONOCOQUE หรือ UNIBODY ซึ่งเป็นตัวถังรับแรงแบบรถเก๋ง นอกจากนั้น ยังเป็นรถที่ผู้ผลิตยืนยันว่า เมื่อวิ่งในเมืองจะวิ่งได้เงียบมาก ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะยักษ์ใหญ่ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นรถอีกคันที่เป็น BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) คือ รถพลังไฟฟ้าใช้แบทเตอรี และไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่ารถแนวคิดคันนี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถผลิตเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ?
NISSAN HYPER FORCE
ยักษ์รองเมืองปลาดิบนำตัวจริงของรถแนวคิดตระกูล HYPER (ไฮเพอร์) ออกอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” รวม 3 คัน NISSAN HYPER FORCE (นิสสัน ไฮเพอร์ ฟอร์ศ) ที่กำลังอวดโฉมทั้งในหน้านี้ และหน้าขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทไฮเพอร์คาร์สมรรถนะสูง ที่ออกแบบได้อย่างสุดอลังการ และไม่ต้องเกรงอกเกรงใจคนรักสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถพลังไฟ ฟ้าล้วนๆ ที่ไม่มีไอเสียใดๆ เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อที่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 หรือ 4 ชุด หรือมากกว่า ที่แน่นอนก็คือ จะให้กำลังรวมระดับ 1,000 กิโลวัตต์/1,360 แรงม้า ส่วนอุปกรณ์ป้อนพลังไฟฟ้าที่ใช้ เป็นแบทเตอรีขนาดเล็กกว่า เบากว่า และมีความจุพลังงานสูงกว่าแบทเตอรีที่นิยมใช้กันขณะนี้ รวมทั้งเชื่อกันว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) หรือรถพลังไฟฟ้าติดตั้งแบทเตอรี คือ เป็น SOLID-STATE BATTERY ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา
NISSAN HYPER PUNK
รถแนวคิดตระกูล HYPER อีกคันซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ NISSAN HYPER PUNK (นิสสัน ไฮเพอร์ พังค์) ที่เห็นในภาพเล็กซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ ELECTRIC CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ออกแบบโดยมีผู้สนใจ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องรูปทรงของรถเป็นกลุ่มเป้าหมาย ตัวถังซึ่งเคลือบสีเงิน และการทำพื้นผิวรวมทั้งส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ดวงโคมไฟหน้า ดวงโคมไฟท้าย กระทะล้อขนาด 23 นิ้ว ฯลฯ เป็นรูปเหลี่ยม ส่งผลให้รถเปลี่ยนสีไปได้สารพัดสีตามมุมของแสงที่ตกกระทบ ส่วนภายในห้องโดยสารที่ออกแบบอย่างโฉบเฉี่ยวเหมือนภายนอก ก็มีระบบซึ่งใช้ AI (ARTIFICIAL INTELLIGENCE) หรือ “สมองเทียม” และหูฟังที่ออกแบบเป็นพิเศษ ตรวจจับอารมณ์ของผู้ขับ แล้วเลือกเสียงดนตรีกับแสงสว่างเพื่อให้สอดคล้อง รวมทั้งเพื่อสร้างพลัง และความคิดสร้างสรรค์
NISSAN HYPER TOURER
คันสุดท้ายของรถแนวคิดตระกูล HYPER ซึ่งปรากฏตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ NISSAN HYPER TOURER (นิสสัน ไฮเพอร์ ทัวเรอร์) ที่เห็นในภาพเล็กขวามือ อธิบายอย่างย่นย่อได้ว่า เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ ALL-ELECTRIC MINIVAN หรือรถตู้มีนีแวนขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ผู้ผลิตบอกว่า ออกแบบ และพัฒนาโดยเน้นเป็นพิเศษ ในเรื่องการบ่มเพาะ และเสริมสร้างการยึดเหนี่ยวของผู้คนที่เดินทางไปด้วยกัน เป็นคำอธิบายที่ฟังดูเท่แต่ยากจะเข้าใจในความหมาย ที่น่าสนใจนอกจากการเป็นรถพลังไฟฟ้า คือ เป็น FULLY AUTONOMOUS DRIVING VEHICLE หรือรถที่วิ่งได้ด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้นั่งบนเก้าอี้ผู้ขับที่หมุนได้รอบตัว จึงมีอิสระเสรีในการสนทนาวิสาสะกับผู้โดยสารบนเบาะหลังโดยไม่ต้องกังวลกับการวิ่งของรถ ที่คล้ายกันกับรถคันก่อน คือ ระบบตรวจจับคลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ แล้วปรับแสงกับเสียงให้สอดคล้อง
HONDA PRELUDE CONCEPT
ยักษ์รองเมืองปลาดิบซึ่งเก่งทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ มีผลงานที่สมควรนำมาเล่าสู่กันฟังไม่กี่ชิ้น ซึ่งชิ้นแรก คือ HONDA PRELUDE CONCEPT (ฮอนดา พรีลูด คอนเซพท์) ที่เห็นใน 2 ภาพบนซ้ายมือ เห็นแค่ชื่อก็คงทราบกันดีว่าเป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นแม่แบบของรถเก๋งคูเป HONDA PRELUDE รุ่นใหม่ ที่ในปี 2025 หรือ 2026 ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดในฐานะทายาทสายตรงของรถรุ่นเดิมรวม 5 รุ่น ที่อยู่ในสายการผลิตระหว่างปี 1978-2001 รวมทั้งเพื่อแทนที่รถ HONDA CIVIC COUPE (ฮอนดา ซีวิค คูเป) และ HONDA ACCORD COUPE (ฮอนดา แอคคอร์ด คูเป) ที่เพิ่งเลิกผลิตไปไม่นาน ยังไม่มีข้อมูลทางเทคนิคใดๆ ทราบกันแต่เพียงว่า รถรุ่นใหม่ที่ว่านี้จะติดตั้งระบบขับไฮบริด ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า มีสมรรถนะการขับที่ยักษ์รองของญี่ปุ่นอธิบายเป็นภาษาอังกฤษด้วยวลี JOY OF DRIVING หรือ “ความเพลิดเพลินใจของการขับขี่”
HONDA SUSTAINA-C CONCEPT
ผลงานใหม่อีกชิ้นของยักษ์รองเมืองปลาดิบซึ่งปรากฏตัวที่งานนี้ คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ HONDA SUSTAINA-C CONCEPT (ฮอนดา ซัสเตนา-ซี คอนเซพท์) ที่เห็นใน 2 ภาพบนขวามือ เป็นรถที่ทีมงานของค่ายนี้รังสรรค์ขึ้นด้วยแนวความคิดที่ว่า MOBILITY PRODUCT หรืออุปกรณ์เพื่อการเคลื่อนที่ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทำจากวัตถุดิบสารพัดชนิด รวมทั้งโลหะ กาวเรซิน และเส้นใยแฟบริค แต่วัสดุ และทรัพยากรเหล่านี้มีจำนวนจำกัด หากเรายังทำเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งไม่เร็วก็ช้า ก็จะหมดไป ความยุ่งยากต่างๆ ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ก็จะตามมา แต่รถแนวคิด HONDA SUSTAINA-C CONCEPT ทำจาก ACRYLIC RESIN ที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ ทั้งด้วยวิธี RECYCLE และ REUSE วิธีช่วยลดข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่กล่าวนี้ ส่งผลดีทั้งการรักษาสภาพแวดล้อม และการสร้างทั้งความพึงพอใจ และอิสระเสรีในการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในอนาคตที่กำลังรออยู่
HONDA CRUISE ORIGIN
HONDA CRUISE ORIGIN (ฮอนดา ครูส ออริจิน) ในภาพล่างขวามือ ไม่ใช่รถแนวคิด แต่เป็นรถที่ผลิตเพื่อใช้งานจริง และเป็นผลงานจากความร่วมมือของ 3 บริษัท คือ HONDA MOTORS ของญี่ปุ่น กับ GENERAL MOTORS COMPANY และบริษัท CRUISE ของสหรัฐอเมริกา ที่น่าสนใจ และน่าติดตามมากก็คือ เป็น AUTONOMOUS VEHICLE หรือรถวิ่งได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่มีทั้งพวงมาลัย และที่นั่งผู้ขับขี่ ที่ 3 บริษัทนี้รวมกันออกแบบ/พัฒนา เพื่อใช้กับโครงการที่มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า DRIVELESS RIDEHAIL SERVICE ซึ่งให้บริการรับผู้โดย สารจากจุดหนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่ง บริษัทใหม่ซึ่งก่อตั้งจากการร่วมทุนของ 3 บริษัท จะเริ่มเปิดให้บริการในกรุงโตเกียวตอนต้นปี 2026 โดยที่ในระยะแรกจะใช้รถไม่กี่ 10 คัน แต่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 500 คัน ในระยะต่อไป มีห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งแบบหันหน้าเข้าหากันได้รวม 6 คน และให้ความเป็นส่วนตัวเหมือนผู้โดยสารเป็นเจ้าของรถเอง
MAZDA ICONIC SP
จุดดึงดูดสายตาในบูธของยักษ์เล็กเมืองปลาดิบมีอยู่หลายจุด แต่จุดที่สมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังมีอยู่เพียงจุดเดียว คือ MAZDA ICONIC SP (มาซดา ไอโคนิค เอสพี) ที่เห็นในภาพใหญ่ และภาพเล็กซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทขนาดเล็กตัวถังประตูปีกนก ซึ่งปรากฏตัวให้เห็นแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ และเชื่อกันในญี่ปุ่นว่า นี่คือแม่แบบของรถ MAZDA ROADSTER (มาซดา โรดสเตอร์) รุ่นใหม่ (รุ่นที่ 5) ซึ่งอีกไม่นานนักจะเริ่มการจำหน่าย อยู่ในตัวถังขนาด 4.180x1.850x1.150 ม. ซึ่งมีน้ำหนักรถเปล่า 1,450 กก. ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าที่ค่ายนี้พัฒนาขึ้นเอง และตั้งชื่อว่า 2- ROTOR ROTARY-EV SYSTEM เป็นระบบที่สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิดรวมทั้งแกสไฮโดรเจน ให้กำลังสูง 272 กิโลวัตต์/370 แรงม้า มีขนาดเล็กกะทัดรัด การออกแบบโครงสร้างตัวรถจึงทำได้อย่างอิสระเสรี มีศูนย์กลางความถ่วงอยู่ต่ำ และกระจายน้ำหนักลงสู่ล้อในอัตราสมบูรณ์แบบ คือ 50:50
SUBARU SPORT MOBILITY CONCEPT
ค่าย “ดาวลูกไก่” ก็มีจุดที่สมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังเพียงจุดเดียวเช่นกัน คือ SUBARU SPORT MOBILITY CONCEPT (ซูบารุ สปอร์ท โมบิลิที คอนเซพท์) รถแนวคิดอีกคันซึ่งปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ ที่แย่หน่อยก็คือ หาข้อมูลอะไรไม่ได้เลยจากสื่อของบริษัท จึงต้องค้นหาจาก แหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะนิตยสารรถยนต์ชั้นนำฉบับหนึ่งของเมืองผู้ดี คือ AUTOCAR ซึ่งบอกว่า เป็นรถแนวคิดที่รังสรรค์ขึ้น เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ที่มีต่อรถสปอร์ทพลังไฟฟ้า ซึ่งสามารถวิ่งได้แบบออฟโรด ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรถแข่งแรลลีที่เป็นจุดขายสำคัญของค่ายนี้ แต่การออกแบบตัวถังไม่มีจุดใดเลยที่บ่งบอกว่าได้รับอิทธิพลจากรถในอดีต หรือรถรุ่นปัจจุบัน ระบบขับคาดหมายว่าใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ผู้ขับไว้ตรงกลาง เพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีระบบบังคับควบคุมรถ ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า TORQUE-VECTORING TECHNOLOGY
MITSUBISHI D:X CONCEPT
ค่าย “สามเพชร” ที่ยอดขายรถในญี่ปุ่นมีอาการน่าเป็นห่วง ใช้รถแนวคิดเพียงคันเดียวดึงดูดผู้คนเข้าสู่บูธได้แน่นขนัด คือ MITSUBISHI D:X CONCEPT (มิตซูบิชิ ดี:เอกซ์ คอนเซพท์) ที่เห็นใน 3 ภาพบน ปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ ในรูปลักษณ์ของ ELECTRIFIED CROSSOVER MPV หรือรถอเนก ประสงค์ข้ามพันธุ์พลังไฟฟ้า ที่สามารถผสมผสานระบบขับด้วยพลังไฟฟ้า และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนทุกล้อเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม เป็นแม่แบบของรถรุ่นใหม่ที่อีกไม่นานจนเกินรอ ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดพร้อมกับป้ายชื่อ MITSUBISHI DELICA (มิตซูบิชิ เดลีคา) เป็นรถตู้อเนกประสงค์ในตัวถังทรงกล่องเดียวรูปทรงชวนระทึก มีประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาย้ำยันกลาง เป็นเหมือนประตูตู้กับข้าว (บานหน้าเป็นประตูติดบานพับ บานหลังเป็นประตูเลื่อน) ห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 6 คน แถวหน้าเป็นเก้าอี้ PANORAMIC SEATS ที่ปรับระดับสูง/ต่ำ และหมุนได้รอบตัว
YAMAHA TRICERA
ผู้ผลิตจักรยานยนต์ของเมืองปลาดิบซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่าคิดจะผลิตรถยนต์ นำรถแนวคิดออกแสดงในงานนี้หลายคัน โดยคันที่เลือกมาให้ชมกันเป็น “SAMPLE” คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ YAMAHA TRICERA (ยามาฮา ตไรเซรา) ที่หน้าตา และรูปทรงดูวิลิศมาหรามาก เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของจักรยานยนต์ 3 ล้อ (หน้า 2 หลัง 1) นั่งได้ 2 คน ที่ออกแบบ และพัฒนาตามแนวความคิด EXCITING URBAN MOBILITY: WHEN ONE’S BODY AND MIND AND THE MACHINE BECOME AN ORGANIC WHOLE หรือ “การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในเขตเมืองที่น่าตื่นเต้น: เมื่อร่างกาย และจิตใจของมนุษย์กับเครื่องจักร รวมกันเป็นหน่วยอินทรีย์หน่วยเดียว” เป็นรถบังคับเลี้ยว 3 ล้อ ที่สามารถกดปุ่มบังคับให้เปลี่ยนเป็นบังคับเลี้ยวเฉพาะหลังได้ในกรณีที่ต้องการ เป็นรถที่คาดว่าทำขึ้นเพื่ออวดแนวความคิดเฉพาะตัวรถ จึงไม่มีการระบุข้อมูลทางเทคนิคใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขับ
SUZUKI EVX/SUZUKI EWX
มหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้ ยักษ์เล็กผู้ผลิตรถยนต์ และจักรยานยนต์ของเมืองปลาดิบ ดูไม่ฟู่ฟ่าเหมือนงานครั้งก่อนๆ เพราะบนเวทีขนาดใหญ่มีรถแนวคิดปรากฏตัวอยู่เพียงไม่กี่คัน คันสีเข้มในภาพซึ่งติดป้ายชื่อ SUZUKI EVX (ซูซูกิ อีวีเอกซ์) เป็นรถซึ่งอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในโลก” ที่งาน 2023 AUTO EXPO ในอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2023 แต่ทีมงานของเราเพิ่งได้เห็นตัวจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นแม่แบบของรถพลังไฟฟ้าที่ค่ายนี้ตั้งใจจะผลิตจำหน่ายในตลาดทั่วโลก ตัวถังมีขนาด 4.300x1.800x 1.600 ม. ส่วนคันสีขาวซึ่งติดป้ายชื่อ SUZUKI EWX (ซูซูกิ อีดับเบิลยูเอกซ์) และปรากฏตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าขนาดมีนี ในตัวถังขนาด 3.395x1.475x1.620 ม. ซึ่งวิ่งได้ไกล 230 กม. เมื่อชาร์จไฟเต็ม เป็นตัวถังซึ่งทั้งหน้าตา และรูปทรงองค์เอวดูราบเรียบ และสะอาดตา กับมีห้องโดยสารที่ออกแบบได้ดี และนั่งสบายเหมือนไม่ใช่รถขนาดมีนี
SUZUKI SWIFT CONCEPT
ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้เช่นกัน คือ SUZUKI SWIFT CONCEPT (ซูซูกิ สวิฟท์ คอนเซพท์) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัด ผู้คนสนใจกันมาก เพราะนี่คือ แม่แบบของรถ SUZUKI SWIFT (ซูซูกิ สวิฟท์) รุ่นใหม่ (รุ่นที่ 5) ซึ่งภายในเวลาไม่น่าเกิน 1 ปี ก็จะเริ่มการจำหน่ายในเมืองปลาดิบ เป็นรถที่ออกแบบตามแนวความคิด DRIVE & FEEL คือ ขับไปด้วย และเกิดความรู้สึกดีๆ ไปด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นรถที่ผู้ผลิตอวดสรรพคุณว่า ไม่เพียงมีการออกแบบที่ดี และการขับขี่ที่น่าพึงพอใจเท่านั้น ยังนำมาซึ่งคุณค่าใหม่ และความสนุกสนานกับรถยนต์ในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย ที่น่าสนใจมาก คือ เป็นรถเล็กที่พรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยอันก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น ระบบห้ามล้อ DSBII (DUAL SENSOR BRAKE SUPPORT) และระบบตรวจจับอากัปกิริยาของผู้ขับรถ DMS (DRIVER MONITORING SYSTEM)
LEXUS LF-ZC
ยอดผู้ผลิตรถยนต์ระดับ “พรีเมียม” ของญี่ปุ่น นำรถแนวคิดพลังไฟฟ้าล้วนๆ รหัส LF (มาจาก LEXUS FUTURE) ออกอวดตัวแบบ “ครั้งแรกในโลก” 2 คัน LEXUS LF-ZC (เลกซัส แอลเอฟ-เซดซี) ในหน้าซ้ายมือ เป็นแม่แบบของรถเก๋งซีดานสุดหรูที่คาดหมายว่าจะนำออกสู่ตลาดในปี 2026 ตัวถังขนาด 4.750x 1.880x1.390 ม. ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรม NEXT-GENERATION MODULAR EV ARCHITECTURE นวัตกรรมเพื่อใช้กับรถพลังไฟฟ้าที่ต้นสังกัด คือ TOYOTA เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และใช้ได้กับรถหลายขนาด หลายรูปลักษณ์ โดยแบ่งตัวถังรถเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนท้าย ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อกลายสภาพเป็นรถผลิตเพื่อจำหน่ายสมบูรณ์แบบจะมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศที่เยี่ยมยอดมาก คือ ต่ำกว่า 0.20 ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของระบบขับ บอกแต่เพียงว่า เป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่วางแบทเตอรีไว้ตรงกลางรถ และตั้งเป้าว่าเมื่อชาร์จไฟเต็มรถจะวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กม.
LEXUS LF-ZL
รถแนวคิดรหัส LF อีกคันซึ่งปรากฏตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานนี้ คือ LEXUS LF-ZL (เลกซัส แอลเอฟ-เซดแอล) ในหน้าขวามือ เป็นแม่แบบของ LARGE CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็น “รถธง” ของค่ายนี้ในอนาคต ตัวถังขนาดประมาณ 5.300x2.020 x1.700 ม. ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรม NEXT-GENERATION MODULAR EV ARCHITECTURE เหมือนรถซีดาน LEXUS LF-ZC ในหน้าซ้ายมือ ประตูข้างบานหน้าเป็นประตูติดบานพับ แต่บานหลังเป็นประตูเลื่อนคล้ายรถตู้ ประตู 2 บานนี้เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง เป็นเหมือนประตูตู้กับข้าว ห้องโดยสารกว้างขวางโอ่โถง เข้า/ออกสะดวก มีเก้าอี้คู่หลังที่นั่งสบายเหมือนนั่งในเลาจ์น์ เป็นลักษณะการออกแบบที่ผู้ผลิตบอกว่า เหมือนเป็นสถานที่ที่ MOBILITY, PEOPLE AND SOCIETY CAN BE SEAMLESSLY INTEGRATED หรือ “การเคลื่อนที่ มนุษย์ และสังคม รวมเข้าด้วยกันโดยไร้ตะเข็บ”
DAIHATSU OSANPO
DAIHATSU (ไดฮัทสุ) ผู้ผลิตรถยนต์เมืองปลาดิบซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ TOYOTA นำรถแนวคิดออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIEREE หรือ “ครั้งแรกในโลก” รวม 5 คัน ซึ่งคันแรก คือ DAIHATSU OSANPO (ไดฮัทสุ โอซันโป) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเปิดประทุนขนาดมีนี ที่นั่งได้เพียง 2 คน ออกแบบ/พัฒนาเพื่อให้ผู้คนสามารถเพลิดเพลินเจริญใจกับความสะดวกสบายของการขับรถแบบ OPEN-AIR และการใช้ชีวิตประจำวัน ที่การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งไม่จำเป็นต้องกระทำอย่างรีบร้อนนัก ตัวถังเป็นไปตามข้อจำกัดของรถมีนีในญี่ปุ่น คือ มีขนาด 3.395x1.475x1.330 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.440 ม. เป็นตัวถังที่มีจุดเด่นสะดุดตาอยู่หลายจุด รวมทั้งดวงโคมไฟหน้า ไฟเลี้ยวทั้งคู่หน้า/คู่หลัง และกระทะล้อ ส่วนระบบขับไม่มีการระบุข้อมูลทางเทคนิคใดๆ บอกแต่เพียงว่าเป็น A BEV MINI VEHICLE หรือรถขนาดมีนีขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจากแบทเตอรี
DAIHATSU VISION COPEN
คันที่ 2 คือ รถติดป้ายชื่อ DAIHATSU VISION COPEN (ไดฮัทสุ วิชัน โคเพน) ก็เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเปิดประทุนขนาดมีนีที่นั่งได้เพียง 2 คนเช่นกัน ที่ไม่เหมือนกันก็คือ คันนี้มีความเป็นมา และเป็นไปชัดเจน คือ เป็นรถแนวคิดที่อีกไม่นานเกินปีก็คงจะเปลี่ยนฐานะเป็นรถผลิตเพื่อจำหน่าย และเริ่มออกโชว์รูมพร้อมกับป้ายชื่อ DAIHATSU COPEN (ไดฮัทสุ โคเพน) ที่จะแตกต่างจากรถชื่อเดียวกันซึ่งเริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2014 และเป็นรถมีนีในตัวถังขนาด 3.395x1.475x1.280 ม. ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินขนาด 658 ซีซี ก็คือ รถแนวคิดซึ่งเป็นแม่แบบของรถรุ่นใหม่นี้ เพิ่มขนาดตัวถังเป็น 3.835x1.695x1.265 ม. คือ ยาวขึ้นถึง 44 ซม. และกว้างขึ้นถึง 22 ซม. เครื่องยนต์ก็เพิ่มขนาดความจุเป็น 1,300 ซีซี และเปลี่ยนระบบขับจากขับล้อหน้า เป็นขับล้อหลัง ส่วนประทุนหลังคาแบบอ่อน เป็น ACTIVE TOP ROOF ซึ่งเปิด/ปิดด้วยระบบไฟฟ้า และบังคับควบคุมโดยการกดปุ่ม
DAIHATSU ME:MO
คันที่ 3 คือ รถติดป้ายชื่อ DAIHATSU ME:MO (ไดฮัทสุ มี:โม) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถทรง 2 กล่องขนาดเล็กกระจิ๋วหลิว แต่นั่งได้ถึง 4 คน ออก แบบ/พัฒนาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ REDEFINING THE RELATIONSHIP BETWEEN CARS AND PEOPLE หรือ “การกำหนดความหมายใหม่ของสัมพันธภาพระหว่างรถยนต์กับผู้คน” ตัวถังขนาด 2.955x1.475x1590 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 1.985 ม. มีจุดโดดเด่นสะดุดตาอยู่หลายจุด รวมทั้งดวงโคมไฟหน้า และไฟท้ายที่ออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นตัวถังซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งการออกแบบ และกระบวนการผลิต โดยทำชิ้นส่วนตัวถังทั้งภายใน และภายนอกให้มีลักษณะเหมือนๆ กัน อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MODULAR STRUCTURE ส่วนระบบขับไม่มีการระบุรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น บอกอย่างสั้นๆ แต่เพียงว่า เป็น BATTERY ELECTRIC VEHICLE (BEV) หรือรถพลังไฟฟ้าติดตั้งแบทเตอรี
DAIHATSU UNIFORM TRUCK/UNIFORM CARGO
2 คันสุดท้าย คือ DAIHATSU UNIFORM TRUCK (ไดฮัทสุ ยูนิฟอร์ม ทรัค) กับ DAIHATSU UNIFORM CARGO (ไดฮัทสุ ยูนิฟอร์ม คาร์โก) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดมีนี ที่ใช้งานได้ง่ายในงานหลายลักษณะ และในหลายจุดประสงค์ ทั้ง 2 คันซึ่งเป็นรถ 2 ที่นั่ง มีพื้นที่บรรทุกที่ราบเรียบ จึงใช้งาน และทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีชิ้นส่วนทั้งภายนอก และภายในที่สามารถถอดออกได้ จึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวถังได้ง่ายด้วย ทั้ง 2 คันมีตัวถังขนาดเท่ากัน คือ ยาว 3.395 ม. และกว้าง 1.475 ม. แต่ DAIHATSU UNIFORM TRUCK คันที่เห็นในภาพสูง 1.885 ม. ส่วน DAIHATSU UNIFORM CARGO สูง 1.920 ม. เป็น BEV (BATTERY ELECTRICAL VEHICLE) หรือรถพลังไฟฟ้าติดตั้งแบทเตอรี ซึ่งสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์ต่างๆ ได้ กรณีใช้รถเป็น MOBILE SHOP หรือร้านค้าเคลื่อนที่ เหมือนคันที่เห็นในภาพ
SONY HONDA AFEELA PROTOTYPE
เป็นผลงานของบริษัท SONY HONDA MOBILITY INC. ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2022 เพื่อผลิต และจำหน่ายรถพลังไฟฟ้า และเป็นต้นแบบของรถเก๋งซีดานขนาดกลาง ที่ในฤดูใบไม้ผลิปี 2026 จะเริ่มการจำหน่ายในตลาดอเมริกาเหนือ โดยติดป้ายชื่อ SONY HONDA AFEELA PROTOTYPE (โซนี ฮอนดา อฟีลา พโรโทไทพ์) เปิดตัวที่งาน CES (CONSUMER ELECTRONICS SHOW) หรือมหกรรมสินค้าอีเลคทรอนิคเพื่อผู้บริโภค ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม 2023 แต่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ ตัวถังขนาด 4.895x1.900x1.460 ม. ติดตั้งระบบขับเคลื่อนทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางเทคนิคใดๆ ทราบกันแต่เพียงว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างไฮเทค และให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับระบบความมั่นคง และปลอดภัย มีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพ และเซนเซอร์รวม 45 ชุด รวมทั้งมี LEVEL 3 AUTONOMOUS DRIVING หรือระบบขับด้วยตัวเองระดับ 3
BYD YANGWANG U8
ผู้ผลิตรถยนต์เมืองมังกรซึ่งกำลังโด่งดัง และเป็นที่ครั่นคร้ามในเรื่องรถพลังไฟฟ้า นำรถใหม่ออกแสดงในงานนี้หลายคัน ซึ่งคันที่เลือกมาให้ชมกัน คือ BYD YANGWANG U8 (บีวายดี หยางหว่าง ยู 8) เป็น FULL-SIZE LUXURY SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งระดับหรูขนาดโตเต็มพิกัด ในตัวถังทรง 2 กล่องขนาด 5.319x2.050x1.930 ม. เปิดตัวที่งานมหกรรมยานยนต์กวางโจว เมื่อเดือนมกราคม 2023 และเริ่มการจำหน่ายกลางเดือนเมษายนปีเดียวกัน เป็นรถพลังไฟฟ้าที่มีระบบขับให้เลือกหลายแบบ คือ มีทั้งรถขับเคลื่อนทุกล้อที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชุดเดียวทำงานร่วมกับเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 2.0 ลิตร รถขับทุกล้อพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด และไฮเทคที่สุด คือ รถขับทุกล้อพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด แต่ละชุดขับล้อแต่ละล้อ ให้กำลังรวมสูงสุดที่สูงถึง 808 กิโลวัตต์/1,099 แรงม้า และที่ยอดเยี่ยมมากก็คือ มีระบบขับทุกล้อที่ทำงานได้เร็วเป็น 100 เท่าของระบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
HWE PUZZLE
HWE PUZZLE (เอชดับเบิลยูอี พัสเซิล) ผลงานของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น HW ELECTRO COMPANY LIMITED ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2020 เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นแม่แบบของรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดมีนีที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในฤดูใบไม้ผลิปี 2025 ตัวถังซึ่งมีขนาดตามข้อกำหนดของรถมีนีเมืองปลาดิบ คือ 3.395x1.475x1.918 ม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.476 ม. ออกแบบโดยเน้นพื้นที่บรรทุก จึงติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งเพียงแถวเดียว ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของระบบขับ แต่ให้ข้อมูลว่า เป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่สามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้านอกตัวรถได้ในกรณีฉุกเฉิน สามารถทำหน้าที่เป็นจุดให้บริการ WI-FI สาธารณะ รวมทั้งเป็นแหล่งป้อนกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กกรณีเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ อีกต่างหาก ตัวรถออกแบบอย่างง่ายๆ และเน้นเนื้อที่ใช้สอย มีผนังด้านข้างเป็นแผ่นเรียบตั้งแต่หน้ารถจรดท้ายรถ และมีประตูข้างเป็นประตูติดบานพับที่เปิดแยกจากกันโดยมีเสาค้ำยันกลาง
IAT T MAD CONCEPT
IAT T MAD CONCEPT (ไอเอที ที แมด คอนเซพท์) ผลงานชิ้นโบว์แดงของบริษัท IAT AUTOMOTIVE TECHNOLOGY INC. ผู้ชำนาญการให้คำปรึกษาด้านออกแบบ และพัฒนายานยนต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพิคอัพขนาดยักษ์ หน้าตาดิบๆ เถื่อนๆ สไตล์เดียวกันกับรถ GMC HUMMER EV PICKUP (จีเอมซี ฮัมเมอร์ อีวี พิคอัพ) ของยักษ์ใหญ่เมืองมะกัน ปรากฏตัวครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์กวางโจว เมื่อตอนต้นปี และฉายซ้ำอีกครั้งที่งานนี้ ห้องโดยสาร 4 ประตู 5 ที่นั่ง ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งในลักษณะที่ไม่เหมือนกับรถคันใดในโลก คือ 1+2+2 เฉพาะเก้าอี้ตัวหน้าสามารถหมุนได้ 180 องศา เก้าอี้แถว 2 หมุนได้ 90 องศา ส่วนแถว 3 เป็นเก้าอี้แบบม้ายาว ระบบขับใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด โดยชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดหนึ่งขับล้อคู่หลัง ได้กำลังสูงสุด 600 กิโลวัตต์/805 แรงม้า และส่งกำลังสู่ล้อซึ่งมีขนาดโตถึง 38 นิ้ว ผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติจังหวะเดียว
THK LSR-05
THK LSR-05 (ทีเอชเค แอลเอสอาร์-05) ผลงานของบริษัท THK COMPANY LIMITED ผู้ชำนาญการด้านชิ้นส่วนยานยนต์ของแดนซากุระ เป็นรถแนวคิดที่ทำขึ้นเพื่อแสดงชิ้นส่วนที่จะนำไปใช้ได้ในรถพลังไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น ระบบ STEALTH SEAT-SLIDE SYSTEM (SLES) ซึ่งยึดติดเก้าอี้ที่นั่งกับพื้น และช่วยให้สามารถเลื่อนหน้าเลื่อนหลังได้มากแม้อยู่ที่จำกัด ระบบ ACTIVE LEVEL CONTROL SUSPENSION (ALCS) ซึ่งช่วยให้สามารถปรับความสูงของรถให้สอดรับกับสภาพความขรุขระของพื้นถนน ระบบ VARIABLE MAGNETIC FLUX IN-WHEEL MOTOR (ENEMO) ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นเมื่อแยกการทำงานของล้อด้านขวา ล้อด้านซ้าย ในกรณีติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าไว้ที่ล้อ ระบบ ELECTRIC SERVICE BRAKE (ESB) ซึ่งเป็นการใช้ระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงานของห้ามล้อแต่ละล้ออย่างเป็นอิสระต่อกัน และระบบ CONTACTLESS POWER SUPPLY (CLPS) ซึ่งเป็นระบบส่งกำลังที่ไร้การสัมผัส
AIM EV SPORT 01
AIM COMPANY LIMITED บริษัทรถยนต์ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในเมือง NAGOYA (นาโกยา) ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถใหม่ 2 คัน โดยคันแรกในภาพซ้ายมือ คือ รถติดป้ายชื่อ AIM EV SPORT 01 (เอไอเอม อีวี สปอร์ท 01) เป็นรถสปอร์ทคูเปประตูปีกนก ซึ่งขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ตัวถังขนาด 3.945x1.893x1.220 ม. ซึ่งนั่งได้เพียง 2 คน มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.29 มีน้ำหนักรถพร้อมขับ 1,425 กก. และมีรูปทรงองค์เอวที่เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากรถสปอร์ทยุคทศวรรษแห่งปี 1960 คือ หน้ายาวท้ายสั้น ติดตั้งระบบขับซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ให้กำลังรวมสูงสุด 360 กิโลวัตต์/490 แรงม้า และให้แรงบิดสูงสุด 740 นิวตันเมตร/75.5 กก.-ม. สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ในเวลาแค่ 3.1 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 300 กม./ชม. ไม่มีการระบุประเภท และขนาดความจุของแบทเตอรี แต่บอกว่า เมื่อชาร์จไฟเต็มรถจะวิ่งได้ไกล 320 กม.
AIM EV MICRO 01
งานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของ AIM COMPANY LIMITED คือ รถติดป้ายชื่อ AIM EV MICRO 01 (เอไอเอม อีวี ไมโคร 01) ผลงานที่ค่ายนี้ร่วมกันทำกับเมือง KUMEJIMA (คูเมะจิมา) ซึ่งประกาศไปแล้วว่า ภายในปี 2050 จะมีสภาพเป็น DECARBONIZING CITY หรือเมืองที่ปลอดคาร์บอน ออกแบบ/พัฒนาเพื่อใช้งานในเกาะที่อยู่โดดเดี่ยว และมีแต่ถนนแคบๆ ไร้ถนนความเร็วสูง จึงตั้งเป้าหมายให้ทำความเร็วสูงสุดแค่ 60 กม./ชม. และชาร์จไฟแต่ละครั้งวิ่งได้ไกล 120 กม. เป็นรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ยาว 2.50 ม. และกว้าง 1.30 ม. ที่นั่งได้เพียง 2 คน จะมีตัวถังให้เลือก 2 แบบ คือ แบบมีหลังคา กับแบบเปิดประทุน และจะมีแบทเตอรีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบติดตั้งถาวร กับแบบสับเปลี่ยนได้ เป็นรถขนาดกระจิ๋วหลิวที่สามารถใช้งานได้ 3 ลักษณะ คือ เป็น DAILY TRANSPORTATION หรือรถส่วนตัวเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็น RENTAL CAR หรือรถให้เช่า และเป็น SHARED CAR หรือรถแบ่งกันใช้
FOMM TWO CONCEPT
FOMM (ฟอมม์) บริษัทผู้ผลิตรถพลังไฟฟ้าขนาดจิ๋วซึ่งมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทย อวดผลงานรถแนวคิด 2 คัน โดยคันแรก คือ รถติดป้ายชื่อ FOMM TWO CONCEPT (ฟอมม์ ทู คอนเซพท์) ในภาพซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ขนาดมีนี ที่นั่งได้ถึง 4 คน ตัวถังขนาด 3.395x1.475x1.890 ม. มีน้ำหนักรถเปล่าแค่ 900 กก. และบรรทุกน้ำหนักได้ 200 กก. ติดตั้งระบบขับล้อหน้า ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 กิโลวัตต์/20 แรงม้า จำนวน 2 ชุด เป็น IN-WHEEL MOTOR คือ แต่ละชุดติดตั้งอยู่กับแต่ละล้อ มี ALL-WHEEL STEERING SYSTEM หรือระบบบังคับเลี้ยวทุกล้อ และมีรัศมีวงเลี้ยวแคบสุดที่สั้นเพียง 1.8 ม. สามารถทำความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. และวิ่งได้ไกล 100 กม. เมื่อชาร์จไฟเต็ม ที่น่าสนใจมากสำหรับเมืองไทยของเราที่มีปัญหาฝนตกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ คือ มี WATERPROOF STRUCTURE หรือโครงสร้างป้องกันน้ำ ที่ทำงานได้นานถึง 24 ชม.
FOMM AWD SPORTS CONCEPT
ปิดรายงาน มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2023 ด้วยผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของค่าย FOMM (ฟอมม์) คือ รถติดป้ายชื่อ FOMM AWD SPORTS CONCEPT (ฟอมม์ เอดับเบิลยูดี สปอร์ทส์ คอนเซพท์) ในภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถปอร์ท 2 ที่นั่งขนาดมีนี ที่ปลอดไอเสียเพราะไร้เครื่องยนต์ ตัวถังขนาด 3.300x1.490x1.225 ม. ซึ่งหนักเพียง 800 กก. และสามารถบรรทุกน้ำหนัก 350 กก. ติดตั้งระบบขับเคลื่อนทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วน ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 กิโลวัตต์/7 แรงม้า จำนวน 4 ชุด ติดตั้งแบบ IN-WHEEL คือ แต่ละชุดติดตั้งอยู่กับแต่ละล้อ ได้กำลังรวมสูงสุด 20 กิโลวัตต์/27 แรงม้า และใช้แบทเตอรีขนาด 118.4 โวลท์ 11.84 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งระบบรองรับ (กันสะเทือน) แบบอิสระ DOUBLE WISHBONE หรือปีกนก 2 ชั้น ทั้งหน้า และหลัง บังคับเลี้ยวล้อหน้า และมีรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 3.8 ม. ที่น่าสงสัยมากก็คือ ป้ายระบุข้อมูลจำเพาะที่ตั้งอยู่ข้างรถ ระบุว่า ทำความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.