เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -8.8 %
รถยนต์นั่ง +13.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +124.3 %
กระบะ 1 ตัน -35.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -34.0 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ตุลาคม 2023/2022
ตลาดโดยรวม -7.5 %
รถยนต์นั่ง +9.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +38.3 %
กระบะ 1 ตัน -25.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -7.0 %
เริ่มต้นปีแห่งความหวังกันอีกครั้งสำหรับตลาดรถยนต์ สิ้นปีที่แล้วมีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์เมืองไทย ที่ปริมาณความต้องการรวมของรถชะลอตัวลงอย่างมาก เกินกว่าที่คาดการณ์ และตั้งใจไว้ ทั้งๆ ที่มีรถรุ่นใหม่เปิดตัวกันคับคั่ง
เราคาดกันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นโยบาย และสิ่งต่างๆ ที่ตามมา จะเกิดความชัดเจน และภาคธุรกิจก็ต่อยอดกันไปได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ กลับโชว์ร่วงสวนทาง อย่าลืมนะครับว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยนั้นใหญ่มาก เป็นดัชนีที่ชี้วัดความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
อดีตนั้นหากตลาดชะลอเช่นนี้ ภาคการเมืองนี่เก้าอี้ร้อนเลย แต่รัฐบาลปัจจุบันเหมือนไม่สามารถจับสัญญาณได้ว่า นี่คือ "สัญญาณ" ไม่ดีนัก สำหรับการเริ่มต้นปีใหม่ 2567
ต้นปีใหม่ทุกอย่างเงียบเป็นปกติ เพราะไตรมาสแรกของปี ไม่ใช่ช่วงฤดูขายของรถยนต์ เนื่องจากลูกค้าเพิ่งจ่ายฉลองปีใหม่กันไป บางคนออกรถในงานมหกรรมยานยนต์ ปลายปีที่แล้ว เริ่มผ่อนกันเดือนมกราคมปีนี้ จึงไม่มีเม็ดเงินพร้อมซื้อคันใหม่อีก
ประกอบกับเดือนแรกก็มักใช้วันหยุดยาวกัน ระยะเวลาเปิดทำการของโชว์รูมก็เลยสั้น ยอดขายรถเดือนมกราคมของทุกปี จึงมีตัวเลขต่ำสุด โน่นละ ตลาดรถจะไปไหลลื่นกันปลายเดือนมีนาคม-ต้นไตรมาสที่ 2
ภาวะตลาดปี 2566 ที่ผ่านมามีอุปสรรคเล็กน้อย ตลาดรถไทยจึงตกหลุม ติดหล่ม กลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะ 1 ตันนั้นร่วงไปก้นหลุมเลย
ตลาดนี้ หมายถึง ปากท้องของพ่อค้าแม่ค้า ร้านขนาดเล็ก ขนส่งขนาดเล็ก เจ้าของธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้มีสายป่านไม่ยาวไกลนัก เรียกว่าหากมีอะไรกระทบหน่อยเดียว ผลร้ายจะแสดงในทันที
ส่วนตลาดรถเก๋ง หรือรถยนต์นั่งทั่วไป ชะลอตัวเล็กน้อย แต่หากไปดูเนื้อในแล้วจะพบว่า รถเก๋งพรีเมียมที่ได้อิทธิพลจากภาษีไฮบริด (HEV, PHEV) ที่ช่วยลดภาระภาษีลง และทำราคาได้ถูก กับรถยนต์พลังงานใหม่ (BEV) ซึ่งรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุน สูงสุด 1.5 แสนบาท/คันนั้น ยังเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดเสียเป็นส่วนใหญ่
เวลานี้ประชากรยานยนต์ไฟฟ้า 100 % (BEV) มียอดจดทะเบียนสะสม มากกว่า 109,488 คัน (ตค. 66) มีอัตราเติบโตเกิน 300 % ตัวเลขประชากรนั้นน่าสนใจ แต่อัตราเติบโตนั้นอย่าไปให้ความสำคัญ เพราะโตจากฐานที่ไม่มี หรือต่ำติดศูนย์เลย
ค่ายที่กลายเป็นผู้นำตลาด คือ BYD (บีวายดี) มาทีหลังแต่แซงหน้าทุกคนกับค่าย MG (เอมจี) หากไม่มีรถพลังงานใหม่มาดันตลาด วงการค้ารถเก๋งก็ลำบาก เพราะตัวเลขค่ายเก๋งที่ไม่มีรถพลังงานใหม่นั้น ลดลงติดลบเกือบทุกค่าย
ปี 2567 การคาดการณ์ตัวเลขอย่างเป็นทางการขณะผมปั่นต้นฉบับอยู่นี้ ผู้ประเมินความต้องการของตลาดอย่าง กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังไม่มีการประเมินตัวเลขออกมา แต่จากประสบการณ์ ผมเชื่อว่า ยอดขายรถปีนี้ ไม่น่าเกินยอดที่ทำได้ในปี 2566 คือ ทำเท่าเดิมให้ได้ก่อน เพราะดูแล้วตลาดยังหาปัจจัยบวกที่สวยงามไม่เจอเลย นอกเสียจากผลิตภัณฑ์ใหม่หลากหลายรุ่นของค่ายรถยนต์รายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อปลายปีที่แล้ว
อดีต การประเมินความต้องการของตลาดรถยนต์ ประเมินง่ายครับ คือ ให้ดู GDP หากว่ารัฐบาลประกาศไว้เท่าไร เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่ม 5 % ตลาดรถยนต์ต้องเติบโต 5 % เป็นอย่างน้อย ยุคไหนที่บ้านเมืองดี เศรษฐกิจโลกดี ปีนั้นจะโต 10-15 %
แต่หากยุคไหนตลาดไม่มีปัจจัยบวกเลย มันก็ยังล้อไปกับ GDP เว้นแต่มีคนไปบิดเบือนจากโครงการแปลก เช่น ปรับภาษีเพิ่มขึ้น, ลดภาษีลง หรือมีอะไรมาทำให้ราคาปกติลดลงอย่างโครงการรถคันแรก ทุกอย่างที่เคยใช้ชี้วัด มันเพี้ยนไป
กรณีภาวะไม่ปกติ ตัวเลขการขายก็ผันผวนไปตามปัจจัย เช่น การส่งออกมีปัญหาจากสงคราม พืชผลการเกษตรภายในประเทศไม่ดีจากภัยแล้ง ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง หนี้เสียเยอะ หนี้ครัวเรือนสูง ไฟแนนศ์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ การท่องเที่ยว และรายได้ภาคบริการลดลง อย่างเช่น ช่วงโรคระบาด หรือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งปี 2567 ปัจจัยลบที่กล่าวมานี้มาชุมนุมกับพร้อมเพรียงเลย
ปีใหม่ทุกครั้ง ผมมองอนาคต บางปีดีๆ ยกให้เป็นปีทอง แต่ปีนี้จะเป็นปีทอง หรือจะเป็นปีที่ต้องเอาของเก่าที่เก็บหอมรอมริบมาขาย คงต้องดูกันไปอีกสักระยะครับ