เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -9.8 %
รถยนต์นั่ง +21.2 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +41.8 %
กระบะ 1 ตัน -39.1 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -2.3 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2023/2022
ตลาดโดยรวม -7.7 %
รถยนต์นั่ง +10.8 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +38.6 %
กระบะ 1 ตัน -26.9 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -6.5 %
ทุกๆ ต้นปี หลายคนก็คาดหวังว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์แต่ละปีต้องเติบโตขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาบรรยากาศดีคึกคัก แต่ทำไมยอดขายค่อนข้างฟืด ดูตัวเลขปิดยอดก็คงเห็นว่าขณะที่ตลาดปี 2566 มีผู้เล่นรายใหม่คึกคัก เซกเมนท์ใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น รถรุ่นใหม่ก็มี แต่กว่าที่บริษัทรถยนต์จะปิดตัวเลขได้ เล่นเอาเหนื่อยหอบ เราคงเห็นแล้วว่าสภาพตลาดจริงเหนื่อยยากแค่ไหน ตลาดที่เติบโต คือ ตลาดรถยนต์นั่งที่มีรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่เป็นกลจักรในการผลักดัน ส่วนตลาดที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ คือ บรรดารถกระบะ รถบรรทุกพากันเดินอืด และดัชนีแบบนี้จะส่งผลอย่างชัดเจนในปี 2567
เศรษฐกิจของเราในภาพใหญ่นั้น เวลาลงก็จะลงช้าๆ คนทั่วไปก็ค่อยๆ รู้สึกเวลาดัชนีสำคัญๆ ที่ชี้วัดเศรษฐกิจขาลงแสดงออกมาก่อน จากนั้นผลของการถดถอยจะเห็นเป็นรูปธรรมในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์นั้น เป็นดัชนีที่ใช้ชี้วัดความเป็นไปของเศรษฐกิจได้ค่อนข้างใกล้เคียง ก็เตรียมรับมือกันไว้ครับ
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการรถยนต์ ยังตั้งความหวังถึงตัวเลขการเติบโตของตลาดรถยนต์ในปีนี้ไว้ในเชิงบวก เบื้องต้นก่อนได้ตัวเลข คาดการณ์การส่งออก 1,100,000 คัน เท่ากับยอดส่งออกปี 2566 ส่วนตัวเลขการขายในประเทศ คาดว่าน่าจะได้ 800,000-820,000 คัน มากกว่าปี 2566 เช่นกัน ซึ่งอุตสาหกรรมก็จะมีการปรับกลางปีอีกที
ตัวแปรสำคัญในปี 2567 ที่จะทำให้รถยนต์บางค่ายไม่ได้ไปต่อในบางรุ่น ซึ่งก็น่าสนใจ เพราะว่าหากไปกระทบกับบรรดารถตัวแม่เหล็ก ก็น่าจะทำให้เกิดการหยุดการผลิต นั่นคือ กติกาการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย
ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล ซึ่งจริงๆ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และกำลังตามมาด้วยแผนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับรถยนต์ใหม่ โดยส่วนนี้รถยนต์นั่ง รถอื่นๆ (ยกเว้นรถไฟฟ้า) ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง
ทีนี้เป็นปกติที่ว่า เมื่อไหร่ที่มีการออกมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ประกอบการรถยนต์ต้องมีความพร้อม และต้องวางแผนการผลิตรถยนต์ตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีการต่อรอง หาจุดตัวที่เหมาะสมไปได้ด้วยกัน ทั้งผู้ขาย ผู้ผลิต ตามอย่างที่เรียนว่า หากรุ่นไหนไม่พร้อมก็มีผลต่อการผลิต ทั้งนี้ค่ายรถส่วนใหญ่ทราบกรอบเวลานี้ เพราะกติกาของไทยในเรื่องมลพิษเข้มงวด สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ที่มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด บางครั้งเข้มมากเกินมาตรฐานที่ไทยเรานำมาอ้างอิงเสียอีก
ค่ายรถที่ต้องปรับใหญ่ คือ บรรดารถกระบะดีเซล หรือรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการขับเคลื่อน กระทรวงการคลังบอกว่า รถกระบะดีเซลที่มีค่า PM ไม่เกิน 0.005 กรัม/กิโลเมตร (เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5) จะได้ลดภาษีสรรพสามิต แปลอีกทางหนึ่ง คือ หากทำไม่ได้ ราคารถกระบะยี่ห้อนั้นจะสูงขึ้น ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวไปทั่วโลก และทิศทางของผู้บริโภคไทยก็ไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนใครที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ไม่ว่ารถเก๋ง รถกระบะ กำลังลดบทบาท ด้วยแรงกดดันทางด้านมลพิษ ถือเป็นอีกโอกาสของรถยนต์ไฟฟ้า
แว่วมาว่า “บางค่ายหยุดพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล” ใช้ของเดิมที่มีอยู่ หากกติกาเรื่องมลพิษเข้มงวดมาก ก็ใช้วิธีหยุดขายเครื่องยนต์ดีเซล เพราะลงทุนพัฒนาต่อต้นทุนสูงอาจไม่คุ้ม สู้ไปหาขุมพลังงานใหม่มาทดแทนมีความเป็นไปได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ภาวะเช่นนี้เป็นแค่ในประเทศที่เข้มงวดเรื่องมลพิษจากรถยนต์ใหม่ อย่างไทย และยุโรป ส่วนในทวีปอื่นๆ ที่ยังไม่เข้มงวดเท่า เช่น แอฟริกา, อเมริกาใต้ ที่ยังต้องการรถยนต์ราคาประหยัด และใช้งานหนักได้ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประเทศเหล่านั้นเรายังส่งรถไปขายได้ ดังนั้นใครที่ไม่ไปต่อในบ้านเราก็ไม่ได้หมายความว่า “หยุดขาย” ที่อื่นไปด้วย
ก่อนหน้านี้ ในยุโรปบรรดาค่ายรถต่างๆ ก็บอกว่าจะถอดเครื่องยนต์ดีเซลออกจากตลาด แล้วหันไปใช้เครื่องยนต์ไฮบริด กำหนดวันเวลากันไว้แล้ว โดย HONDA (ฮอนดา), TOYOTA (โตโยตา), NISSAN (นิสสัน) และ RENAULT (เรอโนลต์) นำร่องเรื่องนี้ไปแล้ว ลองไปค้นกันดูว่ามีเครื่องยนต์ตัวไหนบ้างที่หยุดทำตลาดในยุโรป ซึ่งเครื่องยนต์บลอคนั้นๆ หากมีอยู่ในบ้านเรา ก็มีผลต่อตลาดไทยด้วย
เอาละครับ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ยังเป็นเดือนที่น่าตื่นเต้นอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น HONDA พร้อมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นค่ายรถญี่ปุ่นรายแรก ที่ขึ้นสายการประกอบรถ BEV ในบ้านเรา (CKD) แม้พี่ใหญ่อย่าง TOYOTA และพรรคพวก มีท่าทีไม่เอา BEV แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่จาก HONDA จะสร้างเกมเชนจ์ กอบกู้ศักดิ์ศรีค่ายรถญี่ปุ่น ติดตามกันครับ