เป็นไปตามคาดการณ์ว่า ยอดจดทะเบียนรถใหม่ป้ายแดง ในหมวดยานยนต์ไฟฟ้า มียอดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากกระแสตอบรับของคนไทยที่พุ่งเป้าไปจับจองเลือกซื้อกันอย่างคึกคัก สรุปตัวเลขปี 2566 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย รวบรวมข้อมูลเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ปรากฏว่า ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV โตแบบก้าวกระโดด ยอดจดทะเบียนในปี 2565 จำนวน 20,816 คัน ปี 2566 จำนวน 100,219 คัน โตขึ้น 380 % แซงหน้า HEV !
เจาะลึกรายละเอียดเพิ่มเติม จะพบว่า กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า BEV ที่มียอดจดทะเบียนใหม่ ได้แก่ รถยนต์มีจำนวน 76,366 คัน รถจักรยานยนต์ 21,927 คัน รถสามล้อ 432 คัน รถบัสโดยสาร 1,218 คัน และรถบรรทุก 276 คัน
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV ปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถใหม่ จำนวน 85,069 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 84,476 คัน รถจักรยานยนต์ 593 คัน รถสามล้อ, รถบัสโดยสาร และรถบรรทุก ไม่มียอดจดทะเบียน
และยานยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV ปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถใหม่ จำนวน 11,703 คัน ซึ่งในประเทภ PHEV จะเป็นการจดทะเบียนเฉพาะรถยนต์เท่านั้น รถประเภทอื่นๆ เช่น รถจักรยานยนต์, รถสามล้อ, รถบัสโดยสาร และรถบรรทุก ไม่มียอดจดทะเบียนปรากฏให้เห็น
เมื่อเราดูยอดจดทะเบียนรถใหม่ของกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทแล้ว มันสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็น และพฤติกรรมคนไทยที่มีต่อยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 1,000 คนทั่วประเทศ ในเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ของ GWM (เกรท วอลล์ มอเตอร์) จับมือกับนิด้า โพล มีข้อมูลน่าสนใจหลายเรื่อง อาทิ คนไทยให้ความสนใจกับรถ BEV มากถึง 64.8 % ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปี 2565 อย่างมีนัยสำคัญถึง 37.5 % ตามด้วยรถ HEV ที่ 22.2 % และรถ PHEV 13.0 %
โดยผลสำรวจระบุว่า คนไทยพิจารณาราคาค่าชาร์จไฟที่ถูกกว่าราคาน้ำมัน มากถึง 34.1 % และให้ความสำคัญในเรื่องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 18.9 % ปัจจัยเหล่านี้เป็นผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถ EV เป็นหลัก
รายละเอียดของผลสำรวจ ยังแยกย่อยอีกว่า มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ EV จำนวน 200 คน และกลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาป 800 คน ในช่วงอายุระหว่าง 30-60 ปี
กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ EV เผยให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อรถ EV พวกเขาพิจารณาจากค่าชาร์จไฟฟ้าที่ถูกกว่าราคาน้ำมันเป็นหลัก รองลงมาคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การออกแบบตัวรถที่สวยงาม ทันสมัย และมีความปลอดภัยสูง
ส่วนกลุ่มผู้ใช้รถยนต์สันดาปนั้น สัดส่วนมากถึง 81.3 % สนใจที่จะเลือกซื้อรถ EV มาใช้ในอนาคต เนื่องจากประหยัดพลังงาน 89.4 % เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 72.3 % และมีเทคโนโลยีทันสมัย 49.9 % โดยรูปแบบของรถ EV ที่อยากเป็นเจ้าของมากที่สุด คือ รถซีดาน 63.6 % รถเอสยูวี 27.8 % รถกระบะ 5.1 % และรถอเนกประสงค์ PPV 3.5 % ซึ่งส่วนใหญ่มีแผนที่จะซื้อรถในอีก 3-4 ปีข้างหน้า และคาดหวังว่ารถ EV ที่จะซื้อ ต้องมีระยะทางการขับขี่ 501-600 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนราคากลุ่มนี้ตั้งราคาไม่เกิน 700,000-900,000 บาท
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนของภาครัฐว่า นอกจากมาตรการส่วนลดด้านภาษี และเงินอุดหนุนแล้ว รัฐควรสนับสนุนการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า (ปัจจุบันมีประมาณ 2,222 แห่งทั่วประเทศ) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องการมากที่สุด 34.0 % ตามด้วยการสนับสนุนค่าไฟฟ้า 28.0 % และสนับสนุนค่าบำรุงรักษารถยนต์ 18.0 %
เรามียอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังไม่มีใครพูดถึงราคาแบทเตอรี ที่จะต้องเปลี่ยนในเวลาที่อายุรถถึงเกณฑ์ต้องเปลี่ยนแบทเตอรี ยังไม่พูดถึงการทำลายซากแบทเตอรี และซากรถ EV ที่หมดสภาพ รวมถึงราคาขายรถใหม่ และรถเก่า ที่กระทบตลาดรถสันดาปป้ายแดง และตลาดรถมือสอง !
ตรงนี้เป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคแต่ละท่าน อย่างที่ผมบอกเสมอว่า ใครสะดวก ใครมีความพร้อมในการเลือกใช้รถ EV เชิญตามอัธยาศัย ส่วนใครยังไม่พร้อม รอดูเชิงไปพลางๆ ก่อนครับ...