SKILL DRIVING EXPERIENCE: ขับเป็น...ขับปลอดภัย กับ สื่อสากล จุดเด่นหลักสูตรการฝึกทักษะการขับขี่ที่เข้มข้น พร้อมรถยนต์ที่ใช้ในกิจกรรมที่หลากหลาย โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากค่ายรถ BYD (บีวายดี) MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) และ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) กับหลากหลายรูปแบบตัวถัง และระบบขับเคลื่อน ได้แก่ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า เมื่อความหลากหลายของรูปแบบการส่งกำลังที่ส่งผลต่อการบังคับควบคุมรถ
สถานี EMERGENCY LANE CHANGE และ ELK TEST
รถที่ใช้ฝึกอบรม : แบบขับเคลื่อนล้อหน้าของ BYD
รถที่ใช้ฝึกสอน คือ BYD ATTO 3 (อัตโต 3) และ DOLPHIN (ดอลฟิน) กับสถานี EMERGENCY LANE CHANGE คือ การฝึกวิธีการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในระยะกระชั้นชิดด้วยการหักเลี้ยวอย่างรวดเร็ว ดังนี้แล้ว ตำแหน่งเบาะนั่งที่เหมาะสม ตลอดจนการจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง มีความจำเป็นมาก แม้ช่องว่างของการหักเลี้ยวรถจะค่อนข้างแคบ แต่ผู้ฝึกอบรมสามารถแล่นผ่านไปได้ แม้ใช้ความเร็วค่อนข้างมาก (40-60 กม./ชม.) เป็นอีกทักษะการขับขี่ที่มีประโยชน์ไม่น้อย ต่อด้วย ELK TEST หรือการหลบหลีกสิ่งกีดขวางบนถนนในระยะกระชั้นชิด (เช่น สัตว์ใหญ่ หรือวัตถุขนาดใหญ่) เป็นการหักเลี้ยว 2 ครั้งต่อเนื่องกัน สลับซ้าย/ขวา จำลองสถานการณ์การหลบสิ่งกีดขวาง และหักเลี้ยวกลับมายังเลนเดิม สำหรับถนนที่เป็นเลนสวนทาง การควบคุมพวงมาลัย และสายตาที่มองไปยังจุดปลอดภัยแต่ละตำแหน่ง ช่วยให้ผู้ขับหลบสิ่งกีดขวางได้ทันท่วงที และหักเลี้ยวต่อเนื่องได้อย่างมั่นคง แม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแต่การบังคับควบคุมสามารถใช้หลักการเดียวกันกับรถยนต์สันดาป
สถานี EMEGENCY BRAKING และ UNDERSTEERING
รถที่ใช้ฝึกอบรม : แบบขับเคลื่อนล้อหน้าของ MERCEDES-BENZ
รถที่ใช้ฝึกสอน คือ MERCEDES-BENZ A 200 (เอ 200) และ GLA 200 AMG DYNAMIC (จีแอลเอ 200 เอเอมจี ไดนามิค) สถานีนี้ คือ EMEGERNCY BRAKING กับการกดแป้นเบรคอย่างรวดเร็ว และหนักแน่นจนกระทั่งระบบ ABS ทำงาน นอกจากนี้ ผู้ฝึกอบรมจะเบรคที่ความเร็วแตกต่างกัน เพื่อรับรู้ระยะเบรคที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงความสำคัญของเวลาจากการตอบสนองของผู้ขับจากการพบเจอสิ่งกีดขวาง และทำการกดแป้นเบรคลงไป แม้เป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ใช้ระยะทางหลาย ม. แล้ว การมีสติขณะขับรถเป็นสิ่งที่ควรตระหนักให้ดี ต่อกันด้วย UNDERSTEERING หรือที่คุ้นเคยกับคำว่าอาการ “แหกโค้ง” ตัวรถจะหักเลี้ยวน้อยกว่าที่ต้องการ จากการใช้ความเร็วสูงเกินระดับที่ล้อคู่หน้าจะยึดเกาะถนนได้ ตามปกติความเคยชินของผู้ขับบางคนจะพยายามหักเลี้ยวมากขึ้น แต่ความจริงแล้ว อาการ UNDERSTEERING จะยิ่งเกิดมากขึ้นแทน การแก้ไข คือ รีบลดความเร็วลงมาด้วยการยกคันเร่ง หรือทำการเบรคเบาๆ (ป้องกันรถไม่ให้เกิดอาการสะบัดในโค้ง) จนกระทั่งล้อคู่หน้ามีการยึดเกาะถนนอีกครั้ง สามารถควบคุมทิศทางได้ตามต้องการ อาการของตัวรถลักษณะนี้มักเจอได้บ่อยกว่ารูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ล้อหลัง หรือ 4 ล้อก็ตาม
สถานี OVERSTEERING
รถที่ใช้ฝึกอบรม : แบบขับเคลื่อนล้อหลังของ MITSUBISHI
รถที่ใช้ฝึกสอน คือ MITSUBISHI TRITON (ทไรทัน) การฝึกอบรมสถานี OVERSTEERING จำลองสถานการณ์รถยนต์เกิดอาการ “ท้ายปัด” หรือหมุนในทางโค้ง จากการสูญเสียการยึดเกาะถนนของล้อคู่หลังขณะเข้าโค้ง โดยครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถานีให้มีความคล้ายคลึงกับการเลี้ยวกลับรถในมุมแคบ แล้วผู้ขับทำการกดคันเร่งขณะทำการเลี้ยว ทำให้เกิดอาการท้ายปัดเช่นกัน การแก้ไขสถานการณ์ต้องอาศัยการหักเลี้ยวไปในทิศทางตรงกันข้ามที่ทันท่วงที ผนวกกับการชะลอความเร็วโดยการยกคันเร่ง ทันที่รถออกอาการท้ายปัดบนพื้นผิวเปียกน้ำของสถานีนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจะได้สัมผัสการหมุนของตัวรถด้วยตนเอง รวมถึงการฝึกจับอาการท้ายปัด และแก้ไขอย่างทันท่วงที
ขอขอบคุณผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ดังต่อไปนี้
1. บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
2. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด
4. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
5. กลุ่ม บริษัท ดีสโตน
6. บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
สถานที่สำหรับการฝึกสอน SKILL DRIVING EXPERIENCE: ขับเป็น...ขับปลอดภัย กับ สื่อสากล ณ สนามแข่งรถปทุมธานีสปีดเวย์