เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -16.4 %
รถยนต์นั่ง +2.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +34.0 %
กระบะ 1 ตัน -43.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -5.8 %
ตลาดรถยนต์ไทยนั้นเริ่มต้นจากอดีตที่ผูกพันกับรถยนต์ยุโรป นับจากที่มีรถยนต์คันแรกเข้ามาวิ่งบนถนนเมืองไทย ต่อมาเริ่มมีการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปมาจำหน่าย ตามมาด้วยการขยายตัวไปสู่โรงงานประกอบ จากนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ไทยเราเริ่มต้นกับรถยนต์จากตะวันตก อย่างเช่น โรงงานของ FORD ANGLO THAI (ฟอร์ด แองโกล ไทย) หรือโรงงานประกอบรถยนต์ FIAT (เฟียต) โรงงานกรรณสูต ต่อมาไม่นาน ญี่ปุ่นเริ่มขยายตลาดรถยนต์ออกนอกประเทศ การสร้างแหล่งผลิตของญี่ปุ่นในไทย เมื่อราว 60 ปีก่อน เริ่มต้นด้วยค่าย NISSAN (นิสสัน) และตามมาอีกเกือบทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) TOYOTA (โตโยตา) ISUZU (อีซูซุ) HONDA (ฮอนดา) รถจากญี่ปุ่นได้รับการยอมรับมากขึ้น จนทำให้บทบาทของรถตะวันตกลดลง แต่ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว
ค่ายรถญี่ปุ่น คือ ผู้ลงทุนในสัดส่วนสูงสุดในบ้านเรา จนทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำตลาดมาจนถึงปัจจุบันนี้
แต่หากเราดูภาครวมของรถยนต์ไทยในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีจากรถน้ำมันไปสู่รถไฟฟ้า มีสัญญาณว่าบแรนด์จีนหลายรายเข้ามาลงทุนทำตลาดกันอย่างคึกคัก และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก จะเห็นว่า BYD (บีวายดี) เริ่มติดอันดับรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในบางเดือน
รถจีนในเวลานี้เกือบทุกยี่ห้อ เล่นแผนธุรกิจเดียวกัน คือ มาพร้อมกับการขาย และการลงทุน เพื่อผลิตในประเทศไทย โครงสร้างนี้แตกต่างไปจากรถไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันอย่าง TESLA (เทสลา) แม้ TESLA จะมียอดขายที่ดีระดับหนึ่ง แต่ TESLA ไม่ร่วมวง อย่างเดียวที่ทำ คือ ขายเพื่อทำกำไรเท่านั้น โดย TESLA ไม่ต่างจากรถอย่าง AUDI (เอาดี) PORSCHE (โพร์เช) VOLKSWAGEN (โฟล์คสวาเกน) PEUGEOT (เปอโฌต์) JEEP (จีพ) และรถที่ขายในตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีปริมาณการขายไม่มาก
ดูเหมือนมีผู้เล่นหลายรายในตลาดรถไฟฟ้าประเทศไทยปี 2567 แต่ยังเป็นผู้เล่นจากจีนเสียเป็นส่วนมาก แนวโน้มของตลาดจึงตกอยู่กับรถสัญชาติจีน ซึ่งบ้านเรารถไฟฟ้ายังคงเฟื่องฟูต่อเนื่องไปอีกนาน สำหรับค่ายญี่ปุ่นเริ่มขยับ แม้จะช้าไปมากทั้ง TOYOTA, HONDA และ ISUZU ค่ายรถที่มาเงียบๆ ไม่พูดแต่ขายเลยอย่าง HONDA เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าสงครามรถไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แม้จะเริ่มต้นช้าเพราะว่าญี่ปุ่นน่าจะอยู่ในภาวะตกใจ และสับสน แต่ก็ยังดีที่ทำให้ผู้ซื้อได้มีทางเลือก ผลของความล่าช้าทำให้ญี่ปุ่นตามหลังจีนไปแล้วหนึ่งก้าว
ผมเชื่อว่าปี 2567 เราต้องได้เห็นปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคจากที่ผู้เล่นค่ายญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาด นั่นคือ ภาวะ “รถไฟฟ้าถูกกว่ารถน้ำมัน” เพราะตลอดระยะเวลาราว 18 เดือน ที่รถจีนแห่กันมาทำตลาด ราคารถไฟฟ้าก็ไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เราเข้าใจ
รถจีนทำสงครามราคากันในเมืองแม่ และลามมาถึงเมืองไทยด้วย เห็นได้ว่ามีการลดราคารถไฟฟ้าของจีนหลายครั้ง ขนาดรถรุ่นใหม่ที่ยังไม่ทันเปิดตัว ยังมีการประกาศราคาลดลงชนิดคนซื้อตามแทบไม่ทัน
การที่ทิศทางของราคารถไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงนั้น เพราะราคาต้นทางโดยเฉพาะจากประเทศจีนกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเทคโนโลยีรถไฟฟ้ามีการพัฒนาไปเร็วมากกว่าที่คิด
รถไฟฟ้าได้รับการปรับปรุงให้มีความก้าวหน้าด้านการออกแบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความจุแบทเตอรีเพิ่มขึ้น ชาร์จเร็วขึ้น แถมด้วยระยะทางวิ่งมากขึ้น แต่ราคารถรุ่นใหม่กลับถูกลง รถไฟฟ้าจากจีนยังมีปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตล้นตลาด ในประเทศแม่มีรถในสตอคมหาศาล ซึ่งรัฐบาลจีนมีการออกมาเตือน และกำกับเรื่องการผลิต เพราะปริมาณที่มากจนล้นตลาดนี้จะส่งผลให้ “รถไฟฟ้าถูกกว่าน้ำมัน” ซึ่งปีที่ผ่านมา ในประเทศจีนมีโฆษณาของ BYD ในรูปแบบแบนเนอร์บอกว่า “ราคาน้ำมัน และไฟฟ้าเท่ากัน” ซึ่งเป็นการโฆษณ?ารถรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว สื่อจีนบอกว่าเป็นราคาที่ตั้งใจออกมาเพื่อกวาดล้างรถน้ำมัน
“การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เข้าสู่ห้วงน้ำลึก การพัฒนารถยนต์พลังงานใหม่จะทำงานเร็วขึ้น และเร็วขึ้นเท่านั้น”
ในสงครามราคาที่ใกล้ถึงจุดที่ “ไฟฟ้ากำลังจะถูกกว่าน้ำมัน” ใครก็ตามที่ไม่สามารถตามการแข่งขันได้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง