เราคงเคยเห็นทั้งในภาพยนตร์ หรือการพรีเซนท์แนวคอนเซพท์ใหม่ๆ จากค่ายรถยนต์ ด้วยภาพกราฟิค หรือการใช้ CG ในการทำภาพเคลื่อนไหว เพื่อนำเสนอแนวคิดของเทคโนโลยีใหม่ๆ ภาพที่เห็นบ่อย คือระบบขับเคลื่อน และระบบบังคับเลี้ยว ที่สามารถจอดรถ หรือกลับรถในที่แคบมากๆ ได้ ด้วยการเปลี่ยนทิศทางการหมุนของล้อ ซึ่งในรถใช้งานจริงคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีเรื่องของความทนทานในการใช้งานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในวันนี้เราได้ใช้แล้ว บนรถที่ขายบนโชว์รูมจริง
ระบบบังคับเลี้ยวจะทำงานสวนทางกันในที่แคบ
อันที่จริงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และระบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อนั้นมีมานานแล้ว ถ้ามองแยกกันมันคือคนละส่วนอย่างสิ้นเชิง แต่ในวันนี้ มันสามารถควบรวมเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ข้อดี คือ สามารถขับเคลื่อนได้ในทุกสภาพเส้นทาง ส่วนระบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อนั้นช่วยให้การขับขี่คล่องตัวขึ้น ทั้งการขับขี่ในที่แคบ และการขับขี่บนถนนปกติ การเลี้ยวในความเร็วต่ำ หรือการเลี้ยวในที่แคบนั้น การทำงานของระบบบังคับเลี้ยวจะทำงานสวนทางกัน เช่น เมื่อเราหมุนพวงมาลัยไปทางซ้าย ล้อคู่หน้าก็จะหันเลี้ยวไปทางซ้าย ส่วนล้อหลังนั้นจะหันเลี้ยวไปทางขวา ก็คือทิศทางตรงกันข้าม ช่วยให้วงเลี้ยวของรถแคบลงมาก ถ้านึกภาพไม่ออกลองนึกถึงรถโฟล์คลิฟท์ที่เลี้ยวล้อหลังจะใช้หลักการเดียวกัน ในความเร็วสูงเวลาเปลี่ยนเลนล้อคู่หน้า และคู่หลังจะหันเลี้ยวไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้รถมีเสถียรภาพในการเคลื่อนที่มากกว่า
BEV 4 มอเตอร์ กลับตัวได้เหมือนรถตีนตะขาบ
ในรถ BEV หรือที่เราชอบเรียกรถไฟฟ้า 100 % ที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น มันมีความสามารถมากกว่าระบบทั่วไป เป็นความสามารถแบบเดียวกับในภาพยนตร์ ตัวรถสามารถหมุนได้ 360 องศา โดยใช้พื้นที่น้อยมากๆ แบบเดียวกับพวกรถตีนตะขาบทั้งหลาย ด้วยหลักการเดียวกัน คือ ล้อแต่ละฝั่งสามารถหมุนแยกกันได้อิสระ ทำให้การขับเคลื่อนในที่แคบทำได้ง่าย และใช้พื้นที่น้อย รถไฟฟ้าขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีมอเตอร์แยกอิสระถึง 4 ตัวนั้น มีความสามารถพิเศษหลายด้าน ในส่วนของการบังคับเลี้ยวจะเห็นได้ชัดเจนอย่าง BYD U8 (บีวายดี ยู 8) ที่สามารถกลับรถได้ในที่แคบ เพราะล้อทั้ง 4 สามารถหมุนได้อย่างเป็นอิสระ เช่น ล้อด้านขวาหมุนเดินหน้า ล้อด้านซ้ายหมุนถอยหลัง เมื่อหมุนพร้อมกันจะทำให้ตัวรถกลับรถได้แบบเดียวกับรถตีนตะขาบ
ลุยทางทุรกันดาร ก็เป็นเรื่องง่าย
นอกเหนือจากนั้น ในการขับเคลื่อนในเส้นทางทุรกันดารก็จะง่ายมากขึ้น เช่น กรณีล้อหลังฝั่งซ้ายติดหล่ม ล้อมีอาการหมุนฟรี ล้อด้านขวาไม่มีแรงขับเคลื่อน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เช่น ลิมิเทด สลิพช่วยส่งแรงไปทางด้านขวา หรือต้องใช้ดิฟฟ์ลอคเพื่อให้ล้อทั้งสองฝั่งมีแรงบิดที่เท่ากัน ส่วนการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีอิสระถึง 4 ตัวก็ง่ายมาก ในกรณีนี้ก็สั่งการให้ล้อซ้ายหยุดหมุน แล้วไปเพิ่มแรงขับที่ล้อขวาแทน รวมถึงการทำงานของระบบช่วยเหลือต่างๆ ที่เราคุ้นเคยในรถ BEV แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็จะทำได้แม่นยำฉับไว และราบลื่นกว่า เนื่องจากการสั่งการด้วยระบบอีเลคทรอนิคส์สามารถสั่งให้มอเตอร์หมุนด้วยแรงเท่าไรก็ได้ ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ไม่เหมือนกับเครื่องยนต์ที่มีรอบเครื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าต้องการแรงบิดมากขึ้น มันมีช่วงที่เครื่องยนต์มีอาการรอรอบกว่าจะถึงรอบแรงบิดสูงสุด มันต้องใช้เวลา และจังหวะ
บทความแนะนำ