งานเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 5 : การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ ในปี 2023 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย มีกำลังการผลิตรถยนต์จำนวน 1,840,000 คัน มูลค่าการส่งออก 1,193,000 ล้านบาท จากผู้ประกอบในประเทศ 2,285 ราย เป็นปีที่ไทยผลิตรถน้อยลง แต่มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น ทิศทางการผลิตรถของไทยยังอยู่ในโซนที่ลำบาก สาเหตุหลักๆ จากสภาพเศรษฐกิจ, การเงิน และการธนาคาร โดยเฉพาะไฟแนนศ์ ที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยากขึ้น
ตั้งแต่ปี 1961-1997 เป็นช่วงปีที่ไทยส่งเสริมการผลิตรถยนต์เต็มรูปแบบ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนเรื่องชิ้นส่วนต่างๆ ช่วงระหว่างปี 1998-2016 ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่สมบูรณ์แบบ โดยมีพโรดัคท์แชมเพียน ทั้งรถกระบะ และรถเก๋งขนาดเล็ก (ECO CAR) ส่วนปี 2017-ปัจจุบัน ไทยเริ่มเป็นฐานการเรียนรู้ และผลิตนวัตกรรมใหม่ ที่จำเป็นสำหรับรถยนต์
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงงานประกอบรถยนต์กระจายตามจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (HONDA)/กรุงเทพ ฯ (NETA)/ฉะเชิงเทรา (ศูนย์ ATTRIC, BATTERY TESTING CENTER, TOYOTA และ ISUZU)/สมุทรปราการ (TOYOTA, ISUZU, NISSAN, VOLVO TRUCK, MERCEDES-BENZ)/ปราจีนบุรี (HONDA)/ชลบุรี (MG)/ระยอง (GWM, BMW, FORD, MAZDA, SUZUKI) เป็นต้น
ทิศทางในอนาคต ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของยานยนต์พลังงานสะอาด ตอนนี้เราอยู่ในช่วงรอยต่อของยุค HEV-ZEV ซึ่งภาครัฐได้กำหนดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ไว้ชัดเจนว่า ภายในปี 2025 รถนั่ง และรถกระบะ ต้องมียอดขาย 225,000 คัน (ประมาณ 30 %) และภายในปี 2030 ต้องมียอดขาย 440,000 คัน (50 %) รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน (20 %) ปี 2030 จำนวน 650,000 คัน (40 %), รถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน (20 %) ปี 2030 จำนวน 33,000 คัน (35 %), รถสามล้อ 500 คัน (85 %) ปี 2030 จำนวน 2,200 คัน (100 %), เรือโดยสาร 130 ลำ (12 %) ปี 2030 จำนวน 480 ลำ (35 %) และรถไฟระบบรางคู่ 620 ตู้ (70 %) ปี 2030 จำนวน 850 ตู้ (85 %)
สิ่งที่ภาครัฐคิดว่าจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คือ การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน, การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า, การส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมแบทเตอรียานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะขยับฐานะตัวเองเป็น “ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนของโลก” เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เพราะเราเป็นฮับของการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน และ ECO CAR
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ จะเป็นการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 6.5 เท่า ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 1.25 เท่า และจะมีเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประมาณ 77,192 ล้านบาท จากการส่งเสริมมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่จะบังคับใช้ในปี 2026
และคำนวณว่า จะช่วยลดการใช้น้ำมัน จากการเปลี่ยนมาใช้รถ EV 1 คัน ได้ถึง 1,620 ลิตร/ปี หรือประมาณ 61,500 บาท/ปี และช่วยลดการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเปลี่ยนมาใช้รถ EV 1 คัน ลดลง 2.6 ตัน/ปี
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มองไกลถึงอนาคตเป็นเรื่องดี แต่เราต้องอย่าลืมอุตสาหกรรมการผลิตรถ ICE ที่เป็นรากเหง้าของประเทศด้วย ภาครัฐมองหามาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์, รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ICE ทำคู่ขนานกับรถ EV จะเป็นเรื่องที่ดีมาก...ฝากไว้ให้คิดครับ