ผมขออนุญาตหยิบข่าวนี้มาเล่าให้ฟัง เป็นข่าวจากงานสัมมนา STRENGTHENING THAILAND-JAPAN COOPERATIONS ON THE FACE OF RENEWED TRADE TENSIONS หัวข้อ THAILAND’S INDUSTRIAL POLICY: THROUGH RENEWED TRADE TENSIONS จัดโดยธนาคารกสิกรไทย มีการประกาศนโยบาย JAPAN FIRST โดย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ภาครัฐเตรียมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อรับการลงทุนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ หนุนรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE), ไฮบริด (HYBRID) และไฟฟ้า (EV) เพื่อรักษาซัพพลายเชนของประเทศไทย
ประเด็นหลัก คือ “ไทย-ญี่ปุ่น” จับมือฝ่าวิกฤต รักษาห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ และอีเลคทรอนิคส์ ประกาศนโยบาย JAPAN FIRST ซึ่งปีนี้รัฐฯ จะทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอีเลคทรอนิคส์ ยังคงอยู่ในไทย พร้อมผลักดันให้เป็นฮับของภูมิภาค ผ่านมาตรการลดภาษีสำหรับรถยนต์ไฮบริด การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การให้สิทธิประโยชน์ การปราบปรามธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม การจัดการขยะอีเลคทรอนิคส์ และการนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ เน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนไทย
นอกจากมาตรการเข้มข้น ที่จะเข้ามาช่วยสร้างโอกาสในการทำธุรกิจแล้ว ยังเตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หวังกระตุ้นยอดขายรถให้ฟื้นตัวกลับมา เช่น มาตรการช่วยเหลือเรื่องการดาวน์รถ การชะลอการใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO6 มาตรการพิเศษสำหรับรถกระบะ และอีโคคาร์ เป็นต้น
ในข่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า ไทย และญี่ปุ่นจะต้องโตไปด้วยกัน ด้วยการเป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นรถสันดาป, ไฮบริด หรือรถไฟฟ้า ญี่ปุ่นมองว่าไทยยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง การจับมือกันในครั้งนี้ เพื่อสร้างการแข่งขันในระดับโลก เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งในแง่คุณภาพของสินค้า การหาตลาดที่เหมาะสม และการที่รัฐฯ ช่วยส่งเสริมในทุกมิติ คือ เรื่องที่สำคัญมาก
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นยังคงมีศักยภาพในการขยายการลงทุน และสร้างการเติบโตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนสะสมในไทย มีมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40 % ของการลงทุนโดยตรง (FDI) และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และอีเลคทอรนิคส์
แนวคิด และนโยบายต่างๆ ที่รัฐฯ กำลังลงมือทำ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรากลับมาทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้กลุ่มทุนเดิมมีโอกาสแข่งขันทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม และต่อเนื่อง เชื่อว่าน่าจะเป็นมาตรการที่ทำให้ผู้ค้ารายเก่า ทั้งนักลงทุนชาวญี่ปุ่น และชาติอื่นๆ มีโอกาสแข่งขันได้ โดยเฉพาะสงครามการค้า ที่แข่งขันกันเรื่องราคา กำลังจะเกิดขึ้นในระลอกใหม่นี้
สรุป คือ รัฐฯ ต้องการดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น เตรียมขยายพื้นที่ EEC รองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมลดภาษี ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภท