วิถีตลาดรถยนต์
ไตรมาสร่วง ไม่ใช่ไตรมาสแรก !
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมีนาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -29.8 %
รถยนต์นั่ง -25.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +3.7 %
กระบะ 1 ตัน -45.5 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -8.1 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2024/2023
ตลาดโดยรวม -24.6 %
รถยนต์นั่ง -15.4 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +15.7 %
กระบะ 1 ตัน -44.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -7.1 %
ยังคงโงหัวไม่ขึ้น สำหรับการซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในบ้านเรา ถึงแม้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะมีผู้ใหญ่ใจดีหน้าเดิม รับหน้าเสื่อจัดงานกระตุ้นยอดขายรถยนต์ให้ผู้ซื้อผู้ขายได้มาเจอกัน พร้อมยื่นข้อเสนอพิเศษให้ผู้ซื้อ ตัดสินใจซื้อได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้วก็ตาม ถึงแม้ว่าบรรยากาศโดยรวมของการซื้อขายในช่วงระยะเวลาการจัดงานดังกล่าว จะเป็นไปด้วยดีทั้งในแง่ของผู้ร่วมงาน การเจรจาต่อรองเพื่อการตัดสินใจซื้อต่างๆ จนทำให้บทสรุปของการจัดงานมอเตอร์โชว์ มียอดจองรถยนต์รวม 53,438 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 27.5 % โดยรถยนต์ที่ผู้สนใจจับจองสั่งซื้อมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) 8,540 คัน อันดับ 2 BYD (บีวายดี) 5,345 คัน อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) 4,607 คัน อันดับ 4 MG (เอมจี) 3,518 คัน อันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 3,4096 คัน อันดับ 6 CHANGAN (ฉางอัน) 3,043 คัน อันดับ 7 AION (ไอออน) 3,018 คัน อันดับ 8 GMW (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 2,815 คัน อันดับ 9 ISUZU (อีซูซุ) 2,734 คัน และอันดับ 10 NISSAN (นิสสัน) 2,488 คัน
ยอดผู้ชมงานมากกว่า 1,600,000 คน อย่างไรก็ตาม จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้สุดท้ายแล้ว ตัวเลขยอดจองรถใหม่ภายในงานดังกล่าว อาจลดน้อยลง ขณะที่ปัญหาปากท้องครัวเรือนของคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ยังคงเป็นปัญหาหนักหน่วง ทำให้การคาดการณ์ที่ว่าในเดือนเมษายน เดือนแห่งการท่องเที่ยว การเดินทางในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว จะทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถกระเตื้องขึ้นจากที่เป็นอยู่ ก็ต้องตามดูกันต่อไป
ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่เดือนมีนาคม 2567 เดือนปิดท้ายไตรมาสแรกของปี มียอดรวมกันทั้งสิ้น 56,099 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2566 ถึง 23,852 คัน หรือลดลง 29.8 % โดยรถที่มีการจับจองส่งมอบกันมากที่สุด 5 อันดับแรก ต่างก็มีตัวเลขยอดจำหน่าย ที่ปรับตัวลดลงจากที่เคยทำได้ในเดือนมีนาคม 2566 ทั้งสิ้น เริ่มจากอันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 21,582 คัน ลดลง 4,131 คัน เมื่อเทียบกับเดือนนี้ในปีก่อน ลดลง 16.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.5 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 8,861 คัน ลดลง 8,272 คัน หรือลดลง 48.3 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 15.8 % อันดับ 3 HONDA จำหน่ายได้ 8,219 คัน ลดลง 1,966 คัน หรือลดลง 19.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.7 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 3,012 คัน ลดลง 1,060 คัน หรือลดลง 26.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.4 % และอันดับ 5 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 1,745 คัน ลดลง 2,332 คัน หรือลดลง 57.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.1 %
สรุปว่า ไตรมาสแรกของปี 2567 ตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่ในประเทศ ปรับตัวทิ้งดิ่งติดลบ 24.6 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 53,339 คัน เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 รถที่จำหน่ายได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 58,810 คัน ขายน้อยลง 16,311 คัน หรือลดลง 21.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 35.9 % อันดับ 2 HONDA ไตรมาสแรกจำหน่ายแล้วรวม 25,104 คัน ลดลงเล็กน้อย 857 คัน หรือลดลง 3.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.3 % อันดับ 3 ISUZU 24,444 คัน ลดลงจากปี 2566 ถึง 22,715 คัน หรือลดลง 48.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.9 % อันดับ 4 BYD 10,047 คัน เพิ่มขึ้น 4,505 คัน จากปีที่เริ่มบุกตลาดอย่างจริงจัง หรือเพิ่มขึ้น 81.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.1 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 7,587 คัน ลดลง 3,375 คัน หรือลดลง 30.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
นั่นเป็นภาพรวมของตลาดรถในประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อแยกย่อยออกมาในเรื่องของตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ที่เคยสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจในประเทศได้อีกหนึ่งปัจจัย เราจะเห็นว่ายังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความอยู่ดีกินอร่อยของพี่น้องประชาชน ในภาคการเกษตรได้พอสมควร
เดือนมีนาคม 2567 รถพิคอัพ 1 ตัน จำหน่ายได้รวมกันแค่ 19,648 คัน ลดลงถึง 16,418 คัน หรือลดลง 45.5 % และแน่นอนว่า เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงทุกยี่ห้อ อันดับ 1 TOYOTA 8,629 คัน ลดลงถึง 4,474 คัน หรือลดลง 34.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 43.9 % อันดับ 2 ISUZU 7,865 คัน ลดลงถึง 7,980 คัน หรือลดลง 50.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.0 % อันดับ 3 FORD 1,744 คัน ลดลง 2,330 คัน หรือลดลง 57.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 8.9 % อันดับ 4 MITSUBISHI 972 คัน ลดลง 1,299 คัน หรือลดลง 57.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % และอันดับ 5 NISSAN 325 คัน ลดลง 243 คัน หรือลดลง 42.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.7 %
บทสรุปของตัวเลขยอดจำหน่ายรถพิคอัพ 1 ตัน ไตรมาสแรกของปี 2567 จำหน่ายรวม 56,425 คัน ปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกปี 2566 ถึง 44.4 % หรือจำหน่ายได้น้อยลง 45,047 คัน รุ่นรถพิคอัพที่ใครๆ จะคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ ประกอบด้วย HILUX REVO (ไฮลักซ์ รีโว) ของ TOYOTA จำหน่ายรวม 25,248 คัน ลดลงจากไตรมาสแรกปี 2566 ถึง 14,039 คัน หรือลดลง 35.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 44.7 % ตามด้วย ISUZU 21,481 คัน ลดลงถึง 22,041 คัน หรือลดลง 50.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.1 % FORD 5,931 คัน ลดลงถึง 5,109 คัน หรือลดลง 46.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.5 % MITSUBISHI 2,624 คัน ลดลง 3,093 คัน หรือลดลง 54.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 % และ NISSAN 872 คัน ลดลง 464 คัน หรือลดลง 34.7 % เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2566 ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
ด้านรถเอสยูวี ที่มีให้เลือกหลากหลายระดับกระเป๋า และความต้องการ เดือนมีนาคมมียอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 10,508 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา 377 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3.7 % ในบรรดารถเอสยูวีที่จำหน่ายได้มากที่สุดเกินหลักพันคัน มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 5,502 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2566 ถึง 3,649 คัน หรือเพิ่มขึ้น 196.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 52.4 % และอันดับ 2 HONDA 3,350 คัน เพิ่มขึ้น 218 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.9 % อันดับ 3-5 จำหน่ายอยู่ในหลักร้อยคัน ประกอบด้วย อันดับ 3 GWM 381 คัน ลดลง 154 คัน หรือลดลง 28.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.6 % อันดับ 4 MAZDA (มาซดา) 341 คัน ลดลง 393 คัน หรือลดลง 53.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.2 % และอันดับ 5 MG 281 คัน ลดลง 374 คัน หรือลดลง 57.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.7 %
ไตรมาสแรกปี 2567 ผ่านไป ตลาดรถเอสยูวีเติบโตขึ้น 15.7 % จำหน่ายได้รวมกันทั้งสิ้น 32,283 คัน เพิ่มขึ้น 4,379 คัน ส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดเป็นของ TOYOTA จำหน่ายแล้ว 14,756 คัน เพิ่มขึ้นถึง 9,244 คัน หรือเพิ่มขึ้น 167.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.7 % ตามด้วย HONDA 10,906 คัน เพิ่มขึ้น 2,731 คัน หรือเพิ่มขึ้น 33.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.8 % ค่าย BYD 2,072 คัน ลดลง 3,470 คัน หรือลดลง 62.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.4 % ค่าย GWM 1,266 คัน ลดลง 573 คัน หรือลดลง 31.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.9 % และ MAZDA 1,014 คัน ลดลง 1,105 คัน หรือลดลง 52.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.1 %
เดือนมีนาคม 2567 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้รวมกัน 3,601 คัน ลดลง 318 คัน หรือลดลง 8.1 % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ไตรมาสแรกปี 2567 จำหน่ายได้รวม 9,433 คัน ลดลง 720 คัน หรือลดลง 7.1 % เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2566 มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพทั้งสิ้น 17,390 คัน ลดลง 4,418 คัน หรือลดลง 20.3 % เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566