ขอบสนามแข่ง ฟอร์มูลา 1 (formula)
แฟร์รารี กับตำนานหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์
ศึก ฟอร์มูลา วัน ประจำฤดูกาลปี 2002 ปิดฉากลงไปแล้วที่สนาม ซูซูกะ เซอร์กิท ในรายการ ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ ด้วยการคว้าแชมพ์ไปครองโดย มิคาเอล ชูมาเคร์ หลังแข่งครบ 53 รอบสนาม ตามมาด้วย รูเบนส์ บาร์ริเชลโล เพื่อนร่วมทีม แฟร์รารี เป็นการทิ้งทวนในสนามสุดท้ายอย่างสวยงาม เป็นการเรียงแถวเข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 ของทีม แฟร์รารี 3 สนามติดต่อกัน พร้อมกับสร้างสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ เอฟ 1 จากการแข่งขันรวม 17 สนามประจำฤดูกาลปี 2002 ทีม แฟร์รารี คว้าแชมพ์ไปทั้งหมด 15 สนาม ที่เหลืออีก 2 สนาม แบ่งแชมพ์กันไปทีมละสนาม ระหว่าง วิลเลียมส์-บีเอมดับเบิลยู กับ แมคลาเรน-เมร์เซเดส เป็นการคว้าแชมพ์ของทีม แฟร์รารี เทียบเท่าสถิติสูงสุดที่ทีม แมคลาเรน เคยทำเอาไว้สูงสุดต่อ 1 ฤดูกาล รวม 15 สนาม เมื่อปี 1988 ที่แข่งขันทั้งหมด 16 สนาม ในยุคของ 2 นักขับ ผู้สร้างตำนานอันยิ่งใหญ่ในวงการ เอฟ 1 คือ อแลง ปรอสต์ กับ อาร์ยทัน เซนนา
นอกจากการคว้าแชมพ์ตลอดฤดูกาลของ มิคาเอล ครั้งนี้ เป็นการคว้าแชมพ์ ครั้งที่ 64 บนสังเวียน ฟอร์มูลา วัน และเป็นการคว้าแชมพ์ 11 สนามในหนึ่งฤดูกาลซึ่งเป็นสถิติใหม่สูงสุดอีกเช่นกัน รวมทั้งเป็นการทำ "แฮททริค" ในศึก ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ ซึ่งเป็นแชมพ์สมัยที่ 5 ในรายการนี้ และเป็นการเรียงแถวเข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 รวม 9 สนามภายในปีนี้
มิคาเอล คว้าตำแหน่งโพลโพสิชัน เป็นครั้งที่ 50 และเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน ที่สนาม ซูซูกะ แห่งนี้ ส่วนสถิติสำคัญตลอดฤดูกาล มิคาเอล ได้ขึ้นโพเดียมครบทุกสนาม พร้อมกับการได้ขึ้นโพเดียมเป็นสนามที่ 19 ติดต่อกัน และสำหรับทีม แฟร์รารี ซึ่งทำสถิติต่อเนื่อง นักแข่งของทีมคว้าแชมพ์ได้ 10 สนามติดต่อกัน
สหรัฐ กรองด์ปรีซ์
2 นักขับของทีม แฟร์รารี ออกสตาร์ทจาก 2 อันดับแรก โดย มิคาเอล ชูมาเคร์ คว้าโพลโพสิชัน ไปครอง ท้ายที่สุดเรื่องพลิกลอคไม่น่าเกิดขึ้นบนสังเวียน อินเดียนา โพลิส สปีดเวย์ เมื่อรถแข่งสีแดงเพลิง ทั้ง 2 คัน ประกบคู่กันเข้าเส้นชัย ด้วยเวลาที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด รูเบนส์ บาร์ริเชลโล เฉือน มิคาเอล เข้าป้ายไปเพียง 0.011 วินาที เป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์อีกเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ มิคาเอล ชะลอความเร็วลงเพื่อให้ บาร์ริเชลโล แซงขึ้นไปเข้าเส้นชัยนั้น เขาได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้เป็น "ทีมออร์เดอร์" แต่เจตนาที่จะเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กับ บาร์ริเชลโล เท่านั้นเอง
อินเดียนา โพลิส สปีดเวย์ ในมลรัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ถูกจัดเป็นสนามแข่ง ฟอร์มูลา วัน เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน สนามแห่งนี้นับว่าเป็นสนามแข่งรถที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1909 ใช้ชื่อสนามในเวลานั้น "บริคยาร์ด" หลังจากสนามแข่งที่เก่า แก่ที่สุดในอังกฤษที่สนาม "บรูคแลนด์ส" เปิดใช้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น
สนามแข่งแห่งนี้ เป็นสนามที่มียอดผู้เข้าชมการแข่งขันในวันแข่งจริงมากที่สุด ในปฏิทินการ แข่งขัน ฟอร์มูลา วัน ปีที่แล้ว มียอดจำหน่ายตั๋วในวินแข่งจริงถึง 175,000 ใบ ส่วนปีนี้ลดลงอยู่ที่ประมาณ 150,000 ใบ สำหรับจำนวนที่นั่งในสนามแห่งนี้จุได้ 250,000 ที่นั่ง
ในช่วงทางตรงยาวของสนาม อินเดียนา โพลิส สปีดเวย์ จะมีอัฒจันทร์ขนาดใหญ่จำนวนที่นั่ง 200,000 ที่นั่ง เป็นช่วงที่บรรดาแฟนๆ ฟอร์มูลา วัน สามารถได้ยินเสียงคำรามลั่นของเครื่องยนต์ที่ความเร็วสูงสุด ซึ่งทีม วิลเลียมส์ ได้สร้างสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ไว้ที่ มนซา เซอร์กิท เมื่อเครื่องยนต์ บีเอมดับเบิลยู ที่วางในรถ วิลเลียมส์ ทำความเร็วรอบเครื่องได้ถึง 19,000 รตน. โดยทำได้ในวันแข่งจริง
ช่วงทางตรงยาวที่ อินเดียนา โพลีส สปีดเวย์ รถแข่งสามารถทำความเร็วได้ถึง 325 กม./ชม. น้อยกว่า มนซา เซอร์กิท ทำความเร็วได้ 350 กม./ชม.
ฮูอัน ปาบโล มนโตยา ทีม วิลเลียมส์ เคยคว้าแชมพ์ที่สนามแห่งนี้ เมื่อปี 2000 ครั้งที่ลงแข่งขันในรายการ อินดี 500 ส่วนแชมพ์ปีที่แล้ว มิคา ฮัคคิเนน ปีนี้ไม่ได้ลงแข่งขัน พลิกผันตัวเองไปเป็นผู้รายงานการแข่งขันให้กับสถานีโทรทัศน์ในฟินแลนด์ โดยจะรายงานที่สนามแห่งนี้เป็นครั้งแรก
สหรัฐ กรองด์ปรีซ์ เป็นสนามรองสุดท้ายที่ บาร์ริเชลโล ลุ้นตำแหน่งรองแชมพ์โลก หากเขาเข้าเส้นชัยในอันดับ 3เท่านั้น ก็จะคว้าแชมพ์โลกไปครองทันที ก่อนแข่งขันเขามีคะแนนนำห่าง มนโตยา อยู่ 17 แต้ม ในวันแข่งจริงปรากฎว่า มนโตยา กับ ราล์ฟ ชูมาเคร์ เกิดเฉี่ยวชนกันตั้งแต่โค้งแรก ต้องเสียเวลาเข้าพิทไปเปลี่ยนชิ้นส่วนและซ่อมแซมรถอยู่นาน ท้ายที่สุด มนโตยา สามารถประคองเข้าเส้นชัยในอันดับ 4 ส่วน ราล์ฟ จบการแข่งขันในอันดับสุดท้าย จากทั้งหมด 16คันที่จบการแข่งขัน
ไฮนซ์-ฮารัลด์ ฟเรนท์เซน ลงแข่งให้กับทีม เซาเบอร์ แทน เฟลิเป มัสซา เป็นผลจากสนามที่แล้วที่เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุที่ มัสซา ถูกทำโทษปรับเลื่อนอันดับสตาร์ทถอยไปอีก 10 อันดับในสนามต่อไป ฟเรนท์เซน จีงลงแข่งแทน และจะลงขับให้กับ เซาเบอร์ เต็มตัวในปีหน้า
สถิติช่วงห่างของตัวเลขการเข้าเส้นชัยที่ บาร์ริเชลโล เฉือน มิคาเอล 0.011 วินาที ลบสถิติเดิมที่ ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์ เมื่อปี 1982 แอนเจลิส เฉือน รอสเบโร เข้าเส้นชัยไปด้วยเวลา 0.05 วินาที
ผลการแข่งขัน สหรัฐ กรองด์ปรีซ์
[table]อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, เวลารวม
1, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, 1 ชั่วโมง 31 นาที 07.934 วินาที
2, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, + 00.011 วินาที
3, เดวิด คุลธาร์ด, แมคลาเรน, + 07.799 วินาที
4, ฮูอัน ปาบโล มนโตยา, วิลเลียมส์, + 09.911 วินาที
5, ยาร์โน ตรุลลี, เรอโนลต์, + 56.847 วินาที [/table]
ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์
ศึก ฟอร์มูลา วัน ปิดฉากรูดม่านกันที่ ซูซูกะ เซอร์กิท เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา ทีม แฟร์รารี ตอกย้ำชัยชนะด้วยการเรียงแถวเข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 เช่นเดิม ยอดทีมจากอิตาลี ยังไม่ยอมแบ่งชัยชนะให้กันอีก 10 ทีมคู่แข่ง แม้กระทั่งสนามสุดท้าย ด้วยการทำเวลาทิ้งห่าง คีมี ไรค์ โคเนน ทีม แมคลาเรน ที่เข้าป้ายอันดับ 3 ถึง 23.292 วินาที โดย มิคาเอล ชูมาเคร์ ชะลอความเร็วลงในรอบสุดท้ายเสียเวลาไปถึง 9 วินาทีก่อนเข้าเสันชัย ด้วยเวลาที่ห่าง รูเบนส์ บาร์ริเชลโล 0.506 วินาที
"ผมเองเชื่อว่าแฟนๆ ชาวญี่ปุ่น น่าจะดีใจกับผลการแข่งขัน เพราะพวกเข้าได้เห็นชัยชนะ 2 อย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันคือ ทีม แฟร์รารี ขวัญใจของพวกเขาคว้าแชมพ์ได้ที่นี้อีกครั้ง และได้เห็น ซาโต นักขับเจ้าถิ่นเก็บแต้มแรกในชีวิตการแข่งขันได้ในสนามบ้านเกิด" มิคาเอล กล่าวหลังจากจบการแข่งขัน
ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ ปีนี้มีบรรดาผู้ใหญ่ในวงการมอเตอร์สปอร์ทโลกเข้าร่วมชมการแข่งขันหลายท่าน เป็นการร่วมปิดฤดูกาลแข่งขัน และทาบทามสำหรับการดึงการแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน ไปจัดขึ้นในประเทศของตน
แมกซ์ มอสเลย์ ประธานสหพันธ์ยานยนต์ นานาชาติ เอฟไอเอ ได้แวะที่เลบานอนและบาห์เรน ก่อนมาที่ญี่ปุ่น เพราะที่นั่นกำลังมีสนามแข่ง ฟอร์มูลา วัน ส่วนประเทศจีนได้รับการบรรจุอยู่ในตารางการแข่งขันในปี 2004 โดยสนามแข่งรถแห่งใหม่จะสร้างขึ้นนอกเมืองเซียงไฮ ทุ่มทุนกว่า 240 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่บาห์เรน ไม่ต้องกังวลเรื่องของเม็ดเงินที่จะเนรมิตทะเลทรายให้กลายเป็นสนามแข่ง ฟอร์มูลา วันเปี่ยมด้วยเทคโนโลยีท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี ชอง ทอดท์ ผู้อำนวยการทีม แฟร์รารี ชาวฝรั่งเศสออกมาขู่ฟอดก่อนเปิดฤดูกาลว่า รถแข่งรุ่นใหม่ของ แฟร์รารี กำลังได้รับการพัฒนาอย่างขะมักเขม้น และมั่นใจได้ว่าจะดีกว่ารุ่น F2002 อย่างแน่นอน
"ปี 2002 ยังไม่เป็นปีที่สุดยอดของเรา ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบจริงๆ แฟร์รารี ต้องเช้าเส้นชัย ในอันดับ 1-2 ของเขามาจาก ความสุดยอดของทีม แฟร์รารี"
"ผลการแข่งขันทั้งฤดูกาล สะท้อนคำพูดของผมได้ดีที่สุด ไม่มีสักสนามเลยที่ผมต้องออกจาก การแข่งขันกลางคันและผมได้ขึ้นโพเดียมครบทุกสนามในปีนี้ เป็นเพราะความยอดเยี่ยมของF2002" มิคาเอล กล่าว
ส่วนผลงานของ มิคาเอล และทีม แฟร์รารี ในปีนี้ สามารถทำคะแนนสะสมทั้งประเภทผู้ขับและประเภททีมผู้ผลิต เป็นคะแนนสะสมสูงสุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน
ผลการแข่งขัน ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์
[table]อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, เวลารวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 1 ชั่วโมง 26 นาที 59.698 วินาที
2, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, + 00.506 วินาที
3, คีมี ไรค์โคเนน, แมคลาเรน, + 23.292 วินาที
4, ฮูอัน ปาบโล มนโตยา, วิลเลียมส์, + 36.275 วินาที
5, ทาคูมา ซาโต, จอร์แดน, + 1 นาที 22.694 วินาที [/table]
สรุปคะแนนสะสมรวม 17 สนาม
[table]ประเภทผู้ขับ
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, คะแนนรวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 144
2, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, 77
3, ฮูอัน ปาบโล มนโตยา, วิลเลียมส์, 50
4, ราล์ฟ ชูมาเคร์, วิลเลียมส์, 42
5, เดวิด คุลธาร์ด, แมคลาเรน, 41 [/table]
[table]ประเภททีมผู้ผลิต
อันดับ, ทีม, คะแนนรวม
1, แฟร์รารี, 221
2, วิลเลียมส์, 92
3, แมคลาเรน, 65
4, เรอโนลต์, 23
5, เซาเบอร์, 11 [/table]
บริดจ์สโตนในสนาม เอฟ 1
บริดจ์สโตน มีเป้าหมายในการเข้าร่วมแข่งขัน เอฟ 1 ในปีนี้คือการได้รับตำแหน่งแชมพ์โลกทั้งประเภทนักแข่งและผู้ผลิต และในที่สุดเราก็ไปถึงจุดหมายทั้งสองที่ตั้งใจไว้ เรายังคงคิดค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเพิ่มสมรรถนะของยางแข่งให้กับทีมแข่งที่เราสนับสนุนอยู่ ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์ ครั้งล่าสุดจะเป็นการเข้าร่วมการแข่งขัน เอฟ 1 ครั้งที่ 100 ของบริดจ์สโตนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 1997
ในประวัติศาสตร์ของ เอฟ 1 บริดจ์สโตนได้พิสูจน์ถึงขีดความสามารถของเทคโนโลยีที่เหนือกว่า มิเชอแลง อย่างเห็นได้ชัด การเกาะถนนในปีนี้ของยาง บริดจ์สโตน เหนือกว่ายางที่ใช้แข่งในปีที่แล้ว เราได้นำอย่างรุ่นใหม่มาใช้ใน บราซิล กรองด์ปรีซ์ หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในสนาม เซปัง มาเลเซีย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยางส่งผลอย่างมากต่อการยึดเกาะถนนและเราก็ประสบความสำเร็จอีกครั้งที่บราซิล ส่วนที่ ซานมาริโน กรองด์ปรีซ์ ซึ่งปีที่แล้วเป็นสนามแรกที่ มิเชอแลง ประสบความสำเร็จหลังจากที่กลับเข้ามาร่วมวงการ เอฟ 1 อีกครั้ง เราใช้โครงสร้างยางและส่วนผสมเนื้อยางแบบใหม่ล่าสุด คราวนี้ชัยชนะตกอยู่กับเรา โดยนักแข่งทีม แฟร์รารี เข้าเส้นชัยในอันดับหนึ่งและสอง สร้างความมั่นใจให้กับ บริดจ์สโตน เป็นอย่างมากในเรื่องยุทธศาสตร์การเลือกใช้ยางในฤดูการแข่งปีนี้
ขณะนี้กลุ่มวิศวกรของทาง บริดจ์สโตน ทำงานอย่างหนักเพื่อเตรียมยางแข่งที่จะใช้ในฤดูกาลปี 2003 โดยทดสอบร่วมกับทีมต่างๆ รวมทั้ง แฟร์รารี ในการคิดค้นหาวิธีการที่จะเพิ่มสมรรถนะให้กับยางของเรา ซึ่งในปีหน้าจะได้พิสูจน์สมรรถนะกัน
โตโยตาในศึก ฟอร์มูลา วัน สนามสุดท้าย
ผมมีโอกาสได้เข้าชมการแข่งขันฟอร์มูลา 1 สนามสุดท้าย รายการ "ญี่ปุ่น กรองด์ปรีซ์" ที่สนามแข่ง ซูซูกะ ร่วมกับตัวแทนสื่อมวลชนอีก 5 ฉบับโดยคำเชิญของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
เราพักกันที่เมืองนาโกยา วันควอลิฟายด์หาตำแหน่งสตาร์ท เราเดินทางจากนาโกยาไปสนาม ซูซูกะโดยนั่งรถไฟไปลงที่สถานี ทะซึ ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. และนั่งรถบัสต่อไปที่สนามอีกราว 45 นาที
วันควอลิฟายด์ผู้คนคึกคักกว่าที่คิดไว้ (มากกว่าผู้ชมในวันแข่งขันที่สนาม เซปัง มาเลเซีย เสียอีก) คนญี่ปุ่นคลั่งไคล้กีฬาแข่งรถใช้ได้ทีเดียว รอบๆ สนามมีของที่ระลึก รวมไปถึงคอลเลคชัน ของทีมแข่งต่างๆ เช่น เสื้อ หมวก ธง แก้วน้ำ ขายอยู่มากมาย ผู้คนสนใจมาก แม้ว่าสินค้าจะมีราคาที่แพงทีเดียว เช่น แก้วกาแฟ ราคาตั้งแต่ 300-700 บาท (ขึ้นกับความนิยมของทีมต่างๆ ) เสื้อเชิร์ทแขนสั้นประมาณ 4,000 บาท เสื้อกันฝน (เบเนททัน) ตัวละประมาณ 10,000 บาท แต่ก็มีคนรุมซื้อราวกับแจกฟรี
เราได้เข้าไปนั่งบนอัฒจันทร์แกรนด์สแตนด์ช่วงปลายทางตรง สนามแข่งนี้ไม่มีหลังคาเลยแม้แต่ที่เดียว ทั้งๆที่บัตรเข้าชมมีราคาค่อนข้างสูง (แกรนด์สแตนด์ช่วงทางตรง ประมาณ 10,000 บาท ขึ้นไป ชมได้ 3 วัน ทั้งในวันซ้อม ควอลิฟายด์ และวันแข่งขัน) เราต้องนั่งตากแดดกันตั้งแต่ 12.30 น. เพื่อรอชมการจับเวลารอบคัดเลือกซึ่งจะเริ่มเวลา 13.00 น.
แฟร์รารี ทำเวลาดีที่สุดเช่นเคย แม้ว่าชูมาเคร์จะใช้เวลาต่อรอบน้อยที่สุด แต่ก่อนหมดเวลาก็ยังออกมาวิ่งจับเวลา (ข่มขวัญชาวบ้าน) อีกครั้ง แถมยังทำเวลาได้เร็วขึ้นไปอีก ตามมาด้วยเพื่อนร่วมทีมรูเบนส์ บาร์ริเชลโล
นักแข่งอีกคนหนึ่งที่ได้รับเสียงเชียร์พร้อมธงปลิวไสวไม่แพ้ชูมาเคร์ คือ ทาคูมา ซาโต ทีม จอร์แดน นักแข่งชาวญี่ปุ่นคนเดียวในสนาม ซึ่ง ซูซูกะ เซอร์กิท เป็นเหมือนโรงเรียนสอนแข่งรถสำหรับเขาและเขาก็ไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังด้วยการผ่านรอบควอลิฟายด์ในตำแหน่งที่ 7
โตโยตา ค่อนข้างโชคร้าย เมื่อ อลัน แมคนิช เสียหลักในขณะเข้าโค้งหลุดออกจากทางวิ่งขณะขับอยู่ที่ความเเร็วประมาณ 300 กม./ชม. ลอยไปปะทะกำแพงข้างสนามจนรถแข่งเสียหายทั้งคัน ผู้ชมเงียบกริบกันทั้งสนาม แต่ก็เบาใจเมื่อเขาสามารถเดินออกมาจากรถได้ หลังจากตรวจร่างกาย แพทย์ไม่อนุญาตให้เข้าแข่งขันในวันรุ่งขึ้นคงเหลือแต่เพื่อนร่วมทีม คือ มิคา ซาโล ซึ่งได้ตำแหน่งสตาร์ทที่ 13 จะเป็นตัวชูโรงสร้างประวัติศาสตร์ให้กับ โตโยตา
ในบ้านของตนเองเป็นครั้งแรก
เช้าวันแข่ง พวกเรายังคงใช้รถไฟ และรถบัส เป็นพาหนะในการเดินทางไปสนามแข่งเช่นเดียวกับวันวาน ทางเข้าสนามผู้คนบางตากว่าวันควอลิฟายสร้างความประหลาดใจให้เราเป็นอันมาก แต่เมื่อเข้าไปที่อัฒจันทร์ก็พบคำตอบว่าทำไมภายนอกสนามผู้คนจึงไม่แน่นหนา เนื่องมาจากคนส่วนใหญ่ราว 3 ใน 4
ส่วน ได้เข้าไปนั่งรอบนอัฒจันทร์ และตามภูเขารอบสนามมีอยู่ร่วมแสนคน เพื่อรอการแข่งซึ่งจะเริ่มขึ้นในเวลา 14.30 น.
ชูมาเคร์ และทาคูมา ซาโต ยังคงเป็นพระเอกในสนามแข่งแห่งนี้ พวกเราคาดหวังจะได้ชม "ชอทเด็ด" เนื่องจากที่นั่งอยู่ใกล้กับช่วงสุดทางตรงก่อนเข้าโค้งแรก การออกสตาร์ทเป็นช่วงที่ตื่นเต้นที่สุดช่วงหนึ่งที่วัดทั้งใจและดวงว่าจะ "อยู่หรือไป ?" การออกสตาร์ทเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เราได้เห็น "ชั้นเชิง" ในเกม เอฟ 1 ของ ชูมาเคร์ในการ "บังไลน์" ผสมผสานการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีม บาร์ริเชลโล ที่ช่วยประกบคอยระวังด้านหลัง ส่วน ชูมาเคร์ ผู้น้องก็ออกสตาร์ทได้อย่างเฉลียวฉลาด เต็มไปด้วยไหวพริบด้วยการฉีกกลุ่มออกมาทางซ้าย แล้วเสียบเข้าไลน์ในช่วงโค้งขวาได้อย่างสวยงาม แต่ไปไม่รอดต้องจบเห่จากเครื่องยนต์ทำพิษในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่รอบเท่านั้นเอง
การแข่งขันคราวนี้ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไรนักเนื่องจากแทบจะไม่มีการแซงกันเลยยกเว้นในช่วงที่รถแข่งกลุ่มนำขับมา "นอครอบ" รถที่อยู่อันดับท้ายๆ การเข้าพิท ทุกทีมแทบไม่มีข้อผิดพลาดเลย อันดับเปลี่ยนเกิดจากการที่รถแข่งบางคันต้องออกจากการแข่งขันไป แฟร์รารี เข้าเส้นชัยที่ 1 และ 2 แบบ "แบเบอร์" แต่ภาพในจอที่ถ่ายจากกล้องในสนามจับภาพอยู่ที่ ซาโต ในช่วงท้ายของการแข่งขันมากกว่ารถผู้นำเสียอีก คนญี่ปุ่นและแฟนทีม จอร์แดน เฮลั่นอีกครั้งเมื่อ ราล์ฟ พัง มีผลทำให้ ซาโต อันดับขึ้นมาเป็นที่ห้า ได้รับคะแนนสะสมเป็นครั้งแรกและได้ต่อสัญญาในปีหน้ายังคงขับให้กับทีม จอร์แดน ร้านขายของที่ระลึกของทีมแฟร์รารี และจอร์แดน คลาคล่ำไปด้วยสาวกผู้รักความเร็ว หลังจากที่ได้ทำผลงานประทับใจผู้ชมในครั้งนี้
หลังจากจบการแข่งขันเราต้องใช้เวลายาวกว่า 4 ชม. ในการเดินทางกลับไปโรงแรมซึ่งอยู่ห่างเพียงแค่ 70 กม. เนื่องจากผู้คนนับแสนต่างทยอยกลับสู่ภูมิลำเนา และเส้นทางที่ออกจากสนามแข่งต้องผ่านชุมชนซึ่งมีสัญญาณไฟจราจรแทบจะทุกแยก รถติดยาวหลายกิโลเมตร
ทีมโตโยตา แม้ว่าจะเข้าร่วมเข้าสู่การแข่ง เอฟ 1 เป็นปีแรก แต่ก็มีผลงานที่ไม่เลวเลยทีเดียว มิคา ซาโล ให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันว่า "การแข่งขันในวันนี้เขายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรช่วงกลางของการแข่งขันรถมีปัญหาในการควบคุมซึ่งเกิดจากการเซทยาง แถมยังมีปัญหาด้านอีเลคทรอนิคอีกด้วย แต่สามารถแก้ไขได้สำเร็จในขณะเข้าพิท ผมดีใจที่ได้ปิดท้ายฤดูกาลกับ โตโยตา และวิ่งจนครบรอบในการแข่งขันครั้งนี้"
โอเว แอนเดอร์สัน ประธานทีมแข่ง โตโยตา กล่าวว่า " ผมรู้สึกพอใจกับผลงานของทีมซึ่งเข้าร่วมแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน เป็นปีแรก รวมทั้ง ผลงานอันดับ 8 ของ ซาโล ในครั้งนี้ และก็เสียใจกับแฟนชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้เห็น แมคนิส ลงแข่งในสนามสุดท้าย คิดว่าปีหน้าหลายๆ อย่างคงจะดีขึ้นอย่างแน่นอน"
ส่วน ฟูจิโอะ โช ประธาน โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน กล่าวว่า "ผมเสียใจที่ แมคนิช ไม่ได้ร่วมแข่งขันในครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีกับ ซาโล ที่ปิดฉากการแข่งในฤดูกาลนี้ในอันดับ 8 และต้องขอขอบคุณนักแข่งทั้งสองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในการพัฒนาทีมแข่ง โตโยตา แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับความสำเร็จในเกมส์การแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน แต่เราก็จะทำให้ดีขึ้นไปอีกในปี 2003 โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาทีมให้ดีขึ้นต่อไป"
ขอขอบคุณ : คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่มอบประสบการณ์ซึ่งเราได้รับจากการเข้าชมสุดยอดความเร็วทางเรียบที่ ซูซูกะ เซอร์กิท ในครั้งนี้
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไททาเนียม
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2545
คอลัมน์ Online : ขอบสนามแข่ง ฟอร์มูลา 1 (formula)