ขอบสนามแข่ง ฟอร์มูลา 1 (formula)
สถานการณ์คืนสู่สภาพปกติแฟร์รารี เรียงแถวผ่านธงตราหมากรุกในอันดับ 1-2
ทีมม้าป่าลำพองสีแดงเพลิงแห่งมาราเนลโลกลับมาผงาดบนสังเวียน เอฟ 1 อีกครั้ง เมื่อ มิคาเอล ชูมาเคร์ คว้าแชมพ์ 8 สนามของการแข่งขัน 9 สนามเปิดฤดูกาล พร้อมกับการทะยาน เอฟ-2004 เข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 เป็นสนามที่ 6 ขณะที่ทีมคู่ปรับทั้ง วิลเลียมส์ และแมคลาเรน ยังคงอยู่ในช่วงขาลงต่อไป ปล่อยให้ทีม บาร์ ก้าวขึ้นมาแซงหน้าได้อย่างต่อเนื่อง รองแชมพ์โลกปีนี้ต้องขับเคี่ยวกันหนักแน่ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนแชมพ์โลกปีนี้ทั้งประเภทผู้ขับ และประเภททีม "ฟันธง" ยกให้ แฟร์รารี ไปครองอีกสมัย กับการคว้าแชมพ์โลกเป็นสมัยที่ 7 และ 5 สมัยซ้อนของ มิคาเอล
ศึก ฟอร์มูลา วัน ผ่านพ้นไป 8 สนาม สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง หลังเสร็จศึกที่ โมนาโค กรองด์ปรีซ์ สนามแข่งขันแห่งเดียวที่ มิคาเอล ชูมาเคร์ พลาดท่าประสบอุบัติเหตุรถชนกำแพงในอุโมงค์ จนต้องออกจากการแข่งขันไปในที่สุด หยุดสถิติการคว้าแชมพ์ต่อเนื่องตั้งแต่เปิดฤดูกาลไว้ที่ 6 สนาม ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ และเทียบเท่า ไนเจล แมนเซลล์ "เจ้าหนวดหิน" ที่ปัจจุบันแขวนพวงมาลัยไปเอาดีทางกีฬากอล์ฟ
การกลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้งของทีม แฟร์รารี ในสนามที่ 7 รายการ ยุโรป กรองด์ปรีซ์ ที่นืร์บวร์กริงก์ เซอร์กิท ประเทศเยอรมนี ตามมาด้วยสนามที่ 8 รายการ แคนาดา กรองด์ปรีซ์ ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา ทีม แฟร์รารี กลับมาทวงคืนแชมพ์ได้สำเร็จ ด้วยการเรียงแถวเข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 ทั้ง 2 สนามติดต่อกัน เป็นการเข้าเส้นชัยใน 2 อันดับแรกเป็นสนามที่ 5 ของปีนี้ โดย มิคาเอล ชูมาเคร์ คว้าแชมพ์ไปครองได้ทั้งหมดรวม 7 สนามของการแข่งขันทั้งหมด 8 สนาม เปิดฤดูกาล
ยุโรป กรองด์ปรีซ์
แฟร์รารี กวาด 2 อันดับแรกอีกครั้ง
ศึก ยุโรป กรองด์ปรีซ์ สนามที่ 7 ของจำนวนทั้งหมด 18 สนามประจำฤดูกาลปี 2004 ที่ทีมม้าป่าลำพองสีแดงเพลิงแห่งมาราเนลโล ฮ้อเต็มเหยียด ทะยาน เอฟ-2004 เข้าเส้นชัยคว้าแชมพ์ประจำรายการไปครองแบบเรียงแถวในอันดับ 1-2 อีกครั้ง หลังจากเสียแชมพ์ไปให้กับ ยาร์โน ตรุลลี นักขับชาวอิตาเลียนสังกัดทีม เรอโนลต์ ที่ มนเต การ์โล เซอร์กิท ในศึก โมนาโค กรองด์ปรีซ์
มิคาเอล ชูมาเคร์ คว้าชัยชนะในเซอร์กิทแห่งนี้ในแบบม้วนเดียวจบ หลังจากคว้าโพลโพสิชันได้ในรอบควอลิฟายด์เมื่อวันเสาร์ เป็นการคว้าโพลครั้งที่ 60 ในชีวิต เอฟ 1 ส่วน รูเบนส์ บาร์ริเชลโล มือสองของ แฟร์รารี ชาวบราซิล ทำเวลาในรอบควอลิฟายด์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ออกสตาร์ทจากอันดับ 7 แต่สามารถโชว์ศักยภาพอันแข็งแกร่งด้วยการคว้ารองแชมพ์ในรายการนี้ได้สำเร็จ เป็นการเข้าเส้นชัยในอันดับ 2 ของ บาร์ริเชลโล เป็นสนามที่ 4 ของปีนี้
ทาคูมา ซาโต ดาวรุ่งหนึ่งเดียวจากแดนอาทิตย์อุทัยบนสังเวียน เอฟ 1 ในขณะนี้ สังกัดทีมบาร์ สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการทำเวลาต่อรอบในรอบควอลิฟายด์เป็นรองแค่ มิคาเอล เพียงคนเดียวเท่านั้น ได้ออกสตาร์ทหัวแถวในอันดับ 2 เป็นอันดับออกสตาร์ทที่ดีที่สุดของเขา โดยสนามที่ 5 ที่ บาร์เซโลนา ในรายการ สเปน กรองด์ปรีซ์ ทำได้ในอันดับที่ 3 จากจุดสตาร์ท ทางด้านแชมพ์ โมนาโค กรองด์ปรีซ์ ตรุลลี ทีม เรอโนลต์ สนามนี้ออกสตาร์ทจากอันดับ 3 ตามหลัง มิคาเอล อยู่เพียง 0.784 วินาทีเท่านั้น
ทีม แมคลาเรน ยังไม่สามารถเรียกฟอร์มเก่งกลับคืนมาได้ เพราะเครื่องยนต์มีปัญหาควันโขมงมาตลอดตั้งแต่เริ่มเปิดฤดูกาลเป็นต้นมา ส่วนสนามนี้รถของ เดวิด คุลธาร์ด พังตั้งแต่ในรอบควอลิฟายด์ และในวันแข่งจริงต้องไปออกสตาร์ทจากท้ายแถวอีกครั้ง ส่วนเพื่อนร่วมทีม คีมี ไรค์โคเนน สนามนี้ทำผลงานได้ดีขึ้นด้วยการทำเวลาในรอบควอลิฟายด์ติดอันดับ 4 และอันดับ 5 ตกเป็นของ เจนสัน บัททัน อีกหนึ่งดาวรุ่งจากเมืองผู้ดีแห่งทีม บาร์ ที่ต้องจับตามองให้ดี มีโอกาสคว้ารองแชมพ์โลกได้ในปีนี้
หลังสัญญาณไฟออกสตาร์ท รถแข่งหลายคันต่างมุ่งช่วงชิงเข้าโค้งแรก จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างรุนแรงตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ท โดยรถของ ทาคูมา ซาโต ต้องเบรครุนแรงก่อนเข้าโค้งแรก ทำให้รถของ ฮูอัน ปาบโล มนโตยา แตะเบรคกะทันหันจนไปสะกิดกับ บาร์ริเชลโล เป็นผลให้ ราล์ฟ ชูมาเคร์ ไปเฉี่ยวท้ายรถของ มนโตยา เพื่อนร่วมทีม วิลเลียมส์ และในที่สุดรถของ ราล์ฟ ถูกชนท้ายอย่างรุนแรง จนรถลอยขึ้นไปกลางอากาศ ผลปรากฏว่าต้องออกจากการแข่งขันไปในทันที กริสตีอาโน ดา มัตตา ทีม โตโยตา เป็นอีกคันหนึ่งในอุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้มัตตา ต้องออกจากการแข่งขันไป
ทางด้าน มิคาเอล หลังจากช่วงชิงเข้าโค้งแรกไปก่อนใคร ทะยาน เอฟ-2004 ฉีกหนีห่างไปไกล จนกระทั่งเข้าเส้นชัยไปแบบม้วนเดียวจบ แบบไร้คู่แข่งอย่างสิ้นเชิง
การคว้าแชมพ์ของ มิคาเอล ในครั้งนี้ซึ่งนับเป็นแชมพ์ครั้งที่ 76 ในชีวิตนักแข่งรถ เอฟ 1 ของเขา เป็นการมาคว้าแชมพ์ในเซอร์กิทแห่งนี้เป็นครั้งที่ 3 เมื่อสังกัดทีม แฟร์รารี ทั้ง 3 ครั้ง ในปี 2000/2001 และครั้งล่าสุด โดย บาร์ริเชลโล ก็ตามมาเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ด้วยเวลาห่างแค่ 17.9 วินาที และอันดับ 3 ปรากฏว่าเป็นของ บัททัน จากอังกฤษได้ขึ้นโพเดียมอีกสนาม และเป็นการขึ้นโพเดียมเป็นสนามที่ 5 ของการแข่งขันทั้ง 7 สนามที่ผ่านมา ขณะที่เพื่อนร่วมทีม ซาโต ที่คว้าอันดับ 2 จากจุดสตาร์ทได้เป็นครั้งแรก แต่ไม่จบการแข่งขันขณะที่เหลือการแข่งขันอีกเพียง 13 รอบ สาเหตุเกิดจากเครื่องยนต์พังเช่นเดียวกันกับสนามที่แล้ว
จากการเรียงแถวเข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 ของทีม แฟร์รารี ในรายการนี้ เป็นสนามที่ 4 ของฤดูกาล อันดับที่ 4 เป็นของ ตรุลลี แห่งทีม เรอโนลต์ ตามมาด้วยเพื่อนร่วมทีมจากสเปน แฟร์นันโด อาลนโซ
มิคาเอล เป็นนักขับที่ทำสถิติความเร็วสูงสุดประจำสนามแห่งนี้ ด้วยความเร็วต่อรอบ 1 นาที 32.226 วินาที เมื่อปี 2002 ส่วน มนโตยา เป็นนักขับที่ทำความเร็วต่อรอบในรอบควอลิฟายด์ได้เร็วที่สุดคือ 1 นาที 29.906 วินาที เมื่อปี 2002 เช่นกัน สังกัดทีม วิลเลียมส์ และทีม วิลเลียมส์ สามารถคว้าแชมพ์ในแบบเรียงแถวเข้าเส้นชัยในอันดับ 1-2 ได้เมื่อปีที่แล้ว โดย ราล์ฟ เป็นผู้คว้าแชมพ์ไปครอง
ส่วนข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับ ชากส์ วิลล์เนิฟ ในขณะนี้ เกี่ยวกับการจะเข้ามาสังกัดทีม วิลเลียมส์ ในปีหน้า ซึ่งนักขับทั้ง 2 ของทีม วิลเลียมส์ จะย้ายทีมออกไป และเริ่มมีความเป็นไปได้สูง หลังจากได้มาทำการทดสอบกับ วิลเลียมส์ และล่าสุดมีรายงานว่าได้ทำการทดสอบที่สนามของ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเครื่องยนต์แก่ทีม วิลเลียมส์ เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร และมีโพรแกรมทดสอบที่ เจเรซ เซอร์กิท ที่สเปน
[table]ผลการแข่งขัน ยุโรป กรองด์ปรีซ์
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, เวลารวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 1 ชั่วโมง 32 นาที 35.101 วินาที
2, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, + 17.989 วินาที
3, เจนสัน บัททัน, บาร์, + 22.533 วินาที
4, ยาร์โน ตรุลลี, เรอโนลต์, + 53.673 วินาที
5, แฟร์นันโด อาลนโซ, เรอโนลต์, + 1 นาที 00.987 วินาที [/table]
แคนาดา กรองด์ปรีซ์
แชมพ์ 2 สนามติดต่อกันในอันดับ 1-2 ของ แฟร์รารี
การแข่งขันในปีนี้มีการพลิกลอคเล็กน้อยในรอบควอลิฟายด์ เมื่อ ราล์ฟ ชูมาเคร์ ทีม วิลเลียมส์ คว้าโพลโพสิชันไปครองได้เป็นสนามแรกของปี ตามมาด้วย เจนสัน บัททัน ดาวรุ่งที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ อันดับ 3 จากจุดสตาร์ทเป็นของ ยาร์โน ตรุลลี แชมพ์ประจำรายการ โมนาโค กรองด์ปรีซ์ ทีม เรอโนลต์ และอันดับ 4 เป็นของนักขับเลือดร้อนจากโคลัมเบีย ฮูอัน ปาบโล มนโตยา ทางด้านทีม แฟร์รารี สนามนี้ผลงานในรอบควอลิฟายด์ทำได้ไม่ดี มิคาเอล ติดอันดับ 6 จากจุดสตาร์ท ตามมาด้วย บาร์ริเชลโล อันดับ 7
ในวันแข่งจริงหลังจบการแข่งขันทีม วิลเลียมส์ และทีม โตโยตา ถูกสหพันธ์ยานยนต์ปรับดิสควอลิฟายด์ เป็นผลให้ทั้ง ราล์ฟ และ มนโตยา ไม่สามารถเก็บแต้มออกไปจากสนามนี้ได้ โดย มิคาเอล เข้าเส้นชัยไปเป็นอันดับแรกตามมาด้วย ราล์ฟ ที่คว้าโพลสนามนี้ไปครอง อันดับ 3 เป็นของ บาร์ริเชลโล/บัททัน ติดอันดับ 4 และ มนโตยา เข้าเส้นชัยในอันดับที่ 5 จานการ์โล ฟิซิเกลลา ทีม เซาเบอร์ อันดับ 6 ไรค์โคเนน อันดับ 7 และอันดับ 8 เป็นของ กริสตีอาโน ดา มัตตา แห่งทีม โตโยตา
หลังจากนำรถไปตรวจสภาพเมื่อการแข่งขันได้เสร็จสิ้นลง พบว่าท่อระบายความร้อนของระบบเบรคที่ล้อหน้าผิดกฎกติกาของสหพันธ์ยานยนต์หรือ เอฟไอเอ ทำให้ทีม วิลเลียมส์ และทีม โตโยตา ถูกดิสควอลิฟายด์ ทางทีม โตโยตา พยายามที่จะยื่นประท้วง แต่เลยเวลาตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการยื่นประท้วงไปก่อน และสนามต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนระบบเบรคใหม่เพื่อให้ถูกต้องตามกติกา โดยเริ่มกันตั้งแต่ที่ อินเดียนา โพลิส สปีดเวย์ ในรายการ สหรัฐ กรองด์ปรีซ์ สนามที่ 9 การดิสควอลิฟายด์ของทั้ง 2 ทีมนี้ที่จบการแข่งขันในอันดับที่มีแต้มเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอันดับด้วยกัน
มิคาเอล ทะยาน เอฟ-2004 รหัสล่าสุดของ แฟร์รารี ผ่านธงตราหมากรุกไปเป็นคันแรก หลังจบการแข่งขันรวม 70 รอบสนาม ฌิลล์ วิลล์เนิฟ ออกสตาร์ทจากอันดับที่ 6 ทิ้งห่าง บาร์ริเชลโล ที่อันดับขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ถึง 5.108 วินาที ดาวรุ่งจากอังกฤษ บัททัน แห่งทีม บาร์ สนามนี้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 โดยทำเวลาเข้าเส้นชัยตามหลัง มิคาเอล ถึง 20.409 วินาที การแข่งขันในรายการนี้ได้เกิดอุบัติเหตุตั้งแต่ช่วงแรกของการแข่งขัน เมื่อรถแข่งเกิดเฉี่ยวชนกันหลายคัน แต่ยังสามารถแข่งขันต่อไปได้
การคว้าแชมพ์ของ มิคาเอล ชูมาเคร์ เป็นการนำยุทธวิธีการเข้าพิทมาใช้อีกครั้ง ด้วยการวางแผนเข้าพิทเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ทีมอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเข้าพิทรวม 3 ครั้ง
เซอร์กิทแห่งนี้ค่อนข้างถูกโฉลกกับ ราล์ฟ ชูมาเคร์ สามารถมาคว้าโพลโพสิชันได้ที่สนามแห่งนี้ได้ 2 ปีติดต่อกัน และเข้าเส้นชัยได้ในอันดับ 2 ทั้ง 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้ถูกดิสควอลิฟายด์ ราล์ฟ เคยมาคว้าแชมพ์ได้ที่รายการนี้เมื่อปี 2001 ส่วน มิคาเอล คว้าแชมพ์ในปีนี้ติดต่อกัน 3 สมัย เป็นการคว้าแชมพ์ได้ที่ ฌิลล์ วิลล์เนิฟ เซอร์กิท รวม 7 สมัย
ทางด้านทีม เรอโนลต์ สนามนี้ต้องออกจากการแข่งขันไปทั้ง 2 คัน โดย ตรุลลี ออกจากการแข่งขันไป ตั้งแต่ช่วงออกสตาร์ท ระบบกันสะเทือนเสียหายตั้งแต่รอบแรก ต้องออกจากการแข่งขัน ส่วนเพื่อนร่วมทีม อาลนโซ สนามนี้มีโอกาสได้ขึ้นโพเดียมเช่นกัน ขณะนำอยู่ในกลุ่มหัวแถวในอันดับ 3 แต่รถมีปัญหาเกี่ยวกับระบบกันสะเทือนเช่นกัน รถถูกดึงเอียงไปทางซ้ายจนประสบอุบัติเหตุชนข้างทาง ต้องออกจากการแข่งขันไปเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเข้าพิทเสียเวลาเนื่องจากหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงติดขัด
ทีม แฟร์รารี ยังคงเป็นทีมที่ครองความยิ่งใหญ่บนสังเวียน ฟอร์มูลา วัน ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยยังไม่มีทีมใดที่สามารถขึ้นมาต่อกรกับม้าป่าลำพองแห่งมาราเนลโลได้อย่างสูสี โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย
[table]ผลการแข่งขัน แคนาดา กรองด์ปรีซ์
อันดับ, นักขับ, ทีม, เวลารวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 1 ชั่วโมง 28 นาที 24.803 วินาที
2, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, + 5.108 วินาที
3, เจนสัน บัททัน, บาร์, + 20.409 วินาที
4, จานการ์โล ฟิสิเกลลา, เซาเบอร์, + 1 รอบ
5, คีมี ไรค์โคเนน, แมคลาเรน, + 1 รอบ [/table]
สหรัฐ กรองด์ปรีซ์
แฟร์รารี เรียงแถวคว้าแชมพ์อันดับ 1-2 เป็นสนามที่ 3 ติดต่อกันทีม แฟร์รารี โชว์ความแข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่องด้วยการทะยาน เอฟ-2004 เข้าเส้นชัยไปใน 2 อันดับแรกอีกครั้ง เป็นการคว้าแชมพ์ในอันดับ 1-2 เป็นสนามที่ 6 ของการแข่งขันที่ผ่านไปแล้ว 9 สนามของปีนี้ การคว้าแชมพ์ครั้งนี้ของ แฟร์รารี เป็นการคว้าแชมพ์ใน 2 อันดับแรก 3 สนามติดต่อกัน และเป็นการคว้าแชมพ์สนามที่ 8 ของการแข่งขันที่ผ่านไปทั้งหมด 9 สนามเปิดฤดูกาลของ มิคาเอล ชูมาเคร์
ศึก สหรัฐ กรองด์ปรีซ์ จบลงด้วยการคว้าชัยชนะไปครองของ มิคาเอล เป็นการคว้าแชมพ์ครั้งที่ 78 และเป็นการคว้าแชมพ์ครั้งที่ 3 จากการลงแข่งขันรวม 5 ครั้งในศึก สหรัฐ กรองด์ปรีซ์ ที่อินเดียนา โพลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ ในมลรัฐอินเดียนา
รูเบน บาร์ริเชลโล คู่หูแห่งทีมแฟร์รารี เข้าเส้นชัยในอันดับ 2 ตามหลังอยู่ 2.9 วินาที โชว์ผลงานได้อย่างเยี่ยมยอดจากการคว้าโพล โพสิชันเป็นครั้งแรกของฤดูกาล 2004 เป็นการคว้าโพลโพสิชัน เป็นสนามที่ 10 ในชีวิตการแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน ของเขา ส่วนอันดับ 3 มีเซอร์ไพรส์เล็กน้อย เมื่อนักขับหนึ่งเดียวจากญี่ปุ่น สังกัดทีม บาร์ ทาคูมา ซาโต ได้ขึ้นโพเดียมเป็นครั้งแรกในชีวิตการแข่งขัน เอฟ 1 หลังจากขับเคี่ยวกับ ยาร์โน ตรุลลี แห่งทีม เรอโนลต์ และสามารถแซงขึ้นมารับอันดับ 3 ได้สำเร็จ เป็นนักแข่งคนแรกของญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นโพเดี้ยม ส่วนเพื่อนร่วมทีม บาร์ ดาวรุ่งจากอังกฤษ เจนสัน บัททัน สนามนี้ต้องออกจากการแข่งขันไป เนื่องจากระบบเกียร์พัง
รายการนี้มีอุบัติเหตุอย่างรุนแรงกับ ราล์ฟ ชูมาเคร์ หลังจากรถของทีม วิลเลียมส์ ประสบอุบัติเหตุ พุ่งชนกำแพงขณะทำความเร็ว 320 กม./ชม. ในช่วงทางตรงยาว จุดที่ทำความเร็วได้สูงสุดของสนาม เนื่องจากยางแตก ขณะอยู่อันดับ 7 ราล์ฟ สงบนิ่งอยู่ในซากรถเป็นเวลานานได้รับบาดเจ็บหนัก ก่อนที่เจ้าหน้าที่ประจำสนามจะมาช่วยกันพาร่างของเขาสู่โรงพยาบาล รถเซฟที คาร์ออกมาเคลียร์พื้นที่ และจัดขบวนสตาร์ทกันใหม่
ตรุลลี แชมพ์ โมนาโค กรองด์ปรีซ์ คนล่าสุดแห่งทีม เรอโนลต์ สนามนี้จบการแข่งขันในอันดับ 4 นำหน้า ออลีวีแเอร์ ปานีส สังกัดทีม โตโยตา นักขับชาวฝรั่งเศสที่ได้ฉลองการลงแข่งขันในศึก ฟอร์มูลา วัน เป็นครั้งที่ 150 ด้วยการเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 5
ทีม แมคลาเรน หลังจากการเปิดตัวรถแข่งรุ่นใหม่ ลงสนามไปเมื่อรายการที่แล้ว รายการนี้เก็บแต้มได้ โดยจบการแข่งขันแบบมีแต้มติดมือกลับไปทั้ง 2 คัน คีมี ไรค์โคเนน เข้าเส้นชัยในอันดับ 6 ตามมาด้วยเพื่อนร่วมทีม เดวิด คุลธาร์ด อันดับ 7 และอันดับ 8 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายที่มีแต้ม เป็นการประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของนักขับน้องใหม่ ซอลท์ บวมการ์ทเนอร์ ที่ลงแข่งในปีนี้เป็นปีแรก และเป็นการเก็บแต้มแรกของฤดูกาลให้กับทีม มินาร์ดี
การเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงในช่วงสตาร์ท เป็นอีกส่วนหนึ่งของโชคในการคว้าแชมพ์ประจำรายการนี้เป็นผลให้ มิคาเอล ขยับอันดับขึ้นมา และหลังจากรถเซฟที คาร์ออกมาเคลียร์พื้นที่ มีการรีสตาร์ทกันใหม่ ที่โค้งสุดท้ายเราได้เห็นรถ แฟร์รารี ที่ขับโดย มิคาเอล ออกจากโค้งมาเป็นคันแรก แซง บาร์ริเชลโล ขึ้นมาได้ ส่วน แฟร์นันโด อาลนโซ ดาวรุ่งทีม เรอโนลต์ ไล่ขึ้นมาอยู่ที่ 3 มีโอกาสในการขึ้นโพเดียมอีกครั้ง แต่ไม่สามารถจบการแข่งขันได้อีกสนาม เนื่องจากยางหลังด้านขวาแตกเช่นกัน รถหมุนชนกำแพงประสบอุบัติเหตุเล็กน้อย ต้องออกจากการแข่งขันไป
ทีม วิลเลียมส์ ไม่สามารถเก็บแต้มได้ 2 สนามติดต่อกัน รายการนี้หลังจาก มนโตยา ขับไปได้ถึง 50 รอบสนาม ก็ถูกคณะกรรมการโบกธงดำ ให้เข้าจอดในพิท ต้องออกจากการแข่งขันไป เนื่องจากลงมาจากรถ หลังจากออกสตาร์ทไปแล้ว 15 วินาที เป็นการถูกดิสควอลิฟายด์ 2 สนามติดต่อกันของ มนโตยา นับว่าเป็นความล้มเหลวมากที่สุดในรอบหลายปีของทีม วิลเลียมส์ ส่วนรายการต่อไป ฝรั่งเศส กรองด์ปรีซ์ จัดที่ประเทศฝรั่งเศส ราล์ฟ ไม่ได้ลงแข่งขัน เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากรายการนี้
[table]ผลการแข่งขัน สหรัฐ กรองด์ปรีซ์
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, เวลารวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 1 ชั่วโมง 40 นาที 29.914 วินาที
2, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, + 02.950 วินาที
3, ทาคูมา ซาโต, บาร์, + 22.036 วินาที
4, ยาร์โน ตรุลลี, เรอโนลต์, + 34.544 วินาที
5, ออลีวีแอร์ ปานีส, โตโยตา, + 37.534 วินาที [/table]
[table]สรุปคะแนนสะสมรวม 9 สนาม
ประเภทผู้ขับ
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, คะแนนรวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์, แฟร์รารี, 80
2, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล, แฟร์รารี, 62
3, เจนสัน บัททัน, บาร์, 44
4, ยาร์โน ตรุลลี, เรอโนลต์, 41
5, แฟร์นันโด อาลนโซ, เรอโนลต์, 25 [/table]
[table]ประเภททีมผู้ผลิต
อันดับ, ทีม, คะแนนรวม
1, แฟร์รารี, 142
2, เรอโนลต์, 66
3, บาร์, 58
4, วิลเลียมส์, 36
5, แมคลาเรน, 17 [/table]
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไททาเนียม
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : ขอบสนามแข่ง ฟอร์มูลา 1 (formula)