เล่นท้ายเล่ม
อาหารแห่งความรัก
ก่อนผมเข้ากรุงเทพ ฯ เพลงจากเครื่องรับวิทยุหลอดระงมไปด้วยเสียงเพลงจาก สุนทราภรณ์ (วงดนตรีกรมโฆษณาการขณะนั้น) เสียงขับกล่อมของ มัณฑนา โมรากุล, วินัย จุลละบุษปะ, ชวลี ช่วงวิทย์, เลิศ ประสมทรัพย์ คู่กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ พิมพ์ฝันไว้กับผมอย่างไม่รู้หาย
แหวนประดับก้อย จากการแต่งของล้วน ควันธรรมกระหึ่มและดังมากในปีที่กรุงเทพ ฯ น้ำท่วมคือปี ๒๔๘๕ เป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์งานเพลงของล้วน ว่าเป็นบทที่เขียนด้วยเลือดที่หลั่งมาจากหัวใจ เขียนจากประสบการณ์แห่งชีวิตอันเจ็บอย่างร้าย เหมือนวงการเพลงวิจารณ์งานของ แอม-เสาวลักษณ์ เขียน แค่เสียใจไม่พอ อย่างไรอย่างนั้น
ในปีเดียวกัน สง่า อารัมภีร อายุ ๒๑ เขียนเพลงแรกให้กับชีวิตชื่อเพลง บัวงาม พร้อม ๆ กับพรานบูรพ์ เขียนเพลง อยากจะรักสักครั้ง ให้กับละครเรื่องชื่อเดียวกัน
ขณะที่ วิชัย โกกิลกนิษฐ หรือในนาม ธาตรี อายุ ๑๙ ปีได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการกรมโฆษณาการ
ปีถัดมา สง่า อารัมภีร เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับศิลปินค่ายละครคณะ ศิวารมณ์ วงดนตรีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูงมีด้วยกัน ๓ วง คือ วงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งมี เอื้อ สุนทรสนาน อายุ ๓๓ เป็นหัวหน้าวง, วงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดย นารถ ถาวรบุตร อายุ ๓๘ เป็นหัวหน้า และวงดุริยะโยธิน ของกองทัพบก
สุรัฐ พุกกะเวส เป็นอีกคนที่ผมคุ้นเคยมากในขณะเขาเป็น บิ๊กบอส ของค่ายดาราไทย พิมพ์ และจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ ส่วนผมทำงานให้กับหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองที่ซอยวรพงษ์บางลำพู ในปี ๒๔๘๖ สุรัฐเรียนจบเตรียม ม.ธ.ก. รุ่น ๔ เริ่มเขียนเพลงแรก หาดแสนสุข ซึ่ง เวสสุนทรจามร เป็นผู้ให้แต่ง กับเพลง ดอกไม้เมืองเหนือ และเพลง ราตรี สองเพลงนี้เอื้อ สุนทรสนานเป็นคนให้แต่ง
วงดนตรี สุนทราภรณ์ ไปปรากฏวงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน สามแยก
แก้ว อัจฉริยกุล เขียนเพลงดัง พรานทะเล เป็นอีกคนเหมือนกันที่ผมคุ้นเคย ท่านผู้นี้เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ เชิงสะพานกษัตรย์ศึก
ระหว่างสงครามโลก กรมโฆษณาการ ของรัฐบาลก็ต้องทำงานหนัก เพราะรัฐบาลมีกระบอกเสียงอยู่เพียงอย่างเดียว คลื่นวิทยุกรมโฆษณาการจะไปได้ทั่วประเทศหรือเปล่าผมไม่ทราบแต่ขณะเวลานั้นเป็นช่วงที่ผมอยู่จังหวัดนครปฐม กำลังศึกษามัธยมต้นและปลาย สามารถรับฟังได้ชัดเจน ซึ่งมีรายการปลุกใจอย่างรายการ นายมั่น นายคง ให้ฟังเป็นประจำ
การปลุกใจประชาชนรวมไปถึงงานเพลงของ วงดนตรีกรมโฆษณาการด้วย ซึ่งก็มีบทเพลงปลุกใจหลายเพลงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงที่ เอื้อ สุนทรสนานเขียนทำนองจากบทพระราชนิพนธ์ของ ร.๖ เช่นเพลง ไทยรวมกำลัง
ไทยรวมกำลังตั้งมั่น จะสามารถป้องกันขันแข็ง ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรง มายุทธ์แย้งก็จะปลาตไป ฯ
หรือเพลง คำปฏิญาณ ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย ฯและเพลง ไร้รักไร้ผล เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติ ศาสนา ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย ฯ
ปี ๙๑ ขณะที่ สุรัฐ พุกกะเวส แต่งเพลง คูหาสวรรค์ ให้กับ วงดนตรี สุนทราภรณ์ ผมเข้ากรุงเทพ ฯ เริ่มมาใช้ชีวิตเป็นคนกรุงเทพ ฯ ด้วยการเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๗ ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเชิงสะพานพุทธติดกับโรงเรียนเพาะช่าง และโรงเรียนเสาวภาเมื่อจบจากสวนกุหลาบ ผมก็ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นนักศึกษาในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในช่วงเวลานี้ผมมีความคุ้นเคยกับวงดนตรี สุนทราภรณ์ เป็นอย่างมาก
เนื่องจากผมเป็นดาราของมหาวิทยาลัย ความช่างพูดของผมทำให้ผมต้องรับหน้าที่เป็นโฆษกของมหาวิทยาลัย ชีวิตแห่งความเป็นโฆษกทำให้ผมคุ้นเคยกับหลาย ๆ สิ่ง นอกจากสุนทราภรณ์แล้ว ก็ยังได้รู้จักนักกีฬาดัง ๆ ของมหาวิทยาลัยทั้ง ธรรมศาสตร์และจุฬา
งานใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในรั้วเหลือง-แดง จะต้องมีวงดนตรีดังที่สุดของกรุงเทพ ฯ มาบรรเลงซึ่งก็หนีไม่พ้นวงดนตรี สุนทราภรณ์ ซึ่งรับงานเป็นว่าเล่นทั้งงานมหาวิทยาลัยและงานลีลาศของสมัยนั้นบนเวทีลีลาศของสวนอัมพร และของสวนลุมพินี
วงดนตรีทหารเรือ หรือที่มีชื่อว่า วงดนตรีดุริยางค์กองทัพทหารเรือ โดยมี เนียน วิชิตนันท์ เป็นหัวหน้าวง เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกคือเกิดในปี ๒๔๘๗ คนแต่งเพลงสำคัญคนหนึ่งเกิดที่นี่ด้วย เขาคือ ไพบูลย์ บุตรขัน ขณะนั้นอายุเพียง ๒๖ ปี มีนักร้องดัง ๆ หลายคน เช่น หนุ่มวัย ๑๘ปีชื่อ พยงค์ มุกดา และ สมยศ ทัศนพันธุ์
รวมทั้งคู่ที่ดังสุด ๆ คือ เฉลิม แก้วสมัย และ เอมอร วิเศษสุต วงดนตรีทหารเรือชอบเล่นที่สนามหลวงบ่อยที่สุดถือเป็นการคืนกำไรให้กับประชาชน จัดโดยกองทัพเรือเพลงเอก น้ำตาแสงไต้ จากละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ แสดงที่ ศาลาเฉลิมไทยในปีเดียวกันเพลงนี้แต่งโดย สง่า อารัมภีร / เวทางค์ / เนรมิต / มารุต และ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ พระเอกละครที่ขับร้องเพลงนี้คือ สุรสิทธิ สัตยวงศ์ ซึ่งแสดงเป็นพันท้ายนรสิงห์
ปีถัดมาคือปี ๘๘ หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้เพราะโดนลูกระเบิดร้ายแรงเรียกว่า ระเบิด ปรมณูสองลูก สองเมืองทั้ง ฮิโรชิมา และนางาซากิ ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีประเทศไหนกล่าวหา สหรัฐอเมริกา มีอาวุธร้ายแรงไว้ในการครอบครองเป็นการคุกคามสันติภาพชาวโลกในปีนี้ มีคณะละครดังเกิดขึ้นอีกคณะหนึ่งนอกเหนือไปจาก ศิวารมณ์ คือ อัศวินการละครโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล-พระองค์ชายใหญ่ เป็นเจ้าของ มีนักแต่งเพลงที่สำคัญของคณะละครคือ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ และ สุรพล แสงเอก
เป็นห้วงเวลาเดียวกับ วงดนตรี สุนทราภรณ์ ได้เพชรมาประดับวงอีก ๒ เม็ด คือ วินัย จุลละ บุษปะ และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ด้วยวัย ๑๖ปี เข้ารับราชการเป็นข้าราชการของกรมโฆษณาการเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เป็นอีกคนที่คุ้นเคยกับผม เธอเป็นลูกศิษย์ของครูเวส สุนทรจามร
เธอได้ร้องเพลงและได้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก คือเพลง จันทร์ข้างแรม เป็นบทพระนิพนธ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ
มัณฑนา โมรากุล นั้นเป็นคนกรุงเทพ ฯ โดยกำเนิด เกิดที่เขตอำเภอดุสิต เป็นนักเรียนมัธยมแห่งโรงเรียนเสาวภา
เมื่อายุ ๑๔ ปีก็เริ่มเล่นละครกับคณะละคร จารุกนก เข้าทำงานกรมโฆษณาการในปี ๘๒ และลาออกเมื่อปี ๙๔ ครูที่สอนการร้องเพลงนั้นมีหลายคนตั้งแต่ มิสแม็คแคน จนถึง ครูเวส สุนทร จามร ถือว่าเป็นนักร้องคนแรกของกรมโฆษณาการที่มีความสามารถและพรสวรรค์ ในการขับร้องเพลงออกอากาศและบันทึกแผ่นเสียง
เพลงที่น่าเป็นเพลงอมตะมากที่สุดที่ขับร้องโดยมัณฑนา โมรากุลนั้น ผมยกให้กับเพลง หนูเอย ซึ่งร้องและบันทึกแผ่นเสียงในปี ๒๔๘๘ ความเป็นอมตะนั้นเกิดจากเนื้อเพลงที่เขียนโดยแก้ว อัจฉ ริยกุล และเขียนทำนองโดย เวส สุนทรจามร เป็นสาระแห่งชีวิตที่เข้ากันกับทุกยุคทุกสมัยจนถึงวันนี้โดยมิได้คำนึงถึงเลยว่าเวลาได้ผ่านไปแล้วมากกว่า ครึ่งศตวรรษ
สมัยนี้เป็นสมัยที่เอาดีกันด้วยปัญญา / หนูอย่าเที่ยวหนูอย่าเตร่ อย่าเสเพลประพฤติพาล /เพราะสติปัญญานั้นจะพาให้กระเดื่อง หนูเอยชาติบ้านเมืองจะจเริญฟุ้งเฟื่อง ก็เนื่องด้วยเด็กไทยและอีกท่อน แม้ชาติต่างแดนมาหมิ่นหรือมาแคลน หนูไม่แค้นบ้างหรือไร
วิลเลียมส์ เช็คสเปียร์ส นักเขียนละครมีชื่อเสียงของโลกได้เขียนความข้อนี้ไว้
If music be the food of love, play on
แม้นดนตรีเป็นอาหารแห่งความรักแล้วไซร้ จงบรรเลงเถิ
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม