สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์
รถเกาหลี ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ฮันเด แดวู ซันยงหรือแม้แต่ เกีย เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่ยังจงรักภักดี กับรถญี่ปุ่นและรถยุโรป ทำให้รถยนต์เกาหลี ส่วนใหญ่ต้องพับฐานกลับบ้านเก่ากันไปเกือบหมด
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ กรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจเกียมอเตอร์ จำกัดผู้ที่สามารถสร้างเกียให้ผงาดในตลาดรถยนต์เมืองไทยได้อีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิ
ฟอร์มูลา : คณเริ่มเข้าสู่วงการรถยนต์ได้อย่างไร ?
บุญฤทธิ์ : ผมเริ่มทำงาน พ.ศ. 2528 ตอนนั้น จบปริญญาตรีด้านไฟแนนศ์ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จกสหรัฐอเมริกา จริง ๆ แล้วผมต้องทำงานเป็นนักวิชาการ หรือทำงานธนาคารมากกว่า แต่เนื่องจากว่าตัวเองชอบรถยนต์ ตอนเลือกเรียนที่ดีทรอยท์ เพราะอยากอยู่ใกล้ ต้องการเห็นว่ารถยนต์เป็นอย่างไง เลยตัดสินใจทำงานบริษัทรถยนต์ โดยเฉพาะรถยุโรป เลยมาทำงานกับยนตรกิจ
เมื่อทำได้ระยะหนึ่ง มองว่าตัวเองไม่มีความรู้เรื่องเทคนิครถยนต์ ก็เลยไปศึกษาต่อเรื่องรถยนต์อย่างเดียว กลับมาก็มาอบรมฝ่ายขายในเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ของรถยนต์ เพื่อนำความรู้เรื่องเทคนิคไปคุยกับลูกค้าได้
หลังจากนั้น ยนตรกิจได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่าย โฟล์คสวาเกน เอาดี แต่ตัวหลักคือ โฟล์คสวาเกน ก็ได้มีโอกาสทำการตลาดของโฟล์คสวาเกน ซึ่งการตลาดของ โฟล์ค ฯ ในช่วงนั้นคือทำทุกอย่าง และเห็นว่าเป็นงานที่แปลกเพราะที่ผ่านมา ยนตรกิจทำตลาดรถเก๋งมาตลอด จนกระทั่งได้ โฟล์ค ฯ มา ซึ่งช่วงแรกเป็นรถตู้ เพราะเมืองไทยยังเป็นระบบ ซีเคดี รัฐบาลยังให้เป็นรถระบบ ซีเคดี ยกเว้นประเภทรถตู้ ดูแล้วท้าทายดี ทำได้ระยะหนึ่ง ก็มีการลดภาษีเปิดตลาดรถเก๋ง เพื่อให้มีการแข่งขันกับรถ ซีเคดี มากขึ้นมีโอกาสนำ โฟล์ค ฯ เก๋ง และ เอาดี เข้ามาทำตลาด ซึ่งในช่วงนั้นรถตู้โฟล์ค ฯ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดแล้วโดยเฉลี่ยจำหน่ายเกือบ 500 คันต่อปี
หลังจากนั้นผมจึงย้ายไปทำงานที่ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีได้เรียนรู้ในหลายด้าน ได้ทำงานร่ามกับชาวเยอรมัน ในช่วงนั้นนับว่าบีเอมดับเบิลยูประสบความสำเร็จอย่างมากมียอดขายประมาณปีละ 7,000-8,000 คันต่อปี
ต่อมา บีเอมดับเบิลยู ก็เข้ามาดำเนินธุรกิจเอง ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มฟองสบู่แตก แต่ก็เป็นจังหวะที่โฟล์ค ฯ กรุพ ได้มีการเจรจากับยนตรกิจ ต้องการแบ่งแยกการบริหารงานของ โฟล์คสวาเกน เอาดี เซอัต ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งแต่เดิมนั้นการบริหารงานร่วมแบรนด์ จะแยกเพียงการตลาด แต่การขายร่วมกันอยู่ ผมจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่ โฟล์คสวาเกน อีกครั้งหนึ่ง เป็นยุคแรกของการทำโฟล์คสวา เกน พัสสาท
ต่อมาก็มีการทำบริษัทร่วมทุนด้านการตลาด โดยมี โจบาเบรา เป็น กรรมการผู้จัดการ กำลังอยู่ในช่วงวางแผนทีมงาน ผมชอบทำอะไรแปลกใหม่ คิดว่าตัวเองเรียนรู้มามาก ในช่วง 14 ปี ที่อยู่ในธุรกิจรถยนต์และผ่านงานมาทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายขาย ฝึกอบรม การตลาด ประชาสัมพันธ์ ดูแลตัวแทนจำหน่ายและสาขา รู้สึกว่าน่าจะมีโอกาสวางแผนงานด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงที่ ยนตรกิจได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถ เกีย พอดี ผมจึงตัดสินใจรับหน้าที่บริหารงาน เกีย
ฟอร์มูลา : เพราะอะไรจึงตัดสินใจที่จะบริหารเกีย ?
บุญฤทธิ์ : ช่วงนั้นมีคนทักท้วงในเรื่องยี่ห้อ เกีย เยอะ เพราะมีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดี รวมถึงการทำตลาดนั้นยาก เนื่องจากมีการปรับอัตราภาษี ทำให้รถมีราคาแพง ภาพของผมที่ผ่านมาจะทำรถยุโรปมาตลอด ผมคิดว่าจากประสบการณ์การทำงานของผม ภาพพจน์ของผม ผม เป็นคนสร้างสินค้า ไม่ใช่สินค้าเป็นคนสร้างตัวผม เพราะฉะนั้นไม่ว่าผมจะทำแบรนด์อะไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สินค้าเหล่านั้นเราเป็นคนทำตลาดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ และเหตุผลที่กล้าทำเพราะว่าได้ศึกษาทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา การตลาด และมองเห็นช่องว่างของตลาด รวมทั้งได้มีโอกาสบริหารงาน และวางแผนระบบงานทุกอย่าง
ในช่วงแรกผมเริ่มศึกษาภาพพจน์ของสินค้าเกาหลีในเมืองไทยมีอยู่ 4 แบรนด์ คือ ฮันเด เกีย แดวู และซันยง โดยสินค้า เกีย ช่วงนั้น คือ สปอร์ทเทจ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และประเทศไทยเปิดตลาดให้นำรถ ซีบียู เข้ามาทำตลาดโดยมีการลดภาษี แต่ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของรถเกาหลีจะสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ จึงจัดกลุ่มรถเกาหลีไว้เป็นรถเกรดต่ำกว่ารถญี่ปุ่น และเมื่อตั้งกลุ่มรถเกาหลีต่ำกว่ารถญี่ปุ่นแล้วจะทำอย่างไรให้ราคาแข่งขันได้ เนื่องจากรถญี่ปุ่นเป็นรถประกอบในประเทศ แต่รถเกาหลีเป็นรถนำเข้าถึงแม้ว่าภาษีจะลดลงแล้วก็ตาม
เมื่อก่อนจะลดภาษีด้วยการถอดอุปกรณ์ออกให้มีอุปกรณ์น้อยที่สุด แล้วก็นำรถเข้ามาในเมืองไทยก่อนอย่างรุ่นนี้ถูกหน่อยก็มีแค่แอร์อย่างเดียว ราคาสูงก็เป็นกระจกไฟฟ้า และออพชันอื่น เพิ่ม เมื่อก่อนไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แต่มีปัญหาในเรื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งคุณภาพไม่เหมือนกัน และไม่มีสตอคอะไหล่ อย่างการนำเข้ารถมาในแต่ละลอทนั้น อุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นคนละบริษัท ทำให้รถที่ขายในตลาด อะไหล่บางอย่างไม่หมือนกัน อย่างแอร์ บางครั้งก็เดินกันคนละระบบทำให้เกิดปัญหา ถ้ารถไม่มีมาตรฐานด้านอะไหล่ พอเข้าอู่ซ่อมต้องรออะไหล่ เพราะไม่รู้ว่าใส่อุปกรณ์อะไรตอนที่เริ่มทำ เกีย ใหม่ ๆ ลูกค้า นำ สปอร์ทเทจ มาซ๋อม ปัญหาที่พบคือ สตอคอะไหล่ไม่ได้เลย โดยเฉพาะอะไหล่ที่ติดอุปกรณ์ในเมืองไทย ผมมองเห็นว่าสิ่งนี้ทำให้ภาพพจน์รถเกาหลีในเมืองไทยเสีย
เมื่อยนตรกิจนำ เกีย เข้ามาทำตลาด ผมจึงมองว่า สินค้าเราต้องมีคุณภาพ จะไม่มีการลดต้นทุน ทุกสิ่งต้องมาจากเกาหลี เพราะว่ากว่าจะผลิตออกมาได้นั้นต้องมีการคิดค้นพัฒนาเป็นเวลานาน แต่ยังมีอุปกรณ์บางอย่างที่สามารถนำทำภายหลังในเมืองไทยได้ เช่น เบาะอาจจะนำมาหุ้มหนังแท้ภายหลังหรือมาใส่ลายไม้ที่พวงมาลัย คืออะไรก็ได้ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากต้นแบบเดิม
ฟอร์มูลา : มีหลักเกณฑ์อะไรในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ?
บุญฤทธิ์ : ตอนเลือกมีอยู่ 2 เหตุผล ความจริงแล้ว เกีย มีรถหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นเก๋ง เอมพีวี โฟว์วีลล์-ดไรฟ รถตู้ การทำตลาดในเมืองไทยต้องดูช่องว่างของตลาดว่าจะเจาะไปที่กลุ่มใด แต่สิ่งแรกที่ตัสินใจคือ รถเก๋ง ไม่ทำ แต่อนาคตอีกเรื่องหนึ่ง เพราะรถเก๋งไม่มีทางที่จะเกิดได้ ตอนนี้บ้านเรา โตโยตาฮอนดา เป็นสินค้าหลักในตลาดอยู่แล้ว ราคาแข่งไมได้ รวมถึงโชว์รูม จึงมองว่ารถกลุ่มไหนที่ญี่ปุ่นไม่ได้ทำตลาดอย่างจริงจัง นั่นคือ เอมพีวี ซึ่งแต่เดิม ฮอนดา เคยทำ โดยนำ ออดิสซีย์ เข้ามา ที่ประสบความสำเร็จขายได้ปีละ 800 คัน แต่เมื่อมีการปรับภาษีเพิ่มขึ้นทำให้รถมีราคาแพงมากขึ้น แต่หลังจากนั้นก็มีเซอัต อลัมบรา ที่ทำตลาดอยู่อีกยี่ห้อหนึ่ง ยอดขายประมาณ 30-35 คัน/เดือน แต่ราคาก็ค่อนข้างสูง จึงมองว่าการเจาะเข้าในตลาดนี้มีความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจเลือก คาร์นิวัล มาทำตลาด และในตลาดขณะนั้นมีแค่ 3 ยี่ห้อเท่านั้น คือ ฮอนดา ออดิสซีย์ เซอัต อลัมบรา และโฟล์คสวาเกน ชาราน แต่ถ้าดูที่บอดีแล้ว รถพวกนี้จะมีบอดี 4.8 เมตร เป็นรถคันเล็ก ส่วน เกีย คาร์นิวัล มีบอดี 4.9 เมตร ใหญ่กว่าและเป็นรถประตูสไลด์ นั่นคือข้อได้เปรียบ รวมถึงสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่า เปิดตลาดที่ราคา 1.46 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดเซกเมนท์ใหม่ของตลาด จนกระทั่งปัจจุบัน คาร์นิวัล มียอดขายกว่า 3,000 คัน
หลังจากนั้นก็นำรุ่นใหม่เข้ามาอีก 1 รุ่น คือ รถตู้ เกีย ปเรโจ เนื่องจากมองว่าตลาดในกลุ่มนี้มียอดขายประมาณปีละ 7,000 คัน แบ่งเป็น โตโยตา ไฮเฮศ ประมาณ 6,000 คัน ที่เหลือก็จะแชร์กันระหว่างนิสสัน เมร์เซเดส-เบนซ์ และโฟล์คสวาเกน ซึ่งความตั้งใจไม่ต้องการแข่งกับ โตโยตา แต่มองคอนเซพท์ของสินค้า และหาช่องว่างที่จะเสนอกับลูกค้าให้ได้ รถประเภทนี้มีผู้ใช้ 3 กลุ่ม คือ 1. รถใช้เพื่อการพาณิชย์2. กลุ่มรถฟลีท และ 3. รถใช้ส่วนตัว
เมื่อมองคุณสมบัติของรถ จะรู้ถึงข้อได้เปรียบกว่ารถยี่ห้ออื่น ในเรื่องความกว้าง ช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ นั่งสบาย แต่ก็มีข้อเสียคือบรรทุกสัมภาระได้ไม่มากนัก จึงมุ่งเป้าหมายหลักไปที่รถใช้ส่วนตัว การตัดสินใจนำรถรุ่นนี้เข้ามาจำหน่ายได้นับว่าประสบความสำเร็จมียอดขายในปีที่แล้ว 1,000 คัน แบ่งเป็นรถใช้ส่วนตัวถึง 75%
ฟอร์มูลา : เตรียมความพร้อมและวางแผน ในอนาคตสำหรับ เกีย ไว้อย่างไร
บุญฤทธิ์ : เกีย คาร์นิวัล นับว่าประสบความสำเร็จทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยอย่างเดียว ทำให้บริษัทมีความมั่นใจที่จะประกอบ เกีย คาร์นิวัลในประเทศไทย และได้มีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่สามารถจะใช้ประโยชน์จากอาฟตา ให้สามารถแข่งขันในตลาดเซาธ์อีสต์เอเชีย ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนทำ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ใช้ เพราะถึงแม้ว่ามาเลเซียจะผลิต เกีย แล้วก็ตามแต่ยังไม่สรุปว่าจะเข้าร่วมอาฟตาหรือไม่ ซึ่งหาก คาร์นิวัล ผลิตในประเทศก็จะสามารถทำตลาดในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ด้วย
ในส่วนของ ปเรโจ ก็ประสบความสำเร็จมีการเจรจากับเกาหลีในเรื่องของ เกีย ปเรโจ ที่ปัจจุบันในเกาหลีนั้นมีหลายรุ่น เช่น ช่วงล่างสปิง ช่วงล่างแหนบ มีทั้งเกียร์อัตโนมัติ 12 และ 15 ที่นั่ง แต่มีเฉพาะพวงมาลัยซ้าย ต่อไปอยากเสนอให้ประกอบ ปเรโจ ในรูปแบบอื่นที่เป็นพวงมาลัยขวา เพราะนอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศอื่น ๆ ก็มีความต้องการเช่นกัน เช่น สิงค์โปร์ ออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้เกาหลีอยู่ระหว่างการศึกษา
ส่วนอีกตลาดที่น่าสนใจคือ เอมพีวี ขนาดเล็ก นั่นคือ ซาฟีรา ที่มี 2 โมเดล คือ เครื่องยนต์ 1.8 และ 2.2ซึ่ง เกีย คาเรนส์ ในขณะนั้นมีขนาดครื่องยนต์ 1.8 และเครื่องยนต์ดีเซล แต่ก่อนที่จะทำตลาดนั้นจะต้องมองตลาด และช่องว่างก่อนว่าจะเจาะที่กลุ่มใด ดังนั้นจึงนำเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาทำตลาด เน้นความประหยัดเป็นหลัก และกลุ่มเป้าหมายในตลาดเป็นคนละกลุ่มกับ ซาฟีรา โดยตั้งเป้าขายเดือนละ 30 คัน หรือประมาณ 400 คัน/ปี แต่ปัจจุบันขายได้เดือนละ 20 คัน/เดือน ซึ่งจุดนี้นับว่าไม่ตรงกับเป้าที่ตั้งไว้ ขั้นต่อไปต้องให้ความรู้กับลูกค้าในเรื่องประโยชน์ของเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้เนื่องจากภาพของเครื่องยนต์ดีเซลคือ รถพิคอัพ ซึ่งเมื่อลูกค้าเกิดความมั่นใจ คิดว่า คาเรนส์ คงจะสามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้
นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีแผนสำหรับการประกอบรถรุ่นนี้ แต่จะเป็น เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร เบนซิน ซึ่งต้องเจรจากันว่าหากประเทศไทยมีความต้องการเรื่องของเครื่องยนต์ดีเซล และอินโดนีเซียผลิตให้ก็จะใช้สิทธิ์ของอาฟตาในการแลกเปลี่ยนกับ คาร์นิวัล คาดว่าไม่น่าเกิน 1 ปี จะสามารถสรุปได้
อีกตัวหนึ่ง คือ โซเรนโต เป็นสินค้าที่สร้างภาพพจน์ เนื่องจากเป็นรถที่มีคุณภาพสูง เป็นรถโฟว์วีล-ดไรฟ จริง ๆ ไม่เหมือนกับรถยี่ห้ออื่น ที่เป็นได้ทั้งโฟว์วีล-ดไรฟ และออนโรด คือไม่ใช่โฟว์วีล-ดไรฟ 100% แต่โซเรนโต เหมือน เรนจ์โรเวอร์ แกรนด์ เชโรคี ที่เป็นโฟว์วีล-ดไรฟขนาดใหญ่สำหรับ โซเรนโต บริษัทตั้งเป้ายอดขายเพียงประมาณ 100 คัน/ปีเท่านั้น เนื่องจากนำเข้ามาเพื่อสร้างภาพพจน์
ฟอร์มูลา : กำหนดเป้าหมายยอดขายของ รถยนต์ เกีย ในประเทศไทยไว้เท่าไร หลังจากที่นำรถรุ่นใหม่เข้ามาหลายรุ่น ?
บุญฤทธิ์ : ปัจจุบัน เกีย มีรถจำหน่ายอยู่ 4 รุ่น คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 3,500 คัน/ปี แต่ถ้ามีการแตกไลน์สินค้าเพิ่มก็น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 คัน/ปี แต่ไม่น่าเกิน 5,000 คัน
ฟอร์มูลา : ถ้าจะมีการแตกไลน์ใหม่คุณคิดว่าจะเป็นในกลุ่มใด ?
บุญฤทธิ์ : บริษัทแม่มองว่าตลาดใหญ่ของไทย คือ รถเก๋ง เพราะถ้ามองตลาดของ เกีย ในขณะนี้จะเห็นว่าตลาดโดยรวมจะเป็นเซกเมนท์ที่เล็กมาก ขายอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าคัน ดูได้จากตลาด เอมพีวีขนาดเล็ก มีตลาดรวมอยู่แค่ 5,000 คัน/ปี ส่วนตลาดเอสยูวี ขนาดใหญ่ ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว รวมแล้วไม่รู้ว่าปีหนึ่งถึง 200 คันหรือเปล่า ส่วนตลาดรถตู้ปีหนึ่งขายอยู่ที่ประมาณ 7,000 คัน สรุปแล้ว 3 ตลาดจะมีอยู่ประมาณ 12,000 คัน หากรวม คาร์นิวัล ตลาดในตลาดแค่ 1,000 คันเท่านั้น สรุปแล้ว เกีย มีรถจำหน่ายอยู่ 4 รุ่น โดยตลาดรวมของรถทั้ง 4 กลุ่ม มียอดขายรวมแค่ 13,000 คันเท่านั้น ซึ่งหาก เกีย ทำยอดขายได้ประมาณ 2,500 คัน หรือเกือบ 20% ของตลาด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
แต่เกาหลีมองตลาดใหญ่คือ รถเก๋ง คาดว่าปีนี้น่าจะได้ประมาณ 480,000 คัน แน่นอนเกาหลีมองว่าน่าจะมีรถเก๋ง แต่ถ้าจะนำรถเก๋งมาจำหน่ายในประเทศไทยโดยไม่มีอัตราเสี่ยงสูง ต้องนำรถซีบียู เข้ามาแต่เมื่อดูตลาดในปัจจุบันรถเก๋งขนาดเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี โดยมี วีออส ซีที เป็นตัวนำตลาด จำหน่ายที่ราคาประมาณ 5 แสนบาท ถ้านำรถซีบียูเข้ามาจะต้องเสียภาษีนำเข้าประมาณ 200% สมมติว่า เกียตั้งราคาจำหน่ายถูกกว่า 15% โดยมีสมรรถนะเท่าเทียมกัน และขายความเป็นเกาหลี ราคาของรถก็จะอยู่ที่ประมาณ 450,000 บาท แต่เมื่อมาเจอกับภาษีนำเข้า 200 กว่าเปอร์เซนต์ ราคารถต้องอยู่ที่ 3,000เหรียญ เพื่อมาขายในประเทศไทย 450,000 บาท จุดนี้จึงลืมได้เลยที่จะนำรถเก๋งซีบียูเข้ามา เพราะลองคำนวณแล้วราคาจะอยู่ที่ประมาณ 8 แสนบาท การนำเข้ามาจำหน่ายจึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากการผลิตในประเทศ แต่ก็ไม่มีตลาด การที่จะลงทุนผลิตก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ สรุปไม่ได้ว่าจะเจาะตลาดรูปแบบใด มีเพียงช่องทางเดียวเท่านั้นคือ การใช้สิทธิ์อาฟตา แต่ก็คงต้องใช้เวลานาน เนื่องจากปัจจุบันรถ เกีย ยังไม่มีการผลิตในภูมิภาคนี้ แต่ถ้ามีการผลิตก็อาจลองนำเข้ามาทำตลาดดู ในราคาย่อมเยา ซึ่งก็มีความเป็นไปได้แต่ต้องรอให้มีการประกอบขึ้นในกลุ่มประเทศอาฟตาเสียก่อน
ฟอร์มูลา : นอกเหนือจากตลาดรถเก๋งเกาหลีมองตลาดรถประเภทใดไว้อีก ?
บุญฤทธิ์ : ตลาดที่ เกีย พยายามพัฒนาอยู่คือ รถพิคอัพ เพราะตอนนี้ เกีย ยังไม่มี และสนใจตลาดหลักของ เกีย คือ อเมริกา และอเมริกาเป็นตลาดรถพิคอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันดับสองคือประเทศไทยมองแล้วเห็นว่ารถพิคอัพน่าสนใจ แต่บริษัทเองก็ยังไม่ได้ศึกษาในจุดนี้มากเพราะตลาดรถพิคอัพในเมืองไทยจะเจาะเข้าไปยาก มีแค่ อีซูซุ โตโยตา เท่านั้นที่สามารถทำตลาดแล้วประสบความสำเร็จ ส่วยี่ห้ออื่นไม่ว่าจะเป็น นิสสัน มิตซูบิชิ ก็ยังเจาะไม่เข้า อย่าง โอเพล เคยมาทำก็ไม่สำเร็จ แต่จุดนี้คงไม่ต่ำกว่า 5 ปีจะพัฒนาเสร็จ
ส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดในขณะนี้คือ กลางปีหน้า เกีย จะผลิต รถรุ่นใหม่ รหัส เคเอม นั่นก็คือ สปอร์ทเทจ ตัวใหม่ ที่มีทั้งเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน เป็นเซกเมนท์เดียวกับ ซีอาร์-วี ซึ่งคาดว่าพวงมาลัยขวาจะมาเปิดตัวในช่วงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 21 ตลาดนี้น่าสนใจมากเห็นได้จากมีสินค้าใหม่เข้ามาในตลาดหลายรุ่น เช่น ฟอร์ด เอสเคพ มาซดา ทรีบิวท์ ทำให้ตลาดกลุ่มนี้คึกคักยิ่งขึ้น คาดว่าตลาดนี้จะเติบโตได้ถึงปีละ10,000 คัน
แต่จะไม่ใช้ชื่อ สปอร์ทเทจ เพราะสปอร์ทเทจ ถูกผลิตขึ้นมาเป็นโฟว์วีล-ดไรฟจริงๆ ไม่หมือน ซีอาร์-วี ที่เป็นรถออนโรด ส่วน มาซดา ทรีบิวท์ ฟอร์ด เอสเคพ ก็จะเป็นกึ่ง ๆ โฟว์วีล-ดไรฟ ออนโรดก็ได้ การเป็นโฟวืวีล-ดไรฟอย่างเดียวนั้นจะมีข้อเสียตรงที่นั่งไม่สบาย รถกระด้าง แต่พอได้ลุยแล้วเหมือนปลาได้น้ำรถรุ่นนี้จะเปลี่ยนชื่อใหม่ คอนเซพท์จะเหมือน โซเรนโต เป็นโฟว์วีล-ดไรฟก็ได้ หรือเป็นออนโรดก็ได้ คือเป็นโฟว์วีล-ดไรฟ อัตโนมัติ พออออนโรดก็วิ่งล้อหลัง 2 ล้อ และเมื่อต้องการใช้อัตโนมัติปรับเองเป็น 4ล้อ แต่ลุยได้ใช้แค่สวิทซ์ เหมือนรถโฟว์วีล-ดไรฟ รุ่นเคเอม มีความนุ่มนวลมากขึ้น ใช้ออนโรดเกาะถนนดีขึ้น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น เป็นรุ่นที่น่าสนใจ ไม่เหมือนกับ ซีอาร์-วี
ฟอร์มูลา : อีก 5 ปีข้างหน้า เกียวางแผนไว้อย่างไร?
บุญฤทธ์ : ผมว่า 5 ปีข้างหน้า เกีย ยังมีเป้าหมายอยู่เซกเมนท์เล็ก เป็นรถนิชมาร์เก็ต แต่หลังจากอีก 5ปี ก็จะมีสินค้าในเซกเมนท์ที่จะแข่งขันกับคู่แข่งได้ อย่างเช่น รถเก๋ง รถพิคอัพ ที่เป็นตลาดใหญ่ แต่ตรงนี้คงต้องใช้เวลาอีกมาก
ฟอร์มูลา : จากนี้ไป เกีย จะมีการลงทุนเพิ่มในประเทศไทย อีกหรือไม่ ?
บุญฤทธิ์ : งานลงทุนหลักเป็นการลงทุนของยนตรกิจ แต่ว่าเกาหลีก็พยายามใส่โนว์ฮาว พยายามมีบุคลกร เอนจีเนีย เข้ามาอยู่ประจำ และขณะนี้ก็มีการเจรจากันถึงการที่จะส่งทีมเทคนีเชียลเข้ามาประจำอยู่ด้วย เพื่อจะช่วยให้การบริการลูกค้าให้ดีขึ้น
ส่วนเรื่องเงินนั้นคงต้องอีกระยะหนึ่ง เพราะการที่จะมาเป็น เกีย ประเทศไทย นั้นคงจะอีกนาน สำหรับในเรื่องของการผลิต คาร์นิวัลนั้น โรงงานยนตรกิจค่อนข้างพร้อม ที่ผ่านมามีการประกอบรถบีเอมดับเบิลยู โฟล์คสวาเกน เอาดี ใช้ระบบเซเลอร์เบลดิง เพราะลงทุนไปมากแล้ว ส่วน เกีย ก็เป็นอีกหนึ่งโมเดล แต่คงจะไม่เป็นการลงทุนที่มากนัก
ฟอร์มูลา : คุณใช้กลยุทธ์อะไรที่จะสร้าง เกีย กลับมาประสบความสำเร็จจนมาถึงปัจจุบัน ?
บุญฤทธิ์ : ผมว่าตรงจุดนี้ คนเราต้องเก่งกับเฮง ในจุดนี้ค่อนข้างเฮง จุดหลักคือ เราต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจ นั่นคือต้องมีจำนวนประชากรของโชว์รูมที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจ ซึ่งช่วงทำตลาด เกีย เป็นช่วงจังหวะที่ บีเอมดับเบิลยู ประเทศไทย เลิกสัญญากับโชว์รูมยนตรกิจ และโชว์รูมของเอเยนต์ของยนตรกิจจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน โฟล์คสวาเกน มีการจอยท์เวนเจอร์ ก็มีการลดจำนวนดีเลอร์ลง เพราะคิดว่าจำนวนดีเลอร์ที่มีอยู่มากเกินไป ทำให้มีดีเลอร์ และสาขาจำนวนหนึ่งต้องหยุดการทำตลาดโฟล์คสวาเกน กรุพ
ไม่ว่าจะเป็น โฟล์คสวาเกน เอาดี เซอัต ซึ่งจังหวะนี้ทำให้ภายใน 3 ปี ของ เกีย สามารถเปิดได้ 40 แห่งทั่วประเทศ ตรงนี้เป็นงานหนัก บริษัทรถยนต์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะติดปัญหาจุดนี้จังหวะตรงนั้นทำ เกีย มีโชว์รูมว่างทั้งสาขา ทั้งเอเยนต์ ซึ่งตอนแรกเขาก็คิดเหมือนกันว่าจะทำได้หรือต้องบอกให้เขารู้ว่าไม่ต้องลงทุนมาก แล้วก็กล้าที่จะทำ ทำให้สามารถเปิดได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจะเพิ่มก็จะเป็นในส่วนของต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ จะชะลอการขยายโชว์รูมก่อน
อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตัวสินค้ามีคุณภาพ ราคาคุ้มค่า รวมถึงชื่อเสียงของยนตรกิจด้วย เพราะลูกค้ามั่นใจ และที่ผ่านมายนตรกิจก็ทำธุรกิจรถยนต์เพียงอย่างเดียว อีกจุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั่นคือ ทีมงาน เพราะตั้งแต่เริ่มทำงานมาจนถึงปัจจุบัน ทีมงานที่ร่วมงานมาด้วยตลอดมีความตั้งใจทำงานทำงานแบบพี่น้อง ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำงานแล้วสบายใจ มีความสุข และโดยส่วนตัวแล้วก็ดูแลทีมงานดีที่สุด แล้วผลที่สะท้อนกลับมาทุกคนก็จะช่วยกันทำงานกันอย่างเต็มที่
ฟอร์มูลา : จากนี้คิดว่าก้าวต่อไปของ เกีย จะทำอะไรอีกบ้าง ?
บุญฤทธิ์ : ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ตอนนี้ถึงจุดประสบความสำเร็จแค่ 3 เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ต้องทำการขยายจำนวนโชว์รูมให้มากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า เพราะรถประเภทนี้เป็นรถเดินทาง เมื่อเดินทางต้องมีโชว์รูม และการบริการให้ครอบคลุมหลายจังหวัด สิ่งนี้ต้องรีบพัฒนาเป็นอันดับแรก
อีกส่วนหนึ่ง คือ คุณภาพบุคลากร เพราะต้องใช้ประโยชน์จากโชว์รูมเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นรถยุโรประดับบน เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้รู้จักดูแลลูกค้า และให้เขานำความรู้ความสามารถเหล่านี้มาบริการลูกค้า เกีย ซึ่งน่าจะใช้จุดนี้เป็นข้อได้เปรียบ เพราะลูกค้าบางคนอาจจะไม่เคยได้รับบริการในวิธีการแบบนี้ ซึ่งเราต้องอบรบให้บุคลากรรู้วิธีนำประโยชน์ตรงนี้ไปใช้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามรถเมืองไทยทุกยี่ห้อ จะทำตลาดได้ดีขึ้นอยู่กับบริษัทแม่มาก เพราะว่าโลกสมัยนี้เล็กมาก ข้อมูลต่าง ๆ การสื่อสารรวดเร็ว คนไทยสามารถเห็นภาพจากต่างประเทศมาก ยิ่งสินค้าที่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่น ๆ ก็จะสะท้อนมาที่ประเทศเรา หรือแม้แต่เรื่องการตลาด ก็จะสะท้อนกลับมาที่ประเทศไทย
เห็นได้จากการพัฒนาของประเทศเกีย เช่น ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก จัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และกำลังพยายามที่จะจัดงาน เวิร์ลด์ เอกซ์โป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นประเทศที่สามารถจัดงานใหญ่ ๆพัฒนาเต็มที่ ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย จุดเหล่านี้ทำให้เราไม่เคยเลี่ยงว่าเป็นรถเกาหลี แต่ต้องทำตรงนี้ให้แข็งแกร่งขึ้นมา และพยายามแก้ไขภาพในอดีตที่ เกีย มีปัญหา
ฟอร์มูลา : นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคุณคิดสิ่งว่าสิ่งใดคือความสำเร็จสูงสุดของคุณ ?
บุญฤทธิ์ : พูดลำบาก เพราะไม่รู้ว่าจะใช้อะไรเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จ เพราะการสร้างสินค้าให้คนรู้จักไม่ใช่สิ่งที่เราทำกับมือ สินค้าเป็นของคนอื่น พูดง่าย ๆ คือ เราเป็นนักการตลาด ที่ทำให้คนรู้จักสินค้า และมั่นใจในบริษัท และผมคิดว่าความสำเร็จของคนไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข ความสำเร็จของคนต้องดูไปตลอดชีวิต ต้องมีความสมดุล คือ สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุข ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เป็นคนดีของสังคม สิ่งเหล่านี้น่าจะรวมกันว่าคน ๆ นั้น ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือเปล่า
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : จินดา ลัยนันท์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)