รอบรู้เรื่องรถ
"ขนาดเครื่องยนต์" และ "การบริโภคเชื้อเพลิง"/ ค่าปรับเมืองไทยถูกเกินไป !!!
"ขนาดเครื่องยนต์" และ "การบริโภคเชื้อเพลิง"
คนชอบรถที่ชอบรถจริงๆ ในความหมายตรงตัวของมัน ที่ไม่ใช่พวกชอบซื้อรถ ชอบเปลี่ยนรถชอบล้างรถ หรือชอบขับแบบขับอย่างเดียวจริงๆ นั้น จะคุยเรื่องรถได้เกือบทุกเรื่อง โดยไม่เบื่อง่ายๆ(ต้องเป็นคนที่น่าคุยด้วย) ผมก็เป็นคนหนึ่งของกลุ่มคนพวกนี้ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่พอผมได้ยินก็จะอยากยุติหรือเปลี่ยนเรื่องทันที นั่นคือเรื่องความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงหรือ"การกินน้ำมัน" ของรถที่แต่ละคนใช้ เพราะหาความน่าเชื่อถือได้ยากมากแล้วยังมีฝ่ายแพ้กับฝ่ายชนะจากผลของการเปรียบเทียบด้วยนอกจากนี้ก็ยังเป็นเรื่องเปรียบเทียบตัวเลข ที่ได้มาจากพื้นฐานของความไม่เข้าใจเสียเป็นส่วนใหญ่หาความแม่นยำอะไรไม่ได้เลย บางคนไม่เคยลบตัวเลขระยะทาง ไม่เคยเอาปริมาตรเชื้อเพลิงมาหารแต่ก็มีตัวเลขความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไว้คุยได้ตลอดเวลาอีกพวกก็ชอบบอกในรูปของความสัมพันธ์เช่น "กิโล ฯ ละสองบาท" "ครึ่งถังไปถึงประจวบ ฯ" "ไปนครปฐมเข็มยังแทบไม่กระดิก"
ถึงจะใช้วิธีคำนวณอย่างถูกวิธี ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอื่นๆ อีกมากครับอัตราส่วนที่บอกปริมาตรที่ขึ้นเป็นตัวเลขว่ากี่ลิตรให้เราเห็นที่ปั๊มน้ำมันกับปริมาตรเชื้อเพลิงที่ไหลเข้าถังน้ำมันของรถเราจริงๆ ก็ไม่ตรงกัน และความผิดพลาดของแต่ละ "ปั๊ม" (แม้ในสถานีบริการเดียวกัน) ก็ไม่เท่ากันด้วยความไวของการหยุดจ่ายเชื้อเพลิงอัตโนมัติเมื่อเต็มถังของหัวจ่ายแต่ละหัวก็ไม่เท่ากันความกว้างและรูปทรงของท่อ จากฝาไปจนถึงถังเชื้อเพลิง ก็มีผลปริมาตรเมื่อเติมเต็มถังในแต่ละครั้งอาจต่างกันได้สองถึงสามลิตร เลขบอกระยะทางที่มาตรวัดของรถก็ต่างจากระยะทางจริง และแต่ละรุ่นแต่ละ "ยี่ห้อ"ก็มีความผิดพลาดนี้ไม่เท่ากัน แค่ใส่ยางผิดขนาดจากที่ผู้ผลิตกำหนดก็ทำให้ค่านี้ผิดเพี้ยนเพิ่มขึ้นอีกครับ เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็อย่าไปยุ่งกับความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงดีกว่าครับ ยกเว้นผู้ที่เห็นคุณค่าของเงินต้องการประเมินรายจ่าย ใช้เป็นข้อมูลส่วนตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่เอาไปอวดหรือคุยข่มใครผมเห็นด้วยครับ ควรเป็นการหาค่าเฉลี่ยในระยะยาว ระยะทางอย่างน้อยแถวๆ 1,000 กิโลเมตร
เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ผมได้แนะนำให้ระวังความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ของรถที่เครื่องยนต์ค่อนข้างใหญ่คือมีความจุหรือ DISPLACEMENT ค่อนข้างมาก มีผู้แย้งมาว่าทฤษฎีที่ผมอธิบายนั้นใช้ไม่ได้เพราะเขาไปเจอรถรุ่นหนึ่งที่เครื่องยนต์ "ใหญ่" หรือมีความจุมากกว่ารถประเภทเดียวกัน แต่กลับ "กินน้ำมัน" น้อยกว่า ผมก็เลยนึกขึ้นได้ว่า เนื้อหาในคอลัมน์ของผมจะเน้นความตรงไปตรงมาและผลประโยชน์ของผู้อ่านเป็นหลัก บางครั้งจึงไม่ได้พิถีพิถันกับถ้อยคำและถูกโต้แย้งจับผิดเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน
ดังรายที่โต้แย้งมาพร้อมกับยกตัวอย่างมาด้วย เนื้อหาของคอลัมน์เทคนิคใน "ฟอร์มูลา"เน้นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเป็นหลักครับ ไม่ใช่เอาทฤษฎีมาตีแผ่ เผยแพร่ หรือวิเคราะห์เพราะมีอยู่ในตำรามากมายอยู่แล้ว เมื่อใดที่อ้างทฤษฎีก็เพื่อใช้ในการอธิบายเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น รถ "เครื่องใหญ่" กับรถเครื่อง "เล็กกว่า"ที่ถูกยกตัวอย่างมาโต้แย้งแบบสบประมาทนั้น ผมรู้จักดีทั้งสองรุ่นครับแต่ไม่ขอเอ่ยชื่อเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ที่อาจจะได้ผลกระทบในด้านลบ คัน "เครื่องใหญ่"เป็นรุ่นที่ทำมาได้ดี คือกินน้ำมันน้อยสำหรับรถประเภทนี้และเครื่องยนต์ขนาดนี้ส่วนคันที่เครื่องเล็กกว่า และถูกใช้เปรียบเทียบ ก็อยู่สุดอีกด้าน คือกินน้ำมันมากอย่างไม่น่าเชื่อและไม่สมควรจะเป็นอย่างนั้นด้วย
ผมจึงยังยืนยันตามเดิมว่า รถเครื่องใหญ่นั้นสามารถกินน้ำมันมากกว่ารถเครื่องเล็กได้หลายสิบเปอร์เซนต์ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เอาทฤษฎีมาอ้างนะครับแต่เป็นประสบการณ์หลายสิบปีของผู้ที่สนใจจริง รวมทั้งผลทดสอบรถในต่างประเทศนับพันรุ่นไม่ต่างกับการที่ผมเขียนว่า คนไทยตัวเตี้ยกว่าและน้ำหนักน้อยกว่า "ฝรั่ง"ใครอยากจับผิดก็แย้งได้แน่นอนหรืออาจจะพามิสเตอร์ เอ กับนาย ก. ซึ่งตัวใหญ่และหนักกว่ามิสเตอร์เอ มาให้ดูก็ยังได้
หลายปีมาแล้ว มีรถประเภท เอสยูวี รุ่นหนึ่งราคาไม่สูงนัก ใช้เครื่องยนต์ 4,000 ซีซีจำหน่ายในประเทศเรา ยอดขายก็สูงพอสมควรครับ เพราะเทียบราคาต่อขนาดเครื่องยนต์แล้วดูเหมือนจะไม่มีใครสู้ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ได้รถเครื่องใหญ่ในราคารถเครื่องเล็กจากนั้นไม่นานรถพวกนี้จำนวนมาก ก็ถูกเปลี่ยนมือเพราะเจ้าของสู้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ไหวโดยเฉพาะพวกที่ขาดความรู้และข้อมูล ซื้อมาใช้เดินทางไกลและขับเร็วเกินควรด้วยเชื่อไหมครับว่าแต่ละช่วงเวลาในขณะเดินทางและมองไปที่เข็มบอกระดับเชื้อเพลิงไม่เคยรู้สึกว่ามันอยู่สูงเท่าครั้งที่แล้วเลย เคยได้ยินบางคนพูดเปรียบเทียบว่า "ขับไปเติมไปและก็ร้องไห้ไปด้วย"
รถสปอร์ทเครื่องยนต์ค่อนข้างใหญ่ และมีกำลังสูง ก็เข้าข่ายเดียวกันครับนอกจากขนาดของเครื่องยนต์แล้ว จังหวะเปิดปิดของลิ้นหรือวาล์วทั้งไอดีและไอเสียยังถูกเลือกมาให้เหมาะกับการให้กำลังสูงขณะที่เครื่องยนต์ทำงานที่รอบสูง ถ้าเอามาขับช้าในเมืองซึ่งเป็นย่านที่เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพต่ำ รถนี้ก็จะกินน้ำมันอย่างมากแต่ถ้าเอารถนี้ไปเทียบกับรถเก๋งที่ใช้เครื่องยนต์เล็กว่า ให้กำลังน้อยกว่า โดยขับทางไกลที่ความเร็วสัก150 กม./ชม. เท่ากัน (ผมไม่ได้สนับสนุนให้ทำนะครับ) ก็เป็นไปได้ว่ารถเก๋งอาจกินน้ำมันพอๆ กันหรือกินน้ำมันมากกว่าด้วยซ้ำไป เช่น รถเก๋งมีพื้นที่หน้าตัดตามขวางมากกว่า รูปทรงเพรียวลมน้อยกว่าเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพต่ำกว่า (คือกินน้ำมันมากแต่ให้พลังงานน้อย) แล้วยังมีอัตราทดรวมสูงกว่าด้วย ส่วนรถสปอร์ทเครื่องใหญ่กว่า และกำลังมากกว่า ซึ่งมีอัตราทดต่ำเพราะใช้ในการทำความเร็วสูงสุด พอมาขับที่ความเร็วที่ผมยกตัวอย่าง เครื่องยนต์จึงหมุนช้ากว่า
(จำนวนรอบต่อระยะทางจึงน้อยกว่า) และจังหวะเปิดปิดของวาล์ว ก็เริ่มเข้าใกล้ย่านที่เหมาะสม
แบบนี้ก็เอาไปเปรียบเทียบแล้ว "อี-เมล" มาแย้งได้แน่ครับซึ่งผมขอถือโอกาสนี้ชี้แจงว่าเวลาของผมไม่พอสำหรับการโต้แย้งทำนองนี้ เอาเป็นว่าถ้าคิดว่าน่าเชื่อถือ ก็ติดตามกันต่อไป ถ้าไม่ศรัทธาเชื่อถือ ก็ข้ามไปอ่านเรื่องอื่นได้ เรื่อง "นักเขียนกับผู้อ่านหนังสือรถ" ของไทยเรานี้ที่จริงมีเหตุการณ์และข้อคิดอยู่พอสมควรครับ ว่างๆ ถ้า "ฟอร์มูลา"ครบรอบปีที่มีเลขสวยๆ "กลมๆ" อะไรทำนองนี้ หัวหน้ากองบรรณาธิการอาจขอให้เราเผยความในใจกันก็ได้ ถึงตอนนั้นจะระบายให้อ่านกันครับ
เกือบลืมไปครับ เครื่องยนต์เทอร์โบ ที่ใช้เบนซินจะมีความจุน้อยกว่ารุ่นที่ไม่ใช้เทอร์โบ ถ้ามีกำลังพอๆกัน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะ ใช้เทอร์โบ และมีขนาดหรือความจุ 2 ลิตร หรือ 2,000ซีซี จะให้กำลังพอๆ กับเครื่องยนต์ไม่ใช้เทอร์โบ ความจุราวๆ 2.7 ถึง 2.8 ลิตร เช่นประมาณ 200แรงม้า ถ้าใช้ความดันไม่สูงนัก (แต่ถ้าเพิ่มความดันอากาศก็จะได้กำลัง 300 แรงม้า สบายๆ
ถ้าชิ้นส่วนอื่นรับมือกับมันได้) ถ้าจะเปรียบเทียบความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยต้องเปรียบเทียบระหว่างเครื่องยนต์ที่ให้กำลังพอๆ กันครับ ขนาดไม่เกี่ยว ตามทฤษฎีแล้ว ถ้ากำลังพอๆกันน้ำหนักรถก็ใกล้เคียงกัน เครื่องเทอร์โบจะประหยัดกว่า
แต่ในความเป็นจริงหรือภาคปฏิบัติ เครื่องเทอร์โบจะกินน้ำมันมากกว่าเล็กน้อยเพราะเมื่อใช้งานขณะรถติด เทอร์โบไม่ค่อยมีโอกาสทำงาน และยังมีสาเหตุที่สองนั่นคือปัญหาความร้อนในห้องเผาไหม้ ถ้าใช้ไอดีแบบจาง คือผสมเชื้อเพลิงน้อยอุณหภูมิในห้องเผาไหม้จะสูง พอลดอุณหภูมิโดยการเพิ่มเชื้อเพลิงความสิ้นเปลืองก็เลยเพิ่มตามไปด้วย
ค่าปรับเมืองไทยถูกเกินไป !!!
ผมไปพบตารางค่าปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ของกลุ่มประเทศยุโรปเข้าโดยบังเอิญ เห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเกี่ยวข้องกับบทลงโทษและมูลค่าของค่าปรับสำหรับพวกเราชาวไทยซึ่งผมว่ามันต่ำไปและทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ดูหมิ่นดูแคลนและขาดความเกรงกลัว
ประเภทของความผิด แบ่งเป็น 5 กรณี คือ ขับรถขณะเมาสุรา ใช้ความเร็วเกินกำหนด 20 กม./ชม.ขึ้นไป ฝ่าสัญญาณไฟแดง แซงในที่ห้าม และจอดในที่ห้าม ผมขอคัดมาให้ดูกันแบบไม่เรียงลำดับส่วนใหญ่จะเลือกตามความน่าสนใจครับ มูลค่าที่ปรับผมแปลงเป็นเงินบาทโดยประมาณขับรถขณะเมาสุรา เดนมาร์ค ไม่ต่ำกว่า 24,000 บาท ลักเซมเบอร์ก ไม่เกิน 56,000 บาทที่ผมชอบเพราะเห็นว่ายุติธรรม คือของ ฟินแลนด์ ซึ่งคิดค่าปรับ 15 ถึง 120 เท่าของรายได้หนึ่งวันของผู้กระทำความผิด คือถ้าเบาะๆ ก็รายได้ครึ่งเดือนถ้าเมาหนักปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียบก็จะโดน 4 เท่า ของเงินเดือน คือ 120 วัน ถ้าเงินเดือน 1แสน ก็จ่าย 4 แสน จะได้เข็ดหลาบยำเกรง นอร์เวย์ 18,000 บาท สวีเดน ไม่ต่ำกว่ารายได้ 1 เดือนลิมิทด้านสูงไม่ได้บอกไว้ อาจจะอยู่ในดุลพินิจของ ศาลแบบนี้น่ากลัวดีครับ
ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด 20 กม./ชม. ขึ้นไป เช่น กำหนดไม่เกิน 100 กม./ชม. แต่ขับเกิน 120กม./ชม. เบลเยียม 6,300 บาท ขึ้นไป นอร์เวย์ 13,500 บาทขึ้นไป สวิทเซอร์แลนด์ 5,600 บาทขึ้นไปฝ่าไฟแดง กรีก 7,000 บาท เป็นอย่างต่ำ สเปน 4,000-13,500 บาท แซงในที่ห้ามหรือที่คับขัน เยอรมนี 1,300-5,600 บาท ฟินแลนด์ รายได้ 5 วัน ถึงครึ่งเดือน แล้วแต่ "ความอุกอาจ" จอดในที่ห้ามจอดฝรั่งเศส 450-6,800 บาท คงจะพอเห็นภาพนะครับ แต่ตัวเลขที่ดูน่ากลัวเหล่านี้จะหมดความหมายไปทันทีครับ ถ้าผู้รักษากฎหมายหย่อนยาน หลังยาว หรือฉ้อฉลเสียเอง เท่าที่เห็นมาด้วยตนเอง ของเขาเชื่อถือได้ครับ
ย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรา แล้วก็เศร้าใจ มีแต่คนออกมาทำเป็นขึงขังจริงจังเอาหน้าแค่ห้าวันสิบวัน แล้วก็เงียบไป ผู้อ่านที่เป็นขาประจำคงยังจำกันได้นะครับที่ผมเคยบอกให้ตัดคอลัมน์ของผมใส่ลิ้นชักไว้ได้เลย ทายไว้ว่าไม่เกินหนึ่งเดือนก็เหมือนเดิมแล้วก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ สถานการณ์ของเรามันเลวร้ายขนาดที่ว่าในชม. เร่งด่วนซึ่งห้ามจอดรถบนถนนสายหลัก มั่นใจได้เลยว่าจะต้องมีรถจอดได้ โดยไม่ถูกไล่หรือถูกปรับเรื่องเล็กและง่ายอย่างนี้ ก็ยังต้องคอยให้ออกมาจากปากนายกรัฐมนตรี ถึงจะขยับกันได้
หายเหนื่อยจากการประชุมใหญ่และประสบความสำเร็จแล้ว ช่วยสงเคราะห์ผู้ใช้รถใช้ถนนฝ่ายดีและถูกเอาเปรียบด้วยเถิดครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2546
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ