สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
ภูษิต ศศิธรานนท์
มหกรรมแสดงชิ้นส่วนยานยนต์และเทคโนโลยีการซ่อมบำรุง ปี 2003 หรือ AUTO COMPONENTS & AFTERMARKET 2003 (AA03) ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2546เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และเทคโนโลยีซ่อมบำรุงระดับโลก พร้อมยกระดับธุรกิจ SMEs ไทยให้ก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลก
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ ภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอลเน็ทเวอร์ค จำกัด ผู้ประสานงานการจัดงานดังกล่าว
ฟอร์มูลา : งานมหกรรมแสดงชิ้นส่วนยานยนต์และเทคโนโลยีการซ่อมบำรุง ปี 2003 หรือ AUTO COMPONENST & AFTERMARKET 2003 (AA03) ปีนี้จัดขึ้นเมื่อใด ?
ภูษิต : การจัดงานปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศิกายน-2 ธันวาคม 2546 โดยใช้พื้นที่ 7,000ตารางเมตร หรือบริเวณ ฮอลล์ 8 ของ ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีซึ่งเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกับงาน MOTOR EXPO 2003 หรือ "มหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 20"โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สมาคมประกันวินาศภัยสมาคมอู่กลางการประกันภัย หอการค้าไทย หอการค้าไทย-ฝรั่งเศสศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทยสมาคมผู้ค้ายางรถยนต์ไทย สมาคมสหมิตรการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทยสมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย สมาคมรับช่วงการผลิต และสถาบันยานยนต์
ฟอร์มูลา : ความพร้อมของการเตรียมงานในขณะนี้มีมากน้อยเพียงใด ?
ภูษิต : ปีนี้ได้มีการเจรจากับผู้จัดงาน MOTOR EXPO 2003 แล้วว่าปีนี้จะทำให้เหมือนเป็นงานเดียวกันหมายความว่าคนที่ถือบัตรงาน AA03 จะเข้างาน MOTOR EXPO หรือแขกวีไอพี ของงาน MOTOR EXPO ก็สามารถเข้าชมงาน AA03 เช่นเดียวกัน และที่สำคัญในปีนี้จะมีพิธีเปิดร่วมกัน คือจะเปิดงานวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546
สำหรับพื้นที่ของการจัดงานในปีนี้ 7,000 ตารางเมตร จะแบ่งพื้นที่ของงานออกเป็น 5 ส่วน คือ 1.ส่วนแสดงอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ประกอบด้วยอะไหล่รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอีเลคทรอนิคส์และชิ้นส่วนตัวถัง 2.ส่วนเทคโนโลยีการซ่อมบำรุงรวบรวมอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับอู่ซ่อมรถ 3. ส่วนLOGISTICS & WAREHOUSE ที่แสดงระบบขนส่งลำเลียง บรรจุภัณฑ์ ระบบการจัดการ ซัพพลายเชน4. ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ประกอบด้วยอุปกรณ์ขนส่ง เช่น หัวรถลาก รถบรรทุกรถโดยสารขนาดใหญ่ และรถเครนต่างๆ และ 5. ส่วนแสดงเครื่องมือ เครื่องจักรสำหรับโรงงานซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมีแผนการลงทุนหรือขยายสายการผลิต
โดยในส่วนของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ปีหน้าจะมีการจัดแยกออกมาจัดร่วมกับ บริษัท สื่อสากล จำกัดผู้จัดงาน THAILAND INTERNATIONAL MOTOR EXPO หรือ "มหกรรมยานยนต์"นั่นก็คือการขยายในส่วนของรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์เข้าสู่งาน "มหกรรมยานยนต์"
นอกจากนี้ยังเป็นปีแรกที่จะมี พาวิเลียน ของสิงคโปร์ ที่มีบริษัทจากสิงคโปร์โดยตรงถึง 27 บริษัทและพื้นที่พิเศษเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ประมาณ 20 บริษัท และการจัด BOIPROCUREMENT PAVILION เพื่อให้บริการด้านการจัดซื้อหาอะไหล่จากโรงงานประกอบรถยนต์ 10 บริษัท กับผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยในระดับต้นน้ำ
ฟอร์มูลา : บริษัทที่เข้าร่วมงานในปีนี้มีทั้งหมดกี่บริษัท ?
ภูษิต : ในปีนี้คาดว่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 200 บริษัท จาก 20 ประเทศทั่วโลกประกอบด้วย มาเลเซียอินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อิตาลี ออสเตรเลีย ไต้หวัน สเปน และไทย
นอกจากนี้ภายในงานจะมีการประชุมสัมมนาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คือการสัมมนาของสมาคมอู่กลางการประกันภัย จัดงานเลื้ยงสังสรรค์ช่างฝีมือในอู่ซ่อมรถยนต์ของสมาคมสหมิตรซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย การประชุมของสมาคมผู้ค้ายางรถยนต์ไทยประชุมสัมมนาสมาคมขนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มซื้อรถบรรทุกโดยตรงนอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนาในหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย ที่จัดตรงนี้ให้กับลูกค้าที่เข้าชมงาน
ฟอร์มูลา : จากการจัดงานในปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้มีการพัฒนามากน้อยเพียงใด ?
ภูษิต : รูปแบบของการจัดงานยังคงเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายโดยตรงแต่จะมีการพัฒนาในเรื่องของยานยนต์เพื่อให้กลมกลืนไปกับงานแสดงรถยนต์มากขึ้นและนอกเหนือจากนั้นจะเป็นตัวประกอบทำให้ภาพงานแสดงรถยนต์ในเมืองไทยเด่นชัดขึ้น โดยคนที่มาชมงานแสดงรถยนต์จะเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ รถมือสอง ชิ้นส่วนยานยนต์ เทคโนโลยีซ่อมบำรุง รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์รวมถึงการขนส่ง ภาพรวมจะเหมือนงานแสดงรถยนต์ที่ เจนีวา
โดยเป้าหมายคือต้องการให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงรถยนต์และเพื่อยกระดับงานแสดงชิ้นส่วนยานยนต์และเทคโนโลยีซ่อมบำรุง พัฒนาสู่ระดับสากลมากขึ้น คือหมายความว่ามีบริษัทจากทั่วโลกมาแสดงสินค้าและมีกลุ่มเป้าหมายของสินค้า จากทั้งเอเชียด้วยภาพของงานที่ออกมาก็จะช่วยเสริมงานแสดงรถยนต์เข้าสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น
ฟอร์มูลา : มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะขยายเวลาในการจัดงานเพิ่มขึ้น ?
ภูษิต : เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากการจัดงาน AUTO COMPONENTS & AFTERMARKET มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น บริษัทต่างประเทศมาเพื่อพบกลุ่มลูกค้าเมื่อเจรจากันเรียบร้อยก็ถือว่าเสร็จงาน ซึ่งการอยู่นานถึง 12 วัน จะเป็นเหมือนไม่ได้มาพบกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ในต่างประเทศสูงสุดคือ 5 วันเช่นกันแต่ความเป็นไปได้ของการขยายเวลาการจัดงานจะเป็นในส่วนของรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ที่จะจัดงานร่วมกันและสามารถขยายเวลาจัดงานไปถึง 12 วันได้
ทั้งนี้เนื่องจากรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ มีแนวโน้มการเติบโตของตลาดเพราะเป็นตัวบ่งชี้ของเศรษฐกิจ เนื่องจากรถบรรทุกที่ซื้อไปนั้นหมายถึงการขนส่งที่สะท้อนภาพออกมาให้เห็นได้ชัด โดยดูจากยอดขายในปีที่แล้ว 12,000 คัน ซึ่งปีนี้บริษัทต่างๆตั้งเป้าการขายไว้มาก แต่ว่าในปีนี้ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าการซื้อรถบรรทุกจะเหมือนการซื้อรถยนต์หรือเปล่าจุดนี้คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าจัดจะเป็นการจัดร่วมกันระหว่าง บริษัท ฮันโนเฟอร์แฟร์ เอเชียจำกัด กับ งาน "มหกรรมยานยนต์"
ฟอร์มูลา : คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณเท่าไร ?
ภูษิต : ถ้ามองในภาพโดยทั่วไปผู้เข้าร่วมงานคงจะเกือบเท่ากับงาน "มหกรรมยานยนต์"แต่กลุ่มเป้าหมายของงานจริงๆ ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 15,000 คน เพราะกลุ่มที่อยู่ในตลาดโดยตรงของงานคือกลุ่มที่เข้ามาร่วมประชุมสัมมนาในงาน ซึ่งการซื้อของงาน เป็นการซื้อโดยการมาหาตัวแทนจำหน่ายมาลงทุนร่วมกัน ซื้อเป็นคอนเทเนอร์ มาติดต่อธุรกิจกันโดยตรงเพื่อวางแผนในอนาคต
ฟอร์มูลา : เงินหมุนเวียนในงานปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนเท่าใด ?
ภูษิต : ในปีนี้คาดว่าจะมีกว่า 300 ล้านบาทเนื่องจากได้มีการขยายฐานกลุ่มลูกค้าออกไปยังกลุ่มโรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานชิ้นส่วนรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
ฟอร์มูลา : เป้าหมายของการจัดงานคืออะไร ?
ภูษิต : สิ่งที่นอกเหนือจากยอดรายได้ คือ การสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น ASIAN HUB ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ดังนั้นการจัดงานจึงไม่ใช่งานเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่จะต้องเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนทั้งเอเชีย โดยมีการจัดงานเหล่านี้เกิดขึ้นจากบริษัเอกชนหรือบริษัทชั้นนำของโลกในด้านการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งแต่เดิมงานประเภทนี้จะจัดที่ไต้หวันแต่เมื่อไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถแล้วการจัดงานจึงได้ขยายมาที่ประเทศไทยถือเป็นการสร้างตลาดนอกจากใกล้กับโรงงานแล้วยังได้เห็นความหลากหลายของการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยด้วยจะทำให้ประเทศไทยมีงานระดับภูมิภาค ทำให้เกิดรายได้อื่นๆ เกิดขึ้นนอกเหนือจากธุรกิจโดยตรง เช่นการจ้างงาน การลงทุนร่วมกัน การซื้อขายของ การท่องเที่ยว
ฟอร์มูลา : ถ้าเช่นนั้นการจัดงาน AUTO COMPONENTS & AFTERMARKET บริษัทเหมือนเป็นตัวกลางให้ผู้ผลิตพบลูกค้าใช่หรือไม่ ?
ภูษิต : บริษัทเป็นตัวสร้างตลาดให้เกิดความคึกคักและใหญ่ขึ้น มีการแข่งขันในตลาดด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ดูได้จากตลาดรถยนต์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็มีผลดีกับชิ้นส่วนอย่างมาก ทั้งนี้ในรถยนต์ 1 คันใช้ชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 3,000 ชิ้นและในส่วนตลาดทดแทนก็มีผลต่อเนื่องกับรถยนต์โดยรวม เนื่องจากรถต้องมีการซ่อมต้องมีอะไหล่ทดแทน มาตรฐานการซ่อม การประกัน ทำให้เห็นภาพรถยนต์เด่นชัดมากขึ้นซึ่งปีนี้จะเห็นได้ว่ามีบริษัทประกันเข้ามาร่วมด้วย เพื่อมาพบกับซัพพลายเออร์โดยตรง
ฟอร์มูลา : ปีหน้าวางแผนไว้อย่างไรบ้าง ?
ภูษิต : ปีหน้าจะมีพาวิเลียนหลากหลายมากขึ้นจากยุโรป และภาพรวมของงานจะกลมกลืนกับงาน "มหกรรมยานยนต์" และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพราะในเรื่องของการจัดงาน AUTO COMPONENTS & AFTERMARKET ความจริงแล้วเนื้อหาของงานนั้นเป็นคนละอย่างกันเลยรวมถึงกลุ่มลูกค้าและผู้จัดงานก็เป็นคนละกลุ่มกัน ซึ่งต้องวางแผนงานอย่างมากสำหรับการจัดงานนี้แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ครั้งที่ 5 ประสบความสำเร็จอย่างดีและมีผู้ให้การยอมรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : ราชวัตร แสงจันทรานิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2546
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)