มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
เราเดินทางไปเยือนสวิทเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมงาน มหกรรมยานยนต์เจนีวา ติดต่อกันมาแล้ว 14 ปี โดยไม่มีเว้นวรรคพักหายใจ และทุกครั้งที่ทำอย่างที่ว่า สัมผัสแรกที่ได้รับจากแผ่นดินเมืองนาฬิกา คือ ความหนาวเย็นยะเยียก ไม่ผิดอะไรกับรอยยิ้มของหญิงสาวที่กล่าวปฏิเสธคำบอกรักแต่ปีนี้ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา อากาศของสวิทเซอร์แลนด์ตอนที่เดินทางไปถึง อยู่ที่ระดับติดลบเลขสองตัว ดังนั้นสิ่งที่ประสาทสายตาของเรารับรู้ ตอนที่แลลอดช่องหน้าต่าง ขณะนกเหล็กของสายการบิน "เจ้าจำปี" ร่อนลงสัมผัสทางวิ่งของสนามบินนานาชาติซูริค คือหิมะที่โปรยปลายจากท้องฟ้า และวางปุยขาวอยู่บนพื้นคอนกรีทเป็นกระหย่อมๆ
เช่นเดียวกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ห้องว่างในโรงแรมที่เจนีวา ซึ่งหายากยิ่งกว่านักการเมืองถือศีลห้าในรัฐสภาไทย ทำให้คณะของเราต้องเลี่ยงไปอาศัยบริการของโรงแรมระดับสามดาวในเมืองโลซานน์ และทุกๆเช้า เราต้องเสียเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง นั่งรถไฟจากโลซานน์ไปยังนครเจนีวา และใช้เวลาอีก 10 กว่านาที เดินเหยียบปุยหิมะที่ยังไม่ละลายตัว ฝ่าความหนาวเย็นยะเยือก จากสถานีรถไฟไปยังศูนย์นิทรรศการ PALEXPO สถานที่จัดงาน มหกรรมยานยนต์เจนีวา
มหกรรมยานยนต์เจนีวาอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรก ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1905 และจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ปีนี้เป็นปีที่มหกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกรายการนี้ มีอายุครบ 100 ปีพอดิบพอดี แต่เนื่องจากในบางช่วงบางตอน งานนี้ไม่ได้จัดกันเป็นประจำทุกปีดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีการว่างเว้นไปบ้างในช่วงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง งานที่มีขึ้นในปีนี้ จึงไม่ใช่ครั้งที่ 100 แต่นับเป็นครั้งที่ 75 อย่างไรก็ตาม กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่มีงานแสดงรถยนต์รายการใดในโลกใบนี้ ที่นับจำนวนครั้งได้มากกว่างานมหกรรมยานยนต์รายการที่รู้จักกันในชื่อ มหกรรมยานยนต์เจนีวา
มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 75 จัดขึ้นในช่วงเวลา 11 วัน ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 3 จนถึงวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2005 โดยที่ 2 วันก่อนหน้านั้น คือวันอังคารที่ 1 และวันพุธ 2 มีนาคม ถือเป็น PRESS DAY คือเป็นวันที่จัดเฉพาะสื่อมวลชนและแขกรับเชิญพิเศษ ในวันธรรมดา จะเปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 10.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ จะเปลี่ยนเวลาเป็น 09.00-19.00 น. สนนราคาค่าบัตรผ่านประตู นับว่าแพงเอาการเมื่อเทียบกับงานประเภทเดียวกันในบ้านเรา คือ ผู้ใหญ่ 12 สวิสฟรองศ์ หรือเท่ากับประมาณ 400 บาทไทย และเด็กอายุ 6-16 ปี 7 สวิสฟรองศ์ หรือเท่ากับประมาณ 230 บาท
เอกสารที่ผู้จัดงานแจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชนระบุว่า งานปีนี้ มีสินค้าแสดงในงานมากกว่า 900 ยี่ห้อ มีผู้ร่วมงานรวม 261 ราย จาก 30 ประเทศ รวมพื้นที่จัดงาน 77,640 ตารางเมตร ทั้งหมดเป็นพื้นที่อยู่ภายในอาคาร ไม่มีพื้นที่กลางแจ้ง เฉพาะผลงานรถยนต์แบบใหม่ๆ ทั้ง CONCEPT CAR หรือ "รถแนวคิด" และ PRODUCTION CAR หรือ "รถตลาด" ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในโลกที่งานนี้ เอกสารนี้ระบุว่า มีไม่น้อยกว่า 50 รายการ
ในเดือนนี้ จะเล่าให้ฟังว่า ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละราย นำผลงานใหม่ๆ อะไรบ้าง ไปอวดตัวที่งานนี้ โดยจะไล่เลียงกันไปทีละฮอลล์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 ฮอลล์
ฮอลล์ 1
เอาดี * เบนท์ลีย์ * บูกัตตี * แคดิลแลค * เชฟโรเลต์
* แฟร์รารี * เจเนอรัล มอเตอร์ส * ฮัมเมอร์ *
ลัมโบร์กินี * โลทัส * มาเซราตี * ปินินฟารีนา * ซาบ
เจ้าของเครื่องหมายการค้า "สี่ห่วง" ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถตลาดแบบใหม่สองแบบ เอาดี เอ 6 อาวันท์ (AUDI A6 AVANT) ในภาพ 12-13 เป็นรถรุ่นที่สาม ตัวถังห้าประตูตรวจการณ์ ยาว 4.930 ม. กว้าง 1.860 ม. และสูง 1.46 ม. พัฒนาจากตัวถังสี่ประตูซาลูนของรถ เอาดี เอ 6 (AUDI A6) ที่อยู่ในตลาดมาแล้วเกือบ 1 ปี มีทั้งแบบขับล้อหน้าและขับ 4 ล้อ โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจถึงหกขนาด เริ่มออกโชว์รูมแล้วหลังจากปรากฏตัวในงานนี้ไม่กี่วัน ส่วน เอาดี อาร์เอส 4 (AUDI RS4) ในภาพ 14 ซึ่งเป็นโมเดลหัวกะทิของรถ เอาดี เอ 4 (AUDI A4) ที่ผู้ใช้รถในบ้านเราคงคุ้นเคยกันดี เป็นรถซาลูนขับ 4 ล้อที่เน้นสมรรถนะการขับขี่ในลักษณะของรถสปอร์ท ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 8 สูบ 4,163 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 420 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ใช้เวลาแค่ 4.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุด จำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม.เพื่อความปลอดภัย
ผู้ผลิตรถหรูอัครฐาน เบนท์ลีย์ ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล ฟลายอิง สเปอร์ (BENTLEY CONTINENTAL FLYING SPUR) ที่เห็นในภาพ 15 เป็นรถสี่ประตูซาลูน ตัวถังยาว 5.307 ม. ซึ่งพัฒนาจากรถคูเปยอดดัง เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที (BENTLEY CONTINENTAL GT) ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC ดับเบิลยู 12 สูบ 5,998 ซีซี 560 แรงม้า ของ โฟล์คสวาเกน สามารถทำความเร็วได้ถึง 312 กม.ชม.
ลัมโบร์กินี ผู้ผลิตรถยนต์อีกรายหนึ่ง ที่สังกัดอยู่ในกลุ่ม โฟล์คสวาเกน กรุพ (VOLKSWAGEN GROUP) เรียกผู้คนเข้าบูธชนิด "หัวกระไดไม่แห้ง" ด้วยรถแนวคิด ลัมโบร์กินี คอนเซพท์ เอส (LAMBORGHINI CONCEPT S) ในภาพ 16 เป็นต้นแบบของรถ ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด (LAMBORGHINI GALLARDO) ในตัวถังเปิดประทุน ที่ค่ายกระทิงดุกำลังจะนำออกสู่ตลาดในปี 2006 นี้ เพื่อสู้กับรถประเภทเดียวกันของค่าย แฟร์รารี
ค่าย "ม้าลำพอง" ก็เรียกผู้คนเข้าบูธได้แน่นขนัดไม่แพ้กัน เพราะใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัว แฟร์รารี เอฟ 430 สไปเดอร์ (FERRARI F430 SPIDER) ที่เห็นในภาพ 17-18 เป็นรถสปอร์ทเปิดประทุนสองที่นั่ง ที่พัฒนาจากรถคูเป แฟร์รารี เอฟ 430 (FERRARI F430) ด้วยฝีมือของสำนัก ปินินฟารีนา จะออกจำหน่ายในไตรมาสที่สามของปีนี้ ด้วยค่าตัวระดับ 165,000 ยูโร หรือประมาณ 8.3 ล้านบาทไทย
ปินินฟารีนา ซึ่งจับจองพื้นที่ในฮอลล์นี้เช่นกัน มีผลงานใหม่ออกแสดงสองชิ้น คือ ปินินฟารีนา เบิร์ดเคจ 75 (PININFARINA BIRDCAGE 75TH) ในภาพ 19-20 กับ แฟร์รารี ซูเพอร์อเมริกา (FERRARI SUPERAMERICA) ในภาพ 21 คันแรกเป็นรถแนวคิดที่สำนักนี้รังสรรค์ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี โดยขอหยิบขอยืมชิ้นส่วนรวมทั้งพแลทฟอร์มจากรถ มาเซราตี เอมซี 12 (MASERATI MC12) และวิจารณ์กันว่า เป็นรถแนวคิดที่น่าจดจำที่สุดในงานนี้ ส่วนคันหลัง ซึ่งเคยอวดตัวมาก่อนแล้ว ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์เมื่อเดือนมกราคม เป็นรถสปอร์ทเปิดประทุนสองที่นั่ง พัฒนาจากรถคูเป แฟร์รารี 575 เอม มาราเนลโล (FERRARI 575M MARANELLO) มีประทุนหลังคาทำจากกระจกและคาร์บอนไฟเบอร์ ปิด/เปิดด้วยระบบไฟฟ้าที่จดทะเบียนไว้แล้วโดย เลโอนาร์โด ฟิโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI) นักออกแบบอิสระของอิตาลี
ซาบ ผู้ผลิตรถยนต์เมืองฟรีเซกซ์ ที่อยู่ในสังกัดของยักษ์ใหญ่ เจเนอรัล มอเตอร์ส ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถตรวจการณ์ ที่เห็นในภาพ 22-23 รถแบบนี้ ในบางตลาดจะจำหน่ายในชื่อ ซาบ 9-3 สปอร์ท คมบี (SAAB 9-3 SPORT COMBI) และในบางตลาดจะใช้ชื่อ ซาบ 9-3 สปอร์ท แวกอน (SAAB 9-3 SPORT WAGON)
เชฟโรเลต์ เติมสีสันให้แก่มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ ด้วยการนำ เชฟโรเลต์ คอร์เวทท์ เซด 06 (CHEVROLET CORVETTE Z06) ในภาพ 24 ไปให้คนรักรถในยุโรปได้สัมผัสตัวจริงเป็นครั้งแรกรถรุ่นนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ OHV วี 8 สูบ 7,008 ซีซี 500 แรงม้า อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ใช้เวลาแค่ 3.8 วินาที เป็นตัวเลขที่ไม่เคยมีรถตลาด เชฟโรเลต์ คอร์เวทท์ รุ่นใดทำได้มาก่อน
ในพื้นที่ของยักษ์ใหญ่ จีเอม ยังมีรถใหม่อีกสองคันที่เรียกความสนใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี คือ แคดิลแลค บีแอลเอส CADILLAC BLS) ในภาพ 25 และ จีเอม ซีคเวล คอนเซพท์ (GM SEQUEL CONCEPT) ในภาพ 26 คันแรกเป็นรถสี่ประตูซีดานระดับ UPPER-MEDIUM ที่ออกแบบตามรสนิยมของผู้ใช้รถในยุโรป โดยใช้ชิ้นส่วนหลายชิ้นร่วมกับรถ ซาบ 9-3 (SAAB 9-3) ส่วนคันหลัง ซึ่งเคยเห็นกันมาก่อนแล้วที่ดีทรอยท์เมื่อตอนต้นปี เป็นรถแนวคิด ในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง ขับเคลื่อนสี่ล้อด้วยพลังจากแกสไฮโดรเจน
ฮอลล์ 2
แบร์โตเน * เชฟโรเลต์/แดวู * อิตัลดีไซจ์น จูจาโร *
โอเพล * เซอัต * สโกดา * ซูบารุ * โฟล์คสวาเกน
หลังจากรถรุ่นแรกทำยอดขายทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1.4 ล้านคัน ในช่วงเวลาเกือบหกปีที่จำหน่ายอยู่ในตลาด เจ้าของเครื่องหมายการค้า "สายฟ้า" ก็ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว โอเพล ซาฟีรา (OPEL ZAFIRA) รุ่นที่สอง ในภาพ 27-28 รถรุ่นใหม่นี้มีขนาดตัวถังโตกว่าเดิมในทุกมิติ กับมีช่วงฐานล้อยาวกว่าเดิม 9 มม. มีมรดกตกทอดจากรถรุ่นเดิม คือระบบจัดการเก้าอี้ที่นั่ง FLEX 7 อันเลื่องชือลือชา และเป็นจุดขายสำคัญของรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง อนุกรมนี้
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่ง ที่ค่าย "สายฟ้า" นำออกแสดงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ โอเพล อัสตรา โอพีซี (OPEL ASTRA OPC) ในภาพ 29 เป็นรถตลาดโมเดลพิเศษ พัฒนาจากรถแนวคิด โอเพล อัสตรา ไฮ เพอร์ฟอร์มานศ์ คอนเซพท์ (OPEL ASTRA HIGH PERFORMANCE COCCEPT) ซึ่งปรากฏตัวที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีสเมื่อเดือนกันยายน 2004 ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบ 2.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงถึง 240 แรงม้า
แบร์โตเน ยอดสำนักออกแบบของเมืองมะกะโรนี นำผลงานใหม่ออกอวดตัวในงานนี้สองชิ้น แบร์โตเน วีล์ญา (BERTONE VILLA) ในภาพ 30 เป็นรถแนวคิดที่ทำให้ค่าย จีเอม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของสถาปัตยกรรมการออกแบบตัวถังรถซีดานระดับหรู ที่เต็มไปด้วยพื้นที่กระจก ส่วน แบร์โตเน การูเซล (BERTONE CAROUSEL) ในภาพ 31 ก็เป็นรถแนวคิดที่ทำให้ จีเอม เช่นกัน เป็นรถซึ่งไม่มีตัวถัง เพราะจุดมุ่งหมายก็เพื่อแสดงส่วนประกอบและพื้นที่ภายในห้องโดยสาร ที่บังคับควบคุมด้วยระบบ HY-WIRE ของ จีเอม
ยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน ใช้เวทีหมุนขนาดใหญ่โตมโหฬารในงานนี้เป็นที่เปิดตัว โฟล์คสวาเกน พัสสาท (VOLKSWAGEN PASSAT) รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นที่หก ในภาพ 32-33 เป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง และเพียบไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยจะได้พบกันมาก่อนในรถระดับนี้ เช่น ห้ามล้อมือควบคุมการทำงานด้วยระบบอีเลคทรอนิค ระบบโทรศัพท์ BLUETOOTH โคมไฟหน้า BI-XENON ฯลฯ
สโกดา วางจุดโฟคัสสายตาไว้ที่ สโกดา เยตี (SKODA YETI) ในภาพ 34-35 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขับเคลื่อนล้อหน้า ที่ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี และเชื่อกันว่า ถ้าปฏิกิริยาที่ได้รับจากงานนี้เป็นบวก ภายในปี 2007 สโกดา จะผลิตรถแบบนี้ออกจำหน่าย
เซอัต ผู้ผลิตรถยนต์อีกรายหนึ่งที่อยู่ในร่มเงาของ โฟล์คสวาเกน กรุพ (VOLKSWAGEN GROUP)
เรียกผู้คนเข้าบูธได้หนาตา เพราะมีแม่เหล็กอย่าง เซอัต เลอน (SEAT LEON) ที่เห็นในภาพ 36 ยังมีฐานะเป็นรถแนวคิด แต่ก็เชื่อกันว่า นี่แหละคือโมเดลหัวกะทิของรถตลาด เซอัต เลอน รุ่นใหม่ซึ่งมีกำหนดออกจำหน่ายปลายปี 2005 นี้ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท เดือนกันยายนปีนี้
ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์เมื่อตอนต้นปี ซูบารุ เรียกเสียงวิจารณ์อย่างอึงคนึง เมื่อนำรถ ซูบารุ บี 9 ทรีเบคา (SUBARU B9 TRIBECA) ออกอวดตัวเป็นครั้งแรก ที่งานนี้ ผู้ผลิตรถเมืองยุ่นนำรถคันที่ว่าออกแสดงอีกครั้งหนึ่ง (ภาพ 37-38) และก็ยังเรียกความสนใจได้อย่างดี เป็นรถอเนกลักษณ์ ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า CROSSOVER CAR ที่ผสมผสานคุณลักษณะของรถกิจกรรมกลางแจ้งและรถแวกอนขนาดเจ็ดที่นั่งเข้าไว้ด้วยกัน ผลิตที่โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอินเดียนา และจะเริ่มออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในฤดูร้อนปีนี้
ค่าย แดวู ซึ่งขายกิจการให้แก่ จีเอม และรถที่ขายในตลาดยุโรปเปลี่ยนไปติดตรา เชฟโรเลต์ กันหมดแล้ว มีผลงานใหม่ออกแสดงในงานนี้สองชิ้น คือ เชฟโรเลต์ กาโลส (CHEVROLET KALOS) ในภาพ 39 กับ เชฟโรเลต์ มาทิซ (CHEVROLET MATIZ) ในภาพ 40 คันแรกเป็นรถสามประตูแฮทช์แบคซึ่งกำลังจะออกจำหน่ายในยุโรป เคียงคู่กับรถห้าประตูแฮทช์แบค ซึ่งเมื่อปีกลายขายในยุโรปได้ถึง 55,446 คัน ส่วนคันหลังเป็นรถรุ่นที่สอง ออกแบบในเมืองโสม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนัก อิตัลดีไซจ์น จูจาโร ของอิตาลี
นอกจาก เชฟโรเลต์ มาทิซ รุ่นใหม่ที่กล่าวข้างต้น ในบูธของ อิตัลดีไซจ์น จูจาโร ซึ่งก็อยู่ในฮอลล์ 2 นี้เช่นกัน ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่งปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกในงานนี้ คือ มิตซูบิชิ เนสซี (MITSUBISHI NESSIE) ที่เห็นในภาพ 41 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดสี่ที่นั่ง ยาว 4.600 ม.กว้าง 1.950 ม. และสูง 1.810 ม. ขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยพลังจากเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ที่ใช้แกสไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง ชิ้นส่วนหลายชิ้นหยิบยืมจากรถตลาดของ มิตซูบิชิ รวมทั้งรถที่ใช้แข่งแรลลีชิงแชมพ์โลก
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา และ ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ