ชีวิตคือความรื่นรมย์
กวนานุกรม
ในบรรดานักเขียนที่เชี่ยวชาญทางภาษา สามารถเอาภาษามา "ยำ" เล่นให้ได้ทั้งสาระและบันเทิงต้องยกให้ครูอบ ไชยวสุ และ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติทางวรรณศิลป์ทั้ง 2 ท่าน
มีคนเป็นอันมากที่ชอบวิธีการเอาภาษามา "ยำ" โดยเอาคำไทยมาผสมบาลีสันสกฤต จาก "กวน"+ "อนุกรม" เป็น "กวนานุกรม" และนำเอาคำที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้นมาตีความตามแบบของท่านทั้ง 2 เอง การที่เราแอบทำตัวเป็นลูกศิษย์ท่านทั้ง 2 มา ขอนำวิธีการของท่านมาเก็บความหมายของคำไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งยุคสมัยดู ว่าช่วงหลายปีมานี้ (ไม่ใช่ "ห้วง" อย่างที่หลายคนชอบเอาใช้ตามๆ กันในช่วงนี้)
กวน-คนของให้เข้ากันหรือคละเคล้ากัน เช่น กวนน้ำให้ขุ่น กวนมะม่วง ฯลฯ แต่ถ้าเอาปากเปล่งภาษาให้คนฟังแล้วไม่เข้าหูคน เขาเรียกว่ากวนอวัยวะเบื้องต่ำหรือภาษาสุภาพว่ากวนบาทาแต่บรรพบุรุษของเราท่านใช้ตรงไปตรงมาว่า "กวนตีน"
กฎ-(บางทีก็เรียกว่าระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย กฎกระทรวงฯลฯ) ประธานสภาผู้แทน (ซึ่งรัฐธรรมนูญถูกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนมากลากไปให้กำหนดเป็นประธานรัฐสภาด้วย) หมายความว่า "ทำตามที่ประธานเห็นว่าถูกต้องแล้ว" แต่ฝ่ายค้าน-ฝ่ายเป็นกลางและฝ่ายวุฒิสภาเห็นว่าใช้ผิดความหมาย เพราะคำนั้นต้องเขียนว่า "กด" ซึ่งสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลบางคนก็ตีความว่า "ลงคะแนนแทนเพื่อน"
ก๊ก-ก๊วน-มาจากภาษาจีน (เช่นสามก๊ก) หมายความว่า แว่นแคว้น พวก หมู่ เหล่า กลุ่ม (กลุ่มลูกข้าวปั้น) แต่วงการเมืองบางประเทศในปัจจุบันเรียกให้โก้ว่า "วัง" เช่น วังบัวบาน วังน้ำเย็น วังน้ำยอม วังพญานาค ซึ่งผู้เชี่ยวชาญภาษา "ไทยกวน" หรือ "ไทย(ยี)ยวน" สันนิษฐานว่าตัดมาจากคำว่า "วังเพ็ด" หรือสะกดตัวให้ถูกต้องควรเขียนว่า "วังเพ็จ" ส่วนใครจะลองผวนดูก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด (แต่ผู้ไม่เชี่ยวชาญอย่างผู้เขียนยืนยันว่าไม่ใช่ "วัง" ที่เป็นที่ประทับของเจ้านายพระราชวงศ์แน่นอน)
กระจอก-นกชนิดหนึ่งตัวเล็กพวกหนึ่ง คู่กับกระจิบ เช่นพวกที่ชอบอยู่ในไร่ส้มถูกสื่อด้วยกันเองตั้งชื่อว่า "นกน้อยในไร่ส้ม" หรือ "กระจอกข่าว" แต่ความหมายและสายตาของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหมายถึงพวกนั่งเทียนเขียนข่าวพวกยุแยกให้แตกสามัคคี พวกไม่หวังดีต่อชาติ พวกไม่ระมัดระวังความมั่นคงของชาติ
กะจก-สิ่งที่สื่อมวลชนบอกว่าสิ่งสะท้อนการทำงานของรัฐบาล แต่สิ่งที่นักการเมืองผู้มีอำนาจเกลียด ไม่ชอบดู
กระดาก-สิ่งที่นักการส่วนมากพูดได้ แต่ไม่เข้าใจความหมาย
กระดอง- สิ่งที่นักการเมืองในก๊กหรือ "วัง" ไม่กล้ายื่นหน้าโผล่หัวออกมา เว้นแต่เวลาที่ทำหน้าที่ที่ถูกขนานนามไพเราะว่า "องครักษ์" (แต่ภาษาบรรพบุรุษเราเรียกว่า "ไม้ตีหมา")
กระมิดกระเมี้ยน-ในที่นี้มิได้หมายถึงกิริยาอาการของผู้ดีที่ซ่อนอาย แต่เป็นกิริยาของนักเลือกตั้งสมัยก่อนนัดพบกันและแอบยื่นของบางอย่าง (เช่นซอง) ให้กันในห้องน้ำ
ก่อหวอด-ความเป็นจริงคืออาการที่ปลาน้ำจืดบางชนิด (เช่นปลากัด) ทำรังเพื่อวางไข่แต่ทั่วไปหมายถึงบุคคลบางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อกดดันหรือเรียกร้องให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แต่มักจะเงียบหรือสลายกลุ่มเมื่อมีอะไรมายัดปากแล้ว
กาสิโน-คำที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นแหล่งอบายมุขและมีผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของทั่วไปในบ้านเมือง (ยกเว้นคนที่เขาเรียกว่า "ปูลิส" บางคน) แต่รัฐบาลบางประเทศนอกจากจะเห็นเป็นวิถีทางหาเงินมาใช้อย่างง่ายๆ และมีวิธีปราบง่ายๆ คือเอาขึ้นมาให้ประชาชนผู้ยากจนสามารถซื้อหาหรือทำกันได้อย่างโจ่งแจ้งบนดิน โดยแก้เกี้ยวให้เอาเงินที่เหลือเศษเหลือเลยเล็กๆ น้อยๆ จากกำไรมหาศาลไปแจกเด็ก อ้างว่าเป็นทุนการศึกษา แล้วอุดปากนักเรียนยากจนส่งไปเรียนต่างแดน โดยวิธีคัดเลือกที่ไม่รอบคอบ จนเด็กบางคนได้วุฒิภาวะทางการศึกษายังไม่พร้อม เมื่อได้รับทุนไปและไปพบสภาพ "อาการชอคทางวัฒนธรรม" เลยถึงกับทำลายชีวิตและอยากกลับบ้านเป็นแถวๆ
แกงโฮะ-ฉายารัฐบาลประเทศหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าจะเลือกแต่คนเก่งๆมาบริหารประเทศแต่แท้จริงแล้วจับแพะชนแกะ เพื่อประสานประโยชน์แต่ละก๊กเหล่า เหมือนแกงทางเมืองเหนือที่จับเอาแกงฮังเลผสมกะทิ หน่อไม้ ดอง วุ้นเส้น และผักอะไรต่ออะไรมาใส่รวมกันไป แกงน่ะอร่อย แต่รัฐบาลประเทศนั้นเขาเรียกว่า "ยี้ยั้วเยี้ย"
ข้าราชการ-ความหมายที่ถูกต้องคือข้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ทำงานให้เกิดผลดีแก่ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม แต่ผู้นำและเสนาบดีของรัฐบาลบางประเทศเห็นว่าเป็น"ข้า" ของ "ข้าพเจ้า" จะสั่งซ้ายหันขวาหันอะไรก็ต้องได้ หรือแม้แต่ข้าราชการบางประเทศบางสมัยจนทุกวันนี้ก็ยังตีความว่า "นายของประชาชน"อยู่ร่ำไป
คอรัพชัน-เป็นพันธกิจที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องอ้างไว้ในการแถลงนโยบาย มิฉะนั้นก็จะหาไม่ว่าตั้งใจปราบ แต่เรื่องนี้แปลก ยิ่งปราบนักคอรัพชัน มากเท่าได คอรัพขั่นยิ่งมากเท่านั้นอาจเป็นเพราะคนไม่เข้าใจตรงกันก็ได้ สมัยก่อนมีแต่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งคนปัจจุบันคงเข้าใจยาก ส่วนคนที่ไปเรียนเมืองนอกมาพูดแล้วคน ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี...เพราะพูดไทยคำก็แถมฝรั่งห้าคำ
เฮ้อ
.
คิดใหม่ทำใหม่-คิดไวทำไวปากไวพูดไว คนละเรื่องกับคิดดีทำดี-คิดถูกต้องทำถูกต้องคิดเพื่อชาติทำเพื่อประชาชน (แต่คำว่า "ประชาชน" ในความหมายตอนหาเสียงเลือกตั้ง กับ "ประชาชน" ตอนที่ชนะเลือกตั้งแล้วอันหมายถึงญาติโกโหติกา)
ทักษิโณมิก-เป็นคำแปลก เพราะเป็นคำสันสกฤตสมาสหรือสนธิกับอังกฤษ ดูเหมือนเป็นศัพท์ของพวกขาประจำหรือเด็กวัดรวมทั้งเด็กต่างแดนจับมารวมกัน ระหว่างคำว่า "ทักษิณ"+ NOMIC (นัยว่าตัดมาจากคำ ECONOMIC) จึงต้องเขียนให้เข้ากันว่า TAKSINOMIC เป็นคำที่เก๋มากๆ ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจแบบทักษิณ ซึ่งมีผู้พยายามตีความว่า "ไปโลด" ไม่รู้ว่าแปลว่ากระไร
ภาพพจน์-เป็นคำในวรรณกรรมที่หมายถึงการกล่าวบรรยายออกมาแล้วคนนึกเห็นภาพตามไปด้วยไม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ซึ่งหมายถึงเพียงเอ่ยออกมาคนก็นึกภาพไปก่อนแล้ว เช่นถ้าเอ่ยถึงเป็นตำรวจ คนก็ลึกถึงพญายม ถ้าเอ่ยถึงสมาชิกฝ่ายค้าน คนก็นึกถึงคนที่อดอยากปากแห้งเป็อาทิ
เลียแข้งเลียขา-เป็นคำไทยธรรมดา จึงไม่มีคำแปล มีแต่คำอธิบายว่าเป็นกิริยาอาการของสุนัขที่รักเจ้าของมาก ทำประจ๋อประแจ๋เพื่อให้นายรัก โดยหมา...เอ๊ย...สุนัขไม่ต้องการอะไรตอบแทนจริงๆ ถ้าเป็นแมวเขาจะใช้ว่า "เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู" คำนี้จึงไม่เกี่ยวกับมนุษย์แต่อย่างใด
วอล์คเอาท์-เป็นภาษาต่างประเทศที่เข้ามาปะปนในพฤติกรรมของสมาชิกฝ่ายค้านของนักการเมืองประเทศต่างๆ เรื่องนี้แปลกเพราะไม่มีข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลวอล์คเอาท์ เพราะสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเลือกทำหน้าที่สำคัญยิ่งคือการทำให้ไม่ครบองค์ประชุมเป็นการสม่ำเสมออยู่แล้ว เรื่องนี้โทษกันไม่ได้เพราะต่างฝ่ายต่างมีพันธกิจสำคัญ เช่น (อ้างว่าประชุมกรรมาธิการ ซึ่งสำคัญกว่า บางครั้งต้องทำงานหนัก เช่นเซ็นชื่อกรรมาธิการชุดหนึ่งแล้ว ยังต้องวิ่งไปเซ็นชื่ออีกคณะหนึ่งอีกต่างหาก เหนื่อยแทบแย่ ยังมีคนไม่เห็นใจอีก ทั้งที่เบี้ยเลี้ยงกรรมาธิการก็จิ๊บจ๊อย
หัวหลักหัวตอ-นี่ก็เป็นคำที่ไม่ต้องแปล ถ้าต้องการความหมายที่ลึกซึ้ง ต้องไปถามนักการเมืออายุมาก (ที่ไม่ใช้ว่าอาวุโสเพราะเกรงใจ เดี๋ยวจะหาว่าแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานซึ่งไม่เกี่ยวกับหลักหรือตอใดๆ)
เรื่องนี้เห็นจะจบไม่ลงง่ายๆ เสียแล้ว เพราะยังมีคำที่กวนกว่านี้อีกมาก
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์