ชีวิตคือความรื่นรมย์
ชั่วคราว หรือถาวร
เมื่อก่อนคำว่าชั่วคราว หรือถาวร เป็นคำที่มีความหมายดี ลึกซึ้ง แต่มาถึงสมัยใหม่ในปัจจุบัน ไม่นึกเลยว่าความหมายจะตกต่ำเพราะเขาเอาไปใช้กับบุคคลประเภทที่ไม่น่าไว้วางใจว่า
"ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในวงการเมือง" คนเลยมองเห็นว่า นักการเมืองเป็นอย่างนี้นี่เอง ทั้งๆ ที่ความจริงน่าจะเป็นการแยกกัน
การไม่มีมิตรแท้นั้น โดยทั่วไปไม่ดีแน่ เพราะคนเรา ต่อให้โกรธกันอย่างไร ก็ควรอภัยให้กันได้ ถ้าการอภัยนั้นเป็นการดีต่อทุกฝ่าย (ที่สมัยนี้เขามักใช้ว่า "วิน-วิน" หรือ "WIN-WIN" คือ ได้ประโยชน์เป็นที่พอใจทุกฝ่าย)
ส่วนการไม่มีศัตรูถาวรนั้น พูดไปแล้วน่าจะเป็นการดีต่อสังคม ถ้าคนเราไม่เป็นศัตรู...โดยเฉพาะการเป็นศัตรูอย่างถาวร ย่อมไม่เป็นการดีต่อใครทั้งนั้น
ผู้เขียนเกิดเป็นน้องรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเรา (27 มิถุนายน 2475) เพียง 2 ปี แต่กว่าจะโตพอรู้เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนั้น (ที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว") ก็มีแต่เพียงชื่อปรากฏในวิชาประวัติศาตร์ให้รู้ไว้ให้ตอบเอาคะแนนเท่านั้น
แม้กระทั่งฉบับที่สองที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับถาวร" ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มีชื่อที่เรียกเป็นทางการว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475" รัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกว่าถาวรนี้ มี 68 มาตรา อายุ 13 ปี 4 เดือน 29 วัน (จาก 10 ธันวาคม 2475-9 พฤษภาคม 2489) ปัจจุบันนี้ก็มีคุณูปการเพียงว่าให้เราได้รำลึกถึง โดยการหยุดราชการ 1 วัน ตอนนั้นเรียกว่า "วันรัฐธรรมนูญ"งานฉลองรัฐธรรมนูญนั้น ครั้งแรกที่สุดมีขึ้นที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งคณะราษฎร-ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์ควรเรียกว่า "ปฏิวัติ" เพราะเป็นการเปลี่ยนระบบการปกครอง นอกนั้น ต่อๆ มาน่าจะเรียกว่า "รัฐประหาร" คือยึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า
ส่วนที่ยึดอำนาจไม่สำเร็จ เช่น เมื่อ วันที่ 10-25 ตุลาคม 2476 โดยผู้นำทำการ คือ นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เรียกนามว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ทำการยึดอำนาจไม่สำเร็จ จึงถูกเรียกว่า "กบฏ" หรืออีกครั้งที่ผู้เขียนจำได้ คือเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ที่นำโดยพันเอกมนูญ รูปขจร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มนูญกฤต เป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดเลือกตั้งครั้งแรก 2543-2549) นำคณะรัฐประหารรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์แล้วไม่สำเร็จ ก็ถูกเรียกว่ากบฏเช่นกัน ดีแต่สมัยหลังๆ นี้ มีการนิรโทษกรรม จึงยังชูคออยู่ในสังคมได้
ที่น่าคิดยิ่งกว่านั้น ช่วงหนึ่งก็ไม่หยุดราชการให้ เพียงแต่พูดถึงว่าเป็น "วันที่ระลึกรัฐธรรมนูญ" เท่านั้นทั้งๆ ที่สมัยที่ผู้ร่วมก่อการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง (นายพันโทหรือพท. หลวงพิบูลสงครามต่อมา คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม-ผู้มีนามเดิมว่า แปลก ขีตตะสังคะ ) ยังเรืองอำนาจนั้น งานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งย้ายไปจัดที่สวนลุมพินี ถือเป็นงานฤดูหนาวที่ขึ้นหน้าขึ้นตาประจำปี มีวัสดุเหลือใช้...เอ๊ย..อนุสรณีย์เดินได้เป็นที่ระลึกที่น่าชื่นใจ คือ นางสาวสยาม-ที่ต่อมาเป็นนางสาวไทย เมื่อประเทศชาติที่รักของเราถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" ให้ดูเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ (CIVILIZE) นับแต่วันที่ 6ตุลาคม 2482 เป็นต้นมา
"นางสาวไทย" กลายเป็นสมบัติ หรือมรดกทางวัฒนธรรม (?) สืบเนื่องจากงานฉลองรัฐธรรมนูญมาจนบัดนี้ ดังนี้แล
ขอรวบรัดตัดตอนมาถึงเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งบางครั้งก็คราวละนานๆ ปี เช่น สมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำคณะยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ครั้งสุดท้ายของนายก ฯคนนั้น คือ เมื่อ 16 กันยายน 2500 เพราะเป็นนายก ฯ ที่ครองอำนาจหลายสมัยที่สุด คือ 8 ครั้ง รวมเวลาทั้งสิน 15 ปี 23 วัน)
แต่ยึดอำนาจแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีเอง โดยให้นายพจน์ สารสินเป็นนายก ฯ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งก็ให้จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายก ฯ อยู่ได้ 9 เดือน 19 วัน จอมพลสฤษดิ์จึงยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 และเป็นนายก ฯ ที่ใช้ (ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) เวลาร่างรัฐธรรมนูญยาวนานมาก ระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ก็ใช้ "ธรรมนูญการปกครอง" ฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจนายก ฯ มากที่สุด ที่ขึ้นชื่อลือชามาก ก็คือ มาตรา 17 ที่สามารถสั่งการได้เด็ดขาดมาก สามารถสั่งจับกุมคุมขังผู้ที่ "ประกาศคณะปฏิวัติ" อ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มาตรานี้ศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถสั่งยิงเป้าผู้ที่ถูกตำรวจอ้างว่าเป็นผู้ทำให้ไฟไหม้ให้คนเห็นที่ข้างหอสมุดแห่งชาติ (เดิมที่ข้างสนามหลวง) จนต่อมา คนระมัดระวังเรื่องไฟไหม้มากจนเรียกได้ว่า เป็นนายก ฯ ที่สามารถสั่งหยุดไฟไหม้ได้
มาตรา 17 นี้ถูกคณะสักวา "สโมสรสยามวรรณศิลป์" ของผู้เขียนนำมาอ้างมากที่สุด และต่อๆ มา เมื่อมีรัฐประหาร (หรือที่เรียกว่า "คณะปฏิรูปการปกครอง" เมื่อคณะพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่เป็นหัวหน้าคณะเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 หรือเรียกว่า "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ ปี 2535-เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็เพิ่มมาตรามากขึ้น มาตราศักดิ์สิทธิ์มหาศาล สั่งยิงเป้า หรือจับกุมคุมขัง ใครที่อ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ก็กลายเป็นมาตรา 20 บ้าง มาตรา 21 บ้าง
ขณะที่เรียบเรียงต้นฉบับนี้ คณะยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (๒) ซึ่งนำโดยหัวหน้าคณะ (ด้วยความจำเป็นและไม่ตั้งใจมาก่อน) คือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้ใช้ชื่อคณะว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งเข้าใจว่าเป็นชื่อคณะยึดอำนาจที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก เป็นการยึดอำนาจที่ไม่มีเสียงปืนแม้แต่นัดเดียวมีประชาชนพอใจ(ทราบจากโพลล์) ถึง 83 % มีประชาชนไปถ่ายรูปกับรถถัง (ทั้งชาวต่างประเทศด้วย) ไปมอบข้าวปลาอาหาร และมอบดอกไม้ ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มาและไม่เหมือนที่ใดๆ ในโลก แต่มีสัญญาว่า
จะพยายามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์
จะประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราว (ได้ยินว่ามีร่างเสร็จแล้ว ให้คณะนักวิชาการลองอ่านวิจารณ์ และแก้ไขอยู่ มี 39 มาตรา) ให้เร็วที่สุด
ให้ได้คณะรัฐมนตรีที่ประชาชนได้ยินชื่อแล้วไม่ร้อง "ยี้" หรือ "ว้า" 35 คน รวมกับนายก ฯ เป็น 36 คนคณะรัฐมนตรีนี้ มีอายุ ประมาณ 1 ปี
รัฐมนตรีชุดนี้มีหน้าที่หลัก 2-3 ประการ คือ ช่วยดูแลการร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการบริหารราชการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรือทำให้ทั่วโลกเข้าใจประเทศไทย และเชื่อมั่นต่อประเทศไทยโดยเร็ว
จะให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นขบวนการภายในเวลาประมาณ 6-8 เดือน หลังจากนั้นให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนผู้เขียนได้แต่ตั้งจิตอธิษฐาน ขอพระเดชพระสยามเทวาธิราชและพระบรมบารมีบุรพกษัตริยาธิราชโปรดคุ้มครองประเทศชาติให้พ้น "อำนาจธนาธิปไตย" "กังฉินวงศาคณาญาตยาธิปไตย" ปลอดจากเผด็จการสภา และมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจริงๆ และขอให้เป็นการยึดอำนาจนอกรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้ายจริงๆด้วยเทอญ
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์