มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์เจนีวา
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีเหตุจำเป็นให้ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเยือนเมืองคาร์ทูม (KHARTOUM) นครหลวงของประเทศซูดาน ดินแดนในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีชายแดนด้านเหนือติดกับภาคใต้ของประเทศอียิปต์ กลับมากรุงเทพ ฯ ทำโน่นทำนี่อยู่แค่ 2 วัน 2 คืน ก็ต้องเก็บเข้าเก็บของยัดใส่กระเป๋าเพื่อเดินทางไปทำข่าว มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 77 ซึ่งจัดกันในช่วงต้นเดือนมีนาคม เหมือนหลายๆ ปีที่ผ่านมา
การเดินทางไปเยือนเจนีวาเป็นครั้งที่ 16 นี้ คณะของเราซึ่งมีสมาชิกรวม 6 ชีวิต ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิตอนดึกหลังเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2007 แล้วเดินทางไปถึงนครซูริคตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น (ฤดูนี้เวลาที่ซูริค และทุกๆ เมืองของสวิทเซอร์แลนด์ช้ากว่าเวลาของเมืองไทย 6 ชม.) จากนั้นก็นั่งรถไฟอีก 3 ชม. เพื่อบรรลุจุดหมายปลายทางของเราคือ นครเจนีวา
ระบบรถไฟของเมืองสวิสนั้น ขึ้นชื่อลือชาทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย ความสะอาดสะอ้านและความตรงต่อเวลา เคยใช้บริการมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จึงยืนยันได้ดีในเรื่องเหล่านี้ และก็แน่นอน เมื่อของเขาดี ราคาก็ย่อมต้องดีตามไปด้วย อย่างการเดินทางจากนครซูริคไปจากนครเจนีวา ซึ่งใช้เวลาแค่ 3 ชม. และรถหยุดแค่ 2-3 สถานี ปรากฏว่าเราต้องจ่ายไปคนละ 81 ฟรองศ์สวิส หรือประมาณ 2,350 บาทไทย สำหรับตั๋วโดยสารชั้น 2
สถานที่จัดงาน มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุดนี้ ยังคงเป็นที่เดิม คือ PALEXPO ซึ่งเป็นศูนย์นิทรรศการขนาดยักษ์ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสนามบินนานาชาติของนครเจนีวา มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตถึง 114,000 ตรม. โดยเป็นพื้นที่จัดงานรวม 77,000 ตรม. ซึ่งก็ชักจะคับแคบไปแล้ว เพราะผู้จัดงานบอกว่า ปีหน้าอาจต้องขยับขยายเป็น 84,000 ตรม. เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้ร่วมงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี
เอกสารที่ผู้จัดงานแจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชนระบุว่า ปีนี้ มีผู้ร่วมงานรวม 252 ราย จาก 30 ประเทศ กับมีรถยนต์ และสินค้ารถยนต์ประเภทต่างๆ แสดงในงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 950ยี่ห้อ โดยที่ในจำนวนนี้ มีอยู่ประมาณ 130 รายการ ซึ่งปรากฏตัวที่งานนี้ในลักษณะ "ครั้งแรกในโลก" หรือ "ครั้งแรกในยุโรป"
PALEXPO แบ่งพื้นที่จัดงานเป็น 7 ฮอลล์ แต่มีอยู่เพียง 5 ฮอลล์เท่านั้น ที่เป็นพื้นที่สำหรับรถยนต์ทุกฮอลล์มีพื้นที่ต่อเนื่องกัน และอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน การเดินชมงานจึงทำได้ง่ายและสะดวกไม่ต้องเดินเข้าเดินออกหลายๆ อาคาร เหมือนอย่างมหกรรมยานยนต์ในยุโรปอีก 2 รายการ คือ มหกรรมยานยนต์ปารีส และมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท พลิกไปดูได้เลยครับ ใน 5 ฮอลล์ ที่ว่านี้มีผลงานอะไรให้ชมกันบ้าง ?
เอาดี เอ 5/เอาดี เอส 5
ค่าย "สี่ห่วง" ซึ่งเมื่อปีกลายสามารถจำหน่ายรถในตลาดทั่วโลกได้ถึง 905,100 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.2 จากตัวเลขในปี 2005 วางจุดโฟคัสความสนใจไว้ที่ เอาดี เอ 5 (AUDI A5) รถคูเป 4 ที่นั่งแบบแรกของค่ายนี้นับแต่ปี 1996 เป็นรถที่ออกแบบเพื่อสู้กับรถคูเประดับเดียวกันของค่ายคู่แข่ง คือ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-3 คูเป และ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเค-คลาสส์ โดยมี เอาดี เอส 5 (AUDI S5) ที่เห็นในภาพ 12-13 เป็นรถโมเดลหัวกะทิ
เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ส
ผู้ผลิตรถระดับอัครฐานของเมืองผู้ดี ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของ โฟล์คสวาเกน กรุพ แห่งเยอรมนี ใช้งานนี้
เป็นที่เปิดตัว เบนท์ลีย์ บรุคแลนด์ส (BENTLEY BROOKLANDS) ในภาพ 14 เป็นรถคูเป 4 ที่นั่งผลิตด้วย
มือค่าตัว 300,000 ยูโร พัฒนาจากรถซาลูน เบนท์ลีย์ อาร์นาจ (BENTLEY ARNAGE) ซึ่งอยู่ในสายการผลิตมา
นมนาน และจำกัดจำนวนผลิตไว้แค่ 550 คัน
ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด ซูเพอร์เลกเกรา
ผู้ผลิตรถสปอร์ทกระทิงดุ ซึ่งเป็นอีกรายหนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายของ โฟล์คสวาเกน กรุพ เรียกความสนใจได้อย่างอึงคะนึงด้วย ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด ซูเพอร์เลกเกรา (LAMBORGHINI GALLARDO SUPERLEGGERA) ในภาพ 15-16 เป็นรถสปอร์ท ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด รุ่นพิเศษ ที่ลดน้ำหนักตัวได้ถึง 100 กก. โดยเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังบางชิ้นซึ่งทำจากอลูมิเนียม และกระจก เป็นชิ้นส่วนที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ และโพลีคาร์โบเนท (POLYCARBONATE) ซึ่งเบากว่า ออกจำหน่ายแล้วในยุโรป ด้วยค่าตัวระดับ 175,000 ยูโร
มาเซราตี กรัน ตูริสโม
มาเซราตี กรัน ตูริสโม (MASERATI GRAN TURISMO) ในภาพ 17-18 เป็นรถแบบใหม่ล่าสุดของค่าย "ตรีศูล" แห่งเมืองมะกะโรนี ซึ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ ตัวถังยาว 4.881 ม.ออกแบบทั้งภายนอกและภายในโดยสำนัก ปินินฟารีนา (PININFARINA) แห่งอิตาลี เป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ วี 8 สูบ 4.2 ลิตร 405 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 5.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 285 กม./ชม. จะออกจำหน่ายกลางปีนี้ ด้วยค่าตัวระดับ 110,000-120,000 ยูโร
ซาบ 9-5 ไบโอ เพาเวอร์ 100
ซาบ 9-5 ไบโอ เพาเวอร์ 100 (SAAB 9-5 BIO POWER 100) ในภาพ 19 เป็นรถแบบพิเศษที่ผู้ผลิตรถยนต์เมืองฟรีเซกซ์ทำขึ้น เพื่ออวดเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทดแทน โดยติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบ 2.0 ลิตร ที่ใช้เอธานอลล้วนๆ (E100) เป็นเชื้อเพลิง ให้ไอเสียสะอาด แต่ให้กำลังสูงพอๆ กับเครื่องยนต์เบนซินขนาด 4.0 ลิตร คือ สูงถึง 300 แรงม้า นั่นเทียว
โลทัส เอกซีจ จีที 3 คอนเซพท์
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีซึ่งมีเจ้าของอยู่ในมาเลเซีย นำรถใหม่ออกแสดงในงานนี้หลายคัน และคันที่น่าสนใจที่สุด คือ โลทัส เอกซีจ จีที 3 คอนเซพท์ (LOTUS EXIGE GT3 CONCEPT) ในภาพ 20 ซึ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถถนนซึ่งพัฒนาจากรถแข่ง ติดตั้งเครื่องยนต์ซูเพอร์ชาร์จ 1,796 ซีซี ซึ่งพัฒนาจากเครื่องยนต์ โตโยตา ที่ใช้อยู่ในรถตลาด โลทัส เอกซีจรุ่นสามัญ จนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 221 เป็น 275 แรงม้า ขณะนี้ยังเป็นรถแนวคิด แต่เชื่อได้ว่าอีกไม่นานก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด
มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์
รถกิจกรรมกลางแจ้ง มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ (MITSUBISHI OUTLANDER) ในภาพ 21-22 เป็นรถขนาด 5 หรือ 7 ที่นั่ง ออกแบบสำหรับตลาดอเมริกาเหนือ และเริ่มจำหน่ายเมื่อปลายปี 2005 ค่าย "สามเพชร" นำไปเปิดตัวในตลาดยุโรปที่งานนี้ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะรถแบบนี้นี่แหละ ที่เป็นพื้นฐานในการออกแบบ และพัฒนารถกิจกรรมกลางแจ้งพันธุ์ยุโรปอีก 2 แบบ ซึ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้เช่นเดียวกัน คือ เปอโฌต์ 4007 และ ซีตรอง เซ-กรอสเซร์
บริลเลียนศ์ บีซี 3 คอนเซพท์
บริลเลียนศ์ (BRILLIANCE) ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนรายแรก ที่นำผลงานออกแสดงในงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา มีผลงานให้ชื่นชมกันหลายชิ้น แต่ชิ้นที่น่าสนใจที่สุดคือ บริลเลียนศ์ บีซี 3 คอนเซพท์ (BRILLIANCE BC3 CONCEPT) ในภาพ 23 ซึ่งเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 2 ประตูคูเป 4 ที่นั่ง ออกแบบโดยสำนัก ปินินฟารีนา (PININFARINA)
แบร์โตเน บาร์เกตตา
แบร์โตเน บาร์เกตตา (BERTONE BARCHETTA) ผลงานที่สำนักออกแบบเมืองมะกะโรนีรังสรรค์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทเปิดประทุน 2 ที่นั่งประตูเปิด/ปิดแบบปีกนก ตัวถังขนาด 3.585x1.705x1.090 ม.ทำจากอลูมิเนียมล้วนด้วยมือ กลไกหลายชิ้นรวมทั้งพแลทฟอร์ม ขอหยิบขอยืมมาจากรถตลาด เฟียต ปันดา 100 เอชพี (FIAT PANDA 100HP) ส่วนรูปทรงองค์เอวของตัวถัง ได้แรงบันดาลใจจากรถที่เคยโด่งดังในอดีต คือ แบร์โตเน เฟียต 500 บาร์เคตตา รุ่นปี 1947
สโกดา ฟาบีอา
ผู้ผลิตรถยนต์แห่งสาธารณรัฐเชค ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของ โฟล์คสวาเกน กรุพ แห่งเยอรมนี ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว สโกดา ฟาบีอา (SKODA FABIA) รุ่นที่ 2 ในภาพ 26 ในระยะแรกรถรุ่นใหม่นี้จะมีตัวถังเพียงแบบเดียว เป็นตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบคซึ่งยาวกว่ารถรุ่นเดิม 22 มม. และสูงกว่ารถรุ่นเดิม 47 มม. โดยจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 7 ขนาด (60 ถึง 105 แรงม้า) เป็นเครื่องเบนซิน 4 ขนาด และเครื่องดีเซล 3 ขนาด ส่วนที่เห็นในภาพ 27 เป็นรถโมเดลพิเศษ คือ สโกดา ฟาบีอา เอส 2000 (SKODA FABIA S 2000) ออกแบบสำหรับการแข่งแรลลี
เซอัต อัลเตอา ฟรีทแรกค์
จุดโฟคัสสายตาในบูธของผู้ผลิตรถยนต์เมืองกระทิงดุ คือ เซอัต อัลเตอา ฟรีทแรกค์ (SEAT ALTEA
FREETRACK) ในภาพ 28 เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถ SUV 4x4 ที่ค่ายนี้จะผลิตจำหน่ายในอนาคตอันใกล้
โดยขอยืมชิ้นส่วนหลายชิ้นรวมทั้งพแลทฟอร์มจากรถตลาด เซอัต อัลเตอา
อิตัลดีไซจ์น จูจาโร วีเอดีดอทเอชโอ
อิตัลดีไซจ์น จูจาโร วีเอดีดอทเอชโอ (ITALDESIGN GIUGIARO VAD.HO) ในภาพ 29-30 เป็นแม่เหล็กซึ่งดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลเข้าสู่บูธของค่ายนี้อย่างแน่นขนัด เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ท 2 ที่นั่ง ซึ่งวางที่นั่งของผู้โดยสารไว้หลังที่นั่งของผู้ขับ ทำให้สามารถติดตั้งเครื่องยนต์ได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของห้องโดยสาร แถมเป็นรถที่ไม่มีพวงมาลัย ผู้ขับสามารถบังคับควบคุมรถด้วยนวัตกรรมที่ก้าวล้ำนำสมัยคือ ด้วย จอยสติค (JOYSTICK) จำนวน 2 ชุด ซึ่งติดตั้งอยู่บนที่พักแขนทั้งด้านขวา และด้านซ้ายของผู้ขับ
โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ วาเรียนท์
ยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน นำรถใหม่ออกอวดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้หลายคัน และคันที่ทรงความสำคัญที่สุด คือ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ วาเรียนท์ (VOLKSWAGEN GOLF VARIANT) ที่เห็นในภาพ 31-32 เป็นรถรุ่นที่ 3 ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรปเดือนมิถุนายนนี้ โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้รวม 4 ขนาด แยกเป็นเครื่องเบนซิน และดีเซลอย่างละเท่าๆ กัน เช่นเดียวกับรถซาลูน โฟล์คสวาเกน เจททา (VOLKSWAGEN JETTA) ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2005 ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ จะใช้โรงงานที่เมือง พูเอบลา (PUEBLA) ในเมกซิโกเป็นที่ผลิตรถรุ่นใหม่นี้
โอเพล โคร์ซา โอพีซี
โอเพล โคร์ซา โอพีซี (OPEL CORSA OPC) ในภาพ 33 เป็นรถรุ่นพิเศษ ออกแบบและพัฒนาสำหรับผู้ใช้รถที่นิยมรถเล็กแต่ร้อนแรง ที่เรียกกันในยุโรปว่า HOT HATCH สามารถทำความเร็วได้ถึง 225 กม./ชม.เพราะติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบ 1.6 ลิตร ที่ให้กำลังสูงถึง 192 แรงม้า
โอเพล จีทีซี คอนเซพท์
รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ค่าย "สายฟ้า" นำออกอวดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้ คือ โอเพล จีทีซี คอนเซพท์ (OPEL GTC CONCEPT) ในภาพ 34-35 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 2 ประตูคูเป 4 ที่นั่งขนาดกลางซึ่งเชื่อกันว่า รูปลักษณ์และรายละเอียดในหลายๆ จุด จะถูกนำไปใช้ในรถตลาด โอเพล เวคทรา (OPEL VECTRA) รุ่นใหม่ ซึ่งจะออกจำหน่ายในปี 2008 วิจารณ์กันในยุโรปว่า ในส่วนของตัวถังภายนอกจุดสะดุดตาที่สุด คือ แผงกระจังหน้ารูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ ซึ่งให้ความรู้สึกในพละกำลังและความแข็งแกร่งน่าเกรงขาม
เรอโนลต์ ทวิงโก
ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมมีผลงานใหม่ออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 ชิ้น ชิ้นแรก คือ เรอโนลต์ ทวิงโก (RENAULT TWINGO) รุ่นที่ 2 ในภาพ 36-37 เช่นเดียวกับรถรุ่นแรกรถรุ่นใหม่นี้มีตัวถังเพียงแบบเดียว เป็นตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ขนาด 3.600x1.654x1.470 ม. ซึ่งวางตัวบนพแลทฟอร์มที่ขอหยิบขอยืมมาจากรถ เรอโนลต์ กลีโอ (RENAULT CLIO) รุ่นเก่า ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมจะใช้โรงงานในสโลวาเนียเป็นที่ผลิตรถรุ่นนี้
เรอโนลต์ กลีโอ กแรนด์ ทัวร์ คอนเซพท์
เรอโนลต์ กลีโอ กแรนด์ ทัวร์ คอนเซพท์ (RENAULT CLIO GRAND TOUR CONCEPT) ในภาพ 38 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 3 ประตูตรวจการณ์ขนาดเล็ก ซึ่งเชื่อกันว่า อีกไม่นานจนเกินรอจะกลายสภาพเป็นรถตลาด ตัวถังทรง 2 กล่อง ขนาด 4.217x1.785x1.506 ม. ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC 4 สูบเรียง 2.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงถึง 200 แรงม้า
นิสสัน เอกซ์-ทเรล
ผู้ผลิตรถยนต์เมืองยุ่น ซึ่งมียักษ์ใหญ่ของเมืองน้ำหอมถือหุ้นอยู่ร้อยละ 44.4 ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัวรถกิจกรรมกลางแจ้ง นิสสัน เอกซ์-ทเรล (NISSAN X-TRAIL) รุ่นที่ 2 ในภาพ 39 จะออกจำหน่ายในยุโรปเดือนมิถุนายนนี้ ในตัวถังทรง 2 กล่อง ขนาด 4.630x1.785x1.685 ม. ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง รูปทรงองค์เอวตัวถังวิจารณ์กันในยุโรปว่า เป็นการออกแบบในลักษณะค่อนข้างจะอนุรักษนิยม คือ แทบไม่มีอะไรฉีกแนวไปจากรถรุ่นก่อน ซึ่งเริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2000
ฮอนดา สมอลล์ ไฮบริด สปอร์ทส์ คอนเซพท์
จุดโฟคัสสายตาในบูธของยักษ์รองเมืองยุ่น คือ ฮอนดา สมอลล์ ไฮบริด สปอร์ทส์ คอนเซพท์ (HONDA SMALL HYBRID SPORTS CONCEPT) ในภาพ 40-41 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเปขนาดเล็กกะทัดรัดขับเคลื่อนด้วยระบบพันทาง โดยใช้เครื่องยนต์เบนซินทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นผลงานรังสรรค์ของศูนย์วิจัย และพัฒนาของ ฮอนดา ยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในเยอรมนี และเป็นต้นแบบของรถพันทางขนาดเล็กที่ค่ายนี้ตั้งใจที่ผลิตออกจำหน่ายในตลาด เพื่อสู้กับรถพันทางยอดดังของค่าย โตโยตา คือ รถ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) ที่ขายไปแล้วหลายแสนคัน
ซูซูกิ เอสเอกซ์ 4 ซีดาน
ยักษ์เล็กของเมืองยุ่น ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ซูซูกิ เอสเอกซ์ 4 ซีดาน (SUZUKI SX4 SEDAN) ในภาพ 42 เป็นรถ 4 ประตู 4 ที่นั่งขนาดเล็กผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาจากรถแฮทช์แบค ซูซูกิ เอสเอกซ์ 4 (SUZUKI SX4) ซึ่งเป็นรถผลิตในยุโรปและเปิดตัวที่งานเดียวกันนี้เมื่อปี 2006
ไดฮัทสุ คูโอเร
ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์เล็กของเมืองยุ่น ซึ่งมียักษ์ใหญ่ โตโยตา ถือหุ้นอยู่มากกว่าครึ่ง นำรถขนาด มีนี ไดฮัทสุ มิรา (DAIHATSU MIRA) รุ่นใหม่ล่าสุด (รุ่นที่ 7) ซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อตอนปลายปี ไปเปิดตัวในยุโรป พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเป็น ไดฮัทสุ คูโอเร (DAIHATSU CUORE) กำหนดออกจำหน่ายในหลายประเทศของยุโรปในฤดูร้อนปีนี้ โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้เพียงขนาดเดียว คือ เครื่อง DOHC 3 สูบเรียง 998 ซีซี 70 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 4 จังหวะ
โตโยตา ไฮบริด เอกซ์
ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นนำผลงานใหม่ออกแสดงในงานนี้ ทั้งรถแนวคิดและรถตลาด โตโยตา ไฮบริด เอกซ์ (TOYOTA HYBRID X) ในภาพ 45-46 เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถพันทางที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นจะผลิตจำหน่ายในอนาคตอันใกล้ หลังประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่มาแล้วกับรถพันทาง โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) ตัวถัง 4 ประตู 4 ที่นั่ง ขนาด 4.500x1.850x1.440 ม. ออกแบบและพัฒนาโดยศูนย์ออกแบบ ED2 ของ โตโยตา ยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ตัวถังภายนอกมีจุดเด่นอยู่มากมาย รวมทั้งประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง
โตโยตา เอารีส
ที่งานมหกรรมยานยนต์โบโลนญาในอิตาลี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้คนมีโอกาสได้ยลโฉมรถตลาด โตโยตา เอารีส (TOYOTA AURIS) ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบคเป็นครั้งแรก ที่งานนี้ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำรถชื่อเดียวกันออกแสดง แต่คราวนี้อยู่ในตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ดังที่เห็นในภาพ 47 จะออกจำหน่ายปลายปีนี้ ด้วยค่าตัวที่ย่อมเยากว่ารถ 5 ประตูประมาณ 500 ยูโร
ทาทา เอเลกันท์ คอนเซพท์
ทาทา (TATA) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเมืองภารตะ ซึ่งปรากฏตัวที่เจนีวาต่อเนื่องกันมาแล้ว 10 ปี เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ทาทา เอเลกันท์ คอนเซพท์ (TATA ELEGANTE CONCEPT) ในภาพ 48-49 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 4 ประตูซีดาน ซึ่งมีขนาดโตกว่ารถทุกๆ แบบที่ค่ายนี้ผลิตจำหน่ายในปัจจุบัน คือ มีขนาด 4.475x1.740x1.465 ม. เป็นรถที่ออกแบบและพัฒนา เพื่อให้มีคุณสมบัติด้านความปลอดภัย และปริมาณไอเสีย ตรงตามมาตรฐานอันเคร่งครัดของยุโรป แต่ไม่ยอมบอกว่า เมื่อไหร่จะผลิตออกจำหน่าย
เฟียต บราโว
ยักษ์ใหญ่ของเมืองมะกะโรนี ซึ่งฐานะการเงินเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว จากความสำเร็จของรถ เฟียต กรันเด ปุนโต (FIAT GRANDE PUNTO) ซึ่งเมื่อปีกลายขายในยุโรปได้ถึง 338,006 คัน ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว เฟียต บราโว (FIAT BRAVO) ในภาพ 50-51 เป็นรถใหม่ในชื่อเก่า ที่ยักษ์ใหญ่เมืองมะกะโรนีบรรจุเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถ เฟียต สตีโล (FIAT STILO) โดยมีตัวถังเพียงแบบเดียว คือ ตัวถัง 5 ประตู แฮทช์แบค และตั้งเป้าการขายไว้ที่ระดับ 120,000 คัน/ปี
เฟียต อบาร์ธ ปุนโต
อบาร์ธ (ABARTH) เป็นชื่อของสำนักรถแรงซึ่งผูกพันกับชื่อ เฟียต มานมนาน แต่ในระยะหลังๆ ชื่อนี้กลับถูกลืมเลือนไป พร้อมๆ กับบทบาทที่ลดน้อยลง ที่งานนี้ ยักษ์ใหญ่ของเมืองมะกะโรนีตั้งใจจะรื้อฟื้นชื่อเสียงของ อบาร์ธ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยนำรถแรงรุ่นพิเศษ คือ เฟียต อบาร์ธ กรันเด ปุนโต (FIAT ABARTH GRANDE PUNTO) ในภาพ 52 ออกแสดงเป็นครั้งแรก
ฟีโอราวันตี ธาลีอา
สำนักที่ปรึกษาด้านการออกแบบ เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI) แห่งอิตาลีใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ฟีโอราวันตี ธาลีอา (FIORAVANTI THALIA) ในภาพ 53-54 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 5 ประตูแฮทช์แบค ที่ออกแบบเพื่อให้ใช้กับเครื่องยนต์เชื้อเพลิงทดแทน ตัวถังขนาด 4.675x1.880x1.440 ม. ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งแถวหลังให้อยู่สูงกว่าแถวหน้าประมาณ 30 ซม. เพื่อให้มีเนื้อที่ขนาดใหญ่สำหรับติดตั้งเซลล์เชื้อเพลิง (FUEL CELL) หรือถังสำหรับบรรจุแกสไฮโดรเจนหรือแกสธรรมชาติอัดแน่น (CNG)
มาซดา ฮากาเซ
ผู้ผลิตรถยนต์เมืองยุ่น ซึ่งมียักษ์รอง ฟอร์ด ถือหุ้นอยู่ 1 ใน 3 อวดผลงานใหม่ในงานนี้ 2 ชิ้น ชิ้นแรกคือ มาซดา ฮากาเซ (MAZDA HAKAZE) ในภาพ 55-56 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER หรือ "รถผสานพันธุ์" 2 ประตู 4 ที่นั่ง ออกแบบสำหรับผู้ใช้รถที่รักการผจญภัย ตัวถังขนาด 4.420x1.890x1.560 ม. ซึ่งเป็นผลงานรังสรรค์ของศูนย์ออกแบบ มาซดา ยุโรปในเยอรมนี มีจุดเด่นสะดุดตาอยู่มากมายหลายจุด รวมทั้งประตูข้างที่เปิดแบบยกเฉียงขึ้นดังที่เห็นในภาพ ชื่อของรถ ได้มาจากภาษาญี่ปุ่น 2 คำคำแรก คือ ฮา แปลว่า ใบไม้ ส่วนคำหลัง คือ กาเซ แปลว่า ลม
มาซดา 2
ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ที่ผู้ผลิตรถยนต์เมืองยุ่นนำออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ มาซดา 2 (MAZDA 2) ในภาพ 57 เป็นรถรุ่นที่สาม ตัวถังห้าประตูแฮทช์แบค ขนาด 3.885x1.695x1.475 ม. เป็นตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง กำหนดออกจำหน่ายในตลาดยุโรปต้นปีหน้า โดยใช้โรงงานในญี่ปุ่นเป็นที่ผลิต
ฟอร์ด มนเดโอ
มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ มีรถตลาดที่เปิดตัวในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" อยู่หลายแบบ แต่บรรดาเกจิอาจารย์ให้ความเห็นต้องตรงกันว่า รถที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ ฟอร์ด มนเดโอ (FORD MONDEO) ในภาพ 58 เป็นรถรุ่นที่ 3 ซึ่งจะออกจำหน่ายแทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2000 โดยมีตัวถังให้เลือกใช้รวม 3 แบบ คือ 4 ประตูซาลูน 5 ประตูแฮทช์แบคและ 5 ประตูตรวจการณ์ เป็นรถผลิตในเบลเยียม โดยตั้งเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายไว้ที่ระดับ 200,000 คัน/ปี
เกีย เอกซ์-ซีด
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของเมืองโสม วางจุดโฟคัสความสนใจไว้ที่ เกีย เอกซ์-ซีด (KIA EX-CEED) ในภาพ 59-60 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 2 ประตูเปิดประทุน 4 ที่นั่งผลงานรังสรรค์ของทีมงานออกแบบภายใต้การนำของ พีเทร์ ชเรเยร์ (PETER SCHREYER) อดีตนักออกแบบของ โฟล์คสวาเกน และ เอาดี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบของ เกียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี่เอง ตัวถังซึ่งดูดีในทุกมุมมอง ดัดแปลงจากตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบคของรถตลาด เกีย ซี'ด (KIA CEE'D) โดยใช้ประทุนแบบอ่อนแทนที่จะเป็นประทุนแบบแข็งตามสมัยนิยม
ซังยง แอคยอน สปอร์ทส์
ผู้ผลิตรถจากเมืองโสมอีกรายหนึ่ง คือ ซังยง ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว ซังยง แอคยอน สปอร์ทส์ (SSANG YONG ACTYON SPORTS) ในภาพ 61 เป็นรถกระบะ 4 ประตู 4 ที่นั่ง ขนาด 4.965x1.900x1.755 ม. ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบเรียง 1,998 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 141 แรงม้า
รินสปีด เอกซาซิส
รินสปีด (RINSPEED) ผู้ผลิตรถยนต์รายย่อยของเมืองสวิส นำผลงานใหม่ออกแสดงที่เจนีวาเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด ปีนี้ผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องที่นำออกแสดง คือ รินสปีด เอกซาซิส (RINSPEED EXASIS) ที่เห็นในภาพ 62-63 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทเปิดประทุน 2 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบ 2 สูบเรียง 750 ซีซี 150 แรงม้า ที่ใช้เอธานอลล้วนๆ เป็นเชื้อเพลิง ตัวถังขนาด 3.700x1.960x1.284 ม. มีโครงตัวถังทำจากอลูมิเนียม และ
บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1
3 ปีเต็มหลังจากนำรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1 ในตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบคออกจำหน่ายในตลาด และทำยอดขายทั่วโลกไปแล้วเกือบ 200,000 คัน ยอดผู้ผลิตรถยนต์จากแคว้นบาวาเรียก็เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1 ในตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ที่เห็นในภาพ 64-65 จะเริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรปเดือนพฤษภาคมนี้ โดยมีรถให้เลือกใช้รวม 4 โมเดล คือ 118I (143 แรงม้า) 120I (170 แรงม้า) 118D (143 แรงม้า) และ 120D (177 แรงม้า)
บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-5
รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์เมืองเบียร์ นำออกแสดงในลักษณะ WORLD PREMIER หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-5 รุ่น FACE LIFT หรือ "ยกหน้า" ในภาพ 66 ในส่วนที่มองเห็นได้ด้วยตา มีการปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ทั้งภายนอกและภายใน แต่การปรับปรุงที่เป็นสาระสำคัญ และซ่อนอยู่ภายใต้ฝากระโปรง เป็นการกระทำกับเครื่องยนต์ และระบบเกียร์
มีนี คูเพอร์ ดี
ค่าย มีนี นำรถโมเดลใหม่ออกแสดงในงานนี้ 2 โมเดล โมเดลแรก คือ มีนี คูเพอร์ ดี (MINI COOPER D) ในภาพ 67 เป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลเพียงแบบเดียวของค่ายนี้ในปัจจุบัน เครื่องยนต์ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ฝากระโปรงหน้า เป็นเครื่องเทอร์โบดีเซล 4 สูบเรียง 1.6 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า ส่วนอีกโมเดลหนึ่งซึ่งไม่เห็นในภาพ คือ มีนี วัน (MINI ONE) เป็น BASE MODEL หรือรถโมเดลพื้นฐาน ซึ่งมีสนนราคาค่าตัวย่อมเยาที่สุด โมเดลนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 1.4 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 95 แรงม้า
เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์
แม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลเข้าสู่บูธของค่าย "ดาวสามแฉก" ได้อย่างแน่นขนัด คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ C-CLASS) ในภาพ 68-69 เป็นรถรุ่นที่ 3 เริ่มจำหน่ายในตลาดเมืองเบียร์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา แทนที่รถรุ่นที่ 2 ซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2000 และทำยอดขายไปแล้วมากกว่า 2 ล้านคัน รถรุ่นใหม่นี้แบ่งการตกแต่งเป็น 3 ระดับ กำกับด้วยรหัส CLASSIC ELEGANCE และ AVANTGARDE โดยที่การตกแต่ง 2 ระดับแรก โลโก "ดาวสามแฉก" จะติดตั้งอยู่บนหน้าหม้อ แต่ระดับหลังสุด จะติดตั้งไว้บนแผงกระจังหน้าดังที่เห็นในภาพ
เมร์เซเดส-เบนซ์ วิชัน ซี 220 บลูเทค
ค่าย "ดาวสามแฉก" ใช้งานนี้เป็นเวทีอวดเทคโนโลยีการลดมลพิษ โดยนำรถแนวคิด เมร์เซเดส-เบนซ์ วิชัน ซี 220 บลูเทค (MERCEDES-BENZ VISION C220 BLUETEC) ในภาพ 70 ออกอวดตัวเป็นครั้งแรกรถคันนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้มีปริมาณ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ไฮโดรคาร์บอนที่เผาไม่หมด ต่ำมากจนเรียกได้ว่าเป็นศูนย์
สมาร์ท ฟอร์ทู บราบัส
หลังจากเปิดตัวรถ สมาร์ท ฟอร์ทู (SMART FORTWO) รุ่นใหม่ไปแล้วที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนต้นปี ผู้ผลิตรถยนต์ในร่มเงาของ ไดมเลร์ ไครสเลอร์ ก็เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถ สมาร์ท ฟอร์ทู รุ่นใหม่อีกหนึ่งโมเดล คือ สมาร์ท ฟอร์ทู บราบัส (SMART FORTWO BRABUS) ในภาพ 71-72 รถ 2 ที่นั่งซึ่งสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 155 กม./ชม.นี้ มีทั้งตัวถังคูเป และตัวถังเปิดประทุน ทั้ง 2 ตัวถังติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดเดียวกัน คือ เครื่อง 3 สูบเรียง 999 ซีซี 98 แรงม้า
เปอโฌต์ 207 เอสดับเบิลยู เอาท์ดอร์
ค่าย "สิงห์เผ่น" ของเมืองน้ำหอม นำรถใหม่ออกแสดงในงานนี้เป็นกองทัพ ที่เลือกมากล่าวถึงเป็นคันแรก คือ เปอโฌต์ 207 เอสดับเบิลยู เอาท์ดอร์ (PEUGEOT 207 SW OUTDOOR) ในภาพ 73-74 เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถ 5 ประตูตรวจการณ์ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดตอนปลายปี 2007 แต่ชื่อที่ใช้อาจแตกต่างออกไป ตัวถัง 5 ประตู 5 ที่นั่งทรง 2 กล่อง ขนาด 4.156x1.748x1.555 ม. ออกแบบและพัฒนาโดยมีผู้ใช้รถที่รักการผจญภัย และกีฬากลางแจ้งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จึงมีรูปลักษณ์และรายละเอียดมากมายที่ออกสไตล์ของ SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้ง
เปอโฌต์ 207 เซเซ
เปอโฌต์ 207 เซเซ (PEUGEOT 207 CC) ในภาพ 75 ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกที่งานนี้เป็นรถเปิดประทุนหลังคาแข็งแบบใหม่ที่ค่าย "สิงห์เผ่น" บรรจุเข้าสู่สายการผลิต แทนที่รถ เปอโฌต์ 206 เซเซ (PEUGEOT 206 CC) ซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2000 และขายไปแล้วมากกว่า 380,000 คันออกขายแล้วโดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้รวม 4 ขนาด
เปอโฌต์ 4007
แม่เหล็กอีกชิ้นหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนเข้าสู่บูธของค่าย "สิงห์เผ่น" คือ เปอโฌต์ 4007 (PEUGEOT 4007) ในภาพ 76-77 เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกในประวัติศาสตร์ของค่ายนี้ และเป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย มิตซูบิชิ ของญี่ปุ่น ตัวถัง 5 ประตู 5+ 2 ที่นั่งทรง 2 กล่อง ออกแบบและพัฒนาโดยใช้รถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ (MITSUBISHI OUTLANDER) เป็นพื้นฐาน มีทั้งแบบขับ 2 ล้อและขับ 4 ล้อแต่มีเครื่องยนต์เพียงขนาดเดียว เป็นเครื่องดีเซล 2.2 ลิตร 156 แรงม้า กำหนดออกจำหน่ายในยุโรปเดือนกรกฎาคมนี้
ซีตรอง เซ-กรอสเซร์
เช่นเดียวกับค่าย "สิงห์เผ่น" หุ้นส่วนคู่ซี้เจ้าของเครื่องหมายการค้า "จ่าโท" ก็นำรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกในประวัติศาสตร์ของตน คือ ซีตรอง เซ-กรอสเซร์ (CITROEN C-CROSSER) ในภาพ 78-79 ออกอวดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้เช่นกัน และก็เช่นเดียวกับรถ เปอโฌต์ 4007 ที่ผ่านตาไปแล้ว รถแบบนี้เป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย มิตซูบิชิ พัฒนาจากรถ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ และใช้โรงงานของ มิตซูบิชิ ในญี่ปุ่นเป็นที่ผลิต เมื่อก้าวเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร ก็จะพบว่า สิ่งเดียวที่แตกต่างไปจากรถของค่าย "สามเพชร" คือ โลโก "จ่าโท" ที่ติดตั้งอยู่บนพวงมาลัย
แจกวาร์ เอกซ์เจ-ซีรีส์
ผู้ผลิตรถหรูของเมืองผู้ดี ซึ่งมีข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่าเจ้าของ คือ ยักษ์รอง ฟอร์ด กำลังจะขายทิ้ง ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัว แจกวาร์ เอกซ์เจ-ซีรีส์ (JAGUAR XJ-SERIES) รุ่น FACELIFT หรือ "ยกหน้า" ในภาพ 80 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ มากมายทั้งภายนอกและภายใน ในส่วนของตัวถังภายนอก ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ แผงกระจังหน้า
ดอดจ์ เดมอน โรดสเตอร์ คอนเซพท์
ดอดจ์ (DODGE) ผู้ผลิตรถยนต์ในเครือข่ายของบริษัทรถยนต์ทวิสัญชาติ ไดมเลร์ ไครสเลอร์ วางจุดโฟคัสสายตาไว้ที่ ดอดจ์ เดมอน โรดสเตอร์ คอนเซพท์ (DODGE DEMON ROADSTER CONCEPT) ในภาพ 81-82 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทเปิดประทุน 2 ที่นั่ง ซึ่งมีขนาดตัวถังใกล้เคียงกันมากกับรถ มาซดา เอมเอกซ์-5 (MAZDA MX-5) ของค่ายญี่ปุ่น คือ มีขนาด 3.974x1.736x1.315 ม. เป็นรถขับล้อหลัง ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 2.4 ลิตร 172 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
โวลโว วี 70/โวลโว เอกซ์ซี 70
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของเมืองฟรีเซกซ์ เปิดตัวรถใหม่ในงานนี้ถึง 2 อนุกรม คือ โวลโว วี 70 (VOLVO V70) ในภาพ 83 และ โวลโว เอกซ์ซี 70 (VOLVO XC70) ในภาพ 84 อนุกรมแรกเป็นรถ 5 ประตูตรวจการณ์ ซึ่งพัฒนาจากรถซาลูน โวลโว เอส 80 (VOLVO S80) ที่เริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรปเมื่อฤดูร้อนปีกลาย มีแชสซีส์ซึ่งแข็งแรงกว่ารถรุ่นก่อนถึงร้อยละ 15 และมีห้องเก็บของท้ายรถที่จุกว่ารถรุ่นเดิมถึง 55 ลิตร ส่วนอนุกรมหลังซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 3 เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งมีรูปลักษณ์และรายละเอียดหลายจุดออกสไตล์ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง
ฮันเด ไอ 30
ฮันเด ไอ 30 (HYUNDAI I30) ในภาพ 85 เป็นรถแบบใหม่ที่ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 ของเมืองโสมนำออกอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถ 5 ประตูแฮทช์แบคขนาดเล็กซึ่งเป็นคู่ฝาคู่แฝดกับรถร่วมเครือ คือ เกีย ซี'ด (KIA CEE'D) และเป็นรถแบบแรกของค่ายนี้ที่ออกแบบและผลิตในยุโรป กำหนดออกจำหน่ายในเดือนกรกฎาคม โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกถึง 6 ขนาด
ฮันเด คาร์มา คิว
นอกจากรถตลาด ยักษ์ใหญ่ของเมืองโสมยังนำรถแนวคิดออกอวดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้ด้วย คือ ฮันเด คาร์มา คิว (HYUNDAI QARMA Q) ในภาพ 86-87 เป็นผลงานจากความร่วมมือกับ GENERA ELECTRIC PLASTIC แห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ 2 ประตูคูเปซึ่งมีรูปทรงเหมือนเพิ่งหลุดจากหนังอวกาศ ตัวถังขนาด 4.484x1.980x1.622 ม. มีชิ้นส่วนหลายชิ้นซึ่งทำจากพลาสติค แทนที่จะเป็นโลหะหรือกระจก ทำให้ลดน้ำหนักตัวได้อย่างมาก แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยอีกต่างหาก
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ และบริษัทผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ