ผมเห็นด้วยกับท่านนายกฯ เศรษฐา ที่ประกาศนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถสันดาปภายในแห่งสุดท้ายของโลก ซึ่งหมายถึงว่าเรายังมีเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ลงทุนไปแล้วมากมาย รวมถึงเวลาปรับตัวให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง อีกอย่างน้อย 10-15 ปี
ล่าสุด บีโอไอขานรับนโยบาย เตรียมจะออกมาตรการส่งเสริมการผลิตรถไฮบริด ควบคู่กับรถอีวี ส่วนกรมสรรพสามิตก็รีบประกาศปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถไฮบริด ตั้งแต่ปี 2571-2575 ภายใต้ 4 เงื่อนไข เรื่องลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนเพิ่มเติม การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และการติดตั้งระบบความปลอดภัย ซึ่งการตั้งเงื่อนไขแบบนี้ จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา อย่างที่หลายฝ่ายแอบนินทาหรือไม่ คงต้องรอชมตอนต่อไป
แต่ที่แน่ๆ ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมรถอีวีอย่างเต็มคาราเบลไปแล้ว การหันมาส่งเสริมรถไฮบริด ซึ่งถือว่าเป็นคู่ปรับโดยตรงของอีวี จึงดูจะเป็นเรื่องอิหลักอิเหลื่ออยู่ไม่น้อย
แม้แต่กระทรวงการคลังยังบอกว่า การดำเนินนโยบายถอยหลังกลับไปสนับสนุนรถสันดาปภายใน เป็นการสวนกระแสทเรนด์โลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศก็กำลังพัฒนาขึ้นรองรับรถอีวี ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมรถยนต์สันดาปภายใน ควรจะเน้นไปที่รถกระบะมากกว่า เนื่องจากกระบะอีวีเกิดยาก แต่กระบะสันดาป เป็น พโรดัคท์แชมเพียนที่มียอดการผลิตสูงเกือบ 50 % ของยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมด
ขณะที่ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ที่ขายทั้งไฮบริด และอีวี ก็ให้ข้อคิดว่า การวางกรอบ และกฎเกณฑ์การสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐไม่ควรเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เพราะจะทำให้หลายค่ายที่ลงทุนไปแล้ว หรือกำลังตัดสินใจลงทุนทำงานยาก
ถึงตอนนี้ ผมเลยได้แต่ปวดหัวแทนท่านนายกฯ เพราะแนวคิดที่จะให้ไทยเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของรถสันดาปนั้น ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ แต่ข้อติติงของกระทรวงการคลัง และผู้บริหารบริษัทรถยนต์ก็มีประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายแบบชักเข้าชักออกที่เคยให้บทเรียนเจ็บปวดมาแล้วหลายครั้ง
สุดท้ายก็เป็นไปอย่างที่โบราณว่า คือ เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ เพราะทุกเรื่องที่ผ่านมาภาครัฐทำตัวเองทั้งนั้น !
บทความแนะนำ