เดือนนี้นำเรื่องราวของ PURE ELECTRIC CAR (เพียวร์ อีเลคทริค คาร์) หรือรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง เป็นรถ 3 สัญชาติ คือ รถเยอรมัน รถอังกฤษ และรถอเมริกัน เป็นผลงานของผู้ผลิตรถยนต์ 4 ราย คือ MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) MINI (มีนี) CADILLAC (แคดิลแลค) และ JEEP (จีพ) เป็นรถ 3 ประเภท คือ FULL-SIZE LUXURY SEDAN หรือรถเก๋งซีดานระดับหรูขนาดใหญ่ SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งพันธุ์แท้ และ CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์
เปิดระเบียงด้วยผลงานใหม่ของค่าย “ดาวสามแฉก” ที่ทีมงานของ “สื่อสากล” มีโอกาสสัมผัสตัวจริงเป็นครั้งแรก ตอนที่เดินทางไปทำข่าวงาน AUTO CHINA หรือมหกรรมยานยนต์ปักกิ่ง ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านพ้นไป
รถกิจกรรมกลางแจ้งพันธุ์แท้ติดป้ายชื่อ MERCEDES-BENZ G-CLASS (เมร์เซเดส-เบนซ์ จี-คลาสส์) เป็นรถอนุกรมเก่าแก่ อยู่ในสายการผลิตมายาวนานกว่า 45 ปี เป็นรถบึกบึนทนทาน จนมีคำพูดในเชิงเปรียบเปรยว่า “เมื่อถึงวันโลกาวินาศ จะมีเพียง 2 สิ่งเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ แมลงสาบ กับรถ G-CLASS”
นับแต่เริ่มการผลิตเมื่อปี 1979 MERCEDES-BENZ G-CLASS เปลี่ยนรุ่นไปเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนตุลาคม 2021 แต่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในลักษณะ MINOR CHANGE (ไมเนอร์ เชนจ์) หรือ FACELIFT (เฟศลิฟท์) หลายครั้ง เมื่อนับยอดสะสมจนถึงสิ้นปี 2023 รถกิจกรรมกลางแจ้งอนุกรมนี้ขายทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 500,000 คัน
MERCEDES-BENZ ELECTRIC G-CLASS (เมร์เซเดส-เบนซ์ อีเลคทริค จี-คลาสส์) ที่กำลังอวดโฉมอยู่นี้ เป็นพัฒนาการล่าสุดของรถ G-CLASS เพิ่งอวดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2024 และยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มการจำหน่ายเมื่อใด ? ที่พิเศษ และแปลกไปจากรถ G-CLASS ที่เห็นกันมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษก็คือ ไม่ใช่รถที่วิ่งได้ด้วยพลังของเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เป็น BEV (BATTERY ELECTRIC VEHICLE) หรือรถไฟฟ้าที่ได้พลังไฟจากแบทเตอรี และไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ
ในเบื้องต้นจะมีรถโมเดลเดียว และชื่อโมเดลก็ค่อนข้างยาว คือ MERCEDES-BENZ G 580 WITH EQ TECHNOLOGY (เมร์เซเดส-เบนซ์ จี 580 วิธ อีคิว เทคโนโลยี) ไม่ได้ใช้ชื่อ MERCEDES-BENZ EQG (เมร์เซเดส-เบนซ์ อีคิวจี) ดังที่เข้าใจกันแต่แรก ทั้งนี้ เป็นผลลัพธ์จากวิธีการตั้งชื่อรุ่นของรถพลังไฟฟ้า ที่ค่าย “ดาวสามแฉก” เพิ่งกำหนดขึ้นใหม่ และจะใช้กับรถพลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ทุกรุ่น แต่รถที่เริ่มจำหน่ายมาก่อนแล้ว เช่น EQA หรือ EQB หรือ EQE จะยังคงใช้ชื่อเดิม
ตัวถังซึ่งดัดแปลงมาจากตัวถังของรถติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน วัดได้ยาว 4.624 ม. กว้าง 1.931 ม. และสูง 1.986 ม. มีช่วงฐานล้อยาว 2.890 ม. มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.44 และมีน้ำหนักรถพร้อมขับรวมผู้ขับที่สูงถึง 3,085 กก. รูปทรงองค์เอวตัวถังเป็นรูปกล่องเหลี่ยม อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า BOXY STYLE (บอกซี สไตล์) เป็นตัวถังที่ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน และประตูบานท้าย เกือบจะตั้งตรงเป็นมุมฉากกับพื้นถนน
ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้า ที่ทีมงานภายใต้การกำกับดูแลของ MANUEL URSTOEGER (มานูเอล เออร์สโตเกอร์) วิศวกรชาวออสเตรีย พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นระบบที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า PERMANENT EXCITED SYNCHRONOUS MOTOR (เพอร์มาเนนท์ เอกซ์ไซเทด ซินโครนัส มอเตอร์) ขนาด 108 กิโลวัตต์/147 แรงม้า 4 ชุด ได้กำลังรวม 432 กิโลวัตต์/588 แรงม้า มอเตอร์แต่ละชุดขับล้อแต่ละล้อ กับใช้แบทเตอรี LITHIUM-ION (ลิเธียม-ไอออน) ขนาดความจุ 116 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งการชาร์จไฟแบบเร่งด่วนด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ใช้เวลา 32 นาที และการชาร์จไฟด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC) เพื่อให้รถวิ่งได้ไกล 170 กม. ใช้เวลา 15 นาที กรณีชาร์จไฟเต็ม และวัดตามมาตรฐาน WLTP รถจะวิ่งได้ไกล 433-473 กม.
ผู้ออกแบบเองก็ยอมรับว่าเป็นระบบขับที่ดูแปลก และสลับซับซ้อนมาก แต่บอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับรถแบบนี้ เป็นระบบที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะรถ G-CLASS และจะไม่มีการนำไปใช้ในรถแบบอื่นๆ “เป็นโครงการที่หนักหนาสาหัสมาก” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวในยุโรป “แต่เราบรรลุเป้าหมายทุกอย่างที่ต้องการ และด้วยเหตุนี้นี่เอง เมื่อใช้งานแบบออฟโรด รถไฟฟ้า G-CLASS จึงทำได้ดีกว่ารถแบบเดียวกันที่ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน”
เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งพันธุ์แท้ที่ตัวถังมีโครงสร้างแบบ BODY-ON-FRAME (บอดี-ออน เฟรม) เหมือนรถพิคอัพ แชสซีส์มีลักษณะเหมือนบันไดลิงวางนอน อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า LADDER-FRAME CHASSIS (แลดเดอร์-เฟรม แชสซีส์) ระบบรองรับหน้าแบบอิสระ ปีกนก 2 ชั้น ระบบรองรับหลังเพลาแข็ง DE DION สามารถวิ่งบนถนนที่เอียงด้านข้างได้ถึง 35 องศา มี APPROACH ANGLE หรือมุมเมื่อขึ้นเนิน สูงสุด 32 องศา มี DEPARTURE ANGLE หรือมุมเมื่อลงเนิน สูงสุด 30.7 องศา และสามารถลุยน้ำได้ลึกถึง 85 ซม.
ที่สามารถลุยได้ลึกขนาดนี้ คือ ลึกกว่ารถ G-CLASS ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ทำได้ 75 ซม. ก็เนื่องจากอุปกรณ์ทุกชิ้นที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนห่อหุ้มด้วยวัสดุป้องกันน้ำ ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวของเรื่องนี้ จึงอยู่ที่ระดับความสูงของ CHARGING PORT หรือปลั๊กชาร์จไฟเท่านั้น
ที่เป็นข้อดีเช่นกันก็คือ ผู้ขับจะมีความรู้สึกเหมือนกำลังขับรถที่มี TRANSPARENT BONNET (ทรานส์พาเรนท์ บอนเนท) หรือกระโปรงหน้าที่มองทะลุได้ เพราะมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพที่หันไปด้านหน้าไว้ด้วย แล้วแสดงภาพบน INFOTAINMENT SCREEN หรือจอของระบบสื่อสารบันเทิงในห้องโดยสาร ผู้ขับจึงเห็นสิ่งกีดขวางเบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน
ตามตัวเลขของผู้ผลิต รถพลังไฟฟ้าสุดไฮเทคแบบนี้ สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 4.7 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 180 กม./ชม. ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ของเยอรมนี เริ่มต้นที่ 142,622 ยูโร หรือประมาณ 5.56 ล้านบาท (เมื่อคิดว่าต้องใช้เงินไทยถึง 39 บาท ในการแลกเงินฝรั่ง 1 ยูโร)
รถกิจกรรมกลางแจ้งพันธุ์แท้พลังไฟฟ้า แบบแรกของค่าย “ดาวสามแฉก”
มิติตัวถัง 4.624x1.931x1.986 ม. สัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.44
มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด กำลังรวม 432 กิโลวัตต์/588 แรงม้า
ระยะเดินทาง (WLTP) 433-473 กม. ความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม.
ราคารวมภาษีในเยอรมนี เริ่มต้นที่ 142,622 ยูโร (ประมาณ 5.56 ล้านบาท)