รถใหม่อีกแบบหนึ่งของค่าย “ดาวสามแฉก” ที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในเดือนนี้ ไม่ใช่รถใหม่แท้ๆ แต่เป็นรถที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ “ยกหน้า” และเป็นรถที่มีการผลิตในหลายประเทศ คือนอกจากฐานผลิตที่เมือง SINDELFINGEN (ซินเดลฟิงเกล) ในเยอรมนีแล้ว ยังมีการประกอบรถแบบนี้ ทั้งในอินเดีย มาเลเซีย และประเทศไทยด้วย
ยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองเบียร์เปิดตัวรถเก๋งซีดานขนาดใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ติดป้ายชื่อ MERCEDES-EQ EQS (เมร์เซเดส-อีคิว อีคิวเอส) ผ่านระบบออนไลน์เมื่อกลางเดือนเมษายน 2021 หลังจากนั้นอีก 4 เดือน คือ ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน จึงเริ่มการจำหน่ายในทวีปยุโรป นับเป็นรถพลังไฟฟ้ารหัส EQ แบบที่ 4 ที่ค่ายนี้ผลิตจำหน่าย ถัดจากรถ MERCEDES-EQ EQC (เมร์เซเดส-อีคิว อีคิวซี) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2018 รถ MERCEDES-EQ EQV (เมร์เซเดส-อีคิว อีคิววี) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2019 และรถ MERCEDES-EQ EQB (เมร์เซเดส-อีคิว อีคิวบี) ที่ตามมาตอนต้นปี 2021
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี่เอง ค่าย “ดาวสามแฉก” ได้เปลี่ยนนโยบายการตั้งชื่อยี่ห้อของรถ โดยยกเลิกการใช้ยี่ห้อ MERCEDES-EQ กับรถพลังไฟฟ้าล้วนๆ ทุกอนุกรมที่ผลิตจำหน่าย แล้วหันกลับไปใช้ชื่อยี่ห้อ MERCEDES-BENZ เหมือนรถอนุกรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่รถพลังไฟฟ้า นี่เอง คือ คำอธิบายว่าเหตุใด MERCEDES-EQ EQS จึงเปลี่ยนเป็น MERCEDES-BENZ EQS
ที่กล่าวในตอนต้นว่าเป็นการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ “ยกหน้า” นั้น จริงๆ แล้วก็ไม่แน่ใจนักว่าใช่หรือเปล่า ที่ยืนยันได้ก็คือ นิตยสารรถยนต์ฉบับหนึ่งของยุโรป คือ AUTOCAR (ออโทคาร์) รายงานว่า ค่าย “ดาวสามแฉก” ไม่ถือว่านี่เป็น MID-LIFE FACELIFT หรือการปรับปรุงแบบยกหน้าช่วงกึ่งกลางชีวิต แต่เป็น AN UPGRADE BEFORE THE UPDATE หรือการยกระดับรถ ก่อนการปรับปรุงรถให้ทันยุคทันสมัย ซึ่งตีความได้ว่า น่าจะมีการปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งก่อนถึงเวลาเปลี่ยนรุ่น
การเปลี่ยนแปลงส่วนที่มองเห็นได้ง่าย อยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ส่วนหน้าของตัวรถ คือ ออกแบบแผงกระจังหน้าขึ้นใหม่ทั้งหมด ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับแผงกระจังหน้าของรถ MERCEDES-BENZ S-CLASS (เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์) ติดตั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน กับการตั้งสัญลักษณ์ “ดาวสามแฉก” ไว้ตรงกึ่งกลางของหน้าหม้อ ซึ่งไม่มีในรถก่อนการปรับปรุง อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงในส่วนของตัวถัง ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อมิติของตัวถัง คือ ตัวถังยังคงยาว 5.223 ม. กว้าง 2.125 ม. (รวมกระจกมองข้าง) และสูง 1.512-1.518 ม. เช่นเดิม
การเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญ และน่าจะเป็นจุดขายของรถรุ่นใหม่นี้ อยู่ที่การทำให้รถวิ่งได้ไกลกว่าเดิม แม้ว่าก่อนการปรับปรุงรถแบบนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถที่วิ่งได้ไกลอยู่แล้ว สิ่งนี้ทำได้อย่างง่ายๆ โดยการเพิ่มขนาดความจุของแบทเตอรี LITHIUM-ION ที่ใช้ จากขนาด 108.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็น 118 กิโลวัตต์ชั่วโมง เสริมด้วยการเปลี่ยนแปลงในจุดต่างๆ อีกหลายจุดที่ส่งผลให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอื่นๆ ที่สมควรกล่าวถึง คือ รถขับเคลื่อนทุกล้อที่ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด สามารถตัดการทำงานของมอเตอร์ชุดที่ขับล้อหน้าได้เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ และการเพิ่มประสิทธิภาพของ ENERGY RECUPERATION หรือระบบการคืนพลังงานกลับสู่แบทเตอรีโดยอัตโนมัติเมื่อเหยียบห้ามล้อ
มีรถให้เลือกรวม 5 โมเดล เหมือนรถก่อนการปรับปรุง ราคาค่าตัวก็เท่ากันกับรถก่อนการปรับปรุง ทุกโมเดลติดตั้งแบทเตอรีขนาดความจุ 118 กิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถทำความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม. (จำกัด)
โมเดลเริ่มต้น คือ MERCEDES-BENZ EQS 450+ (ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ของเยอรมนี เริ่มต้นที่ 109,551 ยูโร หรือประมาณ 4.27 ล้านบาทไทย) ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 265 กิโลวัตต์/360 แรงม้า มีระยะเดินทาง 683-821 กม. และมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 16.4-19.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม.
รถขับทุกล้อ MERCEDES-BENZ EQS 450 4MATIC ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด 265 กิโลวัตต์/360 แรงม้า มีระยะเดินทาง 654-798 กม. และมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 17.0-20.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม.
รถขับทุกล้อ MERCEDES-BENZ EQS 500 4MATIC ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด 330 กิโลวัตต์/449 แรงม้า มีระยะเดินทาง 654-798 กม. และมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 17.0-20.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม.
รถขับทุกล้อ MERCEDES-BENZ EQS 580 4MATIC ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด 400 กิโลวัตต์/544 แรงม้า มีระยะเดินทาง 654-798 กม. และมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 17.0-20.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม.
ส่วนโมเดลหัวกะทิ MERCEDES-AMG EQS 53 4MATIC+ (ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ของเยอรมนี เริ่มต้นที่ 155,009 ยูโร หรือประมาณ 6.05 ล้านบาทไทย) ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด 484 กิโลวัตต์/658 แรงม้า (เพิ่มเป็น 560 กิโลวัตต์/761 แรงม้า เมื่อติดตั้งชุดแต่งจากโรงงานซึ่งมีชื่อว่า AMG DYNAMIC PLUS PAKET) มีระยะเดินทาง 532-626 กม. และมีอัตราสิ้นเปลืองพลังไฟฟ้าเฉลี่ย 20.9-24.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม.
เริ่มเปิดรับการสั่งซื้อรถทุกโมเดลนี้ไปแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2024
รถเก๋งซีดานพลังไฟฟ้า ขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อนทุกล้อ
มิติตัวถัง 5.223x2.125 (รวมกระจกมองข้าง)x1.512-1.518 ม.
มอเตอร์ไฟฟ้า 265 กิโลวัตต์/360 แรงม้า-484 กิโลวัตต์/658 แรงม้า
ระยะเดินทาง (WLTP) 532-821 กม. ความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม.
ราคารวมภาษีในเยอรมนี เริ่มต้นที่ 109,551 ยูโร (ประมาณ 4.27 ล้านบาทไทย)