รู้ลึกเรื่องรถ
McMURTRY SPEIRLING PURE ขี่พายุทะลุฟ้า
ทุกวันนี้ ถ้าจะพูดเรื่องอัตราเร่ง ต้องยอมใจให้แก่ความฉับพลันของรถไฟฟ้า จากการที่มันมอบแรงบิดสูงสุดได้ทันทีที่เรากดคันเร่ง ซึ่งต่างจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่กว่าจะสร้างแรงบิดสูงสุดได้ก็ต้องใช้เวลา และต้องผสานกับอัตราทดเกียร์ที่ถูกต้องอีกด้วย มิฉะนั้น ก็ยากที่จะสร้างอัตราเร่งที่รวดเร็วได้ แต่รถเครื่องยนต์สันดาปภายในก็ยังคงมีจุดเด่นเรื่องน้ำหนักที่เบากว่า และยิ่งในกรณีของรถแข่ง รถไฟฟ้าน้ำหนักมากไม่มีทางสู้ได้เลย...จนกระทั่งรถสปอร์ทพลังไฟฟ้า McMURTRY SPEIRLING PURE (แมคเมอร์ทรี สปีร์ลิง เพียวร์) ผลงานของ McMURTRY AUTOMOTIVE ในสหราชอาณาจักร คันนี้ถือกำเนิดมาบนโลก
ชื่อ McMURTRY มาจากชื่อของหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท คือ SIR DAVID McMURTRY อดีตวิศวกรเครื่องยนต์ของ ROLLS-ROYCE (โรลล์ส-รอยศ์) ผู้พัฒนาเครื่องยนต์เจทของเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง CONCORDE ส่วนคำว่า SPEIRLING มาจากภาษาไอริช มีความหมายว่า “พายุฝนฟ้าคะนอง” ซึ่งให้ความหมายตรงกับบุคลิกของรถคันนี้จริงๆ เพราะนอกจากมันจะเร็วเหมือนพายุแล้ว ทุกครั้งที่มันทะยานด้วยความเร็วผ่านเราไป เราจะเห็นฝุ่นฟุ้งตามมาไปด้วยเสมอ
แนวคิดของรถคันนี้ คือ การพัฒนารถไฟฟ้าที่นั่งเดี่ยว น้ำหนักเบา ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า มันเป็นรถที่มีสัดส่วนแปลกประหลาดมาก เพราะคันเล็กนิดเดียว มีที่นั่งคนขับอยู่กึ่งกลางความกว้างของรถ และวางตำแหน่งค่อนไปทางด้านท้าย ห้องโดยสารรองรับผู้ขับขี่ที่มีความสูงระหว่าง 150-200 ซม. โดยมีระยะห่างระหว่างฐานล้อหน้า-หลัง เพียง 2,000 มม. ความยาวรวม 3,400 มม. กับตัวถังกว้างเพียง 1,500 มม. และเตี้ยติดดิน ด้วยความสูงเพียง 1,050 มม. เรียกว่ามิติของตัวรถมัน คือ KEI-CAR ที่ถูกหั่นความสูงออก และทำให้ชวนนึกถึงรถแข่งทามิยาที่แข่งกันในราง
จากมิติตัวถังเล็กจิ๋ว ทำให้มันมีน้ำหนักรวมราว 1.2 ตัน ซึ่งน่าอัศจรรย์สำหรับรถไฟฟ้าที่มีความจุแบทเตอรีถึง 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง สาเหตุที่มันสามารถทำแบทเตอรีให้มีน้ำหนักเบาได้ เพราะใช้สถาปัตยกรรมแบทเตอรีแรงดัน 800 โวลท์ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับเรื่องขนาดของแบทเตอรี นอกจากนั้น มันยังถูกออกแบบให้สามารถรองรับการชาร์จไฟด้วยไฟกระแสตรงที่มีกำลังสูงระดับ 600 กิโลวัตต์ ได้อีกด้วย
ด้านขุมพลังเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ซึ่งอยู่ด้านหลังคนขับ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อคู่หลังฝั่งละตัว มีพละกำลังรวมถึง 746 กิโลวัตต์ หรือ 1,000 แรงม้า และด้วยความจุแบทเตอรีในรถเวอร์ชันแรกที่มีความจุ 60 กิโลวัตต์ชั่วโมง หากวัดตามมาตรฐาน WLTP จะมีระยะวิ่งถึง 480 กม.
แม้จะไม่มีการเปิดเผยภาพโครงสร้าง และตำแหน่งการจัดวางแบทเตอรี และมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ด้วยมิติตัวถังที่มีจำกัดมาก จึงเดาได้ไม่ยากว่า แบทเตอรีจะถูกแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ด้านซ้าย และขวาของห้องโดยสาร และอีกส่วน คือ ด้านหน้าของห้องโดยสาร
แต่เคล็ดลับความแรงไม่ใช่เพียงแค่การทำให้รถเบา เพราะถ้าเบา และแรง แต่ไม่เกาะถนน ก็จะบินหลุดออกจากถนนได้ง่ายๆ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเรื่องการเกาะถนน ทีมงานจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนารถแข่งแบบที่นั่งเดียว ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากรถแข่งที่ใช้ระบบพัดลมดูดอากาศ เพื่อสร้างภาวะสุญญากาศบริเวณใต้ท้องรถ เพื่อให้รถดูดติดกับพื้นจากทศวรรษที่ 70 อย่างรถแข่งแคน-แอม CHAPARRAL 2J (ชาพาร์รัล 2 เจ) และรถแข่งสูตร 1 BRABHAM BT46B (บราแบม บีที 46 บี) โดยพวกเขาเชื่อว่าการสร้างแรงกด (DOWNFORCE) โดยไม่ใช้ปีก หรือสปอยเลอร์ จะเป็นหัวใจที่ทำให้รถคันนี้ไปได้เร็วทั้งทางตรง และทางโค้ง เพราะตามปกติรถที่ใช้สปอยเลอร์ขนาดใหญ่จะทำความเร็วในทางโค้งได้ดี เพราะสามารถสร้างแรงกดมาก แต่ในช่วงทางตรง แรงต้านอากาศจากปีกขนาดใหญ่จะทำให้รถวิ่งช้าลง
ใครที่กำลังสงสัยว่า หากรถที่ใช้พัดลมดูดให้รถติดกับพื้นมันดีขนาดนั้น ทำไมไม่เห็นมีรถแข่งใช้กันเลยล่ะ ? คำตอบง่ายๆ คือ มันเคยถูกนำมาใช้ และประสบความสำเร็จ แต่ภายหลัง “โดนแบน” จากสมาพันธ์การแข่งขันรถยนต์ ด้วยข้อหาด้านความปลอดภัย (กับรถแข่งคันอื่น) และส่วนหนึ่งมันถูกร้องเรียนว่า เป็นการเอาเปรียบทีมอื่น สุดท้ายเลยทำให้รถแข่งที่ใช้เทคนิคนี้สูญพันธุ์ไปจากการแข่งขัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ไม่ได้มีหลักฐานใดๆ ว่ารถที่ใช้ระบบพัดลมดูดนี้ยิงก้อนหินก้อนกรวดใส่รถคันอื่น และยังมีรถสปอร์ทคันอื่นที่ใช้แนวคิดนี้ในปัจจุบัน อาทิ McLAREN F1 (แมคลาเรน เอฟ วัน) และรุ่นล่าสุด คือ GMA T.50 (จีเอมเอ ที.50) ไฮเพอร์คาร์จากค่าย GORDON MURRAY AUTOMOTIVE (กอร์ดอน เมอร์เรย์ ออโทโมทีฟ) ที่คุณจะประหลาดใจที่พบว่า ตัวของ GORDON MURRAY ในอดีต เขา คือ วิศวกรที่ริเริ่มการติดตั้งพัดลมดูดอากาศเข้าไปกับรถแข่งสูตร 1 BRABHAM BT46B เรียกได้ว่ามันเป็นซิกเนเจอร์ในการออกแบบของเขาเลยทีเดียว
แรงดูดของพัดลมของ McMURTRY SPEIRLING PURE มันมีเรี่ยวแรงระดับไหน ?
พัดลมสามารถหมุนสูงสุดถึง 23,000 รตน. โดยจะแปรผันตามสมรรถนะที่คุณต้องการ ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการวิ่งในสนามแข่งด้วยความเร็วต่อรอบเทียบเท่ากับรถแข่งประเภทใด เพราะแรงดูดจะแตกต่างกันไป แต่หากถามว่ามันสามารถสร้างแรงกดสูงสุดได้เท่าใด ต้องตอบว่ามากถึง 2,000 กิโลกรัม และแรงกดนี้สามารถสร้างได้โดยรถไม่ต้องออกตัววิ่งเสียด้วยซ้ำ ด้วยแรงกดมากขนาดนี้ ทำให้มันสามารถเข้าโค้งได้โดยสร้างแรงหนีศูนย์กลางได้มากถึง 3G หรือคนขับจะรู้สึกว่าตัวหนักขึ้นถึง 3 เท่า !
แน่นอนว่า ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างแรงกดมากนั้นก็ได้ เพราะทุกสิ่งขึ้นอยู่กับว่า คุณต้องการจะแข่งกับรถอะไร และคุณต้องการวิ่งในสนามกี่รอบ ซึ่งจะขออธิบายตรงนี้ภายหลัง
เรามาดูสเปคคร่าวๆ ของรถคันนี้กันก่อน (เนื่องจากเป็นการทดสอบในประเทศอังกฤษ จึงขอใช้หน่วยไมล์เป็นหลัก)
กำลังสูงสุด 1,000 แรงม้า
ความเร็วสูงสุด 190 ไมล์/ชม. (305 กม./ชม.)
อัตราเร่ง 0-60 ไมล์/ชม. (0-96 กม./ชม.) ใน 1.4 วินาที
ควอร์เตอร์ไมล์ (0-402 ม.) ใน 7.9 วินาที
สำหรับรถไฟฟ้า หากจะวัดกันแค่เรื่องอัตราเร่ง หรือความเร็วทางตรง ก็ดูแล้วไม่เกินความคาดหมาย ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ก็ต้องไปวิ่งบนเส้นทางคดเคี้ยว ซึ่งในปี 2022 McMURTRY SPEIRLING PURE ก็ได้เข้าร่วมในมหกรรมความเร็วที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ นั่นคือ GOODWOOD FESTIVAL OF SPEED ที่ในงานจะมีการทดสอบวิ่งขึ้นเนินเขา (HILL CLIMB) ระยะเพียง 1.16 ไมล์ หรือ 1.9 กม. ซึ่งมีรถสารพัดชนิดรวมถึงรถแข่งสูตรหนึ่งเคยเข้าร่วมการทดสอบนี้ โดยสถิติอย่างเป็นทางการที่มีการบันทึกไว้ คือ 41.6 วินาที ด้วยรถแข่งสูตร 1 McLAREN MP4/13 ขับโดย NICK HEIDFELD
แต่ในปี 2022 McMURTRY SPEIRLING PURE ได้ปักหมุดสถิติเวลาใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โดยใช้เวลาเพียง 39.08 วินาที ต่อหน้าผู้เข้าชมมากถึง 150,000 คน !
และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา McMURTRY SPEIRLING PURE ก็ได้สร้างสถิติใหม่ของรถแข่งล้อปิดในสนาม HOCKENHEIMRING เยอรมนี โดยทำเวลาต่อรอบ 1 นาที 24.43 วินาที ซึ่งเป็นเวลาในขั้นทดสอบ เพราะจำกัดพละกำลังไว้ที่ 75 % และจำกัดการทำงานของพัดลมไว้ที่ 75 % เช่นเดียวกัน
สำหรับเวลาที่ทำได้นั้น น้อยกว่าสถิติที่รถแข่ง DTM ทำในรอบควอลิฟายด์ปี 2020 ถึง 3.9 วินาที และเร็วกว่าไฮเพอร์คาร์ MERCEDES-AMG ONE (เมร์เซเดส-เอเอมจี วัน) ถึง 14.1 วินาที !
แต่ต้องยอมรับว่า McMURTRY SPEIRLING PURE เป็น “สิงห์สนามสั้น” และผู้ผลิตได้ออกมาชี้แจงว่า ในสถิติที่เทียบเคียงจากสนามแข่งท้องถิ่นของพวกเขา คือ สนามซิลเวอร์สโตน ซึ่งมีการแจกแจงมาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า
1. หากต้องการจะวิ่งในมิติความเร็วเดียวกับรถแข่งคลาสส์ จีที 3 ก็ตั้งให้ปลดปล่อยพลังงานเพียง 35 % และพลังของพัดลมเพียง 40 % ตัวรถก็จะสามารถวิ่งได้ 8-9 รอบสนาม หรือราว 17-18 นาที
2. หากต้องการจะวิ่งในมิติความเร็วเดียวกับรถแข่งเลอ มองส์ คลาสส์ แอลเอมพี 2 ก็ตั้งให้ปลดปล่อยพลังงาน 65 % และพลังของพัดลม 75 % ตัวรถก็จะสามารถวิ่งได้ 4-5 รอบสนาม หรือราว 10 นาที
3. หากต้องการจะวิ่งในมิติความเร็วเดียวกับรถแข่งเลอ มองส์ คลาสส์ ไฮเพอร์คาร์ ก็ตั้งให้ปลดปล่อยพลังงาน 80 % และพลังของพัดลมเต็มที่ 100 % ตัวรถก็จะสามารถวิ่งได้ 3 รอบสนาม หรือราว 6 นาที
4. หากต้องการจะวิ่งในมิติความเร็วเดียวกับรถแข่งสูตร 1 ก็ตั้งให้ปลดปล่อยพลังงาน 100 % และพลังของพัดลมเต็มที่ 100 % ตัวรถก็จะสามารถวิ่งได้ 1-2 รอบสนาม หรือราว 2-3 นาที
เรียกว่า ถ้าจะซิ่งให้มิดก็ต้องลืมระยะทางที่เคลมไว้ตามมาตรฐาน WLTP ไปเสีย เพราะมันคนละเรื่องกัน ตัวตนของมัน คือ รถที่เกิดมาเพื่อทำลายสถิติ
McMURTRY SPEIRLING PURE มีราคาเริ่มต้นที่ 895,000 ปอนด์ หรือเกือบ 40 ล้านบาท ! นับเป็นของเล่นของอภิมหาเศรษฐีอย่างแท้จริง และใครที่จะขับมันให้ทำเวลาได้อย่างสถิติบันทึก ก็ต้องมีประสาทที่แข็งแกร่งฉับไวดั่งสายฟ้าเช่นกัน