บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการด้านมีเดียอินเทลลิเจนศ์ ได้เผยแพร่รายงานภูมิทัศน์สื่อไทย ปี 2024-2025 ซึ่งชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสื่อจากมุมมองเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ โซเซียลมีเดีย สื่อมวลชน ธุรกิจ พอดแคสต์ และอินฟลูเอนเซอร์
ความนิยมในคอนเทนท์เฉพาะทาง เปิดโอกาสให้อินฟูเอนเซอร์ และคอนเทนท์ครีเอเตอร์กลุ่มนี้ สามารถต่อยอดผลงานในโลกออนไลน์ไปสู่กิจกรรมออฟไลน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฐานผู้ติดตามคอนเทนท์ประเภทนี้ เป็นกลุ่ม NICHE ที่มีจำนวนไม่น้อย และยังมีความผูกพันที่แน่นแฟ้นกับอินฟลูเอนเซอร์ ความ NICHE ที่ได้รับความนิยมมีทั้งคอนเทนท์ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ครอบครัว ประวัติศาสตร์ การเงิน การพัฒนาตนเอง และข่าว
โดยเฉพาะคอนเทนท์สายข่าว (NEWS CREATOR) ได้กลายเป็นความท้าทายของสื่อมืออาชีพ เนื่องจากมีผู้ติดตามไม่น้อยไปกว่ากัน อย่างไรก็ดี จรรยาบรรณ และการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ และครีเอเตอร์กลุ่มนี้
ส่วนโซเชียลมีเดียนั้น ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ในการสร้างรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ TIKTOK ที่ก้าวเข้าสู่โลกอี-คอมเมิร์ศอย่างเต็มตัว พร้อมกับข้อได้เปรียบในฐานะที่บนพแลทฟอร์มมีคอนเทนท์ที่คนดูชื่นชอบ และยังเป็น MARKETPLACE ที่สามารถซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย นับว่าถูกจริตผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง
ส่วนพแลทฟอร์มม้ามืด ที่น่าจับตามอง ได้แก่ พอดแคสต์ และวีดีโอแคสต์ โดยข้อมูลเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ของแอพสตรีมิงยอดนิยมอย่าง SPOTIFY พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนการผลิตรายการพอดแคสต์ในประเทศไทย เติบโตขึ้นถึง 81 % สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจอย่างมาก จากผู้ผลิตคอนเทนท์ และผู้ฟัง เนื่องจากเป็นสื่อต้นทุนต่ำ ผลิตได้ง่าย และรวดเร็ว อีกทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ ที่เลือกฟังรายการที่ตนเองชื่นชอบไปพร้อมกับการทำกิจกรรมอื่นๆ
ในทางกลับกัน สื่อที่ต้องติดตาม คือ ทีวี ว่าจะฝ่ามรสุมความท้าทายจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างไร หลัง RATING การรับชมทีวีผ่านสตรีมิงเพิ่มขึ้นเป็น 54 % แซงหน้าการรับชมผ่านทีวี ที่ลดลงเหลือ 46 % ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี จากปี 2566-2567 ขณะที่เม็ดเงินค่าโฆษณาทีวีช่วง 7 เดือนของปีที่แล้ว มีมูลค่า 33,875 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งการตลาด 50.13 % ของงบโฆษณาจากสื่อทั้งหมด แต่ก็หดตัวลง 2 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
ท้ายสุด แต่ไม่สุดท้าย คือ รายงานเรื่องนี้มีการพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งสำรวจโดย VERO ระบุว่านักข่าวไทยกว่า 95 % มีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ AI ในวงการสื่อ ในขณะที่สำนักข่าว และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผู้ประกาศข่าว AI และระบบ TEXT-TO-SPEECH
และสำหรับปี 2568 ยังเป็นปีที่สื่อดั้งเดิมต้องเร่งปรับตัวรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนผ่านของพแลทฟอร์มต่างๆ ที่ผู้บริโภคเลือกชม ผู้ที่สร้างคอนเทนท์ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะทางของผู้บริโภค จะมีโอกาสเติบโตสูง
ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ อาทิ
คาดการณ์มูลค่าการตลาดโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ระยะเวลา 6 ปี (ปี 2567-2572) ปี 2567 คาดการณ์มูลค่า 68.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2568 มูลค่า 77.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2569 มูลค่า 86.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2570 มูลค่า 94.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2571 มูลค่า 103.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปี 2572 มูลค่า 112 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
TOP3 พแลทฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุด อันดับ 1 FACEBOOK 33.4 % อันดับ 2 TIKTOK 28.5 % และอันดับ 3 LINE 14.4 %
พแลทฟอร์มชอพพิงออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด (ข้อมูลถึงเดือนตุลาคม 2567) อันดับ 1 SHOPEE 75 % อันดับ 2 LAZADA 67 % อันดับ 3 TIKTOK 51 % อันดับ 4 FACEBOOK 39 % และอันดับ 5 LINE 24 %
ประเภทคอนเทนท์มาแรงบนพอดแคสต์ปี 2568 ข่าวทั่วไป/ข่าวเชิงลึก, การพัฒนาตัวเอง, สุขภาพ และสังคมสูงวัย
ขอขอบคุณ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด และ VERO ที่ส่งข้อมูลดีๆ มาให้เราเผยแพร่กับผู้บริโภค