ชีวิตอิสระ
สูดกลิ่นลมหนาว ที่เมืองสามหมอก (1)
แม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในหลายจังหวัดชายแดนของไทย มีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่า มีชื่อ
ว่าเป็น "เมืองสามหมอก" เนื่องจากเป็นเมืองในหุบเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนทอดขนานไปกับ
ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแดนลาว จึงถูกปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้ง 3 ฤดู ใน 1 ปี
ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติและโบราณสถาน นอกจากนี้ ยังมีศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันควรค่าแก่การสืบสาน และอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง
ชาวแม่ฮ่องสอนยังใช้ภาษาท้องถิ่นและกินอาหารพื้นเมือง บางแห่งยังพบบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็น
บ้านไม้ชั้นเดียว หรือสองชั้นแบบโบราณ ที่เรียกว่า บ้านแบบไทยใหญ่ สร้างด้วยไม้ ใต้ถุนสูง หลังคามุง
ใบตองตึง มีการแต่งกายแบบพื้นเมือง เรียกว่า ชุดไต คือ ผู้ชายนุ่งกางเกงคล้ายกางเกงจีน
หรือกางเกงชาวเล สวมเสื้อคอกลมแขนยาวป้ายแบบจีน ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงยาว สวมเสื้อทรงกระบอกตัวสั้นเพียงเอว นับเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเมืองนี้ไม่น้อย
"สิบปากว่า...ไม่เท่าตาเห็น"
ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เราจึงไม่รอช้าที่จะเดินทางสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทันที
โดยจุดหมายแรกของการเดินทางอยู่ที่ "ถ้ำแก้วโกมล" หรือ "ถ้ำน้ำแข็ง" หนึ่งใน UNSEEN THAILAND ที่นักเดินทางต่างเล่าลือถึงความงามที่ต้องบอกต่อให้ใครๆ มาเยือน
จาก อ. แม่สะเรียง ถึง อ. แม่ลาน้อย เราขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 108 ระยะทางประมาณ 30
กม. จากหน้าโรงพยาบาลแม่ลาน้อย แยกเข้าไปอีก 5 กม. ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านห้วยมะไฟ
จุดนี้เราต้องจอดรถไว้ที่นี่ แล้วนั่งรถสองแถวขึ้นไปยัง ถ้ำแก้วโกมล ระยะทางประมาณ 2 กม.
เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณปากถ้ำก็ต้องรอรับบัตรคิว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับภายในถ้ำคับแคบ และมีอากาศถ่ายเทน้อย จึงต้องจัดคิวผู้เข้าชม โดยให้เข้าชมได้ครั้งละ 20 คน ใช้เวลา 20 นาที หมุนเวียนกันไป
เรานั่งรอที่จะเข้าชมถ้ำอยู่นานพอสมควร จนเกือบจะถอดใจ แต่ไหนๆ ก็ตั้งใจมาแล้ว
และอยากเห็นกับตาว่าจะงดงามสมคำเล่าลือหรือไม่ ในที่สุดเวลานั้นก็มาถึง (เสียที)
สิ่งที่ปรากฏต่อสายตา บอกว่าน่าจะเป็นถ้ำน้ำแข็งจริงๆ เพราะด้วยลักษณะถ้ำที่มีผนังแวววาวของผลึกแร่
แคลไซท์ สีขาวใส ยิ่งเมื่อต้องแสงไฟ ผลึกแร่จะดูงดงามราวกับเกล็ดน้ำแข็ง เพียงแต่ในถ้ำอาจจะไม่
หนาวเย็นเหมือนน้ำแข็งเท่านั้น ซึ่งถ้ำแบบนี้พบได้เพียง 3 แห่งในโลก คือ ออสเตรเลีย จีน และไทย
จากการถามไถ่เจ้าหน้าที่ที่นำชม จึงได้รู้ว่าแต่ก่อน ถ้ำนี้ชื่อ "ถ้ำผลึกแคลไซท์แม่ลาน้อย"
ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อวิศวกรสำรวจเหมืองแร่ได้ขุดเจาะอุโมงค์เข้าไปตามสายแร่
แล้วพบว่าภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแคลไซท์ มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันมากมายหลายแบบ จับตัวกันมองดูคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง บ้างก็คล้ายเกล็ดน้ำตาล ม่าน ปะการัง ดอกกะหล่ำ ดอกเข็ม บ้างก็เหมือนโคมไฟเพดาน
ถ้ำนี้มีความลึกจากพื้นประมาณ 30 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 200 เมตร แบ่งออกเป็น 5 ห้อง คือ
"พระทัยธาร" มีที่มาจากการที่น้ำในถ้ำละลายหินปูนไหลเหมือนเป็นธารน้ำตก
"วิมานเมฆ" ตั้งตามลักษณะของแร่ที่อยู่ตามเพดาน ดูคล้ายปุยเมฆ
"เฉกหิมพานต์" ลักษณะคล้ายป่าหิมพานต์ตามวรรณคดี
"ม่านผาแก้ว" ผลึกแก้วใสเกาะอยู่ราวกับม่านเต็มถ้ำ
และ "เพริศแพร้ว มณีบุปผา" เป็นห้องที่อยู่ลึกที่สุด สวยงามโดดเด่นที่สุด
เต็มไปด้วยผลึกแร่ที่มีความละเอียด
เป็นรูปเข็มราวกับเกล็ดน้ำแข็ง
อ้อ...ก่อนจะเข้าถ้ำมีข้อห้ามไม่ให้สวมเสื้อแจคเกท หมวก หรือสะพายกระเป๋า
หรือสิ่งของอื่นที่ไม่จำเป็น
นอกเหนือจากการห้ามจับหรือสัมผัสผลึกแร่
เพราะเกรงว่านักท่องเที่ยวจะไม่ระมัดระวังจนทำให้เกิดความ
เสียหายกับถ้ำ
ผลึกแคลไซท์ในถ้ำนั้นเปราะบางและอ่อนไหวต่อการสัมผัส เพียงแค่โดนสัมผัสเพียงครั้งเดียว
อุณหภูมิของร่างกายและความเป็นกรดที่ติดอยู่ในมือเราก็จะทำให้ผลึกแร่ใสวาวอายุนับพันนับหมื่นปีเ
ปลี่ยนเป็นสีดำหมดความงามไปในเวลาเพียงไม่กี่วัน
"ดอกบัวตองนั้นบานอยู่บนยอดดอย..."
จากถ้ำแก้วโกมล เราออกเดินทางต่อสู่ อ. ขุนยวม เพื่อที่จะไปชม "ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ"
ระยะทางประมาณ 67 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 108 เมื่อถึง อ. ขุนยวม ขับรถเลยไปอีก 1 กม. มีทางแยกเลี้ยวขวาตามทางหลวงสาย 1263 เข้าสู่ทุ่งบัวตองอีก 26 กม. เราปิดแอร์แล้วเปิดกระจกรับลมเย็นๆ ปะทะหน้า ช่วยให้สดชื่นและเพลิดเพลินกับบรรยากาศ 2 ข้างทางที่เหลืองอร่ามไปด้วยดอกบัวตอง
ที่เบ่งบานอวดโฉมต้อนรับผู้มาเยือน ก่อนที่จะไปถึงทุ่งบัวตองที่รอเราอยู่เบื้องหน้า
ยิ่งเข้าใกล้เท่าไรก็ยิ่งทำให้หัวใจของพวกเราเต้นไม่เป็นจังหวะ
เพราะภาพจริงเบื้องหน้ามันอลังการเกินกว่า
ภาพในโพสการ์ด ที่เคยเห็นเป็นร้อยเท่าพันทวี
รู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะมาเป็นทุ่งดอกบัวตองที่เหลืองอร่ามไปทั้งภูเขานั้น
เดิมทีดอยแม่อูคอเคยเป็นภูเขาหัวโล้น
มาก่อน เพราะชาวเขาเผ่าม้งใช้พื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย
ส่วนต้นบัวตองซึ่งเป็นวัชพืชนั้นชาวเขาพยายามตัดทิ้ง
แต่ก็ไม่ทันกับการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
"บัวตอง" เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งมีสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า
ทว่าดอกสีเหลืองสดใสของบัวตองที่บานพร้อมกันปกคลุมภูเขาทั้งลูกบนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ. แม่ฮ่องสอน
"กองมู...เสียดฟ้า"
เราใช้เวลาอยู่ที่ทุ่งดอกบัวตองอยู่นานพอสมควร
จึงเดินทางต่อเพื่อที่จะเข้าไปพักแรมที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ จากทุ่งบัวตองก็มาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนแล้ว
เราขับรถจากตัวเมืองขึ้นไปยังพระธาตุดอยกองมู ทางขึ้นอยู่ตรงบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสิงหนาทราชา
ขึ้นไปทางซ้ายมือตามถนนราดยาง ระยะทางประมาณ 2 กม. ก็มาถึงบริเวณวัด
ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ค่ำแล้ว แต่ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวมากมายทยอยกันขึ้นมาเพื่อสักการะ
องค์พระธาตุดอยกองมู
"วัดพระธาตุดอยกองมู" เดิมชื่อ "วัดปลายดอย" ตั้งอยู่บนดอยกองมู
ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วย เจดีย์ 2 องค์ใหญ่ สร้างโดย "จองต่องสู่" เมื่อ พศ. 2403 ส่วนเจดีย์องค์เล็ก สร้างเมื่อ พศ. 2417 โดย "พระยาสิงหนาทราชา" เจ้าผู้ครองเมืองแม่ฮ่องสอน จากวัดพระธาตุดอยกองมู สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน ยิ่งเป็นบรรยากาศช่วงพลบค่ำทิวทัศน์ก็จะสวยไปอีกแบบหนึ่ง
การเดินทางของเรายังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ
วัดจองคำ หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว ถ้ำลอด เมืองปาย ฯลฯ แต่ต้องติดตามกันต่อในฉบับหน้า
ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สนับสนุนการเดินทาง
ดอกบัวตอง
ชื่อสามัญ MEXICAN SUNFLOWER WEED
ชื่อวิทยาศาสตร์ TITHONIA DIVERSIFOLIA (HEMSL.) A. GRAY.
วงศ์ COMPOSITAE
ชื่อท้องถิ่น พอหมื่อนี่
ลักษณะทั่วไป บัวตองเป็นไม้ดอก มีอายุยืนยาวหลายปี สามารถสูงได้ถึง 5 เมตร
ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวบริเวณปลายกิ่ง มีสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ดอกวงนอกเป็นหมัน กลีบดอกเรียวมีประมาณ 12-14 กลีบ ดอกวงในสีเหลืองส้มเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบบัวตองเป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือแกมขอบขนาน มีขนขึ้นแล็กน้อยประปราย ปลายใบเว้าลึก 3-5 แฉก
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม แสงแดดจัด
ถิ่นกำเนิด เมกซิโก
พิกัด จีพีเอส
(01) N18.16192 E97.94110
(02) N18.38233 E97.94606
(03) N18.38059 E97.94268
(04) N18.37892 E97.94422
(05) N18.89503 E98.08898
(06) N18.83865 E97.94229
(07) N19.25935 E97.90333
(08) N19.28320 E97.96063
(09) N19.30272 E97.96521
การเดินทาง
รถยนต์ ทางหลวงหมายเลข 108 ตัดจาก จ. เชียงใหม่ ผ่าน อ. หางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด
แม่สะเรียง แม่ลาน้อย และขุนยวม ถึง อ. เมืองแม่ฮ่องสอน รวมระยะทางประมาณ 349 กม.
เส้นทางสายนี้เป็นทางตัดขึ้นเขาสูง มีความสวยงามและคดเคี้ยวถึง 1,864 โค้ง
ปัจจุบันมีถนนจาก จ. เชียงใหม่ ถึง จ. แม่ฮ่องสอน เพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง คือ ทางหลวงหมายเลข 1095
หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า เส้นทางสายแม่มาลัย-ปาย ตัดจาก อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ ถึง อ. ปาย จ.
แม่ฮ่องสอน เหลือระยะทางเพียง 245 กม. แต่เส้นทางโหดกว่า และหากนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางจาก จ. ตาก ไปยัง จ. แม่ฮ่องสอน โดยไม่แวะเข้า จ. เชียงใหม่ ก็สามารถเดินทางได้ตามทางหลวงหมายเลข 105 ผ่าน อ. แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง ถึง อ. แม่สะเรียง ระยะทางประมาณ 300 กม. เป็นทางราดยาง
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพ ฯ
มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศของบริษัทเอกชนออกจากสถานี
ขนส่งสายเหนือหมอชิต 2 ถ. กำแพงเพชร ทุกวันๆ ละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัทสมบัติทัวร์ สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0-5361-3211 สำนักงานกรุงเทพ ฯ
โทรศัพท์ 0-2936-2498-9
จากเชียงใหม่ มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดา และปรับอากาศ วิ่งบริการ 2 เส้นทาง คือ
สายเชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน สายเชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดติดต่อ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด สำนักงานแม่ฮ่องสอนโทรศัพท์ 0-5361-1318
สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5324-4737, 0-5330-4748
เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีบริการเที่ยวบินกรุงเทพ ฯ-เชียงใหม่-
แม่ฮ่องสอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiairways.com
บริษัท นกแอร์ จำกัด มีเที่ยวบินระหว่างเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
www.nokair.com
ที่พัก ที่กิน
บ้านฝรั่งเกสต์เฮาส์
ที่ตั้ง อ. ขุนยวม
บรรยากาศ ห้องพักสะอาด ในบรรยากาศสดชื่น รู้สึกถึงความใกล้ชิดธรรมชาติ
ราคา 600-800 บาท/คืน
ติดต่อ โทร. 053-622-086
ที่กิน
บ้านระเบียง
บรรยากาศ อิ่มอร่อยกับอาหารท่ามกลางธรรมชาติหลากหลายเมนู อาทิ ผัดเผ็ดหมูป่า
ปลาทอดกรอบสมุนไพร ฯลฯ ราคาไม่แพง พร้อมเสียงเพลงโฟล์คซองคำเมือง
ในบรรยากาศแบบเมืองเหนือ
ติดต่อ โทร. 0-5361-4491 , 08-9467-9248
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร
ภาพโดย : ธีรวิทย์ โตจันทร์/ศิธา เธียรถาวรนิตยสาร 417 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)