ชีวิตอิสระ
สูดกลิ่นลมหนาว ที่เมืองสามหมอก (ตอนจบ)
ไอหมอกที่ลอยล่องเหนือหนองน้ำธรรมชาติ บริเวณหน้าวัดจองคำในบรรยากาศยามเช้าๆ
เรานั่งจิบกาแฟ พร้อมปาท่องโก๋ มองดูวิถีชีวิตผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของ ดูพวกเขาไม่ต้องรีบเร่งกับชีวิตมากมายนัก ทุกสิ่งเป็นไปอย่างเรียบง่ายสบายๆ ต่างกับคนที่อยู่ในเมืองกรุง ที่ต้องรีบเร่งวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา
เราปลดปล่อยอารมณ์ไปกับบรรยากาศดีๆ ในยามเช้ากันสักพัก พอแสงแดดเริ่มเจิดจ้า
เราก็หันหลังกลับเข้าชมและสักการะ "วัดจองคำ" กันต่อ
"วัดจองคำ" อยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อ พศ. 2370 โดยช่างฝีมือชาว
ไทยใหญ่ เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ที่แปลกตาและงดงามมาก หลังคาวัดเป็นรูปปราสาท เพราะมีคติว่า
ปราสาทเป็นของสูง ผู้ที่ประทับอยู่ในปราสาทควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือตัวแทนพระศาสนา
ในวิหารเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระประธาน โดยสร้างและนำมาประดิษฐานเมื่อ
พศ. 2469 โดยช่างฝีมือชาวพม่า
ถัดมาคือ "วัดจองกลาง" ตั้งอยู่ข้างวัดจองคำ ในวิหารมีแท่นบูชาตั้งพระพุทธสิหิงค์จำลอง นอกจากนี้
ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงตุ๊กตาไม้แกะสลักรูปคนและสัตว์ ฝีมือช่างชาวพม่า ซึ่งนำมาจากพม่า
ตั้งแต่ พศ. 2400 และมีภาพจิตรกรรมแผ่นกระจก เรื่องพระเวสสันดรชาดก และภาพพุทธประวัติ
ภาพวิถีชีวิตของคนสมัยนั้น
จากวัดจองคำ และวัดจองกลาง เราออกเดินทางไปหมู่บ้าน "กะเหรี่ยงคอยาว" ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า
อยู่ใกล้กับตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เดินทางจากตัวเมืองไปทาง อ. ขุนยวม ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด
ถึงแยกไฟแดงซ้ายมือจะมีป้อมตำรวจเล็กๆ ตรงมุมถนนแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 12 กม. ถนนคอนกรีท ผ่านลำห้วยเล็กๆ กว่าสิบสายก็มาถึงบ้านห้วยเสือเฒ่า ที่นี่มีผลิตภัณฑ์ชาวเขาไว้จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวซื้อกลับไปเป็นของฝากมากมาย อาทิ สร้อยคอ กำไล ปลอกคอ เสื้อผ้า พลอย ฯลฯ
นอกจากจะได้พบชาวกะเหรี่ยงคอยาวแล้ว ยังมีกะเหรี่ยงหูยาวอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้อีกด้วย
เราเดินดูสินค้าต่างๆ ก่อนออกจากหมู่บ้าน เราแวะซื้อข้าวโพดปิ้งกลับไปเป็นเสบียงระหว่างทางกันหิว
เพราะยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายที่จะต้องไปเที่ยวชม
จุดหมายปลายทางต่อไป คือ "อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา" หรือ "ถ้ำปลา" ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยผา
ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กม. ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (แม่ฮ่องสอน-ปาย) ช่วง กม. ที่
191-192 ถ้ำปลาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำไหลออกจากถ้ำใต้ภูเขาอยู่ตลอดเวลา และมีปลาตัวโตๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า "ปลามุง" หรือ "ปลาคัง"
เป็นปลามีเกล็ดขนาดใหญ่ในวงศ์เดียวกับปลาคาร์พ
เราใช้เวลาที่ถ้ำปลาไม่นานนัก ก็ออกเดินทางต่อไปยังถ้ำลอด
"ถ้ำลอด" ถ้ำนี้ถูกยกให้เป็น UNSEEN ว่าด้วยความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ และยังมีเรื่องราวลี้ลับหลัง
ความตาย ที่กลายมาเป็นแหล่งโบราณคดีล้ำค่า
จาก อ. ปางมะผ้า เข้าไปตามทางบ้านถ้ำลอดประมาณ 9 กม. ถึงสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ก่อนอื่นต้องเข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่เสียก่อน เพราะภายในถ้ำมืดมาก จึงต้องมีผู้นำทาง ซึ่งก็คือชาวบ้านในหมู่บ้านที่จะรวมตัวมาให้บริการ พร้อมตะเกียงเจ้าพายุคู่ชีพ
เราเลียบเลาะไปตามลำน้ำลาง ผ่านป่าไม้เขียวขจีช่วยบรรเทาความร้อนของยามบ่ายได้เป็นอย่างดี
จนกระทั่งมาถึงหน้าปากถ้ำ ความตื่นตาตื่นใจ ก็เริ่มก่อตัวในใจทันที เพราะภาพที่เห็นคือ
ลำน้ำลางทั้งสายที่เมื่อสักครู่ยังเดินเลียบเลาะมากลับหายเข้าไปในโพรงถ้ำขนาดใหญ่ เราต้องไต่ไปตามสะพานไม้เล็กๆ ไปยังปากถ้ำ พร้อมๆ กับเพ่งมองหาที่มาที่ไปของทางน้ำ แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าลำน้ำนั้นไปสิ้นสุดตรงไหน นอกจากจะต้องเข้าไปพิสูจน์ข้างในถ้ำด้วยตัวเอง
ทางเดียวที่จะผ่านเข้าไปในตัวถ้ำได้ก็คือ นั่งแพไม้ไผ่เข้าไปในโพรงถ้ำที่มืดมิด ทิ้งความสว่างของแสงอาทิตย์ไว้เบื้องหลัง มีเพียงแสงจากตะเกียงเจ้าพายุส่องนำทางเห็นเป็นจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ตระการตาของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ ความตื่นเต้นก็ยิ่งท่วมท้นทวีคูณ
นั่งแพมาได้ประมาณ 100 ม. ก็ถึงจุดที่ต้องขึ้นฝั่งพร้อมๆ กับที่ต้องพยายามปรับสายตาให้ชินกับความมืด
เพราะจะต้องค่อยๆ ปีนป่ายไต่บันไดกันหลายขั้น หลายครั้งถ้าเดินไม่ดีไม่ระวังก็มีสิทธิ์ลื่นล้มได้
พี่คนนำทางเล่าให้ฟังว่า ถ้ำลอดนี้มีความยาวประมาณ 1 กม. ประกอบด้วยถ้ำใหญ่ 3 ถ้ำ คือ
ถ้ำเสาหิน ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มีเสาหินปูนขนาดยักษ์สูงเกือบ 20 ม. ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางถ้ำ นอกจากนี้ยังมี "ม่านหินย้อย" ที่เมื่อสะท้อนกับแสงไฟแล้วเกิดเป็นประกายแวววาวสวยงาม ส่วนที่เห็นหลุมแอ่งขนาดใหญ่ก็คือ "หลุมยุบ" ที่เกิดจากพื้นดินทรุดตัวลงไปนั่นเอง
ขณะที่เดินไปเรื่อยๆ พี่คนนำทางก็จะชี้ชวนบอกชื่อ และรูปร่างลักษณะของหินงอกหินย้อยที่เรียงรายอยู่
รอบโพรงถ้ำ แต่นั่นก็ไม่เท่ากับจินตนาการของเรา ที่โลดแล่นไปไกลถึงไหนต่อไหน และคงไม่ต่างกับ
เพื่อนร่วมทริพ เพราะต่างคนก็ต่างจินตนาการรูปร่างของหินในมุมมองที่เห็น จึงไม่แปลกถ้าหินก้อนหนึ่ง
จะดูเหมือน "หินกระเทียม" ในขณะที่อีกเสียงอาจค้านว่าเป็น "หินดอกกะหล่ำ" หรือในขณะที่คนหนึ่ง
นั้นเห็น "หินรากฟัน" แต่อีกคนเห็น"หินหูช้าง" หรืออีกคนเห็น"หินจานบิน" นับเป็นอีกหนึ่งความ
สนุกสนานในการเที่ยวถ้ำ
ผมรู้สึกว่ายิ่งเดินลึกเข้าไป ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ จนไปถึงถ้ำที่ 2 คือ "ถ้ำตุ๊กตา"
มีหินงอกเป็นปุ่มปมเล็กๆ คล้ายตุ๊กตาเรียงรายอยู่มากมาย แต่ก่อนนี้ที่ด้านหนึ่งของผนังถ้ำจะมีภาพเขียน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ถ้ำในสมัยก่อน
แต่ตอนนี้ภาพเหล่านั้นได้เลือนหายไปแล้ว
จากถ้ำนี้ก็ต้องถ่อแพไปยังถ้ำที่ 3 คือ "ถ้ำผีแมน" ที่นอกจากจะมีหินงอกหินย้อยสวยงามแล้ว
ยังมีเศษภาชนะดินเผา เมล็ดพืช เครื่องมือหิน ซีกฟันและกระดูกคน รวมทั้ง โลงผีแมน ซึ่งเป็นท่อนไม้ที่ถูกขุดส่วนกลางออกเป็นร่องคล้ายเรืออยู่กระจัดกระจายในถ้ำ สันนิษฐานว่าเป็นโลงศพของมนุษย์โบราณ
พี่คนนำทางบอกว่า ในช่วงเช้าและเย็นจะเห็นนกนางแอ่นตะโพกขาวหางแฉก และค้างคาว
บินเข้าออกจากถ้ำเพื่อไปหากิน โดยจะบินสวนทางกันนับแสนตัว และในลำน้ำลางก็ยังมีปลาพวงจำนวนมากให้ได้ดูกัน
แต่ด้วยเวลาที่จำกัด จึงต้องรีบลาจากถ้ำลอดเพื่อเดินทางต่อสู่ อ. ปาย
เดิมที อ. ปาย จะเป็นเพียงทางผ่านของผม ซึ่งเลือกที่จะเดินทางโดยรถยนต์จากแม่ฮ่องสอน สู่เชียงใหม่
แต่หลังจากที่ได้มาพักที่นี่ 1 คืน ผมรู้สึกว่าเป็นเมืองที่มองผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้แล้ว
ปาย เมืองเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา บรรยากาศของเมืองเล็กๆ แห่งนี้มักปกคลุมด้วยสายหมอก
โดยเฉพาะเมื่อฤดูหนาวมาเยือน นักเดินทางมากมายต่างมุ่งหน้ามาสัมผัสลมหนาวกันอย่างไม่ขาดสาย
เมืองปายที่เคยหลับจึงกลับคึกคักขึ้นมาถนัดตา
ละอองน้ำจางๆ ยามเช้า บรรยากาศอันเงียบสงบ กับแสงแดดอุ่นๆ ที่ทอดผ่านม่านหมอกหนา
แลเห็นต้นสน ไม้ยืนต้นเมืองหนาวสูงใหญ่เป็นทิวแถวตามเชิงเขา วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คน
ด้วยความเป็นเอกลักษณ์นี้ ได้ดึงดูดนักเดินทางรวมทั้งตัวผมเอง ให้มาสัมผัสมนต์เสน่ห์ ณ ที่แห่งนี้
ปาย ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมานานแล้ว สำหรับคนไทยแล้ว เพิ่งเป็นที่นิยมเมื่อ
2-3 ปีที่ผ่านมา แล้วเขามาทำอะไรกันที่ปาย ?
นอกจากจะได้สัมผัสบรรยากาศแห่งสายหมอกแล้ว การล่องแก่งลำน้ำปาย น่าจะเป็นกิจกรรมต้นๆ
รองลงมา คือ นั่งช้าง ชมไพร เดินป่า ล่องแม่น้ำปาย และกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวคือ ปั่นจักรยานชมเมืองปาย ลองไปปั่นจักรยานที่ อ. ปาย บนเส้นทางสายปาย-น้ำพุร้อนท่าปาย
เป็นเส้นทางง่ายๆ สบายๆ ระยะทางไม่เกิน 10 กม. ควรออกจากเมืองปายตอนเช้า
เริ่มเดินทางโดยขี่ไปที่สี่แยกกลางเมือง ผ่านหน้าโรงเรียนปายวิทยาคาม จากนั้นมุ่งหน้าไปยังสะพานข้ามแม่น้ำปาย ขี่ไปอีกนิดจะพบทางแยกขึ้น อ่างเก็บน้ำแม่เย็น เส้นทางนี้จะมองเห็นทุ่งนาขั้นบันไดเป็นฉากหลัง
จากปากทางอ่างเก็บน้ำจะพบทางแยกเลี้ยวขวา แล้วพบทางเข้าวัดแม่เย็นซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าบนยอดเขา
จากบนวัดสามารถชมวิวที่ราบลุ่มเมืองปายได้ จากนั้นเส้นทางจะนำเข้าสู่ หมู่บ้านแม่ฮี้
ปั่นต่อไปเป็นหมู่บ้านโป่งไหม้ ที่แห่งนี้มีช้างให้ขี่ท่องเที่ยวในป่า จากหมู่บ้านนี้ไปอีกหน่อยก็ถึง ปากทางเข้าน้ำพุร้อนท่าปาย เป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติจำนวน 3-5 บ่อ มีที่อาบน้ำแร่เล็กๆ แยกห้องชายหญิง
เมื่อขี่จักรยานไปถึงแล้วจะแวะอาบน้ำแร่ หรือใช้เป็นที่พักผ่อนพิคนิคก็ได้
ถึงแม้จะเป็นเมืองที่เงียบสงบ แต่บรรยากาศในยามค่ำคืนของที่นี่ ก็ดูคึกคักและมีสีสันไปด้วยสินค้าพื้นเมืองที่วางขายบนถนนคนเดิน และร้านอาหารสไตล์คันทรี นอกจากนี้ยังมีร้านขายโพสการ์ดเท่ๆ
อยู่หลายร้านให้ได้เลือกซื้อเลือกชมกัน
ยามเช้าก่อนที่เราจะเดินทางต่อ เราแวะกินโจ๊กที่ตลาดเช้าเมืองปาย ซึ่งเป็นตลาดเล็กๆ
ที่มีชาวบ้านออกมาขายของ ทั้งอาหาร กาแฟ และของพื้นบ้าน เป็นอีกเสน่ห์ที่สดใสของ อ. ปาย ที่ใครได้ผ่านมาแล้วคงไม่อยากจะผ่านเลยไปเฉยๆ แน่นอน
ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สนับสนุนการเดินทาง
พิกัด จีพีเอส
(01) N19.30272 E97.96521
(02) N19.42488 E97.98622
(03) N19.56945 E98.27960
(04) N19.51740 E98.26126
(05) N19.36850 E98.44115
(06) N18.26254 E99.46329
การเดินทาง
รถยนต์ ทางหลวงหมายเลข 108 ตัดจาก จ. เชียงใหม่ ผ่าน อ. หางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด
แม่สะเรียง แม่ลาน้อย และขุนยวม ถึง อ. เมืองแม่ฮ่องสอน รวมระยะทางประมาณ 349 กม.
เส้นทางสายนี้เป็นทางตัดขึ้นเขาสูง มีความสวยงามและคดเคี้ยวถึง 1,864 โค้ง
ปัจจุบันมีถนนจาก จ. เชียงใหม่ ถึงแม่ฮ่องสอน เพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง คือ ทางหลวงหมายเลข 1095
หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า เส้นทางสายแม่มาลัย-ปาย ตัดจาก อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ ถึง อ. ปาย จ. แม่ฮ่องสอน เหลือระยะทางเพียง 245 กม. แต่เส้นทางโหดกว่าและหากนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางจาก จ. ตาก ไปยัง จ. แม่ฮ่องสอน โดยไม่แวะเข้า จ. เชียงใหม่ ก็สามารถเดินทางได้ตามทางหลวงหมายเลข 105 ผ่าน อ. แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง ถึง อ. แม่สะเรียง ระยะทางประมาณ 300 กม. เป็นทางราดยาง
รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพ ฯ
มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศของบริษัทเอกชนออกจากสถานี
ขนส่งสายเหนือหมอชิต 2 ถ. กำแพงเพชร ทุกวันๆ ละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (053) 613-211 สำนักงานกรุงเทพ ฯ โทรศัพท์
0-2936-2498-9
จากเชียงใหม่ มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศวิ่งบริการ 2 เส้นทาง คือ
สายเชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน สายเชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดติดต่อ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (053) 611-318
สำนักงานเชียงใหม่ โทรศัพท์ (053) 244-737, 304-748
เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีบริการเที่ยวบินกรุงเทพ ฯ-เชียงใหม่-
แม่ฮ่องสอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiairways.com
บริษัท นกแอร์ จำกัด มีเที่ยวบินระหว่างเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
www.nokair.com
ที่พัก ที่กิน
ที่พัก
PAI LANNA RESORT & RESTAURANT
ที่ตั้ง อ. ปาย
บรรยากาศ ห้องพักสะอาด ในบรรยากาศสดชื่น รู้สึกถึงความใกล้ชิดธรรมชาติ
ราคา 600-800 บาท/คืน
ติดต่อ 08-9691-3367
ที่กิน
เรื่องอาหารการกิน มีให้เลือกมากมายหลายชนิด
ในที่นี้จะยกตัวอย่างอาหารซึ่งเป็นที่นิยมและหาซื้อได้ไม่ยาก ได้แก่ ข้าวส้ม คือ
ข้าวสวยคลุกเคล้ากับขมิ้น หรือมะเขือเทศ ที่มีมากในฤดูร้อน และกระเทียมเจียว ปั้นเป็นแผ่นกลมแบน
นิยมกินกับยำถั่วแขกและพริกทอด
ข้าวเหลือง คือ ข้าวเหนียวคลุกขมิ้นปั้นเป็นก้อนกลม โรยหอมเจียว นิยมกินกับชิ้นลุง
ซึ่งเป็นหมูสับหยาบๆ ปั้นเป็นก้อนกลมผัดกับน้ำมัน หอมกลิ่นขมิ้นและตะไคร้
ข้าวจิ้น คือ ข้าวสวยคลุกเลือดหมูห่อใบตองนึ่ง โรยกระเทียมเจียว กินกับพริกทอด
และมักขายคู่กับขนมจีนน้ำเงี้ยว
ข่างปอง ขายอยู่ทั่วไปในตลาด ทำจากผักหลายชนิดคลุกเคล้ากับน้ำพริกที่ปรุงด้วยกะปิ ตะไคร้
พริกป่น และเกลือ แล้วชุบแป้งทอดกรอบ
ขนมอาละหว่า ทำจากแป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาลอ้อย กวนให้สุกเหนียว ใส่ถาดสง แล้วนำไปผิงหน้า
ให้เป็นสีน้ำตาลคล้ายขนมหม้อแกง
เปงม้ง มีส่วนผสมคล้ายขนมอาละหว่า แต่ต้องหมักแป้งกับผงฟูเสียก่อน เมื่อสุกจะเนื้อนุ่มฟูน่ากิน
ส่วยทะมิน ทำจากข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อย และกะทิ
ถั่วแปยี และถั่วแปหล่อ รสชาติคล้ายถั่วเหลืองมันๆ ที่แขกขาย แต่เมล็ดใหญ่กว่ามาก แปยี คือ
ถั่วที่แกะเปลือกแล้วทอดจนเหลืองกรอบ ส่วนแปหล่อนั้นคั่วกับเกลือทั้งเปลือกมีรสเค็มๆ มันๆ
ข้าวซอยตัด ทำจากข้าวเส้นซอยทอดคลุกน้ำตาล ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ
งาโบ๋ ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวและยืดเป็นเส้นยาวแบบเดียวกับตังเม แล้วคลุกงา และแปโหย่
เป็นขนมคล้ายถั่วตัดแต่ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี
อาหารพื้นบ้านเหล่านี้เหมาะจะซื้อไปฝากเป็นของกินเล่น มีวางขายทั่วไปตามย่านตลาด เช่น ตลาด อ.
เมือง ตลาด อ. ปาย ตลาด อ. ขุนยวม และตลาด อ. แม่สะเรียง
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร
ภาพโดย : ธีรวิทย์ โตจันทร์, ศิธา เธียรถาวรนิตยสาร 417 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2550
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)