วิถีตลาดรถ
ทำได้สวย เป็นเดือนที่ 2
ผู้จำหน่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ยังคงเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากผลประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ในปีนี้ ถึงแม้ว่าผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลอยู่บ้างในเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีอัตราสูงสุดในรอบ 20 เดือน
แต่จากการที่บริษัทรถยนต์ ต่างโหมกระหน่ำแคมเปญส่งเสริมการขายกันอย่างหนักหน่วงในเดือนกุมภาพันธ์ และกระแสตอบรับของรถยนต์นั่ง ที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ อี 20 ซึ่งส่งผลให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ปรับตัวลดลง เป็นปัจจัยหนุนให้ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ ยังคงเดินหน้าปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจำหน่ายรถยนต์รวมทุกประเภท เดือนที่ 2 ของปีอยู่ที่ 49,248 คัน สูงขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วถึง 12.9 %
โตโยตา ยังคงนำเป็นจ่าฝูงสำหรับรถยนต์ที่เป็นทางเลือกอันดับ 1 ของผู้ต้องการใช้รถยนต์รุ่นใหม่เหมือนที่เคยเป็นมาโดยตลอด ในเดือนกุมภาพันธ์ โตโยตา ได้ยอดจำหน่ายจากรถยนต์ทุกรุ่นทุกแบบไป 20,851 คัน มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 42.3 % จำหน่ายได้มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 18.1 %
ยอดจำหน่ายที่ถีบตัวสูงขึ้นของ โตโยตา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก โตโยตา อัลทิส ใหม่ ขณะที่อันดับ 2 อีซูซุ เป็นอีกหนึ่งบแรนด์ที่มียอดจำหน่ายรถยนต์เกินกว่า 10,000 คัน โดยที่ อีซูซุ ทำยอดจำหน่ายได้ 10,941 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 22.2 % สูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 7.6 % และสำหรับ ฮอนดา ที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในค่ายสะดุดลงไปบ้างในเดือนสองเดือนที่ผ่านมา กลับมาเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง หลังจากที่มีการประกาศราคาจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่เป็นผลมาจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อี 20 ฮอนดา จำหน่ายรถยนต์โมเดลต่างๆ ได้รวมกัน 6,704 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 13.6 % สูงกว่าปีที่แล้ว 30.4 %
อันดับที่ 4 และ 5 ทำยอดจำหน่ายเบียดกันมาอย่างสูสี แต่สุดท้ายเป็น มิตซูบิชิ ที่เข้าเส้นมาในอันดับที่ 4 จากยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 2,458 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 5.0 % เฉือน นิสสัน ที่ตามเข้ามาเพียง 30 คัน นิสสัน มียอดจำหน่ายรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2,428 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 4.9 % แต่มีความแตกต่างจากรถยนต์ที่จำหน่ายขายดีที่สุด 5 อันดับแรกของเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ โตโยตา อีซูซุ ฮอนดา และมิตซูบิชิ มียอดจำหน่ายที่เติบโตสูงขึ้นกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว นิสสัน กลับมียอดจำหน่ายที่ลดลง โดยลดลงไปถึง 31.5 % เมื่อเทียบกับกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา
เดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 50 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เนื่องมาจากการมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดของ โตโยตา รวมไปถึงอีกหลายบแรนด์ที่ได้ปรับปรุงรถยนต์นั่งในสังกัดของตน ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ยอดจำหน่ายรวมของรถยนต์นั่ง เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 16,237 คัน เป็นการปรับตัวที่สูงขึ้นถึง 48.9 % จากเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 ที่ผ่านมา 5 อันดับแรกล้วนแล้วแต่มียอดจำหน่ายที่สูงมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วทั้งสิ้น
อันดับ 1 ของตลาดกลับมาเป็นของ โตโยตา เหมือนเดิมแล้ว หลังจากที่เดือนมกราคม พลาดท่าเสียทีหล่นจากบัลลังก์แชมพ์ เสียตำแหน่งให้กับ ฮอนดา ไป พอมาถึงเดือนนี้ โตโยตา อัลทิส ใหม่ เปิดตัวไปเรียบร้อย ส่งผลให้ โตโยตา กลับคืนสู่หอคอยงาช้างเหมือนเดิม
อันดับที่ 3 ถึง 5 เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โตโยตา มียอดจำหน่ายรถเก๋งทั้งสิ้น 8,463 คัน มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 52.1 % ส่วน ฮอนดา ก็กลับไปอยู่ในตำแหน่งที่เคยอยู่ คือ อันดับที่ 2 ได้มาจากยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 5,758 คัน ส่วนแบ่งตลาด 35.5 % อันดับที่ 3 เป็น เชฟโรเลต์ 623 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.8 % อันดับที่ 4 นิสสัน 475 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.9 % และอันดับที่ 5 เมร์เซเดส-เบนซ์ 360 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.2 %
ในบรรดารถยนต์นั่งด้วยกันแล้ว บแรนด์ที่มียอดจำหน่ายหดหายไปมากที่สุดเป็นของ มิตซูบิชิ จากที่เคยจำหน่ายได้ 140 คัน ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จำหน่ายไปได้เพียง 10 คันเท่านั้น หดหายไปถึง 130 คัน ซึ่งถือเป็นการบ้านข้อใหญ่สำหรับบอสส์ มิตซูบิชิ ว่าการจับ แลนเซอร์ มาปรับโฉมครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เพียงพอสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศไทย สมควรจะเดินหน้าเคลียร์พื้นที่ให้กับ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ใหม่ ที่ในประเทศแม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปหลายเดือนแล้วเสียที
ตลาดรถยนต์ประเภทรถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ออกอาการแผ่วเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 เดือนนี้ปีนี้มียอดจำหน่ายรวมกันที่ 24,231 คัน มียอดจำหน่ายลดลง 1.0 % จากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านไป ยังมียอดจำหน่ายที่เติบโตสูงขึ้น
เป็นเดือนที่ 2 ที่ อีซูซุ ทำผลงานได้อย่างสุดยอด รักษาตำแหน่งแชมพ์ยอดจำหน่ายรถพิคอัพประจำเดือนได้อย่างต่อเนื่อง เดือนที่ 2 ของปีนี้ อีซูซุ ทำยอดจำหน่าย ดี-แมกซ์ ได้ 9,336 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 38.5 % ปล่อยให้ โตโยตา อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นเดือนที่ 2 เดือนนี้ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก มียอดจำหน่ายที่ 8,593 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 35.5 % ส่วนอันดับที่ 3 มิตซูบิชิ ทไรทัน ทำได้ดีอีกแล้ว แซง นิสสัน ขึ้นมาด้วยยอดจำหน่าย 2,078 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 8.6 % ขณะที่ นิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา ฮึดไม่ขึ้น หล่นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ทำยอดจำหน่ายได้ 1,651 คัน และอันดับที่ 5 เป็นของ เชฟโรเลต์ 1,374 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.7 %
ตลาดนี้น่าสนใจที่ อีซูซุ จะเปิดตัว ดี-แมกซ์ รุ่นใหม่ ในเดือนมีนาคม ขณะที่ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก ยังเก็บตัวนิ่ง จะมีก็แต่แคมเปญส่งเสริมการขายพิเศษ ทำให้คาดว่าในไตรมาสแรกนี้ ตำแหน่งแชมพ์พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ไม่น่าพ้น อีซูซุ
ส่วนในประเภทพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ โดนผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของความต้องการรถพิคอัพเพื่อใช้งาน ในเดือนนี้ด้วยเช่นกัน โดยมียอดจำหน่ายที่ลดลง 11.4 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 1,630 คัน โตโยตา ไม่ยอมเสียหน้าด้วย 64.0 % ของตลาดเป็นของ โตโยตา จากยอดจำหน่าย 1,043 คัน และเป็นเพียงยี่ห้อเดียวที่จำหน่ายได้เกินหลักพันคัน อันดับที่ 2 เป็นของ อีซูซุ มีส่วนแบ่งตลาด 19.3 % จำหน่ายไปได้ 314 คัน อันดับที่ 3 เป็น นิสสัน จำหน่ายได้ 125 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.7 % อันดับที่ 4 เป็นของ มิตซูบิชิ 89 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.5 % และฟอร์ด อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยยอดจำหน่าย 44 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 2.7
สำหรับตลาดรถเอสยูวี เดือนนี้เครื่องเริ่มร้อน ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนที่แล้วรวมไปถึงเดือนเดียวกันนี้ของปี 2550 ด้วย ยอดจำหน่ายของรถยนต์สำหรับคนวัยมันเดือนกุมภาพันธ์ จบลงที่ 3,220 คัน เติบโตสูงขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 ถึง 23.9 % ส่วนเอสยูวียอดนิยมยังคงเป็นเหมือนกับเดือนที่ผ่านมา ตำแหน่งแชมพ์ผูกขาดทั้งรายเดือน รายปี ยังคงเป็น โตโยตา ขาประจำเจ้าเก่า เดือนนี้ทำยอดจำหน่ายได้ 1,335 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 41.5 % ขณะที่ ฮอนดา ยังคงรักษารูปมวยจำหน่ายเฉลี่ยตกอยู่เดือนละประมาณ 900 ยืนหยัดอยู่ในอันดับที่ 2 ได้อย่างใจเย็น ไม่มีใครมาหายใจรดต้นคอเหมือนที่เคยเป็นในช่วง เชฟโรเลต์ แคพทีวา เปิดตัวใหม่ๆ
เดือนกุมภาพันธ์ ฮอนดา ซีอาร์-วี จำหน่ายไปทั้งสิ้น 946 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 29.4 % ส่วน อีซูซุ ก็ยังคงรักษาอันดับที่ 3 ได้เช่นกันจากยอดจำหน่ายทั้งสิ้น 531 คัน ในเดือนกุมภาพันธ์มีส่วนแบ่งตลาด 16.5 % ด้าน เชฟโรเลต์ แคพทีวา อยู่ในอันดับ 4 ด้วยยอด 243 คัน ฟอร์ด เอสเคพ และเอเวอเรสต์ ก็ยังเหนียวแน่นกับอันดับที่ 5 จำหน่ายรวมกันได้ 78 คัน
ตลาดรถเอมพีวี ยิ่งนานวันยิ่งจะหดหายลงไปเรื่อยๆ จาก 600 กว่าคันในเดือนมกราคมที่ผ่านไป ลดลงมาเหลือ 573 คัน ในเดือนกุมภาพันธ์ บรรดารถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ที่มีโมเดลจำหน่ายอยู่ในตลาดนี้ ต่างพากันกอดคอทำยอดจำหน่ายติดลบจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วเกือบถ้วนหน้า เหลือเพียง มิตซูบิชิ สเปศ แวกอน รุ่นเดียว ที่มียอดจำหน่ายเติบโตสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด
อันดับ 1 ยังคงเป็น โตโยตา มียอดจำหน่ายเดือนนี้ที่ 391 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 68.2 % อันดับ 2 เป็น มิตซูบิชิ 147 คัน ส่วนแบ่งตลาด 25.7 % อันดับที่ 3 และ 4 เป็นของค่ายรถยนต์จากเกาหลี คือ เกีย และซังยง มียอดจำหน่ายที่ 14 และ 9 คัน ตามลำดับ ส่วน ซูซูกิ มียอดจำหน่ายที่ 9 คัน เท่ากับ ซังยง ตลาดนี้จำหน่ายรวมกัน 573 คัน ติดลบไป 17.2 % จากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
เดือนหน้า มีนาคม ถือเป็นช่วงไฮ-ซีซัน ของการจำหน่ายรถยนต์ในบ้านเราในช่วงครึ่งปีแรก เพราะมีงานมอเตอร์โชว์ ที่จัดในช่วงปลายเดือนคาบเกี่ยวถึงต้นเดือนเมษายนเป็นตัวกระตุ้น หลายค่ายถือโอกาสใช้เวทีนี้เป็นที่เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ แถมปีนี้ถือเป็นการเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในตลาดรถยนต์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ทาทา จากประเทศอินเดีย ที่เลือกตลาดรถพิคอัพ เป็นตลาดแจ้งเกิด ซึ่งจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ อนาคตมีคำตอบให้
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถ