เล่นท้ายเล่ม
เป็นอยู่คือ
เมื่อครั้งข้าพเจ้าไปร่วมงานกับกองทัพอากาศ เพื่อดำเนินรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ข้าพเจ้ามีเพื่อนร่วมงานหลายท่าน โดยเฉพาะรองศาสตราจารย์ประทีป ชุมพล จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและ จีรเดช ดิสกะประกาย สถาปนิก
โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของกองทัพอากาศ ชื่อ เอเอฟซี (AFC: AIR FORCE CHANNEL) มีรายการที่ผลิตโดยบุคคลภายนอก ผลิตรายการตาวัตถุประสงค์ของสถานี ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับของกองทัพ
ข้าพเจ้ามีสถานภาพเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่ง ทางด้านสื่อสารมวลชน และมีความสนิทสนมกับ รศ. ประทีป และ จีรเดช ทั้ง 2 ท่าน มีแนวความคิดในเชิงสร้างสรรค์ และต้องการผลิตรายการสักหนึ่งรายการ ให้ชื่อว่า รายการ เป็นอยู่คือ
รายการ เป็นอยู่คือ ก็หมายถึง เป็นคนไทย อยู่อย่างไทย คือ คนไทย
เป้าหมายที่เราทั้ง 3 คน วาดภาพขึ้นไว้ คือ รักษาวิถีชีวิตความเป็นคนไทย ส่งสัญญาณไปยังท่านผู้รับชมว่า ความเป็นคนไทย คือ อย่างไร การอยู่อย่างไทย คือ อะไร และคนไทยควรเป็นคนอย่างไร
เหตุที่เราอ้างกันขึ้นมาเป็นเพราะ ปัจจุบันนี้ คนไทยที่เป็นไทย มีวิถีชีวิตแบบไทย ชักจะหายากขึ้นทุกวัน ส่วนมากก็ถูกอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามาแทรกแซง จนทำให้วิถีชีวิตความเป็นคนไทยมลายหายไปสิ้น
อันที่จริง ต่างชาติก็เข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตคนไทยมาแต่เนิ่นนานแล้ว หากเราไม่ช่วยกันรักษาไว้เตือนสติให้สำนึกถึงภูมิปัญญาไทย ไม่ช้าก็คงกล่าวคำสวัสดีกันโดยไม่ต้องพนมมือไหว้
รศ. ประทีป ชุมพล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของวิถีชีวิตแบบไทย เป็นผู้มีความรู้ และเป็นหลักสำคัญของการทำรายการนี้
ท่านเคยเขียนหนังสือ และเขียนนิยายแบบเชิงวิชาการ นอกเหนือไปจากการทำรายงานการวิจัย
งานวิจัยล่าสุดของท่าน คือ งานวิจัยเรื่อง เวชศาสตร์ฉบับหลวงกับการบูรณาการการแพทย์แผนไทย ศึกษากรณีในเขตกรุงเทพมหานคร
งานวิจัยดังกล่าว ท่านอ้างว่า เป็นอีกเรื่องย่อยของโครงการ การผสมผสานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น: ความสำเร็จด้านภูมิปัญญาของชาวกรุงเทพ ฯ และได้รับทุนอุดหนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีงบประมาณพุทธศักราช 2547
คนที่ได้อ่านงานวิจัยนี้ จะพบว่า ภูมิปัญญาคนไทยนั้นวิเศษ และเหนือชั้นกว่าต่างประเทศโดยเฉพาะการแพทย์แผนไทย ที่คนไทยเรามีภูมิปัญญามาก่อนชาวตะวันตก
กระนั้นก็ตาม ประเทศไทยนับแต่กรุงเทพมหานครได้รับการสถาปนาเป็นพระนครหลวง เมื่อปี2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมวงศ์กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี งานทางด้านสาธารณสุข น่าจะเป็นงานที่โดดเด่น และล้ำสมัยอย่างยิ่ง
ว่ากันตามความเป็นจริง หน่วยงานสาธารณสุขของไทยเรานั้น เริ่มมีมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้ตั้งหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขขึ้น รวม 7 กรม ในปี 1998
7 กรม ดังกล่าว ประกอบด้วย กรมแพทยา ทำหน้าที่บริหารงานทั่วไป ทางการสุขภาพชุมชนทั้งทางฝ่ายทหาร และพลเรือน
กรมหมอ บริหารรับผิดชอบในด้านบุคลากรทางด้านการแพทย์
กรมหมอกุมาร รับผิดชอบในด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพของมารดาและทารก
กรมหมอนวด รับผิดชอบในด้านการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของชุมชน ซึ่งการนวดในการแพทย์แผนไทยนั้น ถือว่าเป็นการรักษาพยาบาลในเบื้องต้น โดยใช้การนวดเป็นการบำบัด ไม่ต้องอาศัยยารับประทาน กรมนี้ถือเป็นกรมใหญ่โต มีบุคลากรมากมาย เป็นหน่วยงานขนาดใหญ่
กรมหมอยาตา รับผิดชอบเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากดวงตาเป็นการเฉพาะ
กรมหมอวรรณโรค (เขียนตามภาษาที่ใช้สมัยนั้น) เป็นหน่วยงานที่บำบัดรักษาโรค อันเกิดจากผิวหนัง เช่น บาดแผล เป็นต้น
กรมโรงพระโอสถ เป็นหน่วยงานเก็บรักษา และบริหารงานเกี่ยวกับ สมุนไพร ทั้งสด และแห้ง ซึ่งนำมาผลิตเป็นยาสมุนไพร และทำหน้าที่เป็นเซนเตอร์ควบคุมดูแลงานทั้งหมด ที่เกี่ยวกับงานทางด้านสาธารณสุข
ไม่น่าเชื่อครับว่า สยามประเทศของเราตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น มีการบริหารเพื่อคนในชาติอย่างครบถ้วนถึงเพียงนี้
ยิ่งกว่านี้ ในด้านวิชาการก็ยังปรากฏหลักฐานอันเชื่อได้ว่า คนไทยมีวิถีชีวิตความเป็นคนไทยสูงกว่าที่คาดคิด
ชาวสยามมีวรรณกรรมทางการแพทย์อันสำคัญ เช่น ประถมจินดา อันเป็นหนังสือทางวิชาการที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของแม่และเด็ก
หรือหนังสือ ชื่อ ตำราแผนนวด ให้ความรอบรู้เกี่ยวกับการนวด และการจับเส้น ตามร่างกายอย่างถูกต้อง
มหาโชตรัต เป็นหนังสือวิชาการที่ให้ความรู้เรื่องของโรคที่เกี่ยวกับสตรีเพศ
หรือหนังสือ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นตำรายาที่แพทย์แต่งขึ้นถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประกอบด้วยคณะแพทย์สยามจำนวน 5 ท่าน แพทย์ฝรั่งอีก 2 ท่าน แพทย์จีน 1 ท่าน และแพทย์อินเดียอีก 1 ท่าน
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวของสยามประเทศสมัยอยุธยาตอนต้น ครั้นย้ายพระนครหลวงมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ทรงเริ่มตั้งตำรายาขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดพระเชตุพน ฯ (วัดโพธิ์) โดยจารึกไว้บนศิลา
ห้วงเวลานั้น การเขียนตำรายาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การเขียนบนศิลา และการเขียนบนสมุดไทย
ตำรายาบนศิลา ได้แก่ จารึกตำรายาวัดราชโอรสาราม ฯ และจารึกตำรายาวัดพระเชตุพน ฯ ซึ่งจารึกเมื่อปี 2375 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ และได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลาจารึกตำรายาสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
ส่วนตำรายาบนสมุดไทย เริ่มจาก ตำราพระโอสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระขึ้นในปี 2355 โดย พระพงศ์อมรินทร์ (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เป็นหัวหน้างาน
ตำราสรรพคุณยา ได้รับการนิพนธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้านวม ต้นสกุลวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นงานพัฒนาจากงานนิพนธ์ครั้งแรก
ตำรายาพิเศษ เป็นบทพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ปี 2407 โดยพระองค์มิได้เป็นแพทย์ แต่เป็นผู้ทรงรวบรวมความรู้ทางยาจากบรรดาผู้รู้ทางยา
เวชศาสตร์ฉบับหลวง น่าจะเป็นตำรายาบนสมุดไทยที่สำคัญที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2413 อันเป็นห้วงเวลาที่กระแสรุนแรงของการแพทย์แผนตะวันตก บวกกับการตกต่ำของการแพทย์แผนไทย ในตำรายาเล่มนี้ประกอบด้วย 12 คัมภีร์
บางคัมภีร์ได้ถูกนำมาสอนในโรงเรียนแพทยากร ในศิริราชพยาบาล ตั้งแต่ปี 2432
เวชศาสตร์ฉบับหลวง นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าด้านการแพทย์แผนไทย และได้รับการปรับปรุง บูรณาการเป็นตำราทางการแพทย์ไทย จัดพิมพ์เผยแพร่มากที่สุด
รายการ เป็นอยู่คือ ที่เราทั้ง 3 คน ร่วมกันจัดสร้างขึ้น มิได้ทันสำเร็จเป็นรูปธรรม และจำเป็นต้อง
พ้นจากกิจการโทรทัศน์ของกองทัพอากาศเสียก่อนครับ
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม