วิถีตลาดรถ
ไตรมาสแรก ตลาดโตต่อเนื่อง 16.3 %
พลังงานน้ำมัน E20 กลายเป็นยาปฏิชีวนะชั้นดี ที่กระตุ้นให้ตลาดรถในประเทศ เดินหน้าโกยยอดจำหน่าย
ต่อไปอย่างเพลิดเพลิน ถึงแม้ปัญหาราคาน้ำมัน จะเป็นตัวถ่วงการตัดสินใจซื้ออยู่บ้าง แต่ปัจจัยลบก็
ไม่สามารถต้านปัจจัยบวกที่เกิดจากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และการเสนอแคมเปญพิเศษของ
บริษัทรถยนต์ต่างๆ ที่เย้ายวนใจผู้บริโภค จนทำให้ยอดจำหน่ายรถในประเทศถีบตัวสูงขึ้น มีตัวเลขที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เกือบทุกตลาด
ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทุกประเภทในเดือนมีนาคม ปี 2551 อยู่ที่ 66,107 คัน สูงกว่าเดือนมีนาคมของ
ปีที่แล้วถึง 18.0 % โดย 5 อันดับแรกของรถขายดีที่สุด ยังคงเป็นรถญี่ปุ่นทั้งสิ้น และส่วนใหญ่มี
ยอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมปีที่แล้วด้วย
โตโยตา ยังคงมาเป็นอันดับ 1 เหมือนเคย และมียอดจำหน่ายที่สูงกว่าเดือนมีนาคมปีที่แล้วมากที่สุด
เนื่องจากเป็นช่วงเดินยอดของ โตโยตา อัลทิส ใหม่ เดือนมีนาคม 2551 โตโยตา มียอดจำหน่ายรถทุก
โมเดลทุกประเภทที่ 28,492 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 25.0 % และมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 43.1 % ส่วนยักษ์ใหญ่
เบอร์ 2 ของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย อีซูซุ ก็ยังมียอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เดือนมีนาคม อีซูซุ มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 14,654 คัน สูงกว่าเดือนมีนาคมปีก่อนนี้ 5.3 % รับส่วนแบ่งตลาดไป 22.2 %
ฮอนดา อยู่ในอันดับที่ 3 ของตาราง ฮอนดา แอคคอร์ด ใหม่ นับวันก็จะโดนใจผู้ใช้รถมากขึ้น ด้วยรูปทรง
ที่ทันสมัย แทบจะไม่ต้องไปแต่งเติมอะไร ก็สะดุดตาแล้ว เดือนมีนาคม ขบวนรถ ฮอนดา ถูกถอยออกจากโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 8,660 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่มีการปรับตัวสูงที่สุดในบรรดารถที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 5 อันดับแรก เติบโตสูงขึ้นถึง 47.5 % โดยที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ 13.1 % ขณะที่ นิสสัน เป็นเพียงหนึ่งเดียวใน 5 อันดับรถที่จำหน่ายขายดีที่สุดในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้ว มียอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดน้อยลง โดยที่เดือนมีนาคมปีนี้ นิสสัน จำหน่ายได้ 3,989 คัน ปีที่แล้วจำหน่ายได้ 4,258 คัน ติดลบไป 269 คัน ไม่มากไม่น้อยเท่าไร เดี๋ยวกระบะตอนเดียวออกจำหน่ายก็มีสิทธิ์ที่จะตีตื้นกลับมาได้ นิสสัน มีส่วนแบ่งตลาดในเดือนมีนาคม 6.0 % ส่วนอันดับสุดท้ายของ 5 อันดับรถขายดีในเดือนมีนาคม ได้แก่ มิตซูบิชิ ที่ประกาศล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้วว่า รถรุ่นใหม่มีออกมาสร้างความฮือฮาแน่นอน แต่ตอนนี้จับรถที่มีอยู่เดิม เขียนคิ้วทาปากไปพลางๆ ก่อน มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 3,483 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 8.2 % และได้ส่วนแบ่งตลาดไป 5.3 %
ตลาดที่มีการขยายตัวสูงที่สุดในเดือนมีนาคม ได้แก่ ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เป็นตลาดที่มีการ
เคลื่อนไหวอย่างคึกคักต่อเนื่องมาจากช่วงต้นปี น่าจะถือว่าเป็นปีทองของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอีกปีหนึ่ง
ก็ว่าได้ นอกจากจะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ของค่ายรถยนต์ระดับหัวแถวอย่าง โตโยตา ฮอนดา
แล้วยังมียี่ห้อใหม่เข้าคิวขอแจ้งเกิดอีกด้วยเช่นกัน ยอดจำหน่ายรถนั่งส่วนบุคคล เดือนมีนาคม
ทุกบแรนด์จำหน่ายรวมกันได้ 20,201 คัน สูงขึ้นจากเดือนมีนาคมปีที่แล้วถึง 42.1 %
ภาพโดยรวมของตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด 5 อันดับแรกมีการเติบโตสูงกว่าเดือนมีนาคมปีที่แล้วทั้งสิ้น และยังคงอันดับเดิมจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อันดับ 1 โตโยตาเรื่องจะพลาดท่าเสียทีให้กับเบอร์ 2 ของตลาด คงเป็นไปได้ยากเสียแล้ว นอกเสียจาก ฮอนดา แจซซ์ ใหม่ ที่จะทยอยส่งถึงมือผู้สั่งจองไว้ในเดือนพฤษภาคม จะเปรี้ยวจี๊ดโดนใจวัยศึกษา หรือผู้ที่เริ่มต้นการทำงาน หรือใช้ชีวิตคู่อย่างเป็นทางการแบบถล่มทลาย ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเต็มทนเหมือนกัน เพราะ ยารีส ของ โตโยตา ก็ยังมีความต้องการสูงอยู่ รถเก๋งของ โตโยตา ทุกรุ่น จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 9,973 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 49.4 % ขณะที่เบอร์ 2 ของตลาดรถเก๋ง ฮอนดา จำหน่ายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป และสูงกว่าเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ด้วยยอดจำหน่าย 7,271 คัน โตขึ้น 45.9 % รับส่วนแบ่งตลาดไป 36.0 % อันดับ 3 เป็นของ เชฟโรเลต์ ที่จุดประเด็นความเป็นหนึ่งในรถที่ให้ทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนลำดับต้นๆ ด้วยการนำเสนอ เชฟโรเลต์ ออพทรา ที่ติดตั้งระบบซีเอนจี จากโรงงาน เดือนมีนาคมทำยอดจำหน่ายเกือบทะลุหลักพันคันเหมือนกัน โดยจำหน่ายได้ 980 คัน เพิ่มขึ้น 64.7 % ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 4.9 % อันดับ 4 เป็นของ นิสสัน เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีการเติบโตสูงมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง เมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ในเดือนนี้ นิสสัน จำหน่ายรถเก๋ง 753 คัน เพิ่มขึ้นถึง 184.2 % มีส่วนแบ่งตลาด 3.7 % และอันดับ 5 ยังประคองตัวได้อย่างเหนียวแน่น สำหรับ เมร์เซเดส-เบนซ์ จำหน่ายได้ 399 คัน เพิ่มขึ้น 59.0 % และได้ส่วนแบ่งตลาด 2.0 %
ส่วนตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ เดือนมีนาคมมียอดจำหน่ายสูงที่สุด เมื่อไล่เรียงตั้งแต่
เดือนมกราคม เป็นต้นมา มียอดจำหน่าย 34,591 คัน สูงกว่าเดือนมีนาคมปี 2550 ถึง 7.3 %
ในจำนวน 7 บแรนด์ที่นำพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ออกจำหน่ายในประเทศไทย เกือบจะครึ่งต่อครึ่ง
มียอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ได้แก่ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก อีซูซุ ดี-แมกซ์
มิตซูบิชิ ทไรทัน และมาซดา บีที-50 ส่วน นิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา เชฟโรเลต์ โคโลราโด และฟอร์ด
เรนเจอร์ มียอดจำหน่ายที่ลดลงเล็กน้อย แต่โดยรวมรถพิคอัพ ยังคงมีความต้องการในการใช้งานเป็น
อันดับ 1 ของตลาดรถเหมือนเดิม
โตโยตา กลับสู่ตำแหน่งแชมพ์รายเดือนอีกวาระหนึ่งด้วยยอดจำหน่าย 13,482 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด
39.0 % ส่งผลให้ อีซูซุ กลับไปอยู่ในตำแหน่งที่ 2 ของตลาดอีกครั้งหนึ่ง เดือนมีนาคม อีซูซุ จำหน่ายได้
12,476 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 36.1 % มิตซูบิชิ ทไรทัน ก็ยังทำได้ดีเช่นกัน หลังจากแซง นิสสัน มาใน
เดือนที่แล้ว ยังรักษาอันดับไว้ได้อีกเดือน แต่เดือนหน้าไม่แน่ เพราะพิคอัพตอนเดียวของ นิสสัน จะมาแล้ว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ยอดจำหน่ายกระเตื้องขึ้น
มิตซูบิชิ จำหน่ายได้ 2,966 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 8.6 % ส่วน นิสสัน อยู่ในอันดับ 4 ด้วยยอดจำหน่าย 2,924 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 8.5 % และอันดับห้า เกือบโดน มาซดา บีที-50 เฉือดไปเหมือนกันสำหรับ เชฟโรเลต์ ทำยอดจำหน่ายได้ 1,008 คัน มากกว่า มาซดา เพียง 10 คันเท่านั้น เชฟโรเลต์ มีส่วนแบ่งตลาด 2.9 % เท่ากับ มาซดา แต่จำหน่ายได้มากกว่า
สำหรับพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ ไม่มีปัญหาสำหรับผู้นำอย่าง โตโยตา เดือนนี้โกยยอดไปอีก 1,362 คัน จากยอดจำหน่ายรวมทั้งหมดของตลาดรถประเภทนี้ 2,138 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งสูงถึง 63.7 % อันดับ 2 เป็นของ อีซูซุ จำหน่ายได้ 445 คัน ส่วนแบ่งตลาด 20.8 % อันดับ 3 เป็น นิสสัน จำหน่ายได้ 126 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.9 % อันดับ 4 เป็นของ มิตซูบิชิ 111 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.2 % และอันดับ 5 ฟอร์ด 70 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาด 3.3 %
อีกตลาดหนึ่งที่มีการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นตลาดรถเอสยูวี เดือนมีนาคม
เติบโตสูงถึง 41.1 % มียอดจำหน่ายรวมที่ 4,299 คัน โดยยี่ห้อที่ยอดจำหน่ายเกินหลักพันคันขึ้นไป คือ
โตโยตา มียอดจำหน่ายที่ 1,428 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 33.2 % โดยที่ ฮอนดา กระโจนมาหายใจ
รดต้นคอ โตโยตา ด้วยยอด 1,389 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 32.3 % ขณะที่ อีซูซุ ยังอยู่ในอันดับ 3
จำหน่ายได้ 926 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 21.5 % อันดับ 4 เชฟโรเลต์ แคพทีวา 370 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.6 % และอันดับ 5 ฟอร์ด จำหน่ายได้ 81 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.9 %
ส่วนรถเอมพีวี เป็นตลาดเดียวที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ยอดจำหน่ายเดือนมีนาคม รวมกันได้ 657 คัน
ติดลบจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 15.7 % ความนิยมในบแรนด์ไล่เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ โตโยตา
433 คัน ส่วนแบ่งตลาด 65.9 % มิตซูบิชิ 161 คัน ส่วนแบ่งตลาด 24.5 % เกีย 27 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.1 % ซูซูกิ 22 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.3 % และซังยง 11 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.7 %
สำหรับเดือนเมษายน ตัวเลขยอดจำหน่ายในแต่ละตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลมา
จากยอดการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่แจ้งยอดออกมาแล้วว่า มียอดจองรถยนต์ภายในงานประมาณหนึ่งหมื่นแปดพันกว่าคัน โดยมีรถยนต์รุ่นใหม่ ยี่ห้อใหม่ ใช้เวทีงานดังกล่าวเปิดตัวรถยนต์ใหม่กันหลายต่อหลายคัน เดือนหน้ามาว่ากันต่อแล้วกัน
สรุป ยอดจำหน่ายรถ ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2551
รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 50,627 คัน เพิ่มขึ้น 42.5 %
รถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ 81,972 คัน เพิ่มขึ้น 5.9 %
รถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ 5,208 คัน เพิ่มขึ้น 3.2 %
รถเอสยูวี 10,455 คัน เพิ่มขึ้น 24.2 %
รถเอมพีวี 1,874 คัน ลดลง15.1 %
รถประเภทอื่นๆ 10,650 คัน เพิ่มขึ้น 10.1 %
รวมรถทุกประเภท 160,786 คัน เพิ่มขึ้น 16.3 %
คงพอจะเห็นเงาของโบนัส แล้วละครับพี่น้อง !
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถ