DIY...คุณทำเองได้
เตรียมตัว เตรียมรถ รับมือภัยธรรมชาติ
ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเพื่อนบ้านของเราประสบภัยธรรมชาติหนักหนาสาหัส ทำให้กลับมาย้อนคิดว่า เราเองก็ควรจะเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่ไม่คาดคิดไว้ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง
เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ ความสูญเสีย ส่วนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อม หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถเตรียมรับมือ และหาทางป้องกันความเสียหายที่ไม่อาจคาดคิด ถึงแม้ว่าคุณเองไม่ได้ประสบปัญหาด้วยตัวเอง แต่เราหวังว่าคุณจะนำสิ่งที่ได้รับจากบทความนี้ ส่งผ่านไปยังญาติ หรือเพื่อนฝูงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง บางพื้นที่ถือว่าเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก หรืออาจเกิดขึ้นบ่อยๆแต่นิสัยคนไทยส่วนใหญ่ คือ ต้องรอจนเกิดปัญหาแล้วค่อยหาทางแก้ อันที่จริงแล้วถ้าเตรียมพร้อมไว้ก่อน เราจะมีแผนรองรับเพื่อความปลอดภัย และลดอัตราความเสียหาย นั่นหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายอีกทาง โดยประเด็นที่เราจะคุยกัน ก็คือ เรื่องของ รถยนต์ ครับ
แม้รถยนต์มีราคาแพง แต่ก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ แถมยังเป็นตัวช่วยขนทรัพย์สินอื่นๆ ของคุณได้อีก แต่ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจกับคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเกิด
ภัยธรรมชาติ รถยนต์ย่อมได้รับความเสียหาย ส่วนจะมากจะน้อยแล้วแต่กรณี
คนเรามักมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องตลก อย่างเวลามีการซ้อมหนีไฟ คนส่วนใหญ่ก็จะเลี่ยงหรือไม่ใส่ใจกับมัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะพบว่ามีการบาดเจ็บล้มตายมากมาย
อาจเหยียบกันเอง หรือตกใจจนไม่รู้ว่าตนเองต้องไปทางไหน การเตรียมพร้อม และซ้อมรับมือเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณและคนในครอบครัวต้องร่วมมือกัน เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
ถ้าถามว่า ควรจะเริ่มอย่างไร ?...ไม่ยากอย่างที่คิดครับ
ศึกษาข้อมูล
แล้วข้อมูลอะไรล่ะที่ต้องศึกษา ? อย่างแรกก็คือ ศึกษาสภาพพื้นที่ในที่ที่คุณอยู่ ว่าเป็นพื้นที่ลุ่มหรือดอน น้ำท่วมถึงหรือไม่ และต้องศึกษาย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมานั้นสถิติของการเกิดอุทกภัยหรือภัยธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ท่วมกี่ปีครั้ง เกิดพายุใหญ่ๆ กี่ปี คุณจะได้รับรู้ว่าพื้นที่บ้านคุณเป็นอย่างไร เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และความเสียหาย หรือไม่ หรือสอบถามจากผู้ที่เคยอยู่มาเป็นเวลานาน หรือหน่วยงานราชการในพื้นที่ ว่าแต่ละปีนั้นมีสถิติน้ำท่วมหรืออุทกภัยเป็นอย่างไร แล้วนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาให้ละเอียด ว่าแต่ละปีนั้นอุทกภัยจะเกิดขึ้นช่วงใดของปี และเกิดขึ้นทุกๆ ปี หรือว่าเกิดขึ้น 2-3 ปีครั้ง เมื่อคุณทราบสถิติแล้วคุณอาจทำเป็นบอร์ดเตือนภัยติดเอาไว้ในบ้านตรงจุดที่เห็นได้ชัด
เมื่อทราบข้อมูลว่าบ้านตนเองนั้นมีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไรแล้ว ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมไปอีกว่าพื้นที่ใกล้เคียง มีบริเวณใดที่น้ำท่วมไม่ถึงบ้าง เพื่อจะได้วางแผนเส้นทางอพยพ อาจจะฟังดูรุนแรงนะครับ แต่จริงๆ คำว่า อพยพ นี่แหละ ที่จะช่วยให้คุณปลอดภัยมากขึ้น
เมื่อทราบว่าพื้นที่ใกล้เคียงเป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้สำรวจเส้นทางว่าห่างจากบ้านของคุณไปทางทิศใด ระยะทางเท่าไร ใช้เวลาเดินทางกี่นาที แล้วลองดูว่ามีบ้านของญาติๆ หรือคนรู้จักบ้างหรือไม่ เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะได้มาขออาศัยหลบภัย
การวางแผนที่หมายถึงในการหลบภัย ถือว่าสำคัญมาก เพราะคุณจะทราบระยะทางและเวลาที่แน่นอนในการเดินทาง แล้วอาจทำเป็นบอร์ดอีกแผ่น ติดฝาบ้านเอาไว้ ว่าที่หลบภัยของเราอยู่ที่ไหน เช่น ระยะห่างของบ้านญาติกับบ้านคุณนั้นห่างกัน 15 กม. ใช้เวลาเดินทาง23-30 นาที คนในบ้านจะได้รับรู้ และควรจะหาที่หลบภัยสัก 2 แห่ง เป็นอย่างน้อยและควรจะอยู่คนละด้าน บ้านแห่งแรกอยู่ทิศเหนือ แห่งที่ 2 อยู่ทิศใต้ เผื่อกรณีเส้นทางถูกตัดขาด หรือไม่ปลอดภัย จะได้เปลี่ยนใช้แห่งที่ 2 แทน
สิ่งสำคัญก็คือ ต้องหมั่นฟังประกาศเตือนจากทางการ เมื่อเราทราบว่ากำลังจะมีพายุใหญ่เข้ามาจะได้เตรียมพร้อมทัน ซึ่งต้องติดตามต่อไปอีกว่า พายุลูกนั้นจะรุนแรง หรือเป็นภัยต่อบ้านของเราหรือไม่ เพราะถ้ามีโอกาสจะเป็นภัยร้ายแรง มักจะมีคำเตือนล่วงหน้าอย่างน้อยๆ1-2 ชั่วโมง และการประกาศเตือนนั้น จะบอกว่าพายุพัดมาจากทิศใด และไปทิศทางใดต่อนี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่าทำไมต้องมีที่หลบภัยมากกว่า 2 แห่ง เมื่อเราทราบล่วงหน้าว่าพายุจะเกิดในอีกกี่ชั่วโมง และมาในทิศทางใด เราจะได้วางแผนการเดินทางได้อย่างถูกต้อง เช่นพายุมาจากทิศตะวันออก เราก็ต้องมุ่งหน้าหนีไปทางทิศตะวันตก
เตรียมพร้อมออกเดินทาง
เตรียมพร้อมในที่นี้ หมายความว่า เตรียมพร้อมรอขั้นตอนอพยพ โดยการเตรียมขนข้าวของที่จำเป็นเท่านั้น นิสัยคนไทยไม่ชอบเก็บของไว้ที่ธนาคาร ชอบเก็บไว้บ้าน เอกสารสำคัญๆ เช่นโฉนดที่ดิน ใบสมรส สูติบัตร รวมถึงทองคำ และ เครื่องเพชร ฯลฯ จริงๆ สิ่งของเหล่านี้ควรฝากไว้ในเซฟที่มีความปลอดภัยสูง ที่บ้านเก็บไว้เพียงสำเนาก็พอ สิ่งสำคัญในการอพยพก็คือ การรักษาชีวิต เพราะฉะนั้นไม่ต้องเอาอะไรไปนอกจากสิ่งของที่จำเป็น และที่สำคัญรองๆลงมา ควรเก็บในกล่องกันน้ำ หรือกล่องพลาสติคที่กันฝนได้ และแข็งแรงพอ
กระเป๋ายังชีพ เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ และควรเป็นของชิ้นแรกที่ควรหยิบฉวยก่อนออกเดินทางในนั้นควรจะมีไฟฉายกันน้ำ ถ่านสำรอง อุปกรณ์ปฐมพยาบาล วิทยุ AM/FM (เอาไว้ฟังข่าว)เสื้อกันฝน อาหารแห้ง น้ำ และเสื้อผ้าสัก 2-3 ชุด อาจจะแบ่งเป็นเป้สัก 2 ใบ เมื่อมีประกาศเตือนให้อพยพ หรือเตือนภัย ก็คว้าพวกนี้แหละ เผ่นก่อนเลย
ทรัพย์สินภายในบ้าน อย่าไปกังวลกับมัน เพราะชีวิตมีค่ามากกว่า ของสำคัญๆ ควรฝากธนาคารส่วนสิ่งของภายในบ้าน ก็ปิดประตูหน้าต่างให้แน่นหนา หรือเก็บซ่อนเอาไว้ ไม่ก็หาตู้แข็งแรงหน่อยเก็บไว้ให้มิดชิด ปิดลอคให้ดี ถ้าอะไรหายก็ควรทำใจ อย่าไปเสียดาย เพราะชีวิตสำคัญและหาซื้อใหม่ไม่ได้
ต่อจากนั้นเดินทางไปยังที่หลบภัยที่วางแผนเอาไว้ และควรฟังข่าวอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอระหว่างเดินทาง เมื่อถึงที่หมายแล้วก็ควรฟังข่าวอย่างต่อเนื่อง
บ้านเรานั้น ถือว่าโชคดี เพราะมักมีประเทศเพื่อนบ้านคอยรับแรงปะทะภัยธรรมชาติก่อนเป็นประจำ ทำให้เราพอมีเวลาที่จะเตรียมตัว เพียงแต่ต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ
รถยนต์นั้น ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีราคาแพง ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และเป็นพาหนะสำคัญในการอพยพ ดังนั้นควรใช้รถให้เป็นประโยชน์ และควรหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดกับรถจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าซ่อมโดยไม่จำเป็น ถ้าปล่อยน้ำท่วมรถ จนน้ำเข้าเครื่อง และระบบเกียร์ต้องรื้อออกมาทำความสะอาดกันใหม่ ไม่นับความเสียหายของระบบไฟฟ้า และระบบอีเลคทรอนิคส์อื่นๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยในการซ่อมบำรุง แต่ถ้าคุณสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างน้อยๆ ค่าล้างเครื่อง เกียร์ ระบบไฟฟ้าภายในห้องโดยสาร ต้องแตะหลักหมื่นถ้าระบบไฟฟ้าลัดวงจร จะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทขึ้นไปทีเดียว
อย่าเคลื่อนย้ายถ้าไม่แน่ใจว่าปลอดภัย
อย่างที่ได้แนะนำไปแล้ว ว่าให้เตรียมพร้อมไว้เสมอ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แล้วพิจารณาว่าไม่สามารถอพยพได้อย่างปลอดภัย ก็ไม่ควรออกเดินทาง เพราะนั่นอาจทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นมากกว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ถึงพลังในการทำลายล้างของลม และน้ำที่รุนแรงจนยากจะเกินบรรยาย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉับพลันก็ควรจะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ควรออกไปไหน ในส่วนของรถยนต์อาจไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ อย่างแรกต้องทำใจยอมรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นถ้าพบว่าพายุ หรือภัยพิบัติเริ่มมาให้เห็นแล้ว คุณก็ไม่ควรออกจากบ้านโดยเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถฝ่าสายฝนออกไป เพราะลมอาจจะแรงมาก ในพื้นที่บางแห่งที่มีน้ำป่าไหลหลาก โคลน หรือดินถล่ม ยิ่งไม่ควรขับออกไป เพราะลมแรงๆ กับกระแสน้ำที่ไม่ทราบความรุนแรง อาจถึงขั้นซัดรถคุณให้ตกถนน ผลร้ายที่ตามมา อาจทำให้คุณบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ เมื่อฝนเริ่มตก หรือน้ำเริ่มไหล่บ่า ขอให้นึกถึงความปลอดภัยของชีวิตเอาไว้เป็นอันดับแรก
เมื่อไม่สามารถอพยพได้ สิ่งที่ต้องทำกับตัวรถ อย่างแรกคือ ถอดแบทเตอรีออก แล้วนำขึ้นมาไว้บนบ้าน เผื่อสำรองกรณีไฟดับ (ควรหาหลอดไฟแบบที่ใช้กับแบทเตอรีเตรียมไว้ด้วย)จากนั้นหาพลาสติคเหนียวๆ หนาๆ พร้อมเชือก หรือหนังยางเส้นใหญ่ๆ เอาไว้ให้ถอดท่ออากาศที่ติดกับท่อร่วมไอดีออก แล้วใช้พลาสติคหนาปิด ใช้หนังยาง หรือเชือกพันโดยรอบ แล้วมัดให้แน่นที่สุด ขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่ใช้เครื่องมือไม่มากเต็มที่ก็ 2-3 ชิ้น เช่น ประแจเบอร์ 10-12 และไขควง
จากนั้นให้ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่อง และน้ำมันเกียร์ออก ใช้พลาสติคหุ้ม และรัดให้แน่น เพราะเป็นจุดที่น้ำจะซึมเข้าได้มากที่สุด ถ้าฉุกเฉินไม่สามารถทำอะไรได้ทัน ก็ถอดแบทเตอรีออกเพียงอย่างเดียว โดยการถอดแบทเตอรี ต้องถอดขั้วลบก่อนเสมอ ส่วนการใส่แบทเตอรีกลับเข้าไปนั้นให้ใส่ขั้วลบทีหลัง (จำง่ายๆ ถอดก่อน-ใส่หลัง)
ที่ต้องถอดแบทเตอรี เนื่องจากจะลดความเสียในระบบไฟฟ้าทั้งหมดได้ โดยเฉพาะหัวฉีดอีเลคทรอนิคส์ ทั้งเบนซิน และดีเซล ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะเมื่อเกิดการลัดวงจรแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื่อง และเมื่อเกิดขึ้นมักจะลุกลามเป็นวงกว้าง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากกว่าการถอดเครื่องยนต์ และเกียร์ ออกมาล้างทำความสะอาดเสียอีก
ถ้าน้ำท่วมรถทั้งคัน แต่คุณถอดแบทเตอรีออกก่อน เมื่อน้ำแห้ง คุณสามารถถอดอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์มาล้างทำความสะอาดได้ด้วยน้ำยา หรือสเปรย์สำหรับไล่ความชื้น แม้แต่อุปกรณ์สำคัญอย่าง กล่องอีซียู ก็จะไม่เสียหาย จะเห็นว่าการถอดแบทเตอรีออกนั้น สามารถช่วยลดความเสียหายได้มากทีเดียว
การซ่อมรถที่จมน้ำ
เมื่อน้ำลด สิ่งแรกที่คุณต้องทำเกี่ยวกับรถ ก็คือ ตรวจสอบสภาพ และร่องรอยว่าน้ำท่วมถึงระดับไหน ท่วมถึงท่อทางที่เราอุดไว้หรือไม่ สำหรับเครื่องยนต์ และเกียร์ ให้ใส่ก้านวัดระดับน้ำมันกลับเข้าไป แล้วดึงออกมาดูว่าในน้ำมันเครื่อง และน้ำมันเกียร์ มีน้ำปะปนอยู่หรือไม่ถ้าไม่มีก็โชคดีไป
แต่ถ้ามี คงต้องนำรถไปซ่อม โดยการนำรถไปที่ศูนย์บริการ หรืออู่ ใช้วิธีลากจูงโดยไม่ให้ล้อขับเคลื่อนสัมผัสพื้น หรือให้ขึ้นรถทเรเลอร์ ส่วนเครื่องยนต์ และเกียร์ ให้ถ่ายน้ำมันออกให้หมดสิ่งสำคัญก็คือ ห้ามหมุนเครื่องยนต์ หรือสตาร์ทเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด ถ้าไม่แน่ใจว่าน้ำเข้าเครื่องยนต์หรือไม่ ให้ถอดหัวเทียน หรือหัวฉีด (ในเครื่องดีเซล) ออกก่อน จากนั้นใช้ประแจหมุนที่เพลาข้อเหวี่ยง เพื่อดูว่ามีน้ำอยู่ในก้านกระบอกสูบหรือไม่ ถ้ามีให้ใช้แรงคนในการหมุนเครื่องเพื่อไล่น้ำออกไป การทำเช่นนี้ จะทำให้คุณไม่ต้องรื้อเครื่องยนต์ออกมาล้าง เพราะแรงที่หมุนด้วยคนนั้น ไม่ทำให้เกิดการสึกหรอ เมื่อหมุนเครื่องไล่น้ำออก ใช้ลมเป่าให้แห้งและใช้น้ำมันเครื่องหยอดเข้าไปแล้วหมุนเครื่องยนต์ เพื่อให้น้ำมันเครื่องเข้าไปหล่อลื่นและเคลือบภายใน จากนั้นจึงจะสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ตามปกติ
แรกๆ อาจจะติดเครื่องยากนิดหนึ่ง แต่เมื่อติดแล้ว อาจมีควันขาวบ้าง ก็ไม่ต้องตกใจเป็นเพราะการที่เราเทน้ำมันเครื่องเข้าไปหล่อลื่นนั่นเอง เว้นแต่การจอดแช่น้ำเป็นเวลานาน
หลายวัน กรณีนี้ควรรื้อเครื่องออกมาทำความสะอาด
ในส่วนระบบไฟฟ้า คงต้องรื้อคอนโซลหน้า และแผงควบคุมต่างๆ ออกมาทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดระบบอีเลคทรอนิคส์โดยเฉพาะ พยายามล้างทำความสะอาดทุกจุดตามซอกเล็กซอกน้อย โดยเฉพาะปลั๊ก และขั้วต่อต่างๆ รวมถึงทำความสะอาดชิ้นส่วนทั้งภายนอก และภายใน นำไปตากแดดให้แห้ง ในจุดที่เป็นโลหะ อาจจะใช้สเปรย์ป้องกันสนิมฉีดเคลือบบางๆ ก่อนประกอบกลับเข้าไป จากนั้นจึงประกอบชิ้นส่วนต่างๆ อีกทีการทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความเสียหายกับตัวรถน้อยที่สุด อย่างมากก็เป็นค่าแรง
และค่าอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ หลังจากทำความสะอาด
ประกันไม่จ่าย...
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเงื่อนไขในการรับประกันรถยนต์นั้น มักจะไม่คุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายจากอุทกภัย หรือภัยธรรมชาติ คุณต้องศึกษากรมธรรม์ หรือสอบถามจากบริษัทประกันภัยให้แน่ใจว่า กรมธรรม์ที่คุ้มครองรถคุณนั้น คุ้มครองเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่มีให้ลองสอบถามดูว่าสามารถซื้อความคุ้มครองในกรณีนี้เพิ่มได้หรือไม่ ส่วนตัวบ้านก็ควรทำประกันภัย และซื้อความคุ้มครองส่วนนี้เพิ่มด้วยเช่นกัน
หลายๆ ครั้ง เจ้าของรถคิดว่าประกันภัยคุ้มครอง เลยไม่ได้ใส่ใจ แต่ภายหลังเกิดเหตุ จะนำรถไปเคลม ปรากฏว่าอยู่นอกเหนือเงื่อนไขการรับประกันภัย ดังนั้นต้องศึกษา และสอบถามจากบริษัทประกันภัยให้แน่ใจ จะได้ไม่ต้องเสียเงิน และเวลา โดยใช่เหตุ
การเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือจากภัยธรรมชาติอย่างที่กล่าวไปนั้น ไม่ใช่เรื่อง เวอร์แต่จะช่วยลดความเสียหาย และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้มาก
เพียงแต่คุณต้องศึกษาเตรียมความพร้อม และซ้อมรับเหตุการณ์เหล่านั้น จะได้ไม่ต้องเสียเวลา และเสียเงินตามมาอีกภายหลัง เพราะวิธีการเหล่านี้สามารถที่จะบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้แน่ๆ สำหรับคนที่รู้จักเตรียมความพร้อมเท่านั้น
ABOUT THE AUTHOR
พ
พหล ฯ 30
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : DIY...คุณทำเองได้