วิถีตลาดรถ
ของจริงมาแล้ว
ผ่านพ้นไปเพียงครึ่งปี ในที่สุดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศปรับตัวลดลงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ยังมีลูกฮึดทำยอดจำหน่ายอยู่ในแดนบวกกันพอสมควร ถึงแม้ว่าบรรดาค่ายรถยนต์มีแคมเปญส่งเสริมการขายออกมากระตุ้นกำลังซื้อชนิดเดือนชนเดือน ไม่ให้ขาดตอนไป
แต่ความจริงก็คือความจริง ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วงเวลานี้ ถึงแม้ว่าจะมีพลังงานทางเลือกเป็นตัวช่วยก็ตาม แต่การจะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะแกสธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเภทแอลพีจี หรือ ซีเอนจี หมายถึง การที่จะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเข้าไปในราคารถ ซึ่งกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนก็ต้องใช้เวลากันนานพอสมควร
แหม...กว่าจะถึงเวลานั้น ไม่รู้เหมือนกันว่าราคาจำหน่ายแกสธรรมชาติจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกเท่าไร และปริมาณจำนวนสถานีบริการจะเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดภาพรถยนต์ที่เข้าคิวกันยาวเหยียดเพื่อรอเติมแกส ทำให้เสียเวลาทำมาหากินกันเป็นชั่วโมงๆ จะลดน้อยลงไปได้มากน้อยเพียงไร รวมไปถึงปัญหาปากท้องของชาวบ้าน จะได้รับการคลี่คลายแต่ไหน ซึ่งถ้าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้รับ การดูแลแก้ไขให้ทุเลาเบาบางไปบ้าง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ได้ง่ายขึ้น
จากปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจข้างต้น ทำให้ยอดรวมของการเป็นเจ้าของรถยนต์ป้ายแดงของเดือนมิถุนายน จบลงที่ 50,108 คัน ลดลงกว่าเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว 5.9 % และลดลงกว่าเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา 8.7 % แน่นอนว่ายอดที่หดหายไปนี้ส่วนใหญ่เป็นการหายไปของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลนั่นเอง เพราะว่าผู้บริโภคหันไปให้ความนิยมกับรถยนต์เครื่องเบนซินโดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแทน เนื่องจากสามารถนำไปติดแกสได้
แม้เครื่องยนต์ดีเซลจะได้ชื่อว่าให้ความประหยัดสูงสุดแล้วก็ตาม แต่ก็ทนรับสภาพกับราคาน้ำมันดีเซลที่กลับกลายเป็นแพงกว่าน้ำมันเบนซินไปเสียแล้วไม่ได้ อีกทั้งถ้าจะติดแกสก็ต้องถอดเครื่องยนต์เดิมที่ติดมากับตัวรถออก แล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์เบนซินเสียก่อน ยุ่งยากวุ่นวายเสียเงินเพิ่ม ทำเอา เซ็งเป็ด กันไปเลย
ในจำนวน 50,108 คันที่ว่านี้ โตโยตา ตีกินไป 22,471 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 44.8 % และอีกรายหนึ่งที่ยอดจำหน่ายต่อเดือนเกินหลัก 10,000 คัน ได้แก่ อีซูซุ โดยเดือนมิถุนายน ทำยอดจำหน่ายได้เพิ่มเติมอีก 10,233 คัน คิดเป็น 20.4 % อันดับที่ 3 เป็นของ ฮอนดา ที่ได้แรงตอบรับของ ฮอนดา แจซซ์ ใหม่ มาเป็นตัวเสริมยอด ทำให้เป็นยี่ห้อเดียวใน 5 อันดับยอดจำหน่ายรถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุด ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยเดือนมิถุนายนปีนี้ ฮอนดา จำหน่ายไปได้ทั้งสิ้น 7,960 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 15.9 % อันดับที่ 4 เป็นของ มิตซูบิชิ ที่ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 5 ในเดือนที่แล้ว จำหน่ายรวมทุกโมเดล (ซึ่งไม่ค่อยมีให้เลือกมากเท่าไร) ได้ 1,952 คัน ส่วนแบ่ง 3.9 % และอันดับ 5 ร่วงมาจากอันดับที่ 4 เดือนที่แล้ว เรียกว่าเป็นการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันระหว่างมิตซูบิชิ กับนิสสัน โดย นิสสัน จำหน่ายไปได้ทั้งสิ้น 1,776 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.5 %
สำหรับตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ถึงแม้ในเดือนมิถุนายน จะมียอดที่ลดน้อยถอยหลังลงไปบ้างเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว เป็นตลาดหลัก ตลาดเดียวที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเดือนนี้ปรับตัวสูงมากขึ้นถึง 30.1 % และเดือนนี้เริ่มมียอดออกมาให้
เห็นกันแล้วสำหรับ นาซา รถเล็กอีกบแรนด์หนึ่งจากแดนเสือเหลืองมาเลเซีย ภายใต้การกุมบังเหียนของกลุ่มยนตรกิจ ฯ อดีตเจ้าพ่อรถยุโรป โดย นาซา มียอดจำหน่ายในเดือนออกสตาร์ทนี้ 29 คัน ส่วนปโรตอน จากแดนเสือเหลืองเช่นกัน มียอดจำหน่ายในเกณฑ์เฉลี่ยใกล้เคียงกับเดือนที่แล้ว จำหน่ายไปได้ 182 คัน
5 อันดับแรกของรถยนต์นั่งป้ายแดงที่ยกขบวนออกจากโชว์รูม ยังคงนำหน้าเป็นอันดับ 1 ด้วย โตโยตา 9,505 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 47.7 % ขายได้มากกว่าเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว 14.9 % ตามด้วย ฮอนดา 7,322 คัน ส่วนแบ่งตลาด 36.7 % ปรับตัวสูงขึ้น 46.9 % ส่วนอันดับที่ 3 เป็น เชฟโรเลต์ ผู้บุกเบิก รถยนต์นั่งติดระบบแกสออกจากโรงงาน จำหน่ายไปได้ 1,017 คัน ปรับตัวสูงขึ้น 66.7 % ส่วนแบ่งตลาด 5.1 % อันดับที่ 4 นิสสัน ยอดจำหน่าย 508 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.5 % ปรับตัวสูงขึ้น 78.2 %
และอันดับที่ 5 กลับเข้าสู่ชาร์ทรถเก๋งที่มีผู้สนใจเป็นเจ้าของมากที่สุดในเดือนนี้ และเป็นอีกบแรนด์หนึ่ง ที่มีการติดตั้งระบบแกสออกจากโรงงาน เป็นรถยนต์นั่งระดับพรีเมียมที่ว่ากันว่า เวลาไปเข้าคิวรอเติมแกส ผู้เป็นเจ้าของบางคนจะมีความรู้สึกว่าถูกจับจ้องจากเพื่อนร่วมปั๊มอื่นๆ เป็นพิเศษ นั่นคือ เมร์เซเดส-เบนซ์ แต่ก็ถือเป็นการกลับสู่ความนิยม 5 อันดับแรกอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปเสียเดือนสองเดือน เมร์เซเดส-เบนซ์ กลับมาด้วยยอดจำหน่าย 407 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 2.0 % มียอดจำหน่ายที่สูงขึ้นกว่าเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว 31.7 % ซึ่งเมื่อรวมยอดจำหน่ายของ 5 อันดับแรก และรถยนต์นั่งบแรนด์อื่นๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดเมืองไทยในเวลานี้ ที่ส่วนใหญ่ก็มียอดจำหน่ายสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วด้วยเช่นกัน ปรากฏว่ายอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด เดือนมิถุนายนมีรวมทั้งสิ้น 19,942 คัน
ออกอาการซวนเซเสียรูปมวยไปเหมือนกันสำหรับรถยนต์ใช้งานเชิงพาณิชย์ ที่แต่ก่อนครองความยิ่งใหญ่เป็นเบอร์ 1 ของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน อย่าง พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ถึงแม้ว่าจะยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในบรรดารถยนต์ประเภทต่างๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ แต่ก็ทำยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันแล้ว
สาเหตุใหญ่ ไม่ต้องไปดูอื่นไกล เรื่องของราคาน้ำมันอย่างเดียวแน่นอน เดือนมิถุนายนยังคงตั้งหลักไม่อยู่ ปิดยอดจำหน่ายสำหรับรถพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ ลดลงไป 20.7 % จากเดือนมิถุนายน ปีก่อน และลดลงจากเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ประมาณ 10 % โดยมียอดจำหน่ายรวมกันที่ 23,066 คัน
เป็นเดือนที่ยักษ์ใหญ่ในตลาดนี้ ทั้ง โตโยตา และ อีซูซุ มียอดจำหน่ายประจำเดือนไม่ผ่านหลักหมื่นคัน
โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก กลับมาครองตำแหน่งพิคอัพขวัญใจมหาชนอีกครั้ง หลังจากเดือนที่แล้วพลาดไป มียอดจำหน่ายที่ 9,876 คัน ส่วนแบ่งตลาด 42.8 % ขณะที่ อีซูซุ เดือนนี้มียอดจำหน่าย 9,381 คัน ส่วนแบ่งตลาด 40.7 % ดูจากยอดจำหน่ายของ 2 ยี่ห้อแล้ว น่าจะเป็น อีซูซุ ดี-แมกซ์ เสียมากกว่าที่กำลังวังชาลดน้อยถอยลง เพราะเดือนที่แล้วยังทะลุหลักหมื่น อยู่มาเดือนนี้ทำยอดจำหน่ายหายไปเกือบ 2,000 คัน ขณะที่ โตโยตา มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1,000 คันดี ส่วนอันดับ 3 ถึงอันดับ 5 ยังคงเหมือนๆ เดิม เริ่มจาก มิตซูบิชิ ทไรทัน ในอันดับที่ 3 จำหน่ายได้ 1,274 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.5 %นิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา 1,060 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.6 % และสุดท้ายเป็น มาซดา บีที-50 มียอดจำหน่าย 581 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.5 %
สำหรับตลาดนี้ถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ก็ว่าได้ ที่ทุกบแรนด์ทุกยี่ห้อมียอดจำหน่ายลดลงกว่า เดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา ทุกบแรนด์ เว้นแต่ ทาทา ที่เพิ่งจะเริ่มออกสตาร์ทในเดือนพฤษภาคม
พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็เช่นกัน ทำยอดจำหน่ายปรับตัวลดลงทุกยี่ห้อ และแน่นอนว่าส่งผลถึง ยอดจำหน่ายรวมในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งตลาดมียอดจำหน่ายรวมกันอยู่เพียงแค่ 1,240 คัน ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมาถึง 34.1 % โดยที่ไม่มียี่ห้อใดเลยมียอดจำหน่ายถึงพันคัน โตโยตา อันดับ 1 ของตลาด มียอดจำหน่ายเพียง 873 คัน ส่วนแบ่งตลาด 70.4 % อีซูซุ 205 คัน ส่วนแบ่งตลาด 16.5 % นิสสัน อันดับ 3 ขายได้ 70 คัน ส่วนแบ่ง 5.6 % มิตซูบิชิ อันดับ 4 ขายได้ 59 คัน ส่วนแบ่ง 4.8 % ฟอร์ด อันดับที่ 5 ขายได้ 13 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.0 %
ตลาดที่เปลี่ยนแปลงในทางลบมากที่สุด ได้แก่ ตลาดรถเอสยูวี ปรับตัวลดลงถึง 37.0 % เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 2550 ตลาดนี้ยอดจำหน่ายหายไปเกือบๆ พันคัน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม โตโยตา มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในแต่ละเดือน และเดือนนี้ก็เช่นกัน ยังมียอดจำหน่ายที่สูงที่สุด แต่เทียบกับเดือนที่แล้ว ก็มียอดจำหน่ายที่ลดลงสูงที่สุดด้วยเช่นกัน
ยอดจำหน่ายรถเอสยูวีของ โตโยตา เดือนมิถุนายน อยู่ที่ 840 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 44.3 % ฮอนดา ซีอาร์-วี 638 คัน ส่วนแบ่งตลาด 33.6 % เชฟโรเลต์ แคพทีวา 159 คัน ส่วนแบ่ง 8.4 % อีซูซุ 83 คัน ส่วนแบ่ง 4.4 % และ ฟอร์ด 71 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.7 % ยอดรวมทั้งตลาด 1,898 คัน
สำหรับรถเอมพีวี ถึงจะมียอดจำหน่ายลดลงกว่าเดือนที่แล้ว แต่เนื่องจากช่วงปีก่อนมียอดขายต่ำ ทำให้เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซนต์ความแตกต่างแล้ว ยอดจำหน่ายเดือนมิถุนายนปีนี้ ยังสูงกว่าเดือนนี้ ในปีที่แล้ว มียอดจำหน่ายรวมทุกยี่ห้อได้ 640 คัน เติบโตสูงขึ้น 5.6 %
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถ