รู้ลึกเรื่องรถ
มีคนจำนวนน้อยมาก ที่มีโอกาสเห็นรถเพลิงไหม้ในสภาพจริง
มีคนจำนวนน้อยมาก ที่มีโอกาสเห็นรถเพลิงไหม้ในสภาพจริง ส่วนใหญ่จะเห็นในภาพยนตร์ ซึ่งจะต้องตามมาด้วยการระเบิดเพียงไม่กี่วินาทีหลังจากไฟลุก
ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นนะครับ พยายามหาทางดับได้ ดีกว่าปล่อยรถไหม้ทั้งคัน ที่ผมบอกว่ามีโอกาสเห็นกับตาได้น้อย ไม่ได้หมายความว่ามันเกิดขึ้นได้ยากมากนะครับ เพียงแต่ว่าการที่จะได้เห็นแบบนี้ ต้องมีเงื่อนไขอื่นประกอบอีกหลายอย่าง รถที่ไฟไหม้อยู่ ต้องอยู่ในระยะที่ตาเรามองเห็น เช่น เราขับรถผ่านที่เกิดเหตุไปพอดี และต้องผ่านตอนกำลังไหม้ด้วยส่วนใหญ่จะลุกไหม้อยู่ไม่นาน เพราะผู้ขับต้องพยายามดับมัน หรือให้ผู้อื่นช่วยดับ
ผมต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถึงเราจะเคยเห็นเพียงครั้งเดียว หรือไม่เคยเห็นเลย ก็ไม่ได้หมายความว่า โอกาสที่รถจะลุกไหม้นั้นมันน้อยเหลือเกิน
ใครที่อยู่ในวงการขายรถยนต์ จะเข้าใจได้ง่ายครับ ยกตัวอย่าง เช่น รถรุ่นที่จำหน่ายออกไปทั่วประเทศประมาณ 1,000 คัน ซึ่งตามความรู้สึกของเราถือว่ามากพอสมควร แต่เชื่อไหมครับบางทีขับรถอยู่ถึง 1 เดือน ก็ยังไม่ได้เห็นรถรุ่นนี้แม้แต่คันเดียว เพราะต้องมีเงื่อนไขอื่นประกอบทำนองเดียวกับการจะได้เห็นรถกำลังไฟไหม้ สรุปได้ว่าโอกาสได้เห็นยากมาก แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับรถของเรา ไม่ยากเท่าไรนัก เพราะในรถของเรามันมีสิ่งที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยให้เกิดเพลิงไหม้อยู่ค่อนข้างพร้อมสรรพ ซึ่งก็คือ
1. ความร้อนของท่อไอเสีย โดยเฉพาะส่วนที่ใกล้กับเครื่องยนต์ และโดยเฉพาะรถที่ใช้เทอร์โบชาร์เจอร์ ซึ่งท่อไอเสียระหว่างเครื่องยนต์และเทอร์โบจะร้อนจัด
2. น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า พร้อมที่จะติดไฟตลอดเวลา ถ้าถูกกระตุ้นด้วยความร้อนที่สูงพอ โดยเฉพาะเมื่อรั่วไหลออกจากท่อเชื้อเพลิง
3. น้ำมันหล่อลื่น ซึ่งแม้จะไม่ไวไฟเท่าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ก็ติดไฟได้ง่ายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันเกียร์
4. กระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดการสปาร์ค หรือเป็นประกาย ไปกระตุ้นให้เชื้อเพลิงลุกไหม้ขึ้นมาได้หรือไม่ก็เกิดการลัดวงจรแบบไม่ผ่านฟิวส์ ทำให้ลวดทองแดงร้อนจัด จนกระตุ้นให้เปลือกสายไฟลุกไหม้ได้
5. อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสวิทช์ และโดยเฉพาะมอเตอร์
สถิติรถไฟไหม้ จึงไม่ลดลง เพราะในขณะที่มีการปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ให้ต้านการติดไฟได้ดีขึ้น ปรับปรุงวัสดุให้ไว้วางใจได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า เมื่อเทียบกับของรถเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
คำถามที่สงสัยกันมากอีกข้อหนึ่ง ก็คือ สาเหตุของการที่รถไฟไหม้นั้น มาจากความบกพร่องของคนหรือว่าของรถ ? คำตอบค่อนข้างชัดเจนครับ ว่าเป็นความบกพร่องของรถ พูดอย่างเป็นทางการ ก็คือ การลุกไหม้ไฟของรถเป็นปัญหาทางเทคนิคเกือบทั้งหมด มีน้อยรายที่เป็นความบกพร่องของคน เช่น ขันเข็มขัดรัดท่อน้ำมันเชื้อเพลิง หรือน้ำมันเกียร์อัตโนมัติไม่แน่นไม่ตรวจ และเปลี่ยนท่อเชื้อเพลิงที่เสื่อมแล้ว ประกอบสายไฟไม่ถูกตำแหน่ง จนเกิดการลัดวงจร
แล้วก็มีแบบลูกผสมครับ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายกรณีที่รถของพวกเราลุกไหม้เข้าข่ายนี้ นั่นคือมาจากปัญหาทั้งทางเทคนิคและปัญหาจากคนด้วย เช่น แรกเริ่มมาจากรถถูกออกแบบผิดหรือใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการติดไฟ
ผู้ออกแบบและผู้ผลิตทราบสาเหตุจากการเกิดเพลิงไหม้ของรถรุ่นนั้นหลายคันแล้ว จึงแจ้งให้ผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบรถในประเทศไทยทราบ เพื่อให้ตามรถของลูกค้ากลับมาแก้ไข แต่ทุกอย่างสิ้นสุดอยู่ตรงนี้ ด้วยความคิดคับแคบ กลัวว่าถ้าเป็นข่าวว่ามีการเรียกรถกลับมาแก้ไขแล้ว จะทำให้เสียชื่อ เลยเลือกวิธีนิ่งเฉย ปล่อยให้ลูกค้าเสี่ยงชีวิตแทน
หมดยุคของการคิดเลวร้ายแบบนี้ไปนานแล้วครับ พวกเราผู้บริโภคต้องช่วยกันเรียกร้องสนับสนุนให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ถ้าหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ก็น่าจะมีองค์กรทำนองนี้ของภาคเอกชนบ้าง การเรียกร้องด้วยกฎหมายให้มีการชดใช้ในความผิดฐานปกปิดข้อมูล จนเกิดความเสียหาย หรืออันตรายต่อผู้บริโภค เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งการตีราคาชีวิตของพวกเราที่เป็นลูกค้าเหมือนผักปลา
ผมไม่มีสถิติสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ต่อรถยนต์ในประเทศไทย เลยขอเอาสถิติของบางประเทศในยุโรปมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เนื่องจากเป็นสาเหตุด้านเทคนิค จึงน่าจะมีความใกล้เคียงกันพอสมควรครับ
สาเหตุหลักที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด มาจากระบบไฟฟ้าของรถ อันดับที่ 2 มาจากการรั่วของของเหลวที่ติดไฟได้ อันดับ 1 ในหัวข้อนี้ แน่นอนว่า คือ น้ำมันเชื้อเพลิง รองลงมา คือ การรั่วของน้ำมันเครื่อง ตามด้วยน้ำมันเกียร์และน้ำมันไฮดรอลิค ซึ่งก็คือที่เราเรียกกันว่า "น้ำมันเพาเวอร์"ของระบบผ่อนแรงพวงมาลัยนั่นแหละครับ
อันดับ 3 เป็นการไหม้จากความร้อนจัดผิดปกติของระบบไอเสีย
อันดับ 4 คงเทียบกับสถิติของประเทศไทยไม่ได้ เพราะเป็นการวางเพลิง ซึ่งโชคดีที่ไม่มีใครนิยมทำ เพราะผิดกฎหมายเนื่องจากเข้าข่ายฉ้อโกง
อันดับ 5 เป็นสาเหตุปลีกย่อยที่เกิดขึ้นน้อยมาก เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์รั่ว หรือชำรุด เกียร์ชำรุดคลัทช์ชำรุด สายไฟถูกหนูแทะจนขาด ก็ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้ และอย่างสุดท้าย คือไส้กรองอากาศลุกไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับรถที่เครื่องยนต์โทรมมาก มีน้ำมันเครื่องไหลย้อนมาจนถึงไส้กรองอากาศ เมื่อถูกความร้อน หรือเปลวไฟที่แลบออกมาทางลิ้นไอดีก็สามารถลุกไหม้ขึ้นได้
การหาสาเหตุเพลิงไหม้ของรถ เป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ที่ศึกษามาโดยเฉพาะและมีประสบการณ์สูงพอ ซึ่งคงไม่ต้องหาในเมืองไทยหรอกครับ แค่รถแหกโค้ง หรือพลิกข้างทางนักพิสูจน์หลักฐานพวกนี้ก็จะบอกอยู่สาเหตุเดียว คือ เบรคแตก ถ้าไปถาม ผมเชื่อว่าคงตอบไม่ได้ด้วยว่าตรงไหนมันแตก และแตกได้อย่างไร หมดยุครถเบรคแตกไปหลายสิบปีแล้วครับ
สาเหตุแปลกๆ ที่ทำให้รถเกิดเพลิงไหม้ก็มีอยู่มากเหมือนกัน เป็นเรื่องจริงที่แม้แต่ช่างซ่อมรถที่มีประสบการณ์หลายสิบปี ก็คงไม่อยากเชื่อ อย่างเช่น รถเก๋งเยอรมันหรูรุ่นหนึ่ง ใช้เครื่องยนต์ดีเซลแล้วหัวลูกสูบลูกหนึ่ง เกิดรอยร้าวจากความบกพร่องของวัสดุ หรือไม่ก็จากการผลิต พอน้ำมันดีเซลลุกไหม้ แกสส่วนหนึ่งก็รั่วทะลักจากด้านบนของหัวลูกสูบ ลงไปยังห้องเพลาข้อเหวี่ยงที่ด้านล่างเป็นอ่างน้ำมันเครื่อง ความดันที่เพิ่มขึ้น ทำให้เหล็กวัดระดับน้ำมันเครื่องกระเด็นหลุดออกจากตำแหน่ง จากนั้นน้ำมันเครื่องก็ทะลักกระจายออกมาเป็นฝอย เลอะท่อไอเสียใกล้ฝาสูบซึ่งร้อนจัด และลุกเป็นไฟขึ้นในที่สุด
อีกรายหนึ่งก็แปลกในระดับเดียวกันครับ
เป็นรถเกียร์ธรรมดา สปริงลดแรงกระชากในชุดคลัทช์หลุดออกมาจากเบ้า แล้วครูดเปลือกของห้องเกียร์จนสึก และน้ำมันเกียร์ทะลักออกมาด้านนอก แล้วลุกไหม้ขึ้น
ใครที่ใช้รถรุ่นใหม่ คงต้องหาข้อมูลเรื่องจุดอ่อนของรถที่ใช้จากอินเตอร์เนทครับ ถ้ามีข้อสงสัยก็สอบถามไปยังบริษัทใหญ่ในต่างประเทศได้เลย เขามีผู้รับผิดชอบคอยตอบปัญหาของลูกค้าทั่วโลกครับ
นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่เราทำได้ในการป้องกันความเสียหายไม่ให้บานปลาย ก็คือ การซื้อที่ดับเพลิงสำหรับพกพาไว้ในรถ อย่าเลือกขนาดเล็กสุด เพราะราคาถูกครับ เพราะเวลาใช้งานจริงมักไม่ค่อยเพียงพอ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ