ประกันภัย
น้ำท่วมเคลมประกันภัยได้แค่ไหน ?
ภาพข่าวภัยน้ำท่วมประเทศไทย ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกต่อเนื่องยาวนานกว่า 3-4 เดือน ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของนานาอารยประเทศ ในอีกรูปแบบหนึ่งของเมืองไทยเมื่อปี 2547 ประเทศไทยถูกรู้จักจากประชาคมโลกในฐานะผู้ประสบภัย "สึนามิ" ความเสียหายนับหมื่นล้านบาท มีผู้เสียชีวิตโดยรวมหลายพันคน และตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเราก็ถูกรู้จักในอีกฐานะ เป็นประเทศที่มีสารพัด MOB จากหลากหลายกลุ่มสี ปะทะกันดุเดือด และกลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ประท้วงมาราธอนนานสุด กินนอนกลางถนนนานเกินกว่า 100 วัน มีปรากฏการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอีกหลายจังหวัด พอมาถึงยุคกลุ่มสีแดงเบ่งบาน แผ่อิทธิพลไปทั่วเมือง ก็มีการปะทะ และสลายการชุมนุม มีผู้คนจำนวนมากต้องตายและบาดเจ็บอีกหลาย 100 คน มีปรากฏการณ์จุดไฟเผาบ้านเผาเมือง ทั้งในกรุงเทพ ฯ และอีกหลายจังหวัด เป็นทะเลเพลิง ปี 2553 น้ำท่วมรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี ที่จังหวัดนครราชสีมา และมาถึงปีนี้ 2554 ช่วงเปลี่ยนรัฐบาลพอดี มีเหตุมหันตภัยวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติการณ์ นับแต่มีประเทศไทย น้ำท่วมระดับสูง 1-6 เมตร หลายจังหวัดจมอยู่ใต้บาดาลแบบ 100 % โดยเฉพาะภาคกลางของไทย เป็นทะเลขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยปริมาณน้ำกว่าหลายหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร มีมากกว่า 50 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ นับถึง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2554 มีคนตายไปแล้วจากน้ำท่วมกว่า 500 คน ผู้ประสบภัยกว่า 20 ล้านคน ความเสียหายมากกว่า 10 เท่าของ "สึนามิ" ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น น่าจะอยู่ที่ 2-3 แสนล้านบาท ถ้ารวมถึงผลกระทบของการท่องเที่ยว การส่งออก ก็จะเกินกว่า 3 แสนล้านบาทแน่นอน มีรถยนต์ และอาคารบ้านเรือน ตลอดจนธุรกิจสำนักงานโรงงาน ถูกจมใต้น้ำแบบนับไม่ถ้วน ในเบื้องต้นสำนักงาน คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย) ประเมินจ่ายค่าสินไหมทดแทนเฉพาะผู้ที่มีการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไว้ว่า บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท มาดูเฉพาะรถยนต์ ค่าเสียหายประกันภัยรถยนต์ หรือค่าสินไหมทดแทน ประเมิน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2554 น่าจะประมาณ 3,000 ล้านบาทเศษ โดยมีรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายที่ทำประกันภัย ประเภท 1 ไว้ และได้รับความคุ้มครองภัยน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 6,000 คัน (กรมธรรม์ประเภทอื่นๆ ไม่คุ้มครองความเสียหายของตัวรถอันเกิดจากน้ำท่วม) ความเห็นของผู้ประกอบธุรกิจประกันภัย เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นมากมาจาก ประการแรก คือ ในหลายพื้นที่ที่น้ำท่วมหนัก อาทิ ปทุมธานี บางบัวทอง บางใหญ่ มีรถจำนวนมากจมน้ำอยู่หลายวัน ไม่สามารถเคลื่อนย้ายมาได้ ซึ่งหากจมน้ำเกิน 3 วัน โอกาสที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายชดเชย ด้วยการคืนทุนประกันภัย (จ่ายเต็มทุนประกัน) ให้แก่ผู้เอาประกันภัย มีสูง เพราะถึงจะซ่อมได้ก็ไม่ดีเหมือนเดิม อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการซ่อมพอกับทุนประกันภัย ความเสียหายมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรถประเภทไหน เก่ง หรือรถกระบะ ประเภทเครื่องยนต์เป็นเบนซิน หรือดีเซล รถจอดอยู่แล้วถูกน้ำท่วม หรือลุยน้ำมา ประการที่สอง คือ รถที่นำไปจอดไว้ เช่น บน ทางด่วนถูกชน หรือถูกโจรกรรม ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วทั้ง 2 กรณี เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าสินไหมทดแทน ประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้น หนักที่สุด น่าจะเป็นจากประการแรก ที่ไปกู้รถออกมาไม่ได้ รถจอดแช่อยู่ที่เกิดเหตุเยอะพอสมควร ซึ่งรถที่น้ำท่วมมิดคัน จอดแช่น้ำเกิน 3 วัน โอกาสซ่อมคืนสภาพเดิมมีไม่ถึง 20 % อีก 80 % ต้องจ่ายคืนทุนประกันให้แก่ลูกค้า ซึ่ง ปกติทุนประกันที่รับประกันไว้จะอยู่ประมาณ 70-80 % ของราคารถยนต์ อีกทั้งถ้าท่วมมิดคัน แช่น้ำเกิน 3 วัน ระยะเวลาในการซ่อมนานไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์ ถึง 1 เดือน เพราะต้องรื้อหมดทั้งคันเหมือนเปลือยรถออกมา กรณีอย่างเคสที่หาดใหญ่ใช้เวลาซ่อม 2-3 เดือน ตัวอย่าง ที่เห็นจากเส้นทางวังน้อยไปสระบุรี มีรถ 10 ล้อ จอดแช่น้ำเป็นเดือนกว่า 100 คัน มีผลต่อค่าสินไหมทดแทนทั้งระบบอีกเช่นกัน เพราะค่าเสียหายรถกลุ่มนี้สูง แม้จะไม่เสียหายสิ้นเชิงก็ตาม ถ้าเป็นตัวรถค่าเสียหายไม่มาก แต่ที่หนัก คือ เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบไฟฟ้า หากไปลุยน้ำมาเครื่องยนต์พัง ค่าเสียหายเฉลี่ยต่อคันไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท หากเป็นรถใหม่ค่าเสียหายเป็นล้านบาท ส่วนรถเก๋งค่าเสียหายขึ้นอยู่กับว่าเป็นรถอะไร น้ำท่วมระดับไหน หากเป็นระดับ พรมปูพื้นยังไม่ถึงเบาะ ถ้าเป็นรถเก๋ง ค่าใช้จ่ายในการรื้อพรมตาก ประมาณ 8,000-15,000 บาท แต่หากน้ำท่วมถึงเบาะ ค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000-30,000 บาท และหากน้ำท่วมถึงคอนโซลรถ ค่าซ่อมก็ประมาณ 50,000 บาท ที่กล่าวมาข้างต้นเฉพาะการเคลมประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ในส่วนความเสียหายของตัวรถที่ทำประกันอันเกิดจากภัยน้ำท่วมเท่านั้น อันที่จริงยังมีความคุ้มครองอื่นที่กรมธรรม์ทุกประเภทให้ความคุ้มครองอยู่ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบ เช่น รถทุกคันที่ทำประกันไว้นำไปวิ่งในท้องถนนขณะมีน้ำท่วมขัง และคลื่นของน้ำที่เกิดขึ้นจากรถที่วิ่งไปกระแทกให้คนเดินถนนล้มบาดเจ็บ หรือ ทรัพย์สิน กำแพงบ้าน ผนังกั้นน้ำเข้าบ้าน พังเสียหาย เช่นนี้ สามารถเคลมประกันภัยได้แม้ว่ากรมธรรม์นั้นไม่ใช่ประเภท 1 ก็ตาม เพราะถือว่าเอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองบุคคลภายนอก กรมธรรม์ทุกฉบับต้องคุ้มครองอยู่แล้ว สำหรับกรมธรรม์อื่นๆ ที่ให้ความคุ้มครองในส่วนรถหายรวมอยู่ด้วย เช่น ประเภท 2 พลัส 3 พลัส หรือ ประเภท 5 หากในกรมธรรม์ระบุข้อความว่าคุ้มครองรถยนต์สูญหาย หากรถที่นำไปจอดหนีภัยน้ำท่วมในที่สูง เช่น ถนน สะพาน ทางด่วน หรืออาคารต่างๆ หากถูกขโมยสูญหายไป ก็สามารถเคลมประกันภัยได้เช่นกัน แต่ถ้าถูกเฉี่ยวชนต้องมีคู่กรณีอยู่ ณ เวลาที่แจ้งเคลมประกันด้วย ข้อแนะนำในการทำเคลมประกันภัยรถยนต์กรณีถูกน้ำท่วม 1. ถ่ายรูปรถในขณะถูกน้ำท่วม (ถ่ายให้เห็นทะเบียนรถ เพื่อเป็นหลักฐานว่ารถคันเดียวกับที่เอาประกันไว้) 2. ตรวจสอบความเสียหายในรถ และถ่ายรูปไว้ พร้อมบันทึกความเสียหายวันเวลาสถานที่ที่เกิดน้ำท่วมขึ้น 3. ตรวจสอบกรมธรรม์ และอ่านทำความเข้าใจเงื่อนไขให้ละเอียด (อาจปรึกษากับตัวแทนประกันของท่าน) 4. แจ้งทำเคลมทางโทรศัพท์กับบริษัทประกันภัย (จดบันทึก ชื่อผู้รับแจ้ง วันที่ เวลา และเลขรับแจ้งไว้) 5. นัดหมายการตรวจสภาพความเสียหายของรถยนต์กับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัย เพื่อเตรียมซ่อม 6. กรณีรถวิ่งไม่ได้ต้องขอให้ทางบริษัทส่งรถยกมาลากไป (บริษัทรับผิดชอบค่ายรถยกลากไม่เกิน 20 % ของค่าซ่อม) 7. เมื่อนำรถเข้าอู่ซ่อมแล้ว เก็บใบรับรถไว้ ดูนัดหมายการซ่อมกี่วัน จำเป็นต้องขยันไปตรวจสภาพเป็นระยะ ถ้าบริษัทประวิงการจัดซ่อม หรืออู่ซ่อมล่าช้าเกินกำหนด โดยไม่มีเหตุผลอันควร ท่านสามารถเรียกร้องค่าขาดการใช้รถได้ ข้อควรรู้ ในการเคลมรถกรณีรถถูกน้ำท่วม 1. กรมธรรม์ไม่คุ้มครอง ถ้ายังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย (CASH BEFORE COVER) 2. ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง 1,000 บาทแรก (ความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากการชน) 3. อุปกรณ์ส่วนควบ เครื่องเสียง ตกแต่ง จะเคลมได้ต่อเมื่อแจ้งซื้อคุ้มครองไว้ตั้งแต่วันเริ่มทำประกันเท่านั้น (ส่วนการที่มาติดตั้งเพิ่มเติมภายหลัง และไม่ได้แจ้งประกันไว้ เช่น ติดตั้งแกสซีเอนจี/แอลพีจี ภายหลัง ประกันจะไม่คุ้มครองในส่วนนี้) 4. กรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้เกิดความเสียหาย เช่น นำรถไปวิ่งลุยน้ำ ทั้งๆ ที่มีการประกาศจากทางราชการ ห้ามนำรถเข้าในถนนนั้นๆ กรณีนี้บริษัทประกันภัยอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยเฉพาะการหยุดการทำงานของเครื่องจักรกลไกของรถยนต์ การแตกหักของเครื่องจักรกลไก ระบบเครื่องไฟฟ้าของรถยนต์ ระบบสมองกลทั้งหมด 5. เจ้าของรถไม่สามารถเรียกร้องค่าเสื่อมราคา ค่าสึกหรอของรถยนต์ รวมถึง ค่าน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำมันเกียร์ น้ำมันทุกชนิดที่ต้องเปลี่ยนถ่าย (ค่าแบทเตอรีจ่ายให้เพียงครึ่งเดียว และค่ายางรถยนต์แตกฉีกขาดจากการชนจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง) 6. ท่านต้องดูแลรักษาสิทธิของท่านเอง หากไม่ได้รับความเป็นธรรมแจ้ง โทร. 1186 สายด่วนประกันภัย
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล นิติธรรมโกศล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : ประกันภัย